Skip to main content
sharethis

ชุมนุมค้านรังวัดที่ดินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ชาวบ้านยื่นข้อเสนอให้กรมชลฯ หยุดดำเนินการรอศาลปกครองกลางพิพากษาให้โครงการฯ เดินหน้าต่อไปหรือไม่ แต่การเจรจาไร้ข้อสรุป เตรียมเข้าตามเรื่องที่สภาทนายความ แผนที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง วันที่ 20 ก.พ.55 เมื่อเวลา 09.00 น. ชาวบ้านตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงประมาณ 300 คน รวมตัวกันที่วัดรัษฎาราม (วัดเงิน) ตำบลบางงอน เนื่องจากมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานก่อสร้าง 10 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง กรมชลประทาน จะลงพื้นที่รังวัดที่ดิน พร้อมกับสำรวจสิ่งปลูกสร้างและผลอาสินที่บ้านเงิน ตำบลบางงอน โดยมีเจ้าหน้าตำรวจจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานีให้การคุ้มกัน ต่อมา เวลา 09.30 น.ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษได้ประสานงานให้ชาวบ้านส่งตัวแทนไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานก่อสร้าง 10 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ที่สหกรณ์สุราษฎร์ธานี (โค–อ๊อป) กระทั่ง เวลา 10.30 น. ตัวแทนชาวบ้าน 5 คน ได้เปิดเจรจากับตัวแทนสำนักงานก่อสร้าง 10 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง 5 คน และตัวแทนตำรวจอีก 10 คน การเจรจาดำเนินไปอย่างเคร่งเครียดกว่า 1 ชั่วโมง แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จนต้องยุติการเจรจาในเวลาประมาณ 12.00 น. จากนั้น เวลาประมาณ 13.00 น. ตัวแทนชาวบ้านได้กลับมาแจ้งผลจากการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมที่วัดรัษฎาราม โดยแกนนำคัดค้านโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงย้ำกับผู้ชุมนุมว่า ถ้าไม่ต้องการสูญเสียที่ดินก็อย่าเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานเข้าไปรังวัดที่ดิน สำรวจสิ่งปลูกสร้างและผลอาสิน จากนั้นได้ประกาศสลายการชุมนุมเวลา 13.30 น. วันเดียวกัน นายเฉลียว ภิญญานิล คณะทำงานเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ชาวบ้านยื่นข้อเสนอให้กรมชลประทานหยุดดำเนินการ จนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำพิพากษาว่า จะให้ดำเนินการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวงต่อไปหรือไม่ ซึ่งขณะนี้กระบวนการยังอยู่ในการพิจารณาของศาล แต่กรมชลประทานไม่ยอมรับข้อเสนอนี้ของชาวบ้าน นายเฉลียว กล่าวว่า หลังจากนี้ชาวบ้านต้องเฝ้าระวังที่ดินของตัวเอง ไม่ให้เจ้าหน้าที่ชลประทานเข้าไปรังวัดที่ดิน อีกไม่กี่วันข้างหน้าตนจะไปที่สภาทนายความ เพื่อติดตามความคืบหน้าคดีชาวบ้านฟ้องศาลปกครองให้กรมชลประทานยกเลิกโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง “ปริมาณน้ำจืดจากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จะผลักดันน้ำเค็มในอ่าวบ้านดอนให้ถอยร่นออกไป จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่แหล่งสัตว์น้ำเศรษฐกิจและระบบนิเวศอย่างมหาศาล และต้องเวนคืนที่ดินชาวบ้านร่วม 2,000 ราย ต้องขุดคลองย่อยสาขาอีก 28 สาย คลองย่อยบางสายสร้างขวางทางน้ำ มีแนวโน้มจะทำให้น้ำท่วมจังหวัดสุราษฎร์ธานีหนักกว่าเดิม” นายเฉลียว กล่าว นายมนตรี ธนสุคนธ์ นายช่างโยธาอาวุโส ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการก่อสร้าง สำนักงานก่อสร้าง 10 โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง เปิดเผยว่า กรมชลประทานจะเจรจาหาทางออกอีก 2–3 ครั้ง หากตกลงกันไม่ได้ อาจจะต้องหามาตรการอื่นมาดำเนินการ ทั้งนี้ รายงานการประชุมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 ระบุว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ตามที่จังหวัดขอสนับสนุน เพื่อรองรับโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Sea Board) โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 1. ความเป็นมา ตั้งแต่ปี 2510 กรมชลประทาน ได้เริ่มดำเนินการวางแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ในลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง ประกอบด้วย เขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) และเขื่อนแก่งกรุง (เขื่อนคลองยัน) กรมชลประทานได้โอนงานก่อสร้างเขื่อนรัชชประภา และเขื่อนแก่งกรุงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการ ก่อสร้างเขื่อนรัชชประภาแล้วเสร็จในปี 2530 ในปี 2533 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2533 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) รับไปดำเนินการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบชลประทานที่ล่าสุด โดยเฉพาะพื้นที่ชลประทานที่จะได้จากการก่อสร้างเขื่อนแก่งกรุง และกรมชลประทานได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสม แล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2537 ปรากฏว่าโครงการมีความเหมาะสมต่ำ เนื่องจากจำเป็นต้องอพยพราษฎรและต้องลงทุนค่าชดเชยทรัพย์สินสูง ทำให้ได้ผลประโยชน์ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ประกอบกับเขื่อนแก่งกรุงมีกระแสต่อต้าน และได้ระงับการดำเนินงานเอาไว้ก่อน กรมชลประทานจึงได้พิจารณาการใช้ประโยชน์จากน้ำที่ปล่อยจากท้าย เขื่อนรัชชประภามาใช้ประโยชน์ จึงได้ทำการศึกษาทบทวนความเหมาะสม โดยพิจารณาการพัฒนาชลประทานสูบน้ำจากแม่น้ำพุมดวง เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 73,980 ไร่ มีความเหมาะสมทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม เป็นการบริหารจัดการน้ำหลังจากการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนรัชชประภา มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 2. ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการโครงการ เขื่อนรัชชประภาได้ปล่อยน้ำจากท้ายเขื่อนเนื่องจากการผลิตกระแส ไฟฟ้าประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และมีปริมาณน้ำจากคลองสาขาไหลมารวมในแม่น้ำพุมดวงอีกประมาณ 2,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำพุมดวงประมาณ 5,400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ไหลลงสู่ทะเลโดยไม่มีการนำน้ำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเป็นการบริหารจัดการน้ำโดยการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตรได้อย่างเต็ม ประสิทธิภาพ 3. วัตถุประสงค์โครงการ เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 73,980 ไร่ และในฤดูแล้ง 57,819 ไร่ เพื่อการอุปโภค-บริโภค เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร 4. รายละเอียดของโครงการ ที่ตั้งโครงการ ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ลักษณะทางวิศวกรรมของโครงการ สถานีสูบน้ำ 1 แห่ง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 16 เครื่อง อัตราการสูบน้ำรวมทั้ง 33.16 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำขนาด 1.93 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง เครื่องสูบน้ำขนาด 2.12 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 12 เครื่อง ระบบส่งน้ำ ความยาวรวมประมาณ 139 กม. ระบบระบายน้ำความยาวรวมประมาณ 83 กม. 5. ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (พ.ศ. 2552-2559) 6. งบประมาณ วงเงินโครงการทั้งสิ้น 3,330.00 ล้านบาท งบดำเนินงาน 41.00 ล้านบาท งบบุคลากร 77.00 ล้านบาท งบลงทุน 3,107.24 ล้านบาท เผื่อเหลือเผื่อขาด 104.76 ล้านบาท มีแผนการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละปี ดังนี้ พ.ศ. 2552 : จำนวน 262.81 ล้านบาท พ.ศ. 2553 : จำนวน 296.69 ล้านบาท พ.ศ. 2554 : จำนวน 525.99 ล้านบาท พ.ศ. 2555 : จำนวน 637.77 ล้านบาท พ.ศ. 2556 : จำนวน 732.57 ล้านบาท พ.ศ. 2557 : จำนวน 346.32 ล้านบาท พ.ศ. 2558 : จำนวน 251.99 ล้านบาท พ.ศ. 2559 : จำนวน 175.86 ล้านบาท รวม 3,330.00 7. การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐศาสตร์ในปี 2552 ที่อัตราคิดลดร้อยละ 8 10 12 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อการลงทุน (B/C) 1.70 1.50 1.19 - มูลค่าผลประโยชน์ปัจจุบันสุทธิ (NPV) 1,842 1,262 440 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์ (EIRR) 13.60 13.60 13.60 % 8. ประโยชน์ของโครงการ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 73,980 ไร่ โดยสามารถส่งน้ำในฤดูฝน 73,980 ไร่ และในฤดูแล้ง 57,819 ไร่ มีน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร 9. ผลกระทบจากการอนุมัติโครงการ เมื่อได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง จังหวัดสุราษฏร์ธานีแล้ว จะทำให้เกิดผลกระทบต่อที่ดินและทรัพย์สินของประชาชนประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งกรมชลประทานได้เตรียมมาตรการในการจ่ายทดแทนทรัพย์สินไว้ในแผนงานโครงการแล้ว 10. สถานภาพโครงการ ด้านแบบก่อสร้าง แบบ และรายละเอียดด้านวิศวกรรมแล้วเสร็จ 100% (เสร็จปี 2544) ด้านการจัดหาที่ดิน การสำรวจปักหลักเขตแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างขอคำขอรังวัดจากเจ้าของที่ดิน (ประมาณ 2,000 ราย) รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการไม่เข้าข่ายที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมปี 2535 การมีส่วนรวมของประชาชน กรมชลประทานได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้ที่มีส่วนได้เสีย ทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ รวมทั้งระดับหมู่บ้าน รวมแล้วประมาณ 40 ครั้ง ที่มา : กรมชลประทาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net