Skip to main content
sharethis

 

นำเสนองานวิจัยโฉนดชุมชน ชาวบ้านทีมวิจัยชี้โฉนดชุมชนไม่ใช่แค่ดิน แต่หมายรวมถึงการอยู่ร่วมกันของชุมชน ด้านอาจารย์นักวิจัยหลัก เผยการทำงานวิจัยทำให้คนในชุมชนได้ทบทวนเนื้อแท้ของคำว่าโฉนดชุมชนร่วมกัน

 
 
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2555 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด (คปบ.) จัดเวที “สรุปบทเรียนโฉนดชุมชนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด: สร้างสิทธิชุมชนภายใต้ธรรมนูญชุมชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม และเป็นสุข” ณ ห้องประชุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง โดยมีผู้เข้าร่วม 220 คน ประกอบด้วย สมาชิกเครือข่ายฯ ในพื้นที่ จ.ตรัง พัทลุง และประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งองค์กรเพื่อนมิตร ได้แก่ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี สหกรณ์คลองโยง จ.นครปฐม ตลอดจนนักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน
 
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อนำเสนองานวิจัยศึกษาโครงสร้างการถือครองที่ดินกับความเป็นธรรมทางสังคม หรืองานวิจัยโฉนดชุมชน ซึ่งได้มีการจัดทำในพื้นที่ คปบ. 2 ชุมชน ได้แก่ บ้านตระ ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง และบ้านทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง และ ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง
 
 
กำหนดการในช่วงเช้า นายบุญ แซ่จุ่ง ผู้ประสานงาน คปบ.บอกเล่าที่มาของงานวิจัยโฉนดชุมชน และนำเสนอผลการศึกษาวิจัย 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 2.การผลักดันนโยบาย 3.การรณรงค์สร้างพื้นที่สังคม 4.การสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน/เครือข่าย 5.การจัดการทรัพยากรในพื้นที่ 6.การลดความตึงเครียดในการใช้ทรัพยากรในพื้นที่ และภาพรวมงานวิจัย
 
นายบุญ กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยโฉนดชุมชน คือการนำข้อค้นพบจากวิจัยมาพัฒนายุทธศาสตร์การทำงานของเครือข่ายฯ และองค์กรชุมชนให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากที่สุด เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดของเครือข่ายฯ คือ การสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเป็นสุข มีภราดรภาพ ไม่ใช่สังคมเสรีนิยม
 
 
ส่วนช่วงบ่ายมีการเปิดเวทีเพื่อให้ความเห็นต่อผลการวิจัย จาก รศ.ดร.สุธี ประศาสน์เศรษฐ, ดร.กฤษฎา บุญชัย, ศยามล ไกยูรวงศ์ และวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ต่อด้วยการอภิปรายเรื่อง “จากผลการศึกษาวิจัยโฉนดชุมชนสู่ยุทธศาสตร์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด” โดยตัวแทนองค์กรสมาชิก คปบ. 14 องค์กรชุมชน
 
นายสมนึก พุฒนวล นักวิจัยชาวบ้าน กล่าวว่า โฉนดชุมชนไม่ได้เกิดขึ้นจากรัฐบาล แต่เกิดขึ้นจากการร่วมกันสร้างขึ้นของสมาชิกชุมชน โฉนดชุมชนไม่ได้หมายถึงที่ดินอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงหลายเรื่อง หมายถึงการอยู่ร่วมกันของชุมชน การมีวิถีชีวิตร่วมกัน การมีสังคม วัฒนธรรมที่เป็นสุข เป็นสังคมที่ดีงาม เป็นประชาธิปไตย คนในชุมชนช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ให้การศึกษาซึ่งกันและกัน มีการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความคิดระหว่างกัน
 
ด้านนายวิทยา อาภรณ์ อาจารย์ประจำสำนักศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเป็นนักวิจัยหลัก กล่าวว่า โฉนดชุมชนคือเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสิทธิชุมชน โฉนดชุมชนเปลี่ยนแปลงหน้าตาได้แต่สิ่งหนึ่งที่จะไม่เปลี่ยนเลย คือโฉนดชุมชนสร้างคนที่มีจิตสาธารณะ สร้างการอยู่ร่วมกันภายในชุมชน
 
“การทำงานวิจัยทำให้คนในชุมชนได้ทบทวนเนื้อแท้ของคำว่าโฉนดชุมชนร่วมกัน และทำให้เครือข่ายสามารถเปิดเผยตัวตนให้กับสังคมได้รู้จักมากขึ้น สังคมได้เรียนรู้เครือข่าย และเครือข่ายก็ได้เรียนรู้สังคมเช่นกัน” นายวิทยากล่าว
 
ด้านนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี คณะทำงานเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล ให้ความเห็นว่า งานวิจัยควรบอกว่าการรวมกลุ่มมีข้อค้นพบอย่างไร หลังจากทำโฉนดชุมชนแล้วมีชีวิตดีขึ้นไหม พืชผักสมบูรณ์ขึ้นไหม การถูกไล่ที่ ถูกจับกุม ถูกฟ้องร้องลดลงไหม คนในเมืองที่เคยดูแคลนให้เกียรติมากขึ้นไหม งานวิจัยควรบอกถึงคุณค่าของเราจากการทำเกษตร และการรักษาทรัพยากรด้วย ถ้าทำโฉนดชุมชนแล้วครอบครัว สังคมดีขึ้นก็ให้มั่นใจ และทำต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net