ปี 2555 ...เมืองไทยควรเดินหน้านโยบาย 2 สูง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นอกจาก “ทฤษฎี 2 สูง” จะเอื้อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มเม็ดเงินในมือของประชาชนมากขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจการซื้อเพิ่มขึ้น กล้าจับจ่ายใช้สอยและซื้อสินค้าในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้นแล้ว ทฤษฎีดังกล่าวยังมี “นัยยะ” ที่สำคัญอีกประการหนึ่งซ่อนอยู่ข้างใน นั่นคือ การผลักดันให้องค์กรหรือประเทศมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Adding) แทนการเป็นผู้ผลิตแต่สินค้าคอมมอดิตี้ที่ใช้ราคาถูกเป็นจุดขาย เพราะ “การเพิ่มมูลค่า” จึงทำให้ไม่ต้องห่วงเรื่อง “ต้นทุน” ด้วยว่าสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ย่อมสามารถตั้งราคาได้สูง (อาจบางครั้ง) เกินกว่าทุนเป็นหลายเท่า โดยที่ผู้บริโภคก็ “ยินดีซื้อ” มิได้เกี่ยงงอนเรื่องราคาแต่อย่างใด ดังกรณีโทรศัพท์มือถือ iPhone ของสตีฟ จ๊อบส์ ที่คนเข้าคิวยาวเป็นหางว่าวแย่งกันอย่างกับขนม ทั้งที่สนนราคาสูงถึงกว่า 20,000 บาทต่อเครื่อง แนวคิดสองสูงของ “ท่านประธาน แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์” จึงเป็นการชี้นำให้องค์กรมุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าของสินค้า ผลิตภัณฑ์อาหารของซีพีเอฟ เมื่อปรุงสุกย่อมมีมูลค่าสูงกว่าจำหน่ายเป็นไก่สดแช่แข็ง และเมื่อมี “แบรนด์เนม” ก็ยิ่งมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเป็นทบเท่าทวีคูณ เมื่อเดินยุทธศาสตร์เพิ่มมูลค่า จึงมิพักต้องกังวลเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท” ด้วยเหตุนี้หากธุรกิจในประเทศต่างพากันเดินไปในทิศทางดังกล่าว ความมั่งคั่งย่อมเกิดขึ้นกับ “คนไทย” ในทุกระดับชั้นโดยทั่วกัน ประเทศเพื่อนบ้านที่เลือกยุทธศาสตร์มูลค่าเพิ่มสูง (High Value Adding) ไปแล้วก็คือ สิงคโปร์ และมาเลเซีย ซึ่งได้สะท้อนออกมาในรูปของความมั่งมีศรีสุขของประชากร สิงคโปร์เองมีรายได้ต่อหัวของประชาชนสูงถึงร่วม 30,000 ดอลล่าร์สหรัฐต่อปี (สูงกว่าไทยเราตั้ง 10 เท่า) ธุรกิจในสิงคโปร์กว่า 60% ของ GDP เป็นธุรกิจภาคบริการ เช่น การเงิน การธนาคาร การค้าปลีก ค้าส่ง ภัตตาคาร &โรงแรม ตลอดจนบริการคมนาคมขนส่งทางเรือ และทางอากาศ ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่ให้มูลค่าเพิ่มสูงแก่ผู้ประกอบการทั้งสิ้น การวัดผลงานของ CEO สมัยใหม่นั้น เขาวัดกันที่ความสามารถในการเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร ตัวชี้วัดเรียกว่า EVA หรือ Economic Value Added ซึ่งอธิบายง่ายๆ ว่า CEO สามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นและผู้ให้กู้ได้หรือไม่ นัยยะก็คือเม็ดเงินที่นำมาลงทุนในกิจการทุกบาททุกสตางค์มี “ต้นทุน” ด้วยกันทั้งสิ้น แม้แต่ส่วนของ “เจ้าของ” ก็ยังคิดดอกเบี้ยเข้าไปด้วย หนทางเดียวที่ซีอีโอจะเอาชนะ “เครื่องกีดขวาง” ซึ่งในที่นี้คือ “ต้นทุน &ค่าใช้จ่าย” ที่ถูกยกให้สูงขึ้น ก็คือการเดินยุทธศาสตร์ High Value Added นั่นเอง บริษัทจากโลกตะวันตกที่มาลงทุนในไทยล้วนบริหารด้วยยุทธศาสตร์ “มูลค่าเพิ่มสูง” จึงไม่ควรตั้งแง่หากจะแบ่งกำไรส่วนหนึ่งให้คนไทยได้ค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้นบ้าง แต่ไหนแต่ไรพวกเขาใช้ทฤษฏี “1 สูง 1 ต่ำ” มาโดยตลอด กล่าวคือ ผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มเพื่อให้ได้ราคาแล้วมาอาศัยแรงงานราคาถูกในบ้านเรา รัฐบาลควรเดินนโยบาย 2 สูง ด้วยการออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าของสินค้า เพื่อจะได้ขายสินค้าได้ราคาและสามารถจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ได้โดยไม่เดือดร้อน ภายใต้นโยบายดังกล่าว กระทรวงต่างๆ อันเป็นแขนขาในการบริหารบ้านเมือง จักต้องร่วมมือกันระดมสรรพกำลังคิดมาตรการเพื่อจูงใจให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ เดินหน้าไปในแนวทางดังกล่าวนี้ จะตั้งหน่วยงานขึ้นมาเป็น “เจ้าภาพ” สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ... ว่าเรื่องนี้อย่างเป็นกิจจะลักษณะก็จะดีไม่น้อยเลยครับ ถึงเวลาที่เมืองไทยจะต้องปรับตำแหน่ง (Repositioning) ตัวเองมาเป็นประเทศ “มูลค่าเพิ่ม” เสียที และวางยุทธศาสตร์ผลักดัน เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจริงจัง เราเคยตัดไม้สักขายเป็นท่อนซุงจนหมดป่า ส่งออกปอกระเจาอัดเบลแทนที่จะนำไปทอเป็นกระสอบ ขายยางแผ่นดิบรมควันให้มาเลเซียไปเพิ่มมูลค่าเป็นยางรถยนต์ ถุงมือแพทย์ ฯลฯ วันนี้เราต้องหันมาดูอย่างพินิจพิเคราะห์ว่า “ข้าว” ที่เราส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลกนั้นเพิ่มมูลค่าได้เพียงแค่หุงให้สุกเท่านั้นหรือ ? เป็นการบ้านข้อใหญ่ สำหรับรัฐบาลท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่จะต้องสางต่อครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท