Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสุขภาพส่งจดหมายเปิดผนึกถามนายกฯจัดตั้ง “เมดิคัลฮับ” ตามมหาวิทยาลัยแพทย์ของรัฐ ดูผลกระทบที่จะเกิดกับคนไทยหรือยัง ชี้ได้ไม่คุ้มเสีย 6 ก.พ.55 น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ตามที่นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอคณะรัฐมนตรีให้เห็นชอบในหลักการและอนุมัติงบประมาณ การจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง หรือเมดิคัลฮับ (Medical Hub) โรงเรียนแพทย์ต่างๆ ทางเครือข่ายภาคีสุขภาพทั้งหมด 22 เครือข่าย อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ฯลฯ ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ขอให้ตรวจสอบการจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง หรือเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ในส่วนกลางและภูมิภาค ให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 มตินโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 “การผลักดันให้ไทยเป็นเมดิคัลฮับมีผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขไทยอย่างมาก แม้ในตัวเลขทางเศรษฐกิจอาจจะดูดี ดังนั้นขอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ว่า “ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ระยะที่ ๒ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการเฉพาะกิจของนายกรัฐมนตรีเพื่อพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติด้านการรักษาพยาบาล ดำเนินนโยบายหรือยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติที่ไม่กระทบต่อบริการสุขภาพสำหรับประชาชนไทย และต้องพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดและพัฒนานโยบายดังกล่าว ทั้งนโยบายระดับชาติและแผนปฏิบัติการเพื่อลดผลกระทบในทางลบต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับคนไทย” จากงานศึกษาของ รศ.ดร.อัญชนา ณ ระนอง และ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการขององค์การอนามัยโลกระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีรายได้มากขึ้น แต่ผลกระทบจากเมดิคัลฮับทำให้เกิดการขาดแคลนแพทย์ และทำให้ค่ารักษาพยาบาลแพงขึ้น โดยมีข้อเสนอให้เก็บภาษีจากผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาเพื่อไปสนับสนุนการผลิตแพทย์ และรักษาอาจารย์แพทย์ไว้ในระบบ แต่ข้อเสนอนี้ถูกคัดค้านโดยรัฐบาลและภาคเอกชน “หากไม่มีการจัดการที่ดี การผลักดันอุตสาหกรรมการรักษาพยาบาลเพื่อคนไข้ต่างชาติ (Medical Tourism) จะเป็นภาระหนักอึ้งของระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” http://www.who.int/bulletin/volumes/89/5/09-072249/en/index.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net