Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ได้เสนอหนังสือต่อเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีเนื้อหาถามภาครัฐเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ลาว กัมพูชาและชาวโรฮิงยาที่มีปัญหาเรื่องการพิสูจน์สัญชาติ ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถต่อใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ซ้ำยังไม่อาจผลักดันให้เดินทางกลับสู่ประเทศต้นทางได้ เนื่องจากไม่มีสัญชาติใดรองรับ จนกลายเป็นคนไร้รัฐและเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ถูกกฎหมายในไทย นายวสันต์ พานิช ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ กล่าวว่า สาเหตุนั้นเกิดจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 ซึ่งให้ขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ลาว และกัมพูชาซึ่งเข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย พร้อมทั้งผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 แต่ปรากฏว่ามีแรงงานที่พิสูจน์สัญชาติไม่ผ่านและแรงงานที่อยู่ในระหว่างกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแต่ไม่อาจดำเนินการให้เสร็จได้ทันวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งรัฐยังไม่มีนโยบายและมาตรการรองรับแรงงานเหล่านี้ ทั้งการการต่อใบอนุญาตทำงานและผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้เป็นการทวีปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในประเทศไทย รวมถึงปัญหาคนไร้รัฐซึ่งไม่สามารถผลักดันออกนอกประเทศได้ ด้านนายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวว่า ปัจจุบัน มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากร้องเรียนว่า ทั้งแรงงานชาวพม่า ลาว หรือกัมพูชา ที่ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และที่มีปัญหาพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน ซึ่งหากเลยวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ก็จะไม่สามารถมีสิทธิอาศัยในประเทศไทย รวมทั้งลูกหลานที่เกิดในเมืองไทยด้วย ซึ่งทั้งหมดไม่มีสัญชาติของชาติใดเลย จะกลายเป็นคนไร้สัญชาติ ซึ่งรัฐควรรีบหาทางแก้ไขปัญหาให้คนไร้สัญชาติเหล่านี้ พร้อมกันนี้ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ยังได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับกรณีแรงงานชาวโรฮิงยาเชื้อสายพม่า ซึ่งรัฐบาลพม่าไม่รับพิสูจน์สัญชาติ และเคยประกาศไม่รับว่ามีสัญชาติพม่า ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และตกค้างอยู่ในประเทศไทย โดยไม่สามารถทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ภายในและทิศทางทางการเมืองในประเทศพม่ากำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลพม่าเริ่มมีทัศนคติในแง่บวกต่อการเปิดประเทศเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ รัฐบาลไทยควรใช้โอกาสอันดีนี้ ทำความตกลงกับรัฐบาลพม่าให้มีการรับรองสัญชาติให้แก่กลุ่มชาวโรฮิงยาที่มีเชื้อสายพม่าอย่างเป็นรูปธรรม อันจะเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดการประสานประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย โดยระหว่างความตกลงจะบรรลุ รัฐบาลไทยควรมีมาตรการอนุญาตให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถทำงานและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net