Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

หลังจากภาวะภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ บ้านเรือนข้าวของเสียหายไปเป็นจำนวนมาก โดยสิ่งที่ต้องได้รับความเสียหายไปด้วยก็คือ เครื่องใช้เครื่องเรือนในบ้าน หรือโรงงาน สำนักงาน

การสร้างบ้านใหม่ การเลือกหาบ้านหลังที่สอง หรือการซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่เข้าบ้านกลายเป็นกิจกรรมใหญ่ที่คนในสังคมคลุกคลี ให้ความสนใจ บริษัทห้างร้านทั้งหลายก็มีกิจกรรมส่งเสริมการขายมารองรับความต้องการในส่วนนี้ด้วย

ท่ามกลางความต้องการเฟอร์นิเจอร์ใหม่นั้น ตัวเลือกก็มีอยู่ไม่มากนัก สำหรับผู้บริโภค หากไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ การเลือกหาสินค้าท้องถิ่นจากร้านท้องถิ่นจึงเป็นไปได้ยาก ข้อจำกัดและเงื่อนไขข้างต้น ทำให้คนที่อาศัยอยู่ในแถบเมือง โดยเฉพาะมหานคร และหัวเมืองใหญ่ๆ จำต้องเลือกซื้อสินค้ายี่ห้อดังระดับชาติจากร้านแฟรนไชส์ระดับชาติ หรือระดับโลก

แต่ร้านที่กำลังฮือฮากันอยู่ก็คือ ร้านเฟอร์นิเจอร์แบรนด์ดังที่มาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย และสามารถให้เข้าไปเลือกชมเลือกซื้อได้ทางอินเตอร์เน็ต หรือจะเข้าไปชมของจริงก็ได้

แนวคิดที่มาพร้อมกับสินค้ายี่ห้อนี้ก็คือ D.I.Y. (Did It Yourself) หรือ สินค้าที่เมื่อเราเลือกซื้อแล้วทางร้านจะให้ชิ้นส่วนต่างๆมาแล้วเราก็ลงมือประกอบเอง

ข้อดีของสินค้าในแนวคิดนี้และทำให้ติดตลาดไปทั่วโลก คือ ความประหยัดกว่าสินค้ายี่ห้ออื่นในประเภทเดียวกัน เพราะลดค่าแรงในการประกอบ ไม่นับรวมถึงความง่ายที่ทำให้ใครๆ ก็สามารถประกอบเองได้ และถือเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัวเมื่อยามร่วมกันประกอบเฟอร์นิเจอร์ทุกตัวขึ้นมาด้วยตัวเองและคนที่คุณรัก

ผมเองได้มีโอกาสซื้อสินค้าตามแนวคิด D.I.Y. แต่เป็นของยี่ห้ออื่น แต่ก็เป็นแบรนด์ระดับชาติ เมื่อจำเป็นต้องซื้อชุดจัดแขวนเสื้อผ้าแบบโปร่งด้วยสนนราคาเกือบสองหมื่นบาทแต่ต้องนำมาประกอบเองโดยที่คนขายบอกว่าง่ายมากทำเองได้อยู่แล้ว แต่ด้วยความกังวลใจเลยลองถามถึงค่าแรงหากจะให้ช่างของทางร้านมาประกอบและติดตั้งให้ ซึ่งทางร้านคิดเพิ่มอีก 6,000 บาท ผมก็เลยต้องนำมาประกอบเองโดยปริยาย

ผมใช้เวลาประกอบชุดเฟอร์นิเจอร์นี้ด้วยตัวผมเองและคนในครอบครัวอีก 4 คน เป็นเวลาถึง 4 วัน กว่าจะแล้วเสร็จ เท่ากับว่า ผมใช้แรงงาน 5 คน 4 วัน เท่ากับทั้งหมด 20 งาน หากนำเอาค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศว่าจะขึ้นให้ในกลางปีคือวันละ 300 มาคูณ ก็จะเท่า 6,000 บาท เท่ากับที่ทางร้านเสนอมาพอดิบพอดี

ขณะที่ผมประกอบนั้น ทั้งผมและคนในครอบครัวต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ความยากและความเหนื่อย และค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นนี้ น่าจะโยนไปให้ช่างแล้วเราเพียงแค่เสียเงินค่าจ้าง เพราะแท้ที่จริงเรา 5 คนทำงานของพวกเรา 4 วัน น่าจะมีรายได้มากกว่า 6,000 บาทอยู่เยอะทีเดียว ซึ่งมันก็จริง แม้เมื่อช่างมาจริงๆ เขาจะมากันแค่ 2 คนและใช้เวลาเพียง 1 วัน ก็ประกอบเสร็จแล้วทำให้เราเสียดายเงินก็ตาม แต่ถ้าคิดว่าเราไม่ต้องเสียโอกาสจากการลงมือทำเอง มันก็คุ้มมิใช่หรือ

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผม หวนคิดถึงเรื่องที่เคยฉงนมานานอยู่ 2 เรื่อง คือ ค่าจ้างช่างฝีมือในประเทศไทยต่ำกว่า ช่างฝีมือในต่างประเทศมากหรือไม่ และสินค้าประเภท D.I.Y. ขายดีมากในต่างประเทศเพราะอะไร

ค่าจ้างช่างฝีมือในประเทศไทยต่ำกว่าช่างฝีมือในต่างประเทศมาก รวมถึงสวัสดิการ และต้นทุนในการจัดการทำงานให้ปลอดภัย และ

สินค้าประเภท D.I.Y. ขายดีมากในต่างประเทศเพราะอะไร บรรษัทอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์สามารถลดค่าจ้างประกอบซึ่งหมายรวมทั้งค่าตอบแทน สวัสดิการ การเจรจาต่อรองกับสหภาพแรงงาน และการจัดสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้ปลอดภัย ยิ่งไปกว่านั้นผู้ซื้อก็ประกอบได้เองโดยที่ไม่ต้องเสียเงินจ้างช่างฝีมือที่มีราคาแพงมาก
ประกายความคิดที่ผุดขึ้นมาก็คือ บริบททางเศรษฐกิจการเมือง โดยเฉพาะเรื่องแรงงานในประเทศไทยอยู่ในจุดที่ย่ำแย่ จนถึงขนาดที่เราสามารถแสวงหาการขูดรีดแรงงานได้ง่ายขนาดนั้น หรือต่างประเทศมีการคุ้มครองแรงงานดีจนทุกคนต้องทำเองทุกอย่างจนช่างฝีมือไม่มีงานทำจนต้องคิดราคาแพงเมื่อมีงานเข้ามา

ความคิดทั้งสองอาจไม่มีความคิดใดผิดเลยทั้งสองประเด็น แต่ที่แน่ๆ คือ การคุ้มครองแรงงานไทยมีปัญหาที่ชวนให้ขบคิดอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ ความปลอดภัยในการทำงาน และการรวมกลุ่มต่อรอง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net