Skip to main content
sharethis

ประชาชนเข้าชื่อเสนอแก้กฎหมายอาญา ม.112 บริเวณหน้าห้องประชุมศรีบูพา มธ. ท่าพระจันทร์ นานาทัศนะจากผู้ร่วมงาน: ทำไมต้องแก้ 112 ? พระฉันทะสาโร พระวัดไผ่ตัน กรุงเทพมหานคร บวช 15 พรรษา กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 บ้านเมืองวุ่นวายก็เพราะเรื่องนี้ ดูจากสมุทัยก็รู้ แต่ข้อเสนอของทางนิติราษฎร์จะปรับปรุงอย่างไรก็ว่ากันไป แต่อย่างไรก็น่าจะต้องปรับปรุง ไม่เช่นนั้นหากใครไม่พอใจใครก็จะใช้เหตุนี้ให้ผู้อื่นติดคุกได้ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ไม่ควรกล่าวหากันด้วยข้อหานี้ แต่ถึงที่สุด คิดว่าการแก้ไขน่าจะสำเร็จได้ยากมาก เพราะมีคนอีกกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ไม่ชอบสังคมแบบศักดินา แม้แต่ในแวดวงพระสงฆ์ก็ยังมีลักษณะแบบนั้น ที่ผ่านมาได้อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเสื้อแดงด้วย โดยในวันสลายกำลังสวดมนต์อยู่ในวัดปทุม และมีระเบิดลงบริเวณใกล้ๆ ทำให้แก้วหูกระทบกระเทือน ปัจจุบันได้ยินอะไรไม่ค่อยถนัด “ก็ในเมื่อท่านสอนให้ญาติโยมรู้จักถูกจักผิด แล้วจะบอกว่าท่านไม่ยุ่งเกี่ยว มันไม่ได้ เพราะท่านก็มองเห็นอยู่ว่าอะไรถูกอะไรผิด” เที่ยง (ขอไม่เปิดเผยชื่อ นามสกุลจริง) อายุ 78 ปี อาชีพครูเคยผ่านช่วงสงครามเกาหลี และถูกจับข้อหาคอมมิวนิสต์ในยุคจอมพล ป. “เราเคยผ่านคุกตารางมาแล้ว เรื่องนี้ถูกตีความเป็นอื่นได้ง่าย และหากจะต้องติดคุกอีกครั้งคงต้องตายในคุก” ลุงเที่ยงกล่าวถึงเหตุผลของการไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ เที่ยงกล่าวว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเป็นรากหญ้าใหม่ที่ทำงานไม่ต่างกับนักศึกษาสมัย 14 ตุลา และทำได้ดีกว่าเสียอีก แม้ว่าลุงเที่ยงจะอยู่กรุงเทพฯ แต่รับรู้เรื่องราวการเคลื่อนไหวตลอดผ่านทีวีดาวเทียม และการเล่นอินเตอร์เน็ต โดยมีหลานคอยสอนให้เข้าไปอ่านข่าวตามเว็บไซต์ และดูวีดิโอในยูทูป เที่ยงแสดงความเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ในครั้งนี้ และมาร่วมฟังการอภิปรายตั้งแต่บ่าย โดยยืนฟังจากลำโพงด้านนอกเพราะไม่สามารถฝ่าฝูงชนเข้าไปฟังภายในหอประชุมได้ “อาจารย์วรเจตน์คิดได้รอบคอบ ลุ่มลึก ผมยังคิดไม่ทันอาจารย์วรเจตน์ที่ทั้งลึกและนุ่มนวล และถึงจะมีคำค้านเยอะแต่ก็สามารถโต้ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผลในทุกประเด็น” สำหรับการเคลื่อนไหวในครั้งนี้เชื่อได้ว่าต่อไป ส.ส.ต้องรับเอาความคิดของนิติราษฎร์เข้าไปดำเนินการพิจารณากันในสภา ส่วน่วาจะถูกค้านตกไปหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อหนึ่ง ส่วนการยกเลิกนั้นคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้เพราะเกี่ยวโยงกับหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยคงจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตัวเองนับจากนี้ไปให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น และในระยะเปลี่ยนผ่านเชื่อว่าจะไม่มีการนองเลือด เพราะกำลังประชาธิปไตยในทางสากล ในกระแสโลกนั้นเป็นตัวหนุนเสริม ชญานิน เตียงพิทยากร อายุ 24 ปี นักเขียนอิสระ – นักวิจารณ์ภาพยนตร์กล่าวว่า เริ่มให้ความสนใจประเด็นมาตรา 112 เมื่อ 3-4 ปีก่อน จากการที่คู่ขัดแย้งทางการเมืองนำมาใช้เล่นงานฝ่ายตรงข้าม ทำให้ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมต้องใช้การต่อสู้โดยหันหลังพิงสถาบัน อีกทั้งมีการนำมาเล่นงานไม่เฉพาะกับนักการเมือง นักวิชาการ แต่ลงมาถึงประชาชนทั่วไปด้วย และในกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวผู้ต้องหาส่วนใหญ่ไม่ได้สิทธิในการประกันตัว ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งไม่ชอบธรรม ในขณะที่แนวคิดของมาตรานี้ที่บอกว่าคนธรรมดามีกฎหมายปกป้อง สถาบันกษัตริย์ก็ควรมีกฎหมายปกป้องด้วยเช่นกัน แต่ตัวกฎหมายสุดท้ายไม่ได้มีการปกป้องคนโดยเท่าเทียมกัน อีกทั้งการตีความในการบังคับใช้ก็มีปัญหา สำหรับการรณรงค์เพื่อแก้ไขมาตรา 112 มีอุปสรรค์ใหญ่จากการผลิตซ้ำความคิดที่ว่า มาตรา 112 มีไว้ปกป้องสถาบัน คนที่ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกฎหมายนี้คือคนที่ไม่ปกป้อง ทำให้คนส่วนหนึ่งแม้เห็นด้วยก็จะไม่เข้าร่วมเพราะกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ส่วนการผลักดันจะไปได้ถึงแค่ไหนส่วนตัวประเมินไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม กิจกรรมรวบรวมรายชื่อประชาชน 10,000 รายชื่อ เพื่อแก้ไขกฎหมายนี้ ถือเป็นครั้งแรกสำหรับมาตรา 112 ส่วนตัวเขาเห็นด้วยกับแนวความคิดในการยกเลิกมาตรา 112 และให้ใช้กฎหมายปกป้องเทียบเท่าบุคคลธรรมดา ส่วนข้อเสนอแก้ไขยังเป็นการปกป้องสถาบันกษัตริย์มากกว่าคนธรรมดา แต่เขาก็จะร่วมลงชื่อตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร และ ครก.เพราะอย่างน้อยตรงนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่ส่งผลสะเทือน ทำให้เกิดความคิดต่อเรื่อง 112 ส่งไปถึงคนในวงกว้างมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งข้อเสนอเรื่องการยกเลิก ความเปลี่ยนแปลงคงไม่เกิดขึ้นในทันที เรื่องนี้ต้องมีการเคลื่อนไหวกันต่ออีกยาว สรธัญ เหมพิพัฒน์ อายุ 27 ปี เพิ่งจบการศึกษาจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวลัยลงกรณ์ ปัจจุบันเป็นผู้สื่อข่าวอิสระ ผู้ชำนาญาการด้านนิเทศศาสตร์ และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง New Generation Channel ( ngch-tv.com) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ เนื่องจากถูกนำมาใช้อย่างสะเปะสะปะ โดยเฉพาะคดีของอากง ส่วนที่บางส่วนเห็นว่าอยากให้ยกเลิก มองว่าสถาบันนี้อยู่เป็นรากเหง้าของประเทศ ถ้ายกเลิกมันค่อนข้างเป็นปัญหา คนจะพาลไปคิดว่าจะเป็นการทำร้ายสถาบัน จึงเห็นว่าเริ่มจากปรับแก้น่าจะเหมาะว่า สำหรับการปรับแก้ เห็นด้วยกับแนวทางที่นำเสนอว่าต้องให้สำนักพระราชวังเป็นผู้แจ้งความ และอยากให้เพิ่มเติมไปด้วยว่า นอกจากพระบรมวงศานุวงศ์ หรือสำนักพระราชวังแล้ว คนอื่นๆ ไม่มีสิทธิจะมาฟ้องร้อง และควรกำหนดโทษให้กับคนที่ฟ้องร้องคนอื่นด้วยมาตรานี้โดยอ้างความจงรักภักดีด้วย “ทำไมการพูดถึงเรื่องนี้ถึงถูกกล่าวหาตลอด ทั้งที่ควรเปิดให้การวิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผล หรือการนำเสนอทางวิชาการ” อนุกูล (ขอไม่เปิดเผยนามสกุล) อายุ 31 ปี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ได้จริงจังกับการเมืองมาก แต่สำหรับประเด็นนี้เห็นด้วยกับการแก้ไข เพราะถ้าเปรียบเทียบโทษกับทางสากลแล้วรู้สึกว่าของเราแรงไป ส่วนการจะให้ยกเลิกนั้นเป็นเรื่องยาก น่าจะแก้ไขมากกว่า เอาตามสากลที่เขาก็มีประมุขและมีกฎหมายคุ้มครองประมุขเหมือนกัน ถามว่าจะสำเร็จไหม ก็อยากให้มันสำเร็จ ถ้าช่วงนี้ไม่สำเร็จก็คงยากแล้ว เพราะถ้าอีกขั้วอำนาจหนึ่งเป็นรัฐบาลก็คงไม่สามารถจะแก้ไขกฎหมายนี้ได้ “ถ้ามาตรานี้ลดความรุนแรงลง ประชาชนจะมีทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากกว่านี้” มะลิ (ขอไม่เปิดเผยนามสกุล) อายุ 50 ปี แม้ค้าจากจังหวัดสมุทรปราการ พื้นเพเป็นจังหวัดสุรินทร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายนี้เพราะรู้ว่าเป็นปัญหา โดยเฉพาะคดีอากง ซึ่งมีคนเถียงกันเยอะว่าส่งจริงหรือเปล่า แล้วเราก็ไม่รู้ว่าส่งว่าอะไร แล้วมันหมิ่นจริงไหม แต่เรื่องนี้เขาจะแก้อะไรกันยังไง ไม่ค่อยเข้าใจนักเพราะเป็นเรื่องกฎหมาย ส่วนการประเมินการรณรงค์ครั้งนี้ มะลิเห็นว่า น่าจะสำเร็จ เพราะข่าวนี้คนรู้เยอะแยะ แต่ก็ยังมีข้อกังวลเพราะกลัวว่ากลุ่มอื่นจะนำเรื่องนี้มาเป็นประเด็น “เราเห็นแต่กฎหมายนี้ลงโทษอีกกลุ่ม แต่อีกกลุ่มไม่โดนอะไรเลยทั้งที่ผิดเหมือนกัน มันรู้สึกเหมือนไม่ยุติธรรม” มะลิกล่าว xx(ขอไม่เปิดเผยนามสกุล) เจ้าของธุรกิจส่วนตัว อายุ 28 ปี ระบุว่า มาร่วมเข้าชื่อครั้งนี้ แม้จะเห็นด้วยกับการยกเลิกมาตรา 112 เพราะเห็นว่าเป็นการทำเท่าที่ทำได้ในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย อย่างไรก็ตาม กลุ่มนิติราษฎร์ถือเป็นกลุ่มที่มีคนให้ความสนใจและคิดว่าจะสามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อมาตรา 112 ไปได้ไกลที่สุด แต่กลับเรียกร้องเพียงแค่แก้ไข ซึ่งตามหลักการต่อรองสุดท้ายสิ่งที่ได้ก็จะต่ำกว่าข้อเสนอที่ยื่นไปดังนั้นส่วนตัวจึงอยากให้เรียกร้องไปให้ไกลกว่านี้ เจ้าของธุรกิจวัน 28 ปี กล่าวด้วยว่า การร่วมลงชื่อครั้งนี้ส่วนตัวก็รู้สึกกล้าๆ กลัวๆ ว่าจะส่งผลกับกิจการทำอยู่ ทั้งที่เป็นการร่วมลงชื่อแก้ไขกฎหมายไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาเคยเป็น 1 ในพันกว่ารายชื่อ ที่ร่วมลงชื่อยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 แล้วถูกนำชื่อไปเผยแพร่โจมตีในอินเตอร์เน็ต และมีคนโทรศัพท์มาคุกคาม ทำให้เห็นว่าการออกมาเคลื่อนไหวตรงนี้เป็นเรื่องอันตราย เรียกได้ว่าเป็น “ภารกิจเสี่ยงตาย” ซึ่งส่วนตัวเธอคิดว่าไม่ได้อยากเป็นฮีโร่ และไม่อยากให้ใครเป็นฮีโร่ อย่างผลที่มันเกิดขึ้นแล้วกับ ดา ตอปิโด แต่เธอก็ยังคงยืนยันที่จะร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ บรรยากาศในห้องประชุม อรรถาธิบายจากวรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะรณรงค์แก้ไข ม. 112 ร่วมตอบคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการรณรงค์ให้แก้ไขมาตรา 112 ถ่ายรูปร่วมกับ โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัมทนายความคนดัง ส่งรายชื่อแก้ไขกฎหมาย ครก.112 ตู้ปณ.112 ปณฝ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ ร่วมเขียนป้ายผ้ายาว 3 เมตร ร้องเสรีภาพ ปลดโซ่ตรวน ม.112 เคลื่อนขบวนสู่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ร่วมกิจกรรม \กลับสู่แสงสว่าง\" ประชาชนหลายร้อยเดินขบวนร่วม 'กวีราษฎร์' หนุนข้อเสนอนิติราษฎร์ 15 ม.ค.55 ราว 17.30น.กลุ่ม \"กวีราษฎร์\" และประชาชนราว 400 คน ร่วมเดินขบวนรณรงค์จากหอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว เพื่อแสดงความสนับสนุนต่อข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ พร้อมเปิดวันแรกของกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม \"กลับสู่แสงสว่าง\" หลังจากที่ขบวนรณรงค์ดังกล่าวเดินทางมายังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ได้มีการจัดเวทีทางวัฒนธรรม เช่น การอ่านกวี เล่นดนตรี และการจัดนิทรรศการศิลปะจัดวางและภาพถ่าย โดยมีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน ในกิจกรรมของกลุ่ม \"กวีราษฎร์\" ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของกวี นักเขียน ผู้กำกับภาพยนตร์ และบุคคลในแวดวงศิลปะ เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนต่อข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่ทำงานในสายศิลปะ \"เราจัดงานนี้เพื่อให้คณะนิติราษฎร์รู้ว่า พวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว เพราะเรื่องพวกนี้มวลชนก็คิดกันอยู่แล้ว เช่นเดียวกัน มวลชนเองก็จะได้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะเขาก็สามารถมาร่วมกับคณะนิติราษฎร์ได้ จึงอยากให้มาร่วมสนับสนุนข้อเสนอให้เป็นแนวทางเดียวกัน\" 'รางชาง มโนมัย' หนึ่งในกวีผู้ร่วมจัดงานกล่าว และเสริมว่าในตอนนี้เขาก็เห็นด้วยกับการให้แก้ไข ม.112 แต่หากในอนาคตสถานการณ์และเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนไป เขาก็อาจจะรณรงค์ให้มีการยกเลิก ม.112 ก็เป็นได้ ทั้งนี้ กิจกรรม \"กลับสู่แสงสว่าง\" จะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15-22 ม.ค. 55 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ผู้สนใจสามารถชมกำหนดการกิจกรรมได้ที่ http://prachatai.com/activity/2012/01/38769"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net