TCIJ: ชาวประจวบฯ จี้ใช้ ‘แผนอนุรักษ์พลังงาน’ เป็นทางเลือกแรก ‘แผนพีดีพี 2012’

เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมประจวบฯ และชุมพร ร่วมเวทีอนาคตไฟฟ้าไทย ยื่นข้อเสนอใช้แผนอนุรักษ์พลังงาน ต้านถ่านหินและนิวเคลียร์ เปลี่ยนแนวคิดวางแผนพลังงานใหม่ลดสร้างหนี้สาธารณะและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (9 ก.พ.55) เวลาประมาณ 10.30 น.เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯ และชาวบ้านจากจังหวัดชุมพรรวมกว่า 120 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา และรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ผ่านนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพฯ ซึ่งมีการจัดการสัมมนาเรื่อง “อนาคตไฟฟ้าไทย มาจากทางไหน ช่วยบอกที..?” โดยคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ร่วมกับหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เพื่อเสนอให้รัฐบาลนำแผนอนุรักษ์พลังงานระยะ 20 ปี (พ.ศ.2554-2573) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงพลังงาน มาผนวกรวมเป็นทางเลือกแรกในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พร้อมคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแก นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล จากกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก กล่าวให้เหตุผลในงานสัมมนาว่า การใช้หลักพิจารณาความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand) และการจัดหาไฟฟ้า (Supply) ดังที่ทางผู้เกี่ยวข้องกับการวางนโยบายพลังงานกล่าวถึงว่าใช้ในการพิจารณาวางแผนไฟฟ้า ขอให้นำมาใช้ในทางปฏิบัติจริงๆ ดังเช่น ความต้องการใช้ไฟฟ้าของทับสะแก จ.ประจวบฯ ซึ่งมีเพียง 5 เมกะวัตต์ แต่กลับมีการแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 4,000 เมกะวัตต์ในพื้นที่ “แผนอนุรักษ์พลังงานดังกล่าวซึ่งจัดทำโดยกระทรวงพลังงานเอง ประเมินว่าใช้งบลงทุนปีละไม่เกิน 5,900 ล้านบาท แต่จะให้ผลตอบแทนโดยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประเทศถึงปีละ 272,000 ล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกและโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นๆ 9 โรง และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 5 โรง รวมแล้วเป็นกำลังการผลิตกว่า 12,000 เมกกะวัตต์ เมื่อหน่วยงานรัฐเสียทรัพยากรในการจัดทำแผนที่ดีมาแล้วก็ควรนำมาใช้”นางสาวสุรีรัตน์กล่าว ด้านนางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวนำเสนอแนวคิดการวางแผนพลังงานใหม่ในการอภิปรายหัวข้อ “ภาคประชาชนกับการตั้งรับวิกฤตพลังงานไฟฟ้า” ว่า สังคมไทยควรทำความเข้าใจนิยามคำว่าวิกฤตพลังงานเนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้ในมุมแคบเพียงแค่ไฟฟ้าและพลังงานขาดแคลน ทางออกจึงกลายเป็นการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเท่านั้น แต่การสร้างความมั่นคงทางพลังงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทำกันทั่วโลกจะต้องคำนึงถึง 4 มิติอันได้แก่ 1.ด้านปริมาณ โดยกระจายแหล่งพลังงานและลดการนำเข้า 2.ด้านราคา คือ ให้บริการในราคาที่จ่ายได้ ลดความผันผวนของราคา 3.ด้านประสิทธิภาพการผลิตและการใช้พลังงาน รวมถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และ 4.ด้านสิ่งแวดล้อม คือ ต้องคิดต้นทุนที่แท้จริงของพลังงานแต่ละประเภททั้งด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นนิยามใหม่ของ ความมั่นคงด้านพลังงาน คือ มีทรัพยากรพลังงานเพียงพอ และเหมาะสม ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันการวางแผนพลังงานของประเทศใหม่ตามกรอบที่เสนอนี้จะต้องกำหนดดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน มีการประเมินผล และกำหนดผู้รับผิดชอบด้วย (Accountability) เพราะที่ผ่านมาการวางแผนที่ผิดพลาดทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเกินความต้องการมาก ตัวอย่างเช่นพลังงานไฟฟ้าสำรองของปีที่แล้ว (2554) มีถึง 31% ซึ่งเกินจากเกณฑ์ที่ กฟผ.ตั้งไว้ที่ 15% ถึงเท่าตัว เมื่อคิดเป็นมูลค่าการลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าที่เกินจำเป็นแล้วนับเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาท เหล่านี้กลายเป็นหนี้สาธารณะที่กฎหมายไม่กำหนดชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ผู้รับผิดชอบ ภายใต้กรอบคิดใหม่นี้ จึงนำเสนอการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ หรือ PDP 2012 โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ(1) ปรับการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า (demand forecast) ลดลงให้ตรงกับความเป็นจริงเพราะที่ผ่านมาพยากรณ์เกินมาตลอด ตัวเลขปี 2554 แสดงให้เห็นว่าพยากรณ์เกินไปถึง 5,800 เมกกะวัตต์(2) นำแผนอนุรักษ์พลังงานระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2554 - 2573) มาใช้ คือเลือกลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน (EE) และการจัดการด้านการใช้พลังงาน (DSM) เป็นลำดับแรก จะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มถึง 20% (3) ส่งเสริมโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (co-generation) แบบกระจายศูนย์ แทนการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นการใช้พลังงานจากไฟฟ้าและความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า และมีศักยภาพสูงถึง 4,800 เมกกะวัตต์ (4) ยืดอายุ/เพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ.ซึ่งจะใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ “ภายใต้แผน PDP 2012 ฉบับใหม่ที่ทำการศึกษามานี้ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และไม่ต้องนำเข้าไฟฟ้าจากเขื่อนประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมก็ยังมีไฟฟ้าสำรองมากเพียงพอ คือเราสามารถหลีกเลี่ยงการลงทุนซึ่งจะกลายเป็นหนี้สาธารณะรวมเป็นเม็ดเงินจำนวน 2.01 แสนล้านบาท และจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคจะลดลง 12% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับแผน PDP2010 เดิมของ กฟผ.” นักวิชาการอิสระด้านพลังงานกล่าว นางชื่นชมกล่าวด้วยว่า แผน PDP 2012 ฉบับใหม่ยังเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานในแง่เพิ่งความหลากหลายเชื้อเพลิง ลดความเสี่ยง ลดการนำเข้า และจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการจัดหาพลังงานของประเทศภายใต้กรอบใหม่นี้ จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเพียง 3.7% จากปี 2553 เท่านั้น ในขณะที่แผนเดิม PDP2010 ของ กฟผ.จะปล่อยก๊าซฯ เพิ่มถึง 97% ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตามสัดส่วนจำนวนประชากร จะช่วยลดการปล่อยก๊าซฯ ต่อหัวประชากร (GHG emission per capita) จากการผลิตไฟฟ้าได้ในอัตรา 7.7% ภายในปี 2573 และช่วยลดมลพิษอากาศจากการปล่อยไนตรัสออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่นละอองและสารปรอทได้กว่า 50% นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก กล่าวว่า ที่ผ่านมาการวางแผนพลังงานของประเทศยึดติดอยู่กับการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยไม่สนใจส่งเสริมการประหยัดพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างจริงจัง ทั้งที่การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก่อให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อมสูง อีกทั้งยังสร้างความขัดแย้งรุนแรงในหลายชุมชนทั่วประเทศ แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี “ข้อเสนอของนักวิชาการอิสระเพื่อทบทวนวิธีวางแผนพลังงานของประเทศในเวทีนี้แสดงให้เห็นว่าทางเลือกที่ยั่งยืนกว่า ถูกกว่า และทำให้สังคมสงบสุขได้นั้นมีอยู่ หากกระทรวงพลังงานและ กฟผ.ไม่ติดกรอบคิดเดิมๆ”นางกรณ์อุมากล่าว ขณะที่นางจินตนา แก้วขาว กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด ให้ความเห็นว่า แผนการสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน นิวเคลียร์ หรือเขื่อน สร้างความขัดแย้งแตกแยกให้กับคนในชุมชน เกิดความไม่เป็นธรรมกับชาวบ้านจำนวนมากที่ออกมาเรียกร้องสิทธิที่จะปกป้องทรัพยากรและบ้านเกิดของตนเอง และถึงที่สุดแล้วโรงไฟฟ้าก็เกิดไม่ได้อยู่ดี ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลและ กฟผ.จะทบทวนวิธีการวางแผนพลังงานใหม่ โดยต้องคำนึงถึงความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หนังสือเรียกร้องมีรายละเอียดดังนี้ กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก 68/12 ถนนเพชรเกษม อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 77130 9 กุมภาพันธ์ 2555 เรื่อง ขอเรียกร้องให้ใช้แผนอนุรักษ์พลังงานเป็นทางเลือกแรกในการวางแผนพีดีพี 2012 และคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกของ กฟผ. เรียน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน,ประธานคณะกรรมาธิการพลังงานวุฒิสภา อ้างถึง 1.แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ2554-2573) ของกระทรวงพลังงาน 2.สำเนาแสดงแผนปิดซ่อมโรงไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ตามที่คณะกรรมาธิการพลังงานวุฒิสภาจะจัดงานสัมมนาเรื่อง.. “อนาคตไฟฟ้าไทย มาจากไหนช่วยบอกที..?” ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น นั้น เครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบฯได้ติดตามการวางแผนพีดีพีของประเทศมา โดยตลอด เราพบว่า.... วิกฤติพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย คือการวางแผนพีดีพีที่ขาดธรรมาภิบาล อันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ของกลุ่มข้าราชการของรัฐที่ต้องทำหน้าที่กำหนดและกำกับดูแลนโยบายพลังงาน แต่กลับไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทค้าพลังงานที่ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า ส่งผลให้ การวางแผนพีดีพี.ที่ผ่านมาจึงผิดพลาดมาโดยตลอดเน้นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเพียงบางกลุ่มมากกว่าการคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของสังคม อีกทั้งยังเป็นแผนพลังงานที่เน้นการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เน้นการรวมศูนย์ มากกว่าการกระจายศูนย์ ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงด้านพลังงาน หากเกิดโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มีปัญหากะทันหันจะเกิดผลเสียหายในวงกว้าง ปัญหาการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าที่ผิดพลาดอย่างซ้ำๆ ซากๆ สูงเกินความจำเป็นอย่างต่อเนื่อง สร้างปัญหาไฟฟ้าสำรองสูงเกิน 15% แล้ว กฟผ.ยังทำแผนปิดซ่อมโรงไฟฟ้าในช่วงเดือนที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ได้สร้างภาระต้องลงทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยไม่จำเป็น แม้แต่ปัจจุบันก็มีธง มีเป้าหมายเลือกสนับสนุนเชื้อเพลิงถ่านหินที่ก่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสูงสุดไม่สอดคล้องกับแนวทางการใช้ทรัพยากรที่ก่อให้เกิดพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมอย่างทั่วถึง เป็นตัวการสำคัญที่ก่อความขัดแย้ง สร้างความทุกข์ระรานไปทั่วทุกชุมชนที่เป้าหมายในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ เช่นที่จังหวัดประจวบฯ แผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก-บ้านกรูด-ทับสะแก ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างยาวนานไม่ต่ำกว่า 15 ปี ขณะนี้ชาวบ้านประจวบฯ ได้ร่วมกันศึกษาแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (2554-2573) ของกระทรวงพลังงานที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก เพราะเพียงแค่ส่งเสริมการประหยัดคือลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานที่จะสามารถทำการผลิตผลได้ปกติแต่ใช้พลังงานน้อยลง ใช้งบลงทุนปีละไม่เกิน 5,900 ล้านบาทให้ผลตอบแทนลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประเทศปีละ 272,000ล้าน โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกและโรงไฟฟ้าถ่านหินอื่นรวม 9 โรงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 5 โรงรวมกำลังการผลิต 12,000 เมกกะวัตต์ ตามแผนพีดีพี 2010 ที่วางไว้ เราเห็นว่าการทำแผนอนุรักษ์พลังงานให้บรรลุเป้าหมาย ควรเป็นทางเลือกแรกในแผนพีดีพี 2012 จะเป็นทางออกของสังคมไทยในการแสวงหาแหล่งพลังงานอย่างยั่งยืนที่ก่อประโยชน์กับประเทศไทยสูงสุด สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่อยากลดภาระการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ลดค่าไฟฟ้า ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อน และสร้างสังคมกัลยาณมิตรอย่างแท้จริง เราเห็นว่า...ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้แผนอนุรักษ์พลังงานไม่เป็นจริงคือ องค์กรที่เกี่ยวข้องในการวางแผนพลังงานยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องแผนอนุรักษ์พลังงาน หรือเข้าใจแต่ไม่แยแส แถมยังเลือกมีบทบาทชี้นำความคิดของสังคมให้ติดหล่ม ติดกับดักความคิดตื้นๆ แต่เพียงว่า.. พลังงานไฟฟ้าในอนาคตถ้าไม่ใช่นิวเคลียร์ก็ต้องเป็นถ่านหิน ทั้งๆ ที่มีตัวเลือกที่ดีกว่าในทุกๆ ด้าน หากสนับสนุนแผนอนุรักษ์พลังงานให้เป็นจริง เพื่อประโยชน์ต่อความรู้ความเข้าใจของท่านผู้ทรงเกียรติ ชาวบ้านประจวบฯ ได้ทำการเรี่ยไรเงินเพื่อเป็นค่าส่งไปรษณีย์และค่าถ่ายเอกสารสรุปสาระสำคัญของแผนอนุรักษ์พลังงาน ให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน คณะกรรมาธิการพลังงานทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรทุกคนได้อ่าน เพื่อปรับวิสัยทัศน์ในการมองปัญหาด้านวิกฤติพลังงานของประเทศและเป็นคำตอบว่าอนาคตไฟฟ้าไทยมาจากไหนช่วยบอกที..ต่อไป และเราขอเรียกร้องให้กระทรวงพลังงาน รีบเผยแพร่เนื้อหาของแผนอนุรักษ์พลังงานทั้งหมดลงในเว็บไซด์ของกระทรวงพลังงาน เพื่อผู้เกี่ยวข้องกับการวางแผนยุทธศาสตร์พลังงานของชาติ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายขึ้น เรียนมาเพื่อทราบและอยากเห็นการปฏิบัติจริง ขอแสดงความนับถือ กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด เครือข่ายอนุรักษ์บางสะพาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท