Skip to main content
sharethis

กรรมการภาคประชาชน บอร์ด สปสช. ยืนยันที่ผ่านมาตัวแทนภาคประชาชนไม่ได้ช่วงชิงอำนาจและไม่มีผลประโยชน์จากกองทุน ให้จับตากรรมการชุดใหม่ที่มีตัวแทน รพ.เอกชนและการเมืองเข้ายึด พร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของกรรมการหลักประกันสุขภาพชุดใหม่และสนับสนุนให้มีการกระจายแพทย์ให้เท่าเทียม ตามที่ได้มีความขัดแย้งในการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพและไม่ได้รับการยอมรับจากภาคประชาชนจนเป็นสาเหตุของการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง บางฝ่ายคิดว่าการออกมาเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเนื่องจากมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจและฝ่ายประชาชนเสียประโยชน์ นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพตัวแทนจากภาคประชาชน ยืนยันว่าที่ผ่านมากรรมการภาคประชาชนไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ จากกองทุน หากมีคงเป็นเพียงเบี้ยประชุม แต่หากหมอที่เป็นเจ้าของโรงพยาบาลหรือหน่วยบริกาได้เป็นกรรมหลักประกันสุขภาพฯในชุดใหม่นี้ มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ กำหนดเพิ่มค่ารักษา เช่น สมาคมโรงพยาบาลเอกชน แม้เพิ่มขึ้นเพียง 1 บาทต่อหัวประชากร ก็ได้เงินมากถึง 48 ล้านบาท ที่ผ่านมากรรมการภาคประชาชน ได้ตรวจสอบหน่วยบริการที่เรียกเก็บเงินไม่ถูกต้องและดำเนินการเรียกเงินคืน และผลักดันให้ระบบหลักประกันสามารถครอบคลุมทุกคนทุกโรคได้เพิ่มขึ้น การได้รับยาของผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และการเข้าถึงการรักษาโรคที่ไม่เร่งด่วน เช่น และพร้อมผลักดันให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีการกระจายแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้เท่าเทียมกันทั่วประเทศเพราะขณะนี้ภาคอีสานมีสัดส่วนแพทย์น้อยที่สุด “การที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้มีสัดส่วนของภาคประชาชนก็เพื่อให้เข้าไปถ่วงดุล สร้างให้เกิดความเป็นธรรมในระบบสิทธิประโยชน์ การส่งเสียงทักท้วงในการเลือกตั้ง การลากตั้งอนุกรรมการที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ใช่การช่วงชิงอำนาจของภาคประชาชน แต่นี่คือการพยายามสร้างให้ระบบมีความสมดุล ความเป็นธรรม ให้ยังคงดำรงอยู่ เพื่อให้ประชาชน 48 ล้านคนยังคงเข้าถึงบริการดูแลการรักษาที่มีคุณภาพและมีโอกาสในการมีคุณภาพมาตรฐานเดียวได้ต่อไป”นายนิมิตร์ กล่าว นางสุนทรี เซ่งกิ่ง ตัวแทนภาคประชาชนอีกคนหนึ่งในกรรมการหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า อยากให้สังคมจับตาดูรายชื่อและคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิและอนุกรรมการ จะพบว่าไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านหลักประกันสุขภาพอยู่ในนั้นเลย แต่เต็มไปด้วยตัวแทนของโรงพยาบาลเอกชน และผู้ที่ถูกเสนอชื่อโดยภาคการเมือง แสดงให้เห็นชัดเจนถึงความพยายามที่จะครอบงำและเพิ่มผลประโยชน์ของกลุ่มแพทย์พาณิชย์ในระบบหลักประกัน แม้ตัวแทนภาคประชาชนจะได้ท้วงติงก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานในที่ประชุมแต่อย่างใด ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุในบอร์ด สปสช. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีห้ากลุ่มผู้เสียประโยชน์ ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายการเมืองได้เข้ายึดครองกำหนดอนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และกำลังมีความพยายามจะผลักดันให้เปลี่ยนหลักการของระบบที่นายแพทย์สวงน นิตยารัมภ์พงศ์ ได้สร้างไว้ ทำให้เกิดเสียงคัดค้านและเป็นห่วงจากเครือข่ายผู้ป่วย ประชาชน สื่อมวลชน ภายในประเทศและนักวิชาการต่างประเทศ ขณะที่องค์การอนามัยโลกกำลังจับตาดูพัฒนาการของระบบหลักประกันสุขภาพของไทยว่าจะไปทางไหน ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านผู้สูงอายุ เปิดเผยต่อว่า ห้ากลุ่มผู้เสียประโยชน์ ได้แก่ หนึ่งผู้บริหารหัวเก่าบางคนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่ต้องการสูญเสียอำนาจในการใช้งบประมาณ และต้องการกำกับให้ สปสช.เป็นหน่วยงานหนึ่งกลับไปอยู่ภายใต้กระทรวง กลุ่มที่สอง บริษัทยาข้ามชาติ เพราะระบบ สปสช.ทำให้ราคายาถูกลงและไม่ต้องการให้บอร์ด สปสช. ผลักดันการบังคับใช้สิทธิ์ กับสิทธิบัตรยาหรือซีแอลเหมือนที่ผ่านมา กลุ่มที่สามธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ที่เกรงจะสูญเสียตลาด เช่น การผ่าตัดต้อกระจกและทำให้เสียราคาที่จะเรียกกำไรจากระบบสวัสดิการข้าราชการและประกันสังคม กลุ่มที่สี่ ผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในวิชาชีพแพทย์บางคน เพราะถูกครอบงำจากธุรกิจยา และธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีการให้สินบนปนน้ำใจแก่แพทย์บางส่วนที่มีบทบาทสูงในองค์กรวิชาชีพ กลุ่มที่ห้า นักการเมืองที่ฉ้อฉล เพราะระบบงบประมาณแบบเหมาจ่ายลงสู่หน่วยบริการโดยตรง และบริหารกำกับโดยคณะกรรมการที่มาจากหลายภาคส่วน ทำให้การล้วงลูก ของนักการเมืองที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ทำได้ยากกว่าระบบงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข “แนวคิด หลักการ และวิธีการบริหารของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้มีผู้เสียประโยชน์ถึงห้ากลุ่ม จึงทำให้มีการรวมตัวกันภายใต้การประสานงานของผู้มีอำนาจทางการเมืองภายในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อครอบงำการกำหนดนโยบายของ สปสช. โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะต้องเสียอะไร และระบบหลักประกันสุขภาพของไทยจะถดถอยอย่างไร” นพ.วิชัย กล่าว อนึ่ง มีรายงานว่า มีความพยายามจะผลักดันให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่มีมติให้ใช้เงินกองทุนบัตรทองซึ่งได้รับงบต่อหัวต่ำกว่าระบบอื่นอยู่แล้ว ขยายไปชดเชยความเสียหายให้กับผู้ป่วยในระบบประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และโรงพยาบาลเอกชน โดยการแก้ไขมาตรา 41 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยโรงพยาบาลเอกชนไม่ต้องร่วมออกค่าใช้จ่ายหรือรับผิดชอบกรณีทำให้ผู้ป่วยเกิดความเสียหาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net