Skip to main content
sharethis

24 ก.พ. 55 - ชมรมแพทย์ชนบทเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกข้อเสนอให้ รมว. สาธารณสุขแก้ปมปัญหาที่ผูกไว้ เรื่องการผ่านงบประมาณ DPL (ไทยเข้มแข็ง) ในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ...... จดหมายเปิดผนึกชมรมแพทย์ชนบท ข้อเสนอให้ รมว. สาธารณสุขแก้ปมปัญหาที่ผูกไว้ เรื่องการผ่านงบประมาณ DPL (ไทยเข้มแข็ง) ในการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ตามที่มีกระแสข่าวว่า “บิ๊กกระทรวงสาธารณสุข” เรียกประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 และมีการนัดกินข้าวเย็นต่อเนื่องบนเรือลำน้ำเจ้าพระยา โดยสาระสำคัญคือ ให้พยายามปรับลดวงเงิน DPL (Development Policy Loan) หรือไทยเข้มแข็งเดิม ลงอีก 5-10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ได้มีการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างเสร็จสิ้นกระบวนการ และ รายงานผลมายังกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2554 รอเพียงให้สำนักงบประมาณโอนเงินงบประมาณมาให้เท่านั้น พื้นที่ก็จะทำสัญญาจ้างได้ทันที หามิเช่นนั้นจะไม่ได้รับจัดสรรงบ และ การสั่งการดังกล่าวเป็นการสั่งการด้วยวาจา ไม่กล้าสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นทางการลงมา สมาชิกชมรมฯ หลายจังหวัดแจ้งยืนยันมาแล้วว่าจังหวัดแจ้งลงมาจริง ซึ่งเป็นที่ชวนสงสัยและผิดสังเกตเป็นอย่างยิ่ง งบประมาณ DPL นี้เกิดจากการตรวจสอบงบไทยเข้มแข็ง 2553-2555 ของชมรมแพทย์ชนบทในปี 2553 จึงทำให้มีการปรับปรุงราคาครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างลงอย่างขนานใหญ่ให้ถูกต้องเหมาะสม ส่งผลให้เกิดการประหยัดงบประมาณของชาติได้กว่า 10,000 ล้านบาท ในปี 2554 ทาง สธ. จึงขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณขอใช้งบประมาณก้อนนี้เพื่อจัดสรรครุภัณฑ์ที่ยังขาดแคลนและจำเป็นแก่สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศกว่า 1,000 แห่ง แทนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ให้กับโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับกว่า 900 แห่ง เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ จำนวน 3,456 ล้านบาท เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้า, เครื่องกระตุกหัวใจ, เครื่องอัลตร้าซาวด์, เครื่องติดตามสัญญาณชีพ, เครื่องเอ็กซเรย์ ฯลฯ และ มีการดำเนินการตามระเบียบพัสดุก็เสร็จสิ้นลงแล้ว ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2554 จนกระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีหนังสือสั่งการลงมาให้เตรียมรับโอนเงินแล้ว และให้รีบแจ้งบริษัทให้มาทำสัญญา จะเห็นได้ว่ากระบวนการเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว แต่จนบัดนี้งบก็ยังไม่ผ่าน ครม. และเกิดกระแสเสียงร่ำลือว่ามีการพยายามต่อรองเรียกรับผลประโยชน์จากบริษัทฯ หากเป็นเช่นนั้นจริง ทางชมรมฯ ขอให้ทางสธ. รีบเร่งชี้แจงและแก้ไขให้ถูกต้อง เพราะความล่าช้าและการทุจริตจะส่งผลร้ายต่อการให้บริการประชาชน โดยเฉพาะสถานบริการขนาดเล็กห่างไกลแต่อยู่ใกล้ชิดประชาชน ที่รอคอยเครื่องมือแพทย์ที่จะมาให้บริการกับประชาชนที่ล้มป่วยเจ็บตายไปทุก ๆ วัน ชมรมแพทย์ชนบทรู้สึกเสียใจและรู้สึกสังเวช ที่ขณะนี้นอกจากการขับเคลื่อนงานที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมของ สธ. แล้ว ยังมีเรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นอีกซ้ำซากไม่เข็ดหลาบ จากทุจริตยา 1,400 ล้าน ทุจริตรถพยาบาล คอมพิวเตอร์ 900 ล้าน ตลอดจนถึงไทยเข้มแข็ง แต่ในขณะเดียวกันในโรงเรียนแพทย์ซึ่งมีไม่ถึง 10 แห่ง กลับของบก้อนเดียวกันได้กว่า 6,000 ล้าน และครม. อนุมัติไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม ทั้งๆที่หลายรายการตั้งราคาไว้สูงกว่ากระทรวงสาธารณสุขอย่างมาก ขณะที่ รมว.สธ. กลับยังไม่ยืนยันของบประมาณให้หน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุขกว่า 1,000 แห่ง นอกจากงบ DPL แล้วขณะนี้ชมรมแพทย์ชนบทยังได้รับทราบมาว่า มีการส่งสัญญาณให้มีการกำหนดเกณฑ์ในการของบประมาณครุภัณฑ์ปี 2556 ให้ขอชิ้นละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และเพื่อจะได้มาดำเนินการจัดซื้อที่ส่วนกลาง โดยไม่มีแผนในการพัฒนาหน่วยบริการขนาดเล็กที่อยู่ในชนบทแต่อย่างใด รวมทั้งมีการเตรียมจัดตั้ง “สำนักก่อสร้าง” เพื่อจะได้รวบเอาการก่อสร้างอาคารของ สธ. ทั้งประเทศมารวมไว้ที่ส่วนกลาง ส่อเจตนาที่น่าเคลือบแคลงสงสัยเป็นอย่างยิ่ง ชมรมแพทย์ชนบทจึงเตรียมที่จะตรวจสอบการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่เคยตรวจสอบการทุจริตยาและเวชภัณฑ์ 2540 การทุจริตรถพยาบาลและตรวจสอบงบไทยเข้มแข็ง 2553-2555 มาแล้ว และขอเตือนบรรดา “บิ๊กสธ.” ให้พึงละเว้นการทุจริต ขอให้คำนึงถึงชื่อเสียงเกียรติภูมิของ สธ. อย่าทำให้สาธารณสุขมัวหมองและอย่าทำให้มวลชนคนรากหญ้าทั่วประเทศต้องผิดหวัง ตามที่สังคมได้แสดงความห่วงใยต่อการเข้ายึดครองกลไกการกำหนดนโยบาย และมีความพยายามจะเปลี่ยน หลักการเพื่อแสวงหาประโยชน์จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของกลุ่มที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนตามแผนล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 4 ขั้นตอน และ รมว. สาธารณสุขได้ปฏิเสธ ละยืนยันต่อสังคมตลอดมาว่าจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในระบบรวมทั้งมีนโยบายจะพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงตลอดเวลา 6 เดือน ระบบ สปสช. หยุดชะงักไม่มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนแต่กลับมีสิ่งที่เพิ่มความเคลือบแคลง ให้กับสังคมมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น ความพยายามจะผลักดันให้มีการเรียกเก็บเงิน 30 บาท กับผู้ป่วยที่ถูกยกเลิกไปแล้ว หรือการเสนอให้แก้ไขมาตรา 41 เพื่อกันเงินเหมาจ่ายของหน่วยบริการเพิ่มขึ้นกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อช่วย โรงพยาบาลเอกชนในระบบประกันสังคมรวมทั้งล่าสุดมีการเสนอให้นักธุรกิจที่เคยถูกเปิดเผยบนเวทีสาธารณสุขว่าเป็นคนของพรรคการเมืองส่งเข้าดูแล สนามบินสุวรรณภูมิที่มีผลประโยชน์ มหาศาล เข้าสรรหาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังในบอร์ด สปสช. แต่ได้รับการคัดค้าน อย่างกว้างขวางจนต้องเลื่อนการสรรหาออกไป แต่ก็มีความพยายามที่จะเสนอคนใหม่คือ นายวินัย วิทวัสการเวชที่เป็นอดีตอธิบดีกรมสรรพากร ปัจจุบันเป็นกรรมการบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งและมีประวัติความก้าวหน้าในราชการอย่างรวดเร็ว ในสมัยที่พรรค พลังประชาชนเป็นรัฐบาล เพื่อมาช่วยเหลือกรณีการจัดการปัญหาภาษีของตระกูลนักการเมือง ใหญ่ในขณะนั้น มาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังในบอร์ด สปสช. ดังกล่าว ทำให้มีกระแสต่อต้านอีกครั้งถึงความไม่เหมาะสมที่มองเห็นว่าเลือกคนที่สั่งได้เพื่อมาล้วงลูกเงิน กองทุนใน สปสช. เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจที่จะแก้ปมปัญหาที่ผูกไว้และให้ระบบหลักประกันสุขภาพของประชาชนสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ชมรมแพทย์ชนบทขอเรียกร้องความจริงใจ และความรับผิดชอบ ของ รมว. สาธารณสุข ดังนี้ 1.งบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ (ไทยเข้มแข็ง) จำนวน 3,456 ล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุขที่ดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้องจนจบสิ้นกระบวนการแล้ว โรงพยาบาลต่างรองบก้อนนี้ เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบในปี 2555 ไว้ การถ่วงเวลาทำให้ประชาคม สาธารณสุขและพี่น้องประชาชนเห็นว่าเป็นการส่อเจตนา ที่จะกระทำการทุจริต แสวงหาผลประโยชน์ บนความทุกข์ยากของผู้ป่วย. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข ต้องชี้แจง 2.การสรรหาและคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังคนใหม่แทนผู้ที่ลาออกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะต้องดำเนินการให้ได้ผู้ที่มีความรู้ด้านการเงินการคลัง มีความเข้าใจระบบหลักประกันสุขภาพและระบบบริการสาธารณสุขของประเทศอย่างแท้จริงเป็นผู้ที่มี ผลงานประจักษ์และมีต้นทุนทางสังคมสูงเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย รวมทั้งมีความอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงจากกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน 3.เปลี่ยนตัวกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติผู้ที่คณะกรรมการชุดเดิม มีมติว่าเป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสียตามมาตรา 16 (6) ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พศ. 2545 รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอื่นที่คุณสมบัติไม่เหมาะสมอิงแอบกับอำนาจ ทางการเมือง ไร้จุดยืนเพื่อประโยชน์ของประชาชน 4.การสรรหาและคัดเลือกเลขาธิการ สปสช. กระบวนการดำเนินการและบุคคล ที่ได้มาจะต้องตอบสังคมได้อย่างชัดเจนว่าเป็นผู้มีความรู้ มีความสามารถ มีผลงานเป็น ที่ประจักษ์ชัดว่าสามารถบริหารและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้อย่างต่อเนื่อง มีความอิสระจากการแทรกแซงของกลุ่มที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สามารถตอบสังคมได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าเดิมอย่างไร ชมรมแพทย์ชนบทไม่มีความเชื่อมั่นว่า รมว. สาธารณสุขจากพรรคเพื่อไทย จะแสดงออกถึงความจริงใจในการแก้ไขปมปัญหาที่ผูกไว้จึงได้ทำจดหมายเปิดผนึกจัดทำ ข้อเสนอข้างต้นดังกล่าวเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ที่ส่งผลให้ตลอดเวลา 6 เดือนที่ผ่าน มาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายใต้คณะกรรมการชุดใหม่ต้องหยุดชะงัก ไม่มีผลงานปรากฏที่เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยรวม และสามารถทำให้สังคมเชื่อมั่นว่า รมว. สาธารณสุข จากพรรคเพื่อไทยยังมีความจริงใจในการพัฒนาและไม่สนับสนุน กลุ่มที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่พรรคไทยรักไทยมีส่วนริเริ่มไว้ในอดีตที่ผ่านมา โดยชมรมแพทย์ชนบท จะร่วมกับเครือข่ายผู้ป่วย กลุ่มรัก หลักประกันสุขภาพ นักวิชาอาวุโส ในการจับตาดูการแสดงออกซึ่งความจริงใจในการสรรหา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลังของบอร์ด สปสช. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้ ชมรมแพทย์ชนบท 24 กุมภาพันธ์ 2555

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net