ยกไทยต้นแบบหลักประกันสุขภาพ หนุนตั้งศูนย์ถ่ายทอดให้นานาชาติ

27 ม.ค.55 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ มีการแถลงข่าวเรื่อง โครงการพัฒนาศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งดำเนินการโดย 8 องค์กรภาคี ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก). สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เฮเธอร์ เกรดี้ รองประธานมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ฝ่ายยุทธศาสตร์โครงการ กล่าวว่า ประเทศไทยนับเป็นตัวอย่างที่ดีของประเทศกำลังพัฒนาที่ประสบความสำเร็จในการสร้างหลักประกันสุขภาพให้กับคนในประเทศ โดยเป็นการพัฒนาที่มาจากฐานของการสร้างความรู้และสะสมประสบการณ์ที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 40 ปี ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการทำให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น คุ้มครองไม่ให้ประชาชนล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล โดยต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ได้เพิ่มขึ้นจนเป็นภาระในระยะยาว ปัจจุบันประเทศต่างๆ จำนวนมากได้กำหนดให้เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระแห่งชาติ เช่น เวียดนาม มองโกเลีย กาน่า อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศไทยสามารถเป็นต้นแบบของการและศูนย์กลางของการศึกษาเรียนรู้เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศต่างๆ เหล่านี้ได้ ทางมูลนิธิจึงสนับสนุนงบประมาณให้กับประเทศไทยในการดำเนินการ เพื่อสร้างความร่วมมือกลุ่มประเทศต่างๆ ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนของตน ซึ่งนับเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพมาก นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สปสช. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จในการดำเนินงานที่ผ่านมา มาจากการออกแบบระบบที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริหารงบประมาณในรูปแบบงบปลายปิดที่คำนวณมาจากต้นทุนและการใช้บริการของประชาชน การกำหนดสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และคัดเลือกบริการรักษาพยาบาลเฉพาะที่มีประสิทธิผล การจ่ายเงินสถานพยาบาลต่างๆ ในรูปแบบเหมาจ่ายสำหรับบริการผู้ป่วยนอก และจ่ายตามกลุ่มจำแนกโรคร่วมสำหรับบริการผู้ป่วยใน การส่งเสริมให้มีการใช้บริการที่สถานพยาบาลปฐมภูมิ ฯลฯ ทั้งหมดทำให้ผลการดำเนินงานประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในด้านการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและปกป้องประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ประสบการณ์การพัฒนาดังกล่าว พร้อมทั้งการลงทุนพัฒนาระบบและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ทำให้ สปสช. พร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และที่ผ่านมาได้มีโอกาสต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากประเทศต่างๆ จำนวนมาก นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสวรส. กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นี้พัฒนาขึ้นโดยอาศัยจุดแข็งขององค์กรต่างๆ ในระบบสุขภาพไทยที่มีส่วนร่วมกันทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถดำเนินการได้จนประสบความสำเร็จดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยแต่ละองค์กรจะมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดบทเรียน ประสบการณ์ ในแต่ละด้านให้กับบุคลากรประเทศต่างๆ ที่สนใจ โดยฐานการเรียนรู้ที่สำคัญจะอยู่ที่ สปสช. สำหรับ สวรส. จะรับหน้าที่จัดศูนย์พัฒนาศักยภาพดังกล่าวขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2554 – 30 พฤศจิกายน 2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกระบวนการที่จะส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ด้านวิชาการที่มีประสิทธิภาพในสนับสนุนการพัฒนานโยบายและดำเนินงานหลักประกันสุขภาพให้ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งโปรแกรมการฝึกอบรม จะแบ่งเป็น 3 ระดับ การฝึกอบรมกลุ่มนโยบาย กลุ่มวิชาการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และการฝึกอบรมตามความเหมาะสมเฉพาะกลุ่ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท