Skip to main content
sharethis

ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 คณะทำงานฯ เร่งจัดทำร่างยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่ พ.ศ.2555-2559 ให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2555 หวังให้ทันการระบาดซ้ำของไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ปีนี้ ขณะที่ ผอ.สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่เผย ร่างยุทธศาสตร์ฯ อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์ ก่อนส่ง ครม.ให้ความเห็นชอบและเผยแพร่ โดยเน้นการจัดการกระบวนการเลี้ยงสัตว์ สุขภาพสัตว์ และสัตว์ป่าให้ปลอดโรค เพิ่มขึ้น ขณะที่ระบบเฝ้าระวังป้องกัน รักษา และควบคุมโรคในคน เตรียมพัฒนาจัดทำเป็น \เอกาสุขภาพ\" นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะเลขานุการคณะจัดทำแผนยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ. 2555-2559 ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้ารายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานตามมตินี้ต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยระบุว่า หลังสิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ป้องกัน แก้ไข และเตรียมพร้อมรับปัญหาโรคไข้หวัดนกและการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2553) กอปรกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อบริหารจัดการโรคติดต่ออุบัติใหม่แบบบูรณาการ เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันขับเคลื่อนและนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการนั้น ขณะนี้ ทางคณะทำงานฯ ที่มีรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานผู้แทนองค์กรอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ประชุมกับผู้เกี่ยวข้องระดับผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 20 ครั้ง จนได้ร่างยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ พ.ศ.2555-2559 และได้วางแผนการประชาพิจารณ์ภายในเดือนมีนาคม 2555 จากนั้นจึงจะขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ก่อนนำไปเผยแพร่ โดยการขับเคลื่อนจะจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ พร้อมระบุหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติและใช้กลไกในรูปของคณะกรรมการที่จัดตั้งเพื่อการขับเคลื่อน ติดตาม กำกับและประเมินผลต่อไป สาระสำคัญของร่างแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับใหม่ดังกล่าว จัดทำขึ้นเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยขยายความจากแผนยุทธศาสตร์ฉบับเดิมที่จำกัดเพียงโรคไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ ซึ่งนับเป็นการปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันและกระแสโลก เช่น แนวคิดเรื่อง \"เอกาสุขภาพ\" (One Health) ภาวะโลกร้อน การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การใช้กฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 และยุทธศาสตร์โรคติดต่ออุบัติใหม่ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ทั้งนี้ ร่างยุทธศาสตร์ฯ ได้จำแนกออกเป็น 5 ข้อหลัก ได้แก่ 1.พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน รักษา และควบคุมโรคให้เป็นเอกาสุขภาพ 2.จัดการระบบการเลี้ยงสัตว์ สุขภาพสัตว์ และสัตว์ป่า ให้ปลอดโรค 3.พัฒนาระบบจัดการความรู้และการส่งเสริมวิจัยพัฒนา 4.พัฒนาระบบบริหารจัดการเชิงบูรณาการและเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และ 5.มีการสื่อสารความเสี่ยงและทำการประชาสัมพันธ์ “ที่ต้องนำเรื่องสัตว์ ทั้งสัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม บรรจุในร่างยุทธศาสตร์ฯ ด้วยก็เพราะโรคอุบัติใหม่กว่า 70% บนโลกเกิดขึ้นจากสัตว์ทั้งหมด มีบางกรณีที่มีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น โลกร้อน ภัยพิบัติ ที่เกิดจากการทำลายธรรมชาติโดยมนุษย์ ฉะนั้น ถ้าเราต้องการให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น กระบวนการในการปกป้องดูแลจะต้องไม่จำกัดอยู่แค่ในมนุษย์ต่อไป แต่ต้องมองหลายมิติและจัดทำเป็นพหุภาคีมากขึ้นในแบบเอกาสุขภาพ คือนำเอา คน สัตว์ สิ่งแวดล้อม มาผนวกรวมเข้าด้วยกันในกระบวนการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งเชื่อว่าน่าจะทำให้เกิดผลที่มีประสิทธิภาพกว่า จากนี้ก็จะจัดประชาพิจารณ์ร่างยุทธศาสตร์ฯ ก่อนนำเสนอ ครม.ขอความเห็นชอบ พร้อมประกาศใช้ภายในเดือนมีนาคม ซึ่งหวังว่าน่าจะทันก่อนไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่จะระบาดในปีนี้” นพ.รุ่งเรือง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net