รีวิวหนังสือ A Life’s Work โดย พอล เอ็ม แฮนด์ลีย์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“งานชิ้นนี้ไม่ได้เข้ายึดครองการอธิบายเกี่ยวกับสถาบันฯโดยตรง แต่เป็นงานที่พยายามให้สถาบันกษัตริย์ผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ให้ง่ายขึ้น” --- ปลายปีที่ผ่านมามีการออกหนังสือ King Bhumibol Adulyadej, A Life’s Work: Thailand’s Monarchy in Perspective หนังสือเล่มนี้เป็นที่สนใจของปัญญาชนทั้งสายอนุรักษ์นิยมและสายวิพากษ์ โดยถือว่าเป็น “เสียง” ที่ออกมาจากทางฝ่ายสถาบันพระมหากษัตริย์หลังจากที่ประเทศไทยผ่านวิกฤตการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะตั้งแต่รัฐประหาร พ.ศ.2549 เป็นต้นมา พอล เอ็ม แฮนด์ลีย์ นักข่าวผู้เขียนหนังสือเล่มสำคัญคือ The King Never Smiles: A Biography of Thailand’s Bhumibol Adulaydej ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามในประเทศไทย ได้เขียนบทรีวิวหนังสือเล่มนี้ในเวบไซต์นิวมันดาลา [http://asiapacific.anu.edu.au/newmandala/2012/01/16/review-of-a-life%E2%80%99s-work-tlcnmrev-xxxi/] ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในกระทู้นี้ และมุมมองต่อหนังสือเล่มนี้อันแตกต่างกันไปอย่างสำคัญ คณะนักเขียนแสงสำนึกเห็นว่า บทรีวิวนี้มีประโยชน์ในการจะเปิดพื้นที่การอภิปรายเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยใหม่ จึงแปลและเรียบเรียงมาแลกเปลี่ยนกับผู้ที่สนใจ 0 0 0 ในวาระครบรอบการครองราชย์ 50 ปีของพระมหากษัตริย์ในปี พ.ศ.2539 ราชสำนักได้ออกหนังสือเล่มหนาเกี่ยวกับชีวิตและงานของพระองค์ ซึ่งเสนอภาพใหม่ๆ ของรัชกาลปัจจุบัน การออกหนังสือในปีนั้นถือว่าช้าไปมากแล้ว ประเทศไทยผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจติดต่อกันเป็นสิบๆ ปี และทำให้สังคมมีสปริตของความมุ่งมั่น เพราะความเป็นสังคมทุนนิยมอย่างเข้มข้นและบริโภคนิยม ทำให้เกิดข้อเรียกร้องจะมีรัฐบาลที่ดีกว่าเดิม มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม การเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งนั้นทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกทิ้งให้ล้าหลัง แน่นอน เราในวันนี้รู้ว่า วิกฤตเศรษฐกิจกำลังจะตามมาในหนึ่งปีหลังจากนั้น แต่ในเวลานั้นไม่มีใครรู้ และจะต้องมีอะไรบางอย่างที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทันกับยุคกับสมัย เพราะฉะนั้นหนังสือ Thailand’s Guiding Light [1] จึงเกิดขึ้น พิมพ์โดยบางกอกโพสต์ แต่ชัดเจนว่าได้รับการสนับสนุนจากราชสำนัก ในหนังสือเล่มนี้ สุเมธ ตันติเวชกุล และอานันท์ ปันยารชุน ได้กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างระมัดระวังในฐานะสถาบันในสมัยใหม่ สุเมธผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาของพระมหากษัตริย์ได้ฉายภาพว่า พระองค์เป็น “นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม” สมัยใหม่ ด้วยทรงเข้าใจถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้ากระแสเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจะเกิดเสียอีก ท่ามกลางข้อเรียกร้องให้มีส่วนร่วมของสาธารณะในโครงการใหญ่ต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านนั้น สุเมธกล่าวว่า “พระองค์ทรงยึดหลักการมีส่วนร่วมรับรู้รับฟังของสาธารณะตลอด 30 ปีที่ผ่านมา...ซึ่งเป็นกระบวนการที่โปร่งใสในการมีส่วนร่วมของสาธารณะ...มันไม่ได้เป็นระบบระเบียบ แต่เป็นธรรมชาติ” ส่วนอานันท์ ผู้มีความใกล้ชิดกับทางราชสำนัก ได้อธิบายถึงพระเจ้าอยู่หัวฯว่า เป็นนักรัฐธรรมนูญที่ยึดหลักความรับผิดชอบ ปัจจุบันประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มุ่งหวังจะเป็นประเทศที่สังคมพัฒนาแล้ว แต่หลักการทางจารีตประเพณีของธรรมราชาและทศพิธราชธรรมยังคงมีความสำคัญอันยิ่งยวดต่อสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน พระองค์ได้ทรงแสดงให้เห็นอย่างต่อเนื่องถึงความเข้าใจต่อความเป็นกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ และความเป็นสัญลักษณ์ของจารีตประเพณีการปกครองของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในขณะเดียวกัน ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา อานันท์ได้ยืนยันว่า พระมหากษัตริย์ทรงเกี่ยวข้องกับการเมือง ทรงพบกับนายกรัฐมนตรีทุกสัปดาห์ “เพราะฉะนั้นอิทธิพลทางอ้อมของพระองค์ต่อนโยบายและมาตรการของรัฐบาลไม่ควรถูกมองข้าม” นี่เป็นเรื่องใหม่และสร้างสรรค์และเป็นประชาธิปไตยในสมัยใหม่ อานันท์ยังได้กล่าวว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิทางรัฐธรรมนูญ โดยเขาไม่ได้อ้างกฎหมายไทย แต่อ้างไปถึงผู้เชี่ยวชาญเรื่องระบอบรัฐธรรมนูญชาวอังกฤษของศตวรรษที่ 19 วอลเตอร์ เบกอต ผู้ซึ่งกล่าวว่ากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญอังกฤษทรงมีสิทธิสามประการ คือให้คำแนะนำ ตักเตือน และกระตุ้น อานันท์เสริมว่า “พระองค์ยังทรงยึดหลักความรับผิดชอบ ที่พระองค์ทรงทำนั้นสาธารณะสามารถเห็นได้ ซึ่งมันไม่ใช่ภาระความรับผิดชอบในความหมายทางกฎหมาย ...แต่มันมีความโปร่งใสอยู่...” การให้ภาพใหม่แม้ไมได้นำสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ทันไปกับยุคสมัยเศรษฐกิจเติบโต แต่ก็ได้นำสถาบันฯออกมาข้างหน้า การล่มสลายของเศรษฐกิจในปีถัดมา ทำให้สิ่งต่างๆ กลับหัวกลับหางชั่วคราว แต่ทันใดนั้นก็ทำให้พระมหากษัตริย์มีตำแหน่งแห่งที่อย่างสมบูรณ์ โดยอยู่ตรงกลางของ ยุคสมัย ของความเป็นสมัยใหม่และความเรียบง่าย และทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงก็อธิบายทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมด พระองค์ทรงกินข้าวกล้อง และทุกคนก็ปฏิบัติตาม รู้ว่าทรงเป็นฝ่ายถูกมาโดยตลอด --- ทศวรรษครึ่งถัดมา วาระพระชนมพรรษา ครบ 7 รอบ คลื่นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่ทำให้สถาบันเริ่มตกสมัยก็ได้ผลักให้หนังสือเล่มใหม่ออกมา อีกครั้งที่มีอานันท์และสุเมธเป็นผู้นำ อีกครั้งหนึ่งที่พวกเขานำสถาบันฯมาข้างหน้า และอีกครั้ง หากแต่ด้วยความระมัดระวังล้นเกิน และการอาศัยการตีความ พวกเขาไปไม่ถึงในสิ่งที่จะต้องทำให้แก่สถาบัน แต่พวกเขาก็ได้ทำมากพอที่จะรักษาภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์เอาไว้ และนั่นดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับวันนี้ A Life’s Work เป็นหนังสือเล่มหนาจากสำนักพิมพ์สัญชาติสิงคโปร์ Didier Millet เขียนโดยนักเขียนผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองไทยอย่างคริส เบเกอร์ เดวิด สเตร็คฟัส พอพันธ์ อุยยานนท์ นักข่าวและอดีตนักข่าว โดมินิค ฟาวเดอร์ จูเลียน เกียริ่ง ริชาร์ด เออลิช พอล วีเดล โรเบิร์ต ฮอร์น และโรเบิร์ต วูดโรว รวมทั้งนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวโจ คัมมิ่งส์ ผู้ดูแลการผลิต ในแง่หนึ่งถือได้ว่า เป็นคณะกรรมการด้านยุทธศาสตร์จากทางราชสำนัก อานันท์ สุเมธ บุตรี วีระไวทยะ ปราโมทย์ ไม้กลัด วิษณุ เครืองามและคนอื่นๆ ในขณะที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคปลายรัชกาล และหลังจากที่ความวุ่นวายในหลายปีที่ผ่านมา ได้ทำให้เกิดการอภิปรายและการวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง (รวมทั้งงานของผู้เขียนเอง) พระมหากษัตริย์ควรจะมีหนังสือใหม่อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับพระองค์ เกี่ยวกับชีวิตและงานของพระองค์ เป็นหนังสือที่ไม่ต้องมีทิศทางแบบวิพากษ์วิจารณ์ แต่สามารถเติมรอยโหว่ของหนังสือชีวประวัติของพระองค์ที่ผ่านมา สามารถแก้ไขวันที่และรายชื่อต่างๆ ให้ถูกต้อง เป็นหนังสือที่ “นำเสนอ” มากกว่าที่จะ “สรรเสริญ” ชีวิตของพระองค์ หลังจากระยะเวลา 65 ปีของการครองราชย์นั้น กระบวนการสร้างมายาคติสามารถทำงานของมันได้เองอยู่แล้ว ชื่อรองของหนังสือ “Thailand’s Monarchy in Perspective” บอกถึงจุดประสงค์อีกอันหนึ่ง คือมันส่งสัญญาณว่า ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะไม่ได้เป็นการตอบโดยตรงต่อ The King Never Smiles [2, TKNS หลังจากนี้] และงานวิพากษ์อื่นๆ จากนั้น แต่มันก็คือการตอบโต้ คือการ “ขอคืนพื้นที่” การอธิบายจากผู้ที่วิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งหมด มันขอคืนพื้นที่จาก TKNS จากสเตรคฟัส [3] จากสื่อและองค์กรสิทธิมนุษยชนเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขอคืนพื้นที่การอธิบายจากพอพันธ์ [4] และนิตยสารฟอร์บส์ [5] ในเรื่องความมั่งคั่งของราชวงศ์ และงานอื่นๆ ที่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์สมัยใหม่ ทางราชสำนักยังมีอีกบางเรื่องที่ต้องสื่อสารออกมา คือหนึ่ง - สถาบันพระมหากษัตริย์กำลังถูกคุกคาม ซึ่งทำให้การคงอยู่ของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นเรื่องจำเป็น สอง - เรื่องความมั่งคั่งของราชวงศ์ ว่าเป็นของราชวงศ์เอง ไม่ใช่ของสาธารณะ และสาม – สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจะเป็นผู้ขึ้นครองราชย์ ไม่มีอะไรผิดเกี่ยวกับการประกาศจุดยืนของตนเอง สถาบันจะต้องตามสถานการณ์ปัจจุบันให้ทัน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เวบไซต์ประชาไทหรือในห้องแชทต่างๆ แต่กับเวทีอภิปรายวิชาการต่างๆ กับสื่อต่างประเทศ และสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ 2540 ที่ปฏิเสธไม่ได้ และต้องหยุดข้อสงสัยโดยเฉพาะเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ ในแง่ของสไตล์ หนังสือเล่มนี้เป็นความยุ่งเหยิง มันแสดงเรื่องประวัติศาสตร์กษัตริย์ของราชอาณาจักรสยาม ชีวิตของพระมหากษัตริย์ในช่วง 12 รอบที่ผ่านมา งานด้านการพัฒนา และส่วนที่พูดถึงประเด็นร้อน – ความร่ำรวยของสถาบัน เรื่ององคมนตรี การสืบราชสันตติวงศ์และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เราไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เขียนและตรวจส่วนต่างๆ เหล่านี้ แต่อย่างน้อยเราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กองบรรณาธิการพยายามไม่ให้มัน “แรงเกินไป” โดยเฉพาะว่าผู้เขียนเหล่านี้ก็คือคนที่ต้องการตามให้ทันนั่นเอง อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะที่ต้องรักษาภาพลักษณ์ของตัวเอง แต่ A Life’s Work ไม่ได้เป็นงานอำพรางข้อเท็จจริง งานชิ้นนี้ไม่ได้เข้ายึดครองการอธิบายเกี่ยวกับสถาบันฯโดยตรง แต่มันพยายามให้สถาบันกษัตริย์ผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ให้ง่ายขึ้น คำนำของอานันท์แสดงให้เห็นว่า ราชสำนักได้เห็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารใหม่ที่ตนเองจะต้องพบ และเน้นในวิธีการ “สร้างความสมดุลย์ ความเป็นภววิสัย และความถูกต้อง” ในเรื่อง “ที่เป็นที่สนใจไปตลอดของคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย” (น.11) คำบรรยายเกี่ยวกับประเพณีของสถาบันกษัตริย์ก็เป็นไปตามปกติมาตรฐานที่อธิบายกันทั่วไป โดยอธิบายพัฒนาการของมโนทัศน์เรื่องธรรมราชาอันมีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งในสมัยอยุธยานั้นอ่อนแอ แต่เริ่มมาแข็งแรงมากขึ้นในยุคของราชวงศ์จักรี ข้อมูลเพิ่มเติมของพระมหากษัตรยิ์ในราชวงศ์จักรีนั้น ดูจะมีมายาคติน้อยกว่าที่เคย โดยมีการเปรยถึงความโกลาหลสมัยรัชกาลที่ 6 และรับรู้ถึงความอ่อนแอที่นำมาซึ่งการปฏิวัติ พ.ศ.2475 แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ใส่ร้ายคณะราษฎร การสละราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ถูกกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่มันก็หยุดการอธิบายอย่างที่เคยผ่านมา ว่ารัชกาลที่ 7 ทรงมีศีลธรรมอันสูงส่งกว่าเหล่านักการเมืองที่เข้ามาแสวงหาอำนาจ ถึงกระนั้นงานชิ้นนี้ก็ยกพระมหากษัตริย์ว่าเป็นตัวเลือกที่ “เหมาะสมที่สุด” (น.41) ในการจะกอบกู้ราชบัลลังก์ แต่โดยรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้เต็มไปด้วยคำยกยอปอปั้นหรือคำสรรเสริญแต่อย่างใด ในส่วนชีวประวัติของ A Life’s Work นั้น ดูจะดีที่สุดจากมุมมองของการอธิบายแบบกระแสหลัก มันพูดถึงเหตุการณ์สำคัญๆ เกือบทั้งหมด ได้เรียงร้อยเรื่องการเมืองเข้ากับพัฒนาการของครอบครัว และโครงการส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ กรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ก็ถูกพูดถึง พูดถึงทฤษฎีที่มีการกล่าวถึงทั้งหมด – แต่ไม่รวมถึงทฤษฎีที่คนกล่าวถึงมากที่สุดเอาไว้ด้วย เป็นที่น่าประหลาดใจว่า ไม่มีข้อมูลอะไรใหม่ในเรื่องนี้เลย ทิ้งให้เรื่องนี้เป็นปริศนาเหมือนเดิม ความวุ่นวายของช่วงกลางทศวรรษที่ 2510 ก็ถูกเล่าแปลกๆ ซ้ำๆ หนังสือเล่าว่า เดือนธันวาคม พ.ศ.2518 พระมหากษัตริย์ทรง “ไม่ได้วิตกกับการล้มลงของโดมิโนในอินโดจีน” (น.133) ยังเล่าอีกว่า ในเดือนกันยายน พ.ศ.2519 พระมหากษัตริย์และพระราชินีไม่ได้พบกับถนอม กิตติขจร หลังจากที่เดินทางกลับเมืองไทยและบวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ส่วนวันที่ 6-7 ตุลาคม พระมหากษัตริย์เสวยข้าวเย็นกับเจ้าหญิงอลิกซ์ของเบลเยียม จากนั้นก็พบผู้บริจาคเงินโครงการพระราชดำริ และทรงออกไปวิ่งจ๊อกกิ้ง “โดยลำพังอย่างครุ่นคิด” (น.137) รัฐประหารในปีพ.ศ.2534-2535 และการลุกขึ้นประท้วง ก็ถูกเล่าออกมา ส่วนใหญ่จากมุมมองของผู้ประท้วง โดยดูจะพยายามไม่เลือกข้าง แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ หนังสือได้กล่าวถึงเรื่องของบุคคลสำคัญทางการเมืองที่จะต้องต่อสู้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาในสื่อกระแสหลักและหนังสือเรียนไม่เคยพูดถึง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ปรีดี พนมยงค์ และนายกรัฐมนตรีเกือบทุกคน อาจจะยกเว้นก็คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ แต่ในวัฒนธรรมทางการก็ไม่มีคนทั้งสองเช่นกัน แม้บทบาทของบุคคลสำคัญทางการเมืองเหล่านี้ดูจะไม่ชัดเจนในหนังสือเล่มนี้ แต่อย่างน้อยที่สุด มันได้แสดงให้เห็นถึงปฏิสัมพันธ์และความแตกต่างของประเด็นทางการเมืองที่เป็นปัญหาของทั้งสองฝ่าย จอมพล ป.มี “บุคคลิกที่มีเสน่ห์เวลาปรากฏตัว” และ “หนังเหนียว” (น.94) แน่นอนว่าจอมพลสฤษดิ์จงรักภักดีมากกว่า แต่ชื่อเสียงในทางลบก็มีมาก ส่วนของจอมพลถนอม-ประภาสแทบจะไม่มีการกล่าวถึง แต่สิ่งที่กล่าวนั้นก็ค่อนข้างเป็นแง่ลบทีเดียว สำหรับเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์นั้นมีอำนาจ “ปานกลาง” (น.137) งานชิ้นนี้ก็ครอบคลุมถึงทักษิณ ชินวัตร และการต่อสู้เสื้อเหลืองเสื้อแดง โดยยอมรับถึงความนิยมของทักษิณ และลักษณะความเป็นผู้นำที่เด็ดขาด ในหนังสือเล่มนี้ทักษิณดูจะเป็นบุคคลผู้จงรักภักดีอย่างมาก กล่าวถึงเสื้อเหลืองเสื้อแดงว่า ต่างสร้างความวุ่นวายและความเสียหาย ทั้งนี้เสื้อแดงดูจะแย่กว่าเล็กน้อย – รัฐประหาร พ.ศ.2549 นั้นเป็น “หายนะ” (น.178) และองคมนตรีสุรยุทธ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ล้มเหลว และหนังสือก็กล่าวอย่างไม่อ้างอิงหลักฐานใดๆ ถึงสมาชิกราชวงศ์และงานศพของผู้เคลื่อนไหวเสื้อเหลืองคนหนึ่ง (น.180) และเสียงกระซิบกระซาบถึงคำวิจารณ์และความวุ่นวายทางการเมือง อย่างไรก็ตาม หนังสือยืนยันว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไม่แสดงสัญญาณการเข้าข้างฝ่ายใดๆ” (น.180) ในส่วนการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ทรงดำรงอยู่เหนือความขัดแย้ง เมื่อประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญได้ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ในขณะที่หนังสือเล่มนี้เป็นการพยายามปรับปรุงจากประวัติศาสตร์ฉบับทางการก่อนหน้านี้ แต่มันก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ไม่ใช่เพราะว่ามันเต็มไปด้วยอคติ หากแต่เพราะมันใช้ “วิธีการทางประวัติศาสตร์แบบฟอเรสต์ กัมป์” ในหนังเรื่องนั้น เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการมองแบบคลุมเครือ โหยหาอดีต ประวัติศาสตร์แบบนี้ไม่มีอะไรดีหรือเลว เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นในยุคของมัน ดังนั้นในหนังสือเล่มนี้ การปฏิวัติ พ.ศ.2475 กรณีสวรรคตของในหลวงอานันทมหิดล และความพ่ายแพ้ของจอมพล ป. และปรีดี ความรุนแรงในทศวรรษที่ 2510 และเหตุการณ์พฤษภาคม พ.ศ.2535 ได้เกิดขึ้นทั้งหมด กลุ่มต่างๆ ปะทะกัน สันติภาพกลับมา และประเทศไทยก็เดินต่อไป แต่มันไม่ชัดเจนเลยว่า ทำไมบุคคลหรือเหตุการณ์เหล่านั้นได้เกิดขึ้น พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ที่นั่นเสมอ อย่างต่อเนื่องและแน่วแน่อยู่ข้างประชาชน และอานันท์ก็ได้สรุปในส่วนนี้ว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาทในการให้คำปรึกษา กระตุ้น และตักเตือนรัฐบาล แต่ “เช่นเดียวกับราชวงศ์ทั่วโลก” พระองค์ไม่ได้บอกเรื่องนี้กับสาธารณชน ส่วนที่สองของหนังสือครอบคลุมงานของพระมหากษัตริย์ในเรื่องสาธารณสุข การศึกษา การพัฒนาชนบทและเศรษฐกิจพอเพียง ถึงแม้จะมีรายละเอียดบางประการที่แสดงให้เห็นข้อวิจารณ์ของโครงการพระราชดำริก็ตาม แต่โดยรวมแล้วไม่มีอะไรใหม่ในส่วนนี้ ส่วนที่พูดถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียง เหมือนรายงานของ UNDP ในปีพ.ศ.2550 ที่เคยเขียนมาแล้ว จุดประสงค์หลักของส่วนนี้ คือต้องการแก้ไขความเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์ ว่าจริงๆ แนวคิดของพระองค์เป็นหลักการโดยกว้าง ไม่ได้เป็นแผนการพัฒนา และพระองค์หมายความถึง ความพอเพียงโดยรวม ไม่ใช่กับเฉพาะปัจเจกเท่านั้น โดยยังมีหวังว่านักวิชาการจะเห็นด้วย เวลาไม่กี่ปีอาจสั้นเกินไปที่จะประเมินผลกระทบของของหลักเศรษฐกิจพอเพียง ผู้สนับสนุนทฤษฎีนี้เน้นว่า ยังต้องการการเปลี่ยนแปลงของความคิดอย่างลึกซึ้ง และนั่นคงกำลังเกิดขึ้น แต่จะต้องรอการขึ้นมาของคนรุ่นที่ได้ศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่โรงเรียน (น.279) --- ส่วนที่ 3 ของ A Life’s Work “มงกุฏ” ไม่ได้พูดถึงพระมหากษัตริย์ แต่เป็น “ประเด็นที่เราจะต้องขบคิด เพราะคนจะไม่หยุดพูดถึงเรื่องเหล่านี้” นั่นก็คือเรื่องความมั่งคั่งของราชวงศ์ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การสืบราชสันตติวงศ์ และเรื่องคณะองคมนตรี แต่ละเรื่องถูกพูดถึงทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และแง่กฎหมาย และส่วนนี้ของหนังสือเห็นได้ถึงการยอมรับการตรวจสอบมากขึ้นของราชสำนัก ในเรื่องคณะองคมนตรี หนังสือยืนยันว่า องคมนตรีมีบทบาทจำกัดและไม่ได้มีอำนาจที่แท้จริง โดยมีอยู่เพื่อพิจารณาโครงการหลวงและตรวจสอบเอกสารการขอพระราชทานอภัยโทษตามที่องคมนตรีเกษม วัฒนชัย ได้กล่าวเอาไว้ว่า คนเชื่อว่าองคมนตรีมีอำนาจเพราะชื่อตำแหน่ง และนักข่าว นักวิชาการมักนำสิ่งที่องคมนตรีกล่าวไปเสนอซ้ำ “คนไทยเชื่อว่าอะไรที่ดูสูงส่งมักจะมีอำนาจ” (น.322) กระนั้นหนังสือก็กล่าวว่า คณะองคมนตรี “จู่ๆก็กลายมาเป็นประเด็นการอภิปรายอย่างกว้างขวาง” (น.3231) รวมทั้งข้อกล่าวหาที่ว่า องคมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 หนังสือไม่ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ แต่กล่าวว่า ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง องคมนตรีคงได้ “กระทำไปโดยฐานะส่วนตัว” คำพูดของ พล.อ.เปรม ที่กล่าวกับกองทัพหน่วยต่างๆ ก่อนหน้าการรัฐประหารที่ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางนั้น “ไม่ได้กระทำในฐานะประธานองคมนตรี” (น.323) ในเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ หนังสือได้กล่าวถึงฐานะทางประวัติศาสตร์และกฎหมายโดยละเอียด ยืนยันราชประเพณีของราชวงศ์จักรีว่า “รัชทายาทที่ฉลาดที่สุดและเหมาะสมที่สุดจะถูกเลือก” (น.327) หนังสือยังกล่าวถึงอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการเลือกผู้ที่พระองค์ต้องการ ไม่ว่ารัฐธรรมนูญและกฎมณเฑียรบาลปี พ.ศ.2467 จะบัญญัติว่าอย่างไร แต่ก็แปลกที่หนังสือกล่าวถึงการอนุญาตให้มีผู้สืบทอดหญิงในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 โดยไม่อธิบายว่าเพราะอะไร – ว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเป็นเพียงรัชทายาทชายองค์เดียวที่เหลือในรุ่นของพระองค์ และหนังสือก็ไม่ได้กล่าวว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายปี พ.ศ.2467 ที่ว่าผู้หญิงไม่สามารถขึ้นครองราชย์ได้นั้นถูกประนีประนอมอย่างไร ในหนังสือไม่มีการกล่าวถึงสมเด็จพระเทพฯ ในบทเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ แม้จะได้รับความนิยมและได้รับตำแหน่งเป็นสยามบรมราชกุมารีในปี พ.ศ.2520 นัยว่าทรงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งด้วย แทนที่จะเป็นเช่นนั้น หนังสือสรุปว่า ยังมีความเชื่อกันอยู่ว่า...ยังไม่มีการตัดสินใจว่าใครจะเป็นผู้ที่จะขึ้นครองราชย์...หากทุกอย่างยังเป็นเช่นในปี พ.ศ.2554 เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม คณะรัฐมนตรีจะเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้จะเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชขึ้นครองราชย์ (น.333) ส่วนที่พูดถึงความมั่งคั่งของสถาบันฯและสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็น่าสังเกต ที่อ้างถึงงานศึกษาชิ้นสำคัญของพอพันธ์ อุยยานนท์ ว่ามีทรัพย์สินอยู่ 3 หมื่น 3 พันล้านเหรียญ (ในปี พ.ศ.2548) และนั่นก็เป็นหลักฐานที่นิตยสารฟอร์บส์นำไปใช้ในการมองพระมหากษัตริย์ว่า เป็นกษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก (โดยไม่ได้นับรวมความมั่งคั่งจากการค้าน้ำมันของกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ์ของอ่าวเปอร์เซียด้วย) ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ซึ่งดูเหมือนว่าจะช่วยในการเขียนส่วนนี้ ดูจะยอมรับว่า มีความสนใจพุ่งมาที่สถาบันพระมหากษัตริย์ เขาได้เพิ่มรายละเอียดทางประวัติศาสตร์บางอย่างลงไป และได้ยืนยันตรงไปตรงมาว่า สำนักงานทรัพย์สินฯไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ แม้ว่ากฎหมายจะบัญญัติให้พระองค์มีอำนาจเช่นนั้นก็ตาม แต่สำนักงานทรัพย์สินฯเป็นของพระมหากษัตริย์ในฐานะ “สถาบัน” (น.283) และมันไม่ได้เป็นภาระใดๆ ของประชาชน แต่หลักการรับผิดชอบก็มีข้อจำกัดของมันเช่นกัน จิรายุกล่าวว่า “ความสงสัยที่เกิดขึ้นมากมายจะทำให้ความสัมพันธ์ที่มีเกียรติและดำรงอยู่ด้วยความเชื่อนั้นเสื่อมถอยลง กำไรที่เพิ่มขึ้นของสำนักงานทรัพย์สินฯในยุคสมัยนี้ ทำให้ผมคิดอย่างจริงจังอยู่ตลอดเวลาถึงความสมดุลย์อันเหมาะสม” (น.301) และส่วนสุดท้าย กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เวลานี้มีผู้ถูกจับกุมมากมาย และหลายคนก็ถูกตัดสินคุมขังจากกฎหมายนี้แล้ว ฉะนั้นราชสำนักก็คงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องนี้ได้ยาก หนังสือกล่าวว่า เรื่องนี้เป็น “ขวากหนามอันใหญ่” (น.303) ในหลายกรณี แต่ไม่ได้บอกว่าเพราะเหตุใด ตอนนี้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ออกมาแล้ว ใครๆ ก็กล่าวหาคนอื่นได้ คดีก็จะไปตามระบบราชการ และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยว่าคดีจะตกไป ความเสี่ยงเรื่องการจะได้รับโทษนั้น “มีอย่างท่วมท้น” (น.309) หนังสือกล่าวว่า นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การมีอยู่ของกฎหมาย แต่อยู่ที่การเพิ่มขึ้นของการใช้กฎหมาย อัตราโทษ และกฎหมายถูกใช้ในฐานะอาวุธทางการเมือง โดยเฉพาะตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 แต่หากนี่จะทำให้ใครคิดว่าราชสำนักจะส่งสัญญาณว่า ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ ก็นับว่าคิดผิดถนัด เพราะในขณะเดียวกัน หนังสือก็กล่าวด้วยว่า ทำไมกฎหมายนี้ถึงจำเป็น ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์ทรง “ไม่เคยฟ้องร้องประชาชนของพระองค์หรือใช้กฎหมายนี้เองเลย” (น.309) สำหรับผู้เชี่ยวชาญกฎหมายฝ่ายนิยมเจ้าอย่างบวรศักดิ์ อุวรรณโณแล้ว กฎหมายนี้มีรากความเป็นมายาวนานในวัฒนธรรมไทย และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ “มีลักษณะเฉพาะ” นอกจากนี้อานันท์กล่าวว่า “ผมเชื่อว่าพระองค์ไม่ได้สนพระทัยว่า กฎหมายนี้มีอยู่หรือไม่ แต่คนไทยจะไม่ยอมให้มีการวิพากษ์วิจารณ์พระองค์” (น.313) หนังสือกล่าวว่า มากกว่านั้นคือภัยคุกคามที่แท้จริงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้สภาความมั่นคงแห่งชาติในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้พิจารณาว่า การบังคับใช้กฎหมายนี้จะส่งผลเสียต่อประเทศและสถาบันฯเอง แต่ข้อสรุปสำคัญก็คือ “กฎหมายหมิ่นฯยังจำเป็นสำหรับการต่อต้านผู้ที่มีจุดประสงค์จะล้มล้างสถาบันฯ” และ “คณะกรรมการฯพิจารณาเห็นว่าไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อกฎหมายหมิ่นฯ ทั้งนี้เพราะมีภัยที่แท้จริงต่อสถาบันฯ ซึ่งจะมองข้ามไปไม่ได้” (น.312) ยังมีต่ออีกว่า ชัดเจนว่าการโจมตีพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์และสถาบันของราชวงศ์ในอินเตอร์เน็ต และการพูดในสาธารณะเกี่ยวกับเรื่องนี้มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ เรื่องการต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายนี้ (น.308) หนังสือไม่ได้บอกว่าภัยนั้นคืออะไร และมาจากไหน ไม่มีความคิดเห็นโดยตรงจากราชสำนักเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่สำหรับใครที่หวังว่าจะมีการออกมาวิพากษ์กฎหมายโดยพระมหากษัตริย์นั้นล่ะก็ ผู้เขียนเห็นว่า การตอกย้ำความชอบธรรมของกฎหมายนี้ก็ถือว่าชัดเจนอยู่แล้วว่าราชสำนักคิดอะไร หนังสือกล่าวไว้ว่า ราชสำนักมองว่า ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายหมิ่นฯบางประเภทนั้นอันตราย ในขณะที่กลุ่มอื่นๆ เช่นนักวิชาการ นักข่าว ชาวต่างชาติขี้เมา เป็นต้น ไม่ได้สลักสำคัญ และไม่เห็นความจำเป็นในการลงโทษจริงจังอะไร แต่หนังสือเล่มนี้ไม่เพียงยอมรับว่า คนทุกคนไม่เท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย แต่มันยังไม่ได้ตอบคำถามว่า แล้วคนไทยที่นำงานเขียนของนักวิชาการและนักข่าวต่างประเทศมาเผยแพร่ล่ะ? มันจะมีวิธีที่ชอบธรรมในระยะยาว ในการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างไม่เป็นการเมืองไหม? --- ในฐานะที่เป็นหนังสือที่ระลึกของรัชสมัยปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ (รวมทั้งรูปที่พระองค์ทรงยิ้มที่เราไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก) ก็ทำหน้าที่ของมันได้ดี ทำให้ทันสมัยและปัดฝุ่นชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ได้อย่างเหมาะสม ในขณะที่แม้ว่าส่วนที่ 3 จะต่างออกไปจากส่วนอื่นของหนังสือมากก็ตาม บางคนก็อยากจะปรบมือให้กับราชสำนักที่รวมประเด็นร้อนๆ เหล่านี้เข้าไปในหนังสือด้วย และแน่นอนว่า มันถึงเวลาที่จะต้องมีการส่งสัญญาณของรัชกาลต่อไป หนังสือเล่มนี้ให้เหตุผลสนับสนุนการไม่เปลี่ยนแปลงของสถาบันฯ ซึ่งนั่นดูจะไม่ใช่วิธีอยู่ต่อไปที่ดีนัก * พอล เอ็ม แฮนด์ลีย์ นักข่าว Agence France-Presse ในวอชิงตัน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือสำคัญ The King Never Smiles: A Biography of Thailand’s Bhumibol Adulyadej (2006) อ้างอิง 1. King Bhumibol Adulyadej : Thailand’s Guiding Light (Bangkok: Post Publishing, 1996). 2. Paul M. Handley, The King Never Smiles: A Biography of Thailand’s Bhumibol Adulaydej (New Haven: Yale University Press, 2006). 3. David Streckfuss, Truth on Trial in Thailand: Defamation, Treason, and Lèse-majsté (Milton Park, Oxon., and New York: Routledge, 2011). 4. ตัวอย่างเช่น Porphant Ouyyanont, “The Crown Property Bureau from Crisis to Opportunity,” pp. 155-186 in Pasuk Phongphaichit and Chris Baker, Thai Capital after the 1997 Crisis (Chiang Mai: Silkworm Books, 2008). 5. ดูเร็วๆนี้ใน “The World’s Richest Royals,” Forbes, 29 April 2011, at http://www.forbes.com/sites/investopedia/2011/04/29/the-worlds-richest-royals/.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท