Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกกล่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อเร็วๆนี้ว่า ผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ก่อความรุนแรงโดยมุ่งหวังจากเรียกร้องความสนใจจากองค์กรนานาชาติเพื่อดึงให้องค์กรเหล่านั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาให้ได้ คำกล่าวของพลเอกประยุทธ์มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้โจมตีฐานทหารแห่งหนึ่งในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี แล้วล่อให้กำลังทหารชุดที่เป็นกำลังเสริมเข้าไปติดกับดักแล้วซุ่มโจมตีด้วยระเบิดและอาวุธปืนยังผลให้ทหารเสียชีวิตถึง 6 นาย พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่าความขัดแย้งในภาคใต้ของไทยซึ่งเป็นดินแดนที่มีคนพูดภาษามาเลย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากนี้เป็นความปัญหาภายในของไทยและทางการไทยกำลังพยายามทำดีที่สุดแล้วที่จะแก้ไขปัญหา โชคร้ายไปหน่อย ที่ว่าดีที่สุดนั้นนั้นยังไม่ดีเท่าใดนัก เพราะบรรดาผู้ก่อความไม่สงบยังสามารถลงมือเมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการ มีการทุ่มเทงบประมาณไปหลายพันล้านบาทเพื่อเอาชนะปัญหานี้ให้ได้ แต่ชาวบ้านซึ่งมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นมุสลิมมาลายูก็เอาใจช่วยพวกผู้ก่อความไม่สงบด้วยการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ต่อการเคลื่อนไหวของพวกเขา ในพื้นที่ของชุมชนที่ห่างไกลออกไป กองกำลังติดอาวุธของผู้ก่อความไม่สงบไปไหนมาไหนได้อย่างเสรี พวกเขาเดินทอดน่องเข้าออกร้านน้ำชาในหมู่บ้านราวกับว่าเป็นผู้ถือกฎหมายเสียเองอย่างนั้น ชาวบ้านก็คงไม่ชอบความโหดร้ายป่าเถื่อนแต่ดูเหมือนว่าจะมีความรู้สึกร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบอยู่มาก พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า หากองค์กรระหว่างประเทศมากปรากฎตัวขึ้นก็จะทำให้ปัญหาภาคใต้นั้นยุ่งยากมากขึ้นไปอีก แต่ก็ไม่มีใครเข้าใจนักว่า สมมติฐานของพลเอกประยุทธ์นั้นยืนอยู่บนพื้นฐานของอะไร แต่หากผู้ก่อความไม่สงบอยากจะเรียกร้องความสนใจจากนานาชาติจริงๆ พวกเขาไม่น่าจะจำกัดความรุนแรงเอาไว้ที่ภาคใต้ซึ่งเป็นถิ่นของชาวมุสลิมมาลายูเป็นแน่ แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมมีมากมายในเขตภาคใต้ตอนบนซึ่งห่างจากเขตจังหวัดชายแดนใต้เพียงแค่ขับรถไม่กี่ชั่วโมง ยิ่งไปกว่านั้นถ้านั่งรถไฟก็แค่คืนเดียวก็ถึงกรุงเทพฯ วัสดุที่ใช้ในการประกอบระเบิดนั้นหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ปัญหาของพลเอกประยุทธ์และบรรดาข้าราชการอนุรักษ์นิยมของไทยทั้งหลายคือ พวกเขาไม่อยากจะถกเถียงเรื่องความชอบธรรมของรัฐไทยในประวัติศาสตร์ของชาวมาลายูในภาคใต้ต่างหาก ถ้าทำอย่างนั้นพวกเขาก็จะพบว่าชาวมาลายูที่นั่นมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมคนละชุดกับคนส่วนอื่นๆของประเทศ ศาสตราจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เสนอเอาไว้ในเอกสารที่เขียนกับอีสเวสต์เซ็นเตอร์ เกี่ยวกับการโต้แย้งทางประวัติศาสตร์ของการก่อกบฏทางภาคใต้ของไทยว่า ทางออกที่ดีที่สุดทางหนึ่งคือต้องยอมรับความแตกต่าง ธเนศ กล่าวว่า “ถ้าปราศจากความเข้าใจพื้นฐานและการยอมรับอัตตาลักษณ์ทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมของกันและกันแล้ว ก็คงจะเป็นการยากที่ทั้งสองฝ่ายจะมีเจตจำนงค์ทางการเมืองที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง” “กรุงเทพฯมองว่าปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องของภัยการแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่มุสลิมมาลายูเห็นว่านี่เป็นหนทางหนึ่งของความอยู่รอดของวัฒนธรรมและเชื้อชาติ” “เพื่อสันติภาพที่ยั่งยืน ชาวมุสลิมมาลายูจะต้องได้รับอนุญาตให้มีบทบาทอย่างสำคัญในการนำมาซึ่งสันติภาพและความมั่งคั่งไปสู่ท้องถิ่นของพวกเขา” แต่กรุงเทพฯก็มีแนวโน้มจะคิดว่าพวกเขารู้ดีที่สุด ที่แย่กว่านั้นคือ พลเอกประยุทธ์พูดว่าถ้าไม่ทำแบบทหารก็ไม่มีทางเลย นั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเขาจึงต่อต้านความคิดเรื่องการให้อิสระทางการปกครองที่เสนอขึ้นมาโดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ไม่มีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียวในพื้นที่ภาคใต้ แม้ว่าจะรณรงค์เรื่องการให้อำนาจการปกครองก็ตาม เป็นที่คาดหมายได้ สุดท้ายยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยก็กลับคำ การแสดงการไม่แยแสชาวมุสลิมมาลายูก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลอะไรในทางการเมือง เพราะพวกเขาก็รู้ดีว่าสาธารณชนทั่วไปก็ไม่ได้แยแสต่อความรู้สึกของชาวมุสลิมมาลายูอยู่แล้ว ดังที่เอกรินทร์ ต่วนศิริ ผู้อำนวยการปัตตานีฟอรั่มได้กล่าวไว้ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศเมื่อเร็วๆนี้ว่า บางทีอำนาจปกครองอาจจะไม่ใช่คำตอบก็ได้ บางทีอาจจะเป็นเรื่องความยุติธรรมและความเท่าเทียมมากกว่า เดวิด ลิปแมน เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป กล่าวไว้ในปาถกฐาที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า ต้องให้พื้นที่ทางวัฒนธรรมแก่ชาวมุสลิมมาลายูมากขึ้น เช่น ให้การศึกษาแบบสองภาษาโดยให้ภาษาแม่ (มาเลย์) ได้มีโอกาสใช้เคียงคู่กับภาษาไทย ลิปแมน พูดมีประเด็นทีเดียว ในปี 2550 เมื่อรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ได้ทดลองให้โรงเรียนชั้นประถมหลายโรงได้สอนภาษามาเลย์และศาสนาอิสลาม ปีนั้นผู้ก่อความไม่สงบเผาโรงเรียนไปกว่า 100 โรงแต่ในปีถัดมามีโรงเรียนถูกเผาน้อยกว่า 10 โรง กฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งในเวลานั้นเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ ทำให้ครูสอนศาสนาและผู้นำทางศาสนาในท้องถิ่นได้มีสิทธิมีเสียงในการกำหนดหลักสูตรการศึกษาบ้าง เขาบอกว่า นี่มันเป็นความรู้สึกของความเป็นเจ้าของ แต่แล้วก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหรือผู้กำหนดนโยบายคนไหนให้ความสนใจกับพัฒนาการอันนั้นเลย บางทีถ้าเขาทำเขาอาจจะเสียหน้าก็ได้เพราะบรรดาฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็เคยได้ปฏิเสธความคิดที่จะให้ใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาทำงานควบคู่ไปกับภาษาไทย เมื่อพูดถึงเรื่องอิทธิพลต่างประเทศ พลเอกประยุทธ์ ไม่มีความกล้าหาญมากพอจะยอมรับว่า ระหว่างสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์นั้นก็เคยมีการขอความช่วยเหลือจากชุมชนนานาชาติ ประเทศเพื่อนบ้านและตัวกลางต่างชาติให้มาช่วยแก้ปัญหาภาคใต้ ความริเริ่มเช่นว่านั้นจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความพยายามที่จะเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับความริเริ่มเหล่านี้ก็ไม่น่าจะเหนือบ่ากว่าแรงพลเอกประยุทธ์ เพียงแต่ว่าเขาไม่สามารถยอมรับความจริงที่เขาไม่ชอบได้เท่านั้นเอง ทุกวันนี้หน่วยงานของรัฐ ทั้งกองทัพ ตำรวจ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ รัฐบาลต่างประเทศ นักการเมืองทั้งที่เกษียณแล้วและที่กำลังทำงานอยู่ เอ็นจีโอทั้งในและนอกประเทศที่เคยมีประสบการณ์ในการไกล่เกลี่ยสันติภาพ ก็พยายามสำรวจแนวคิดในการสร้างกระบวนการสันติภาพกันอยู่ บางพวกก็วิ่งหาอยู่ว่าจะคุยกับหัวหน้าพวกแบ่งแยกดินแดนคนไหนดี ความจริงก็คือมีนายหน้าสันติภาพมากมายเหลือเกิน แต่ไม่มีใครเป็นเจ้าของกระบวนการ (สันติภาพ) สักรายเดียว บางรายก็พยายามจะเข้าหาผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่น แต่ถ้าปราศจากกระบวนการที่มีความหมายซึ่งได้รับมอบอำนาจจากรัฐเสียแล้ว ก็ลืมไปได้เลยว่าพวกนักไกล่เกลี่ยเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนจากพื้นที่ หลังจากที่ได้กล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการต่อโศกนาฎกรรมที่ทำกับชาวปัตตานีแล้ว พลเอกสุรยุทธ์ได้เรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐร่วมมือกับต่างประเทศในการแสวงหาวิถีทางที่ไม่ใช่ทางทหารเพื่อยุติความขัดแย้งในภาคใต้ แต่ความพยายามเหล่านี้เหลวไม่เป็นท่าในสมัยรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวชและสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ระหว่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็มีกระบวนการสันติภาพโผล่ขึ้นมาอีกด้วยความหวังว่าจะได้รับมอบอำนาจจากรัฐในการเจรจาสันติภาพ หนึ่งในคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เปิดเผยว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติได้ออกถ้อยแถลงเพื่ออธิบายถึงกระบวนการเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มหนึ่ง โดยผ่านตัวกลางต่างประเทศ คณะรัฐมนตรีไม่ได้ให้การรับรองแถลงการณ์นี้ นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เพียงแต่รับทราบอย่างไม่เป็นทางการ เพราะแหล่งข่าวบอกว่า นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจำเป็นจะต้องปฏิเสธ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าอภิสิทธิ์ไม่ได้รับทราบถึงความพยายามของหลายหน่วยงานทางด้านความมั่นคงและข่าวกรองรวมทั้งชุมชนนานาชาติกำลังพูดคุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่ม เพียงแต่นายกรัฐมนตรี (อภิสิทธิ์) ไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวเพราะมันอ่อนไหวทางการเมืองมากเกินไป กระบวนการสันติภาพที่สภาความมั่นคงแห่งชาติให้การสนับสนุนเหล่านั้นสามารถจบได้อย่างสวยงามในตอนนี้ เมื่อพรรคเพื่อไทยได้นำคนของตัวมาเป็นผู้อำนวยการศอ.บต. แหล่งข่าวในรัฐบาลบอกว่าความจริงผู้อำนวยการศอ.บต.ทวี สอดส่อง ก็อยากจะคุยกับผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนเพื่อยุติความขัดแย้ง แต่ปัญหาคือมีคนอ้างว่าเป็นหัวหน้าขบวนการเหล่านี้หลายคนเหลือเกิน แม้ว่าทวีจะคลำโดนเป้าแต่ผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ลี้ภัยในต่างประเทศหลายคนพูดว่า มันก็ยังไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่ดี นอกจากปัญหาเรื่องดินแดนของตัวกลางและกระบวนการสันติภาพโดยตัวของมันเองแล้ว บรรดาผู้ที่เป็นผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ และจำนวนมากก็แข่งขันกันเอง แย่ไปกว่านั้นคือพวกผู้นำเหล่านี้ควบคุมนักรบในพื้นที่ไม่ได้ ถ้าหากจะทำให้กระบวนการสันติภาพมีความหมายขึ้นมาบ้าง บรรดาผู้นำทั้งหลายก็ต้องแสดงให้นักรบเห็นว่า พวกเขาสามารถปฏิบัติตามกระบวนการนั้นได้จริงๆ บรรดานักรบผู้ก่อความไม่สงบทั้งหลายไม่ได้มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเร่งรีบเข้าสู่กระบวนการสันติภาพใดๆ หรือ การเจรจา หรือ อะไรก็ตามแต่จะเรียก ตราบเท่าที่พวกเขายังสามารถปฎิบัติการได้ทุกที่ทุกเวลาอยู่เช่นนี้ การซุ่มโจมตีที่สายบุรีก็บอกความจริงเรื่องนี้ได้ทั้งหมดแล้ว Note: Please visit Conflict & Insurgency in Southeast Asia (http://www.seasiaconflict.com/) for more reports on Southern Thailand in English.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net