Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ดุลยภาค ปรีชารัชช นำเสนอเป็นตอนที่สอง ซึ่งเป็นตอนจบ ตอนนี้เป็นการวิเคราะห์การเสริมขยายกำลังทางทหารของกองทัพพม่า การขยายอำนาจของจีนในอ่าวเบงกอล นโยบายต่างประเทศต่อพม่าที่เปลี่ยนไปของชาติตะวันตกซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกา ทิศทางของโครงการพัฒนาในพม่า และที่ทางของไทยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อพม่า ดุลยภาค ปรีชารัชช (ที่มาของภาพ: ประชาไท) เมื่อ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา ประชาไทเผยแพร่บทสัมภาษณ์ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้เขียน \Naypyidaw: New Capital of Burma\" ซึ่งพิมพ์ในปี 2551 ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงทิศทางของพม่าในปี 2555 โดยตอนแรกประชาไทนำเสนอบทสัมภาษณ์ดุลยภาคในเรื่องทิศทางการปฏิรูปพม่า และการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศ (ข่าวก่อนหน้านี้) โดยวันนี้จะเป็นการนำเสนอในตอนที่สอง ถึงสถานการณ์ที่กองทัพพม่ายังคงเสริมขยายความเข้มแข็งทางการทหาร บทบาทของมหาอำนาจตะวันตกในพม่า การขยายอำนาจของจีนในพื้นที่อ่าวเบงกอล-มหาสมุทรอินเดีย รวมถึงโครงการพัฒนาของพม่า โดยเฉพาะกรณีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย เพื่อนบ้านผู้พัฒนาโครงข่ายอุโมงค์และสงครามนิวเคลียร์ ดุลยภาคให้ความกรณีการขยายอำนาจทางทหารของพม่าว่า “ในห้วง 10-12 ปีที่ผ่านมา “Tatmadaw” หรือกองทัพพม่ามีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งกำลังพล อาวุธยุทโธปกรณ์ ความสัมพันธ์ด้านการสั่งซื้ออาวุธจากแนวร่วมต่างประเทศ เพราะฉะนั้นกองทัพของเขาผมคิดว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ถ้ามองผิวเผิน หลายคนจะบอกว่าพม่าไม่ใช่รัฐทหารแล้ว พม่าไม่ใช่รัฐเผด็จการแล้ว พม่าเป็นประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งก็ถูก แต่ถูกแค่ในภาพลักษณ์ระดับตื้นๆ ถ้าดูลึกๆ แล้วพม่ายังเป็นรัฐทหารอยู่ ทหารยังครองบทบาทในสภา และที่สำคัญกองทัพพม่า รัฐบาลพม่าเองก็แตะไม่ได้ งบประมาณกองทัพพม่าก็มีช่องทางในการหารายได้ของตัวเอง” “สัมพันธภาพกับเกาหลีเหนือ รัสเซีย จีน อิหร่าน อินเดีย ยังมีอยู่แนบแน่นและต่อเนื่อง สิ่งที่เรียกว่า “Military Doctrine” หรือหลักนิยมทางการทหารของพม่า ก็มีการปรับเปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจเช่นกัน เพราะพม่าให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่าสงครามอุโมงค์ และสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งสงครามอุโมงค์ได้รับตัวแบบมาจากเวียดนาม และเกาหลีเหนือ เวียดนามสามารถสู้กับอเมริกาได้เพราะใช้ Tunnel Warfare ในยุคสงครามเย็น เกาหลีเหนือสามารถป้องกันการตรวจสอบจากประชาคมโลกเรื่องการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ เพราะใช้ Underground Complex เป็นสถานีทดลองขีปนาวุธ มิสไซล์แบบลับๆ และประสบความสำเร็จในการขุดอุโมงค์ทะลุมาเกือบถึงกรุงโซล ทำให้เกาหลีใต้ย่นระย่อ” ดุลยภาคชี้ว่า โมเดลดังกล่าวเป็นโมเดลที่กองทัพพม่าให้ความสำคัญ “และปัจจุบันเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านความมั่นคง และยุทธศาสตร์ทางการทหารในพม่าสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกองบัญชาการใหม่ขนาดใหญ่ที่เนปิดอ มีการสร้าง “แนวระเบียงยุทธศาสตร์” หรือ “Strategic Corridor” มีการสร้างถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ มีทางรถไฟ และมีท่อใยแก้วนำแสงเชื่อมระหว่างอุโมงค์สำคัญของเมืองบริวารต่างๆ รายรอบกรุงเนปิดอ นี่คือประดิษฐ์กรรมทางยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่มากในประเทศพม่า นั่นหมายถึงในอนาคตหากจะมีการยกทัพเข้าไปถล่มพม่าคงจะยาก เพราะพม่ามีโครงข่ายป้องกันประเทศที่รัดกุมมากขึ้น ผู้นำพม่ามองไปถึงเรื่องแบบนั้น” “ผู้นำพม่าอยากจะเห็นพม่ายืนอย่างสง่าผ่าเผยในเวทีอาเซียน ในเวทีเอเชียแปซิฟิก มีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้พม่าได้รับเกียรติเหล่านั้น เช่น มีประชาธิปไตย ทำให้พม่าเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ สอง เปิดคลังทรัพยากรมหาศาลให้นานาชาติเข้ามาลงทุน พม่าก็ร่ำรวย สาม ขยายแสนยานุภาพทางการทหาร ถ้าหากพม่ามีมิสไซล์ หรือขีปนาวุธขึ้นมา ยังไม่ต้องมีนิวเคลียร์ก็ได้ แค่หันมิสไซล์เข้าประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ในรัศมี 100 กิโลเมตรหรือมากกว่าก็ทำได้ นี่คือการทูตแบบข่มขู่ป้องปราม อาเซียนก็ทำอะไรไม่ได้ ประเทศประชาธิปไตยก็มีนิวเคลียร์ได้ ประเทศประชาธิปไตยก็มีกองทัพที่แผ่แสนยานุภาพแบบลับๆ ได้ ประเทศประชาธิปไตยก็ใช้กองทัพเข้าทำสงครามกันได้ เราก็เห็นตัวแบบหลายตัวแบบแล้ว พม่าอาจจะเป็นอย่างนั้น” การขยายแสนยานุภาพของจีนในทะเลอันดามัน ต่อคำถามเรื่องการขยายอำนาจทางทหารของจีนในทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล ดุลยภาคประเมินว่า “ในการประเมินทางภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิยุทธศาสตร์ จะเห็นว่าพม่าเป็นทำเลทองที่จีนจะปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะพม่าเป็นทางลัดที่จะให้จีนออกสู่อันดามัน หรืออ่าวเบงกอลได้สะดวก การคมนาคมจากยูนนาน หรือคุนหมิง ลงมาพม่า ทำให้จีนประหยัดค่าใช้จ่ายเยอะ ไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกาด้วย” “และสิ่งที่น่าจับตามองทางทหารคือ จีนเข้าไปช่วยพัฒนาฐานทัพเรือพม่าหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ย่างกุ้ง ที่พะสิม และที่สำคัญคือ ในเกาะโคโค่ของพม่าในทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ 2 เกาะ” “ทั้งนี้มีนักวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ อย่าง Desmond Ball และ Andrew Selth จากออสเตรเลีย ก็เชื่อระดับหนึ่งว่าอาจจะยังตัดสินใจไม่ได้ว่ามีฐานทัพจีนอยู่ในบริเวณนั้นหรือไม่ แต่สิ่งที่เรียกว่าสถานีข่าวกรองทางการสื่อสารที่ติดเรดาห์จับความเคลื่อนไหวของเรือเดินสมุทรในแถบช่องแคบมะละกา หรือจับความเคลื่อนไหวของกองทัพเรืออินเดีย หรือกองทัพเรืออเมริกาที่อยู่ไม่ไกลกัน ก็อาจจะมี เพราะว่าบทบาทของจีนในเรื่องการขยายโครงข่ายการสื่อสารทางทหารในพม่ามีอยู่สูง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เป็นไปได้” “สิ่งนี้กระทบความมั่นคงของอินเดียโดยตรง เพราะการที่จีนเข้าไปในเกาะโคโค่ของพม่า นั้นห่างจากหมู่เกาะอันดามันหรือนิโคบาร์ ไม่กี่สิบกิโลเมตร อินเดียจึงขยับยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศขนานใหญ่ ด้วยการเข้าไปตั้ง กองบัญชาการกองทัพเรือแห่งใหม่ หรือ \"Far Eastern Naval Command\" กองบัญชาการภาคตะวันออกไกลที่พอร์ต แบลร์ (Port Blair) ในหมู่เกาะอันดามัน เพื่อคัดคานการเผชิญหน้า การขยายแสนยานุภาพของจีนในพม่า เพราะฉะนั้นพม่าก็กลายเป็นพื้นที่การสัประยุทธ์ระหว่างจีนกับอินเดีย” จับตาบทบาทสหรัฐอเมริกาในพม่า ดุลยภาคเสนอด้วยว่า สิ่งสำคัญในอนาคตจะไม่มีจีนกับอินเดียเท่านั้น สหรัฐอเมริกาจะเป็นไพ่ใบสำคัญที่ก้าวเข้ามาโฉบเฉี่ยวผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในพม่ามากขึ้น การเข้ามาของนางฮิลลารี่ คลินตัน “ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นการปรับบรรยากาศทางการเมืองให้พม่าเป็นประชาธิปไตย ลดทอนการจับกุมนักโทษการเมือง คุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ผลประโยชน์หลักๆ ที่สหรัฐเข้าไปคือนโยบาย Chinese Containment หรือการปิดล้อมจีน ยังมีอยู่” “การที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปถึงใจกลางกรุงเนปิดอได้ ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถเข้าไปผลักดันความเปลี่ยนแปลงในพม่าไม่มากก็น้อย แต่ดีขึ้นกว่าในอดีตที่สหรัฐแทบจะทำอะไรไม่ได้เลย จุดนี้ทำให้จีนเต้นเลยที่เดียว เพราะฉะนั้นการขยับของฮิลลารี่ คลินตัน ทำให้นักการทหารจีนออกมาพูดชัดเจนว่าจีนยอมไม่ได้ หากพม่าจะ Win อย่างเดียว และจีนสูญเสีย และจีนคงยอมไม่ได้ที่ให้พม่าไปกระชับมิตรกับสหรัฐอเมริกาและจีนสูญเสียผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นจีนต้องทำทุกวิถีทาง เพราะฉะนั้นพม่ารู้แล้วว่าตัวเองซี้กับจีนเนิ่นนาน แต่ซี้มากๆ ทำให้เหมือนเป็นรัฐบริวารของจีน เพราะฉะนั้นทางเดียวเท่านั้นก็คือ ดึงอเมริกาเข้ามา แต่ก็ดึงอย่างมีชั้นเชิง เพราะพม่ากลัวอเมริกามาก่อน เพราะฉะนั้นเขาถึงเตรียมขุดอุโมงค์ต่างๆ เพราะกลัวว่า Iraq Scenario หรือ Libya Scenario จะเกิดขึ้นกับเขา แต่พม่าฉลาด เพราะมีกลไกการป้องกันแน่นหนาแล้ว แค่ดึงอเมริกาเข้ามาดันพม่าในเวทีระหว่างประเทศ ถ่วงดุลจีนหน่อย และตอนนี้ภาพลักษณ์แบบโมฮัมมาร์ กัดดาฟี หรือซัดดัม ฮุสเซน หรือตาลีบัน หากเราจะมองเทียบพม่าก็หายไปแล้ว เพราะตานฉ่วยลงแล้ว กลายเป็นเต็ง เส่ง คนก็เฮโลไปพม่าว่าเป็นประชาธิปไตย นี่เป็นยุทธศาสตร์ที่ฉลาดมากสำหรับผู้นำพม่า” พม่ากับการเปิดการลงทุนทางเศรษฐกิจ ดุลยภาคยังประเมินโอกาสทางเศรษฐกิจของพม่าด้วย โดยเสนอว่าในยุค 1988 เป็นต้นมา ชนชั้นนำในพม่าคือ SLORC หรือต่อมาเป็น SPDC จะเห็นว่าพม่าเป็นเผด็จการแต่ทหารครองเมือง แต่ในทางเศรษฐกิจได้เปิดประเทศ เปิดสัมปทานให้ลงทุน อย่างไรก็ตามรายได้เข้ามาอยู่ที่นายทหารที่คุมกลไกการค้าระหว่างประเทศ เข้ากองทัพ เข้าสู่ชนชั้นนำทหาร แต่พอมาหลังการเลือกตั้งเมื่อ 7 พ.ย. 2553 พม่ามีการขยับตัวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ในแง่หนึ่งพม่ามีทรัพยากรจำนวนมหาศาล หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมกันอาจมีไม่เท่าพม่า อย่างไรก็ตาม พม่ายังประสบปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจและเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ขณะที่วัฒนธรรมที่จะต้อนรับต่างชาติอาจไม่เท่าบางประเทศ มีปัญหาเยอะ แต่ตัวแบบที่รัฐบาลพม่าเริ่มนำมาปรับใช้คือจีน ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ได้ประกาศจะทำย่างกุ้งให้เหมือนสิงคโปร์ ให้เป็นเมืองท่าหรือ Emporium ชั้นนำ โดยอาศัยปากแม่น้ำย่างกุ้ง เป็นทำเลการค้า ที่สามารถเชื่อมโยงไปที่ตะวันออกกลางหรือยุโรป และการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ อย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษหมู่เจ้-รุ่ยลี ซึ่งอยู่ทางรัฐฉาน ตอนเหนือ ถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจีน เท่าที่จีนมีชายแดนชนกับเพื่อนบ้านทั้งหมด โดยแร่ธาตุนานาชนิดโดยเฉพาะหยกจากรัฐคะฉิ่นก็ส่งออกไปที่เมืองรุ่ยลี่ โดยโมเดลนี้อาจจะมีการนำมาใช้กับแม่สอด-เมียวดี ส่วนโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายนั้น ดุลยภาคชี้ว่า ทวายเป็นเมืองยุทธศาสตร์ในมณฑลตะนาวศรี มีสงครามยื้อแย่งเมืองทวายระหว่างพม่ากับสยาม จนกระทั่งอังกฤษเข้ามาปกครองพม่า อังกฤษมองทวายควบคู่กับมะละแหม่งและย่างกุ้งด้วย โดยทวายมีแม่น้ำทวายไหลผ่านลงทะเลอันดามัน และเรือเดินสมุทรจากมหาสมุทรอินเดีย จากอ่าวเบงกอล สามารถมาแวะพักที่อ่าวทวายได้ โดยจุดเด่นของเมืองทวายคือการมีพื้นที่ตอนใน ซึ่งสามารถตั้งนิคมอุตสาหกรรมได้ ดุลยภาคชี้ว่า หากพิจารณาในแง่ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สามารถตัดถนนควบคู่กับทางรถไฟจากทวายผ่านเมืองต่างๆ และอ้อมเทือกเขาตะนาวศรี มาถึงบ้านพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งสามารถเข้ากรุงเทพฯ ได้ และสามารถเชื่อมโยงกับปราจีนบุรี กัมพูชา และเวียดนาม โดยเชื่อมกับโฮจิมินห์ ไซ่ง่อนได้ ทวายจึงเป็นอู่เมืองชายทะเลสำคัญ สามารถเดินทางเข้าทางบกผ่านกรุงเทพฯ มายังกลุ่มประเทศอาเซียนได้ เพราะฉะนั้นในอนาคตพม่าจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทย เพราะว่าจากแม่สอดสามารถไปที่เมียวดี มะละแหม่ง และย่างกุ้ง ส่วนเส้นทางทวาย ก็สามารถไปยังกาญจนบุรี กรุงเทพฯ ย่างกุ้ง มะละแหม่ง ตามเส้นทาง East-West Economic Corridor ซึ่งถือว่าน่าจับตามอง พึงระวังการ “พึ่งพม่า” มากเกินไป ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ ดุลยภาคมีข้อเสนอต่อเรื่องนโยบายการต่างประเทศของไทยด้วยว่า “ประเทศไทยอาจจะค่อนข้างสับสนในการวางนโยบายต่างประเทศที่สัมพันธ์กับพม่า พม่าเป็นทำเลทองแบบนี้ สื่อต่างประเทศก็โฟกัสที่พม่าเยอะแยะ ประเทศไทยคงมองพม่าหยุดอยู่ที่ชายแดนคงไม่ได้แล้ว ต้องมองพม่าในระดับกระดานหมากรุกทางการเมืองโลก” “เพียงแต่การมองนั้นต้องบูรณาการหลากมิติเพื่อให้การดำเนินนโยบายต่อพม่า ให้ผลประโยชน์กับประเทศไทยอ่างถูกต้องเหมาะสมเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หากเน้นความสัมพันธ์กับพม่าแต่ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว หรือผู้นำเข้าไปจับมือกันอย่างเดียว แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ถึงมือประชาชน ประชาชนไทยกับประชาชนพม่ายังกินแหนงแคลงใจกันอยู่เรื่องประวัติศาสตร์ชาตินิยม ยังรู้จักกันน้อย ยังมีทัศนคติดูถูกแรงงานพม่าอยู่ ก็อาจจะมีปัญหาในอนาคต หรือผู้นำไทยอยู่แป๊บเดียวการเมืองทำพิษ ผู้นำเปลี่ยน พอเปลี่ยนเป็นอีกขั้ว ความสัมพันธ์กับพม่าจะดีขึ้นไหมหรืออาจจะเลวร้ายลงหรือเปล่า เพราะการเมืองไทยสุดท้ายก็ไม่นิ่งเหมือนพม่า พม่าจึงมีเครดิตที่ดีกว่าในแง่ความน่าเชื่อถือทางการลงทุนหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” “เพราะฉะนั้นหากเรามองเรื่องเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง เราควรจับมือกับพม่า เพราะพม่าจะเป็นทำเลทอง เราไม่จับตอนนี้ ชาติอื่นก็จับไปแล้ว อเมริกาเข้าไป เกาหลีใต้เข้าไป อียูเข้าไป มาเลเซีย สิงคโปร์เข้าไปแล้ว เราก็ต้องไม่ทิ้งโอกาสนี้ แต่ว่า การที่เราผูกติดกับพม่ามากเกินไป เช่น พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากพม่าอย่างเดียว เส้นทางทวาย ทุนไทยก็ไปก็ลง แต่สุดท้ายอยู่ในเขตอธิปไตยพม่า ถ้ามีเรื่องทะเลาะกับพม่าเมื่อไหร่ สุดท้ายไม่มีโอกาสต่อรอง ต้องง้อพม่าอย่างเดียว เพราะไปพึ่งพิงพึ่งพาเขาสูงเกินไป แทนที่จะดูพื้นที่อื่นในประเทศสักนิดหนึ่ง เช่น ท่าเรือปากบาราที่สตูล พอมีศักยภาพในการพัฒนาหรือไม่ หรืออาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะไม่อย่างนั้นสิงคโปร์คงไม่ทักท้วง เพราะคุมเส้นทางที่มาก่อนช่องแคบมะละกาด้วยซ้ำ ก็ต้องมองดูพื้นที่ยุทธศาสตร์ของเราด้วยว่าจะพัฒนาตรงไหนให้เป็นรูปธรรม หรือเชื่อมต่อกับโครงการพม่าได้ ไม่ให้เราไปพึ่งเขาโดยตรง” “สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจไปแล้ว สิ่งที่ตามมาคือความมั่นคง เพราะฉะนั้น เราจะออกแบบให้ความมั่นคงไปกับเศรษฐกิจอย่างไร เช่น เรายังมีปัญหาพิพาทเรื่องเขตแดนกับพม่าเยอะมาก แล้วในอนาคตถ้าเรามีปัญหากับพม่า คิดว่าคนไทยคงมีความรู้สึกร่วมมากกว่ากรณีกัมพูชาด้วยซ้ำ เพราะประวัติศาสตร์เสี้ยมสอนไว้ และพม่าเป็นประเทศที่ใกล้เคียงทั้งขนาดและประชากร เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาขึ้นมากองทัพต้องมีความพร้อม เพราะประเทศประชาธิปไตยแล้วค้าขายกันอาจมีสงครามทะเลาะกันประปรายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เราอาจจะทะเลาะกับพม่าตามแนวชายแดน กำลังพลก็ต้องพร้อม ทีนี้จะทำอย่างไรเมื่อพม่ามีโครงการขุดอุโมงค์ เร่งแผ่แสนยานุภาพ แล้วเราทำอะไรไม่ได้เลย กองทัพพม่าไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณกลาโหมเพราะเขาผันเข้ามาพัฒนากองทัพได้ แต่ไทยมีปัญหา ซึ่งนี้เป็นเรื่องที่คุยกันยาก กองทัพต้องมีขีดหรือสมรรถนะรองรับดุลอำนาจที่แปรเปลี่ยนไปได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่ากองทัพไทยก็ต้องเฝ้าดูสถานการณ์ในพม่า และต้องมีการปรับสมดุลกำลังรบบางอย่าง เพราะเป็นเรื่องปกติของอำนาจกำลังรบเชิงเปรียบเทียบ”"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net