Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองของสังคมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้ามีส่วนเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมาอย่างต่อเนื่อง ในบางคราวมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้กลายถูกมองเป็นเสมือนคบเพลิงส่องทางสว่างไสวแก่ผู้คน แต่ในบางคราวก็ต้องเผชิญกับการตกเป็นเป้าโจมตีว่ากำลังเดินไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับอุดมการณ์แต่แรกเริ่มของมหาวิทยาลัย ในวิกฤติการเมืองครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การดำเนินบทบาทของผู้บริหารมหาวิทยาลัยในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญก็กำลังเผชิญกับคำถามและข้อสงสัยจากผู้คนอย่างกว้างขวาง อันปรากฏขึ้นนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา ซึ่งได้ทำให้การเมืองในสังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับการแบ่งสีแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างลึกซึ้ง รวมไปถึงคาดความหมายที่มีสถาบันทางสังคมการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสำคัญจากแต่ละฝ่าย มหาวิทยาลัยในสถาบันการศึกษาระดับสูงควรจะมีบทบาทอย่างไรต่อความขัดแย้งในทางการเมือง เป็นคำถามสำคัญที่สังคมเองก็มีความคาดหวังอยู่แม้จะไม่มากก็ตาม แน่นอนว่าเราคงไม่อาจคาดหวังให้บุคคลที่ทำหน้าที่ในฐานะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต้องมีทรรศนะในทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกับตัวเรา เพราะความขัดแย้งครั้งนี้มีประเด็นที่สามารถถกเถียงและให้คำอธิบายต่อปรากฏการณ์ได้ในหลากหลายชุด ซึ่งต่างก็มีเหตุผล ข้อมูล ความเชื่อ อุดมการณ์ที่แตกต่างกันไปเป็นปัจจัยสนับสนุน ทั้งมหาวิทยาลัยมิใช่ดินแดนสรวงสวรรค์ที่ผู้คนหลุดลอยออกไปจากความเป็นจริงในทางสังคมล้วนต่างก็ย่อมตกอยู่เงื่อนไขความขัดแย้งทางสังคมนี้ด้วยเช่นกัน แต่มหาวิทยาลัยในฐานะของสถาบันการศึกษาควรจะถูกวางบทบาทเอาไว้ตรงไหน อย่างไร มหาวิทยาลัยในสังคมปัจจุบันเป็นแหล่งที่ถูกคาดหมายในด้านของภูมิปัญญาความรู้เมื่อต้องเผชิญกับความยุ่งยากต่างๆ ยิ่งนับวันที่สภาพสังคมมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยก็ถูกคาดหมายในระดับที่สูงขึ้น แม้ว่าในความเป็นจริงไม่อาจตอบสนองต่อความต้องการที่เกิดขึ้นอย่างได้ทั่วถึง ในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างลึกซึ้งในห้วงเวลาปัจจุบัน เราได้เห็นภาพของการแสดงจุดยืนของบุคคลแต่ละฝ่ายออกมาอย่างแข็งขัน พร้อมกันไปกับการโจมตีผู้ที่มีความคิดเห็นต่างหรือยืนอยู่ในคนละฝั่งอย่างรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นการปลุกเร้าผู้ที่มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับตนและทำให้เกิดความเกลียดชังอีกฝ่าย ที่สำคัญอาการเกลียดชังเหล่านี้ได้เกิดขึ้นและขยายตัวออกกว้างขวางด้วยผู้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างหฤหรรษ์ การแสดงความคิดเห็นในทางการเมืองได้กลายเป็นปมประเด็นที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยในสังคมต้องการที่จะหลีกเลี่ยง อันเนื่องมาจากความไม่มั่นใจในชีวิตและเสรีภาพซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากการแสดงความเห็นของตน อีกทั้งความเห็นที่แตกต่างก็ดำเนินไปในทิศทางของการแสดงจุดยืนมากกว่าการแลกเปลี่ยนความเห็นหรือทรรศนะของแต่ละฝ่าย เมื่อต้องเผชิญการแสดงความเห็นที่สั่นคลอนความเชื่อที่เคยเป็นมาอย่างรุนแรง รวมถึงการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างติดตามมา ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าจะนำซึ่งความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายต่างๆ อย่างแน่นอน มหาวิทยาลัยจะเผชิญหน้ากับเรื่องนี้อย่างไร ทางหนึ่งที่มักเห็นกันบ่อยครั้งก็คือการใช้อำนาจในการปิดกั้นไม่ให้เกิดการแสดงความเห็นที่แตกต่างเกิดขึ้น ซึ่งไม่สู้เป็นประโยชน์ทั้งกับสถาบันและกับสังคมโดยรวมแต่อย่างใด หนทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้เกิดการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งที่เป็นประโยชน์ก็คือ การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ของการถกเถียงในประเด็นปัญหาอย่างตรงไปตรงมา บนฐานของข้อมูลและความรู้ระหว่างบุคคลในฝ่ายต่างๆ บทบาทในลักษณะเช่นนี้ไม่เพียงทำให้เกิดความงอกงามในทางปัญญาและการเรียนรู้เท่านั้น หากแต่จะเป็นแนวทางเพื่อทำให้เกิดการสนทนาระหว่างผู้คนให้สามารถเกิดขึ้นได้แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน อันเป็นภาพที่หาได้อย่างยากเย็นยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบันระหว่างผู้ซึ่งสมาทานแนวความคิดที่แตกต่างกัน บทบาทดังกล่าวจะช่วยทำให้การกล่าวหาและป้ายสีกันแบบไร้เหตุผลในทางการเมืองมีความหมายน้อยลง เมื่อสีต่างๆ เจือจางลงก็คงจะทำให้สังคมสามารถมองเห็นใบหน้าที่มีชีวิตของอีกฝ่ายในฐานะมนุษย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งได้มากขึ้น ในด้านของการแสวงหารู้ การเปิดพื้นที่เพื่อให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนนับเป็นห้องเรียนไม่เป็นทางการเมืองที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการบรรยายตามตารางสอน และเป็นการให้การเรียนรู้กับนักศึกษาและบุคคลภายนอกได้อย่างดียิ่ง แน่นอนว่าการตระหนักถึงการสร้างความรุนแรงเป็นสิ่งที่ควรต้องตระหนักถึง หากเห็นได้ชัดเจนว่ามีแนวโน้มที่กำลังจะก้าวเดินไปสู่เหตุการณ์ที่มีเลือดตกยางออกหรือแม้กระทั่งการบาดเจ็บล้มตาย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพึงระวังมิให้ถูกหยิบมาเป็นข้ออ้างเพื่อปิดปากฝ่ายอื่นที่มีความเห็นต่างๆ ตามอำเภอใจ สังคมไทยตกอยู่ในห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งมาเป็นระยะเวลายาวนาน และสถานการณ์เช่นนี้ก็มีแนวโน้มที่จะยังคงดำเนินต่อไป บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการนำเสนอแนวทางเพื่อก้าวข้ามให้พ้นไปจากความยุ่งยากนี้เป็นภาระหน้าที่ประการหนึ่ง และภาระหน้าที่ดังกล่าวนี้คงไม่อาจจำกัดไว้เพียงเฉพาะกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น หากหมายรวมไปถึงมหาวิทยาลัยแห่งอื่นด้วยเช่นกันที่จะช่วยนำพาสังคมไทยให้เดินหน้าก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้อย่างสันติและสงบ มากกว่าเพียงการคลั่งไคล้อยู่กับการจัดอันดับที่สูงขึ้นของมหาวิทยาลัยในระดับโลกโดยไม่สนใจถึงปัญหาความขัดแย้งที่กำลังคุโชนอยู่ภายสังคม ณ ห้วงเวลานี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net