อุดมการณ์เบื้องหลังระบบยุติธรรมในการบังคับใช้ ม. 112

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในใจเมื่อผมร่าง “คำให้การคดี 112” จบลง คือความรู้สึกว่า “สิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเองกำลังถูกคุกคาม” เพราะผมเชื่อมั่นว่า เมื่อเราอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เราย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ที่ผมรู้สึกเช่นนี้ เพราะผมเห็นว่า ผมกำลังเผชิญกับ “ความอยุติธรรม” ความอยุติธรรมที่ว่านี้คือ การแจ้งความและข้อกล่าวหาสะท้อนถึงการ “บิดเบือน” ความหมายของข้อความที่ผมโพสต์แสดงความเห็นท้ายบทความทางวิชาการ ซึ่งเป็น “ข้อความที่ถูกต้องตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” อยู่แล้ว ให้มีความหมายใหม่ตามความต้องการของผู้ตีความที่ “ใส่ความหมายตามการตีความของตนเองลงไปเพื่อเอาผิดตาม ม. 122 ให้ได้” ขอยกตัวอย่างเทียบเคียงให้เห็น สมมติในการถกเถียงทางวิชาการในประเด็นว่า “จะจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสมเด็จพระสังฆราชในสังคม-การเมืองไทยอย่างไร?” แล้วผมก็เสนอไป 9 ข้อ ซึ่ง 9 ข้อนี้ผมประสงค์ให้เป็น “ข้อเสนอเชิงปฏิรูป” หมายความว่า เป็นข้อเสนอที่ให้ “คงหลักการที่ดีอยู่เดิม” บางอย่างไว้ และเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แล้วผมก็เสนอไป 1 ใน 9 ข้อนั้น (ย้ำ“สมมติ”) ว่า “พระสังฆราชต้องไม่แทรกแซงการเมือง” ซึ่งข้อเสนอนี้มีความหมายตรงไปตรงมาว่า เป็นการยืนยันให้ “คงหลักการเดิม” ที่ว่า “พระสังฆราชไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง อยู่เหนือการเมือง” เอาไว้เท่านั้นเอง แต่มีคนไปตีความว่า ข้อเสนอนี้เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่า “พระสังฆราชองค์ปัจจุบันแทรกแซงการเมือง” การตีความเช่นนี้เป็นการ “บิดเบือน” ความหมายของข้อความเดิมโดยการ “ตัดทิ้ง” บางคำ คือคำว่า “ต้องไม่” ออกไป แล้วก็ใส่ข้อความใหม่คือ “องค์ปัจจุบัน” เข้ามาแทนที่ ฉะนั้น จากข้อความเดิมที่ว่า “พระสังฆราชต้องไม่แทรกแซงการเมือง” กลายเป็นข้อความใหม่ว่า “พระสังฆราชองค์ปัจจุบันแทรกแซงการเมือง” และมีการใช้ข้อความใหม่จากการตีความเอาเองหรือบิดเบือนตามความต้องการของตนเองนี้เป็น “ข้อกล่าวหา” ว่า “ผมหมิ่นสังฆราช” สิ่งที่ผมกำลังเผชิญอยู่ก็มีลักษณะคล้ายกันกับ “สถานการณ์สมมติ” ดังกล่าวนี้ และนี่จึงทำให้ผมผมรู้สึกอย่างแจ่มชัดว่า ผมกำลังเผชิญกับ “ความอยุติธรรม” จากข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ! ยิ่งเมื่อดูบริบทของข้อความทั้ง 9 ข้อ ที่ผมเสนอยิ่งชัดเจนว่า เป็น “ข้อเสนอเชิงปฏิรูปที่อยากให้เกิดขึ้นในอนาคต” ไม่ได้มีข้อความที่กล่าวหา โจมตี ใส่ร้าย ให้อดีตและปัจจุบันเสื่อมเสียเป็นที่ดูถูกเกลียดชังของผู้คน ตามนิยามของคำว่า “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย” แต่อย่างใด ฉะนั้น ผมจึงมั่นใจว่า ข้อเสนอทั้ง 9 ข้อนั้นที่เป็นข้อเสนอในบริบทของบทความทางวิชาการ จึงเป็น “ข้อเสนอทางวิชาการ” คือ ข้อเสนอที่อธิบายได้ด้วยหลักการ เหตุผลบนพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อชวนให้เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนด้วยเหตุผลอันจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางความรู้และความคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่กำลังถกเถียงแลกเปลี่ยนกันอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ข้อเสนอดังกล่าว ย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น... มาตรา 50 บุคคลย่อมมีเสรีภาพทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอน การวิจัย การเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการ ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมือง หรือต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน การแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอเชิงวิชาการดังกล่าว เป็นข้อเสนอที่ไม่ได้ขัดต่อหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด และไม่ไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของผู้อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติแต่อย่างใด จึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 และมาตรา 50 อีกทั้งย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 26 และ 29 ดังความข้างล่างนี้ มาตรา 26 การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ มาตรา 29 การจำกัดสิทธิ เสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ ซึ่งความคุ้มครองดังกล่าว ย่อมสอดคล้องกับบทบัญญัติใน มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ดังกล่าวแล้ว แน่นอนว่า รัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ที่ผมยกมานี้ ย่อมเป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตาม “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” หากระบบความยุติธรรมของบ้านเรายึด “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ตามรัฐธรรมนูญ (โดยเฉพาะมาตรา 29) ในการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นฯ ม. 112 ย่อมไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ประกันตัวคุณสุรชัย คุณสมยศ อากง หรือผู้ต้องหาคดี ม.112 คนอื่นๆ เราจึงไม่ชัดเจนว่า อุดมการณ์เบื้องหลังในการบังคับใช้ ม.112 ของระบบยุติธรรมในบ้านเราคืออุดมการณ์อะไรกันแน่? ถ้าดูเหมือนจะไม่ใช่อุดมการณ์ประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆ ดังกล่าวมา ถามว่าระบบยุติธรรมบ้านเราบังคับใช้ ม.112 โดยอ้างอิง “อุดมการณ์ธรรมราชา” ตามมาตรา 9 ที่บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ” ใช่หรือไม่? คำตอบก็ไม่น่าจะใช่ เพราะตามอุดมการณ์ธรรมราชาที่ยึดหลัก “ทศพิธราชธรรม” ชาวพุทธย่อมเข้าใจดีว่าหลักทศพิธราชธรรมนั้น เป็นหลักแห่งความไม่โกรธ ให้อภัย ไม่เบียดเบียน ยึดความยุติธรรม (อวิโรธนะ) โดยคำนึงถึง “หลักการที่ถูกต้อง” ของระบอบการปกครองที่สังคมยอมรับร่วมกัน (ธรรมาธิปไตย) ใช้ปัญญา มีการุณยธรรม และเคารพ “ความเป็นมนุษย์” ของประชาชน เอาเข้าจริงแล้ว หากอุดมการณ์เบื้องหลังการบังคับใช้ ม.112 ไม่น่าจะใช่ทั้งอุดมการณ์ประชาธิปไตย และอุดมการณ์ธรรมราชาที่ยึดหลักทศพิธราชธรรม ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ระบบยุติธรรมไทยบังคับใช้ ม.112 โดยยึดอุดมการณ์อะไรกันแน่ และ “การใช้ดุลยพินิจ” ของระบบยุติธรรมได้คำนึงถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 หรือไม่ว่า \แต่อย่างไรก็ตาม เข้าคุกแล้ว ถ้าเป็นการละเมิดพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์เองเดือดร้อน เดือดร้อนหลายทาง ทางหนึ่งต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยนี่พูดวิจารณ์พระมหากษัตริย์ไม่ได้ ว่าวิจารณ์ไม่ได้ก็เข้าคุก มีที่เข้าคุก เดือดร้อนพระมหากษัตริย์\" คำถามสำคัญจึงมีว่า การบังคับใช้ ม.112 ของระบบยุติธรรมไทยที่เป็นอยู่นี้ นอกจากจะไม่ชัดเจนว่า เป็นการบังคับใช้ที่ยึด “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” และ “อุดมการณ์ธรรมราชา” หรือไม่แล้ว ยังอาจตั้งคำถามได้อีกว่า เป็นการบังคับใช้ที่ทั้งอาจเป็นทั้งการทำให้ “ราษฎร” และ “พระมหากษัตริย์” เดือดร้อนหรือไม่? นี่เป็นคำถามที่ระบบยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งระบบยุติธรรมนี้อ้างอิงความชอบธรรมจาก “อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย” และอ้างอิงการปกป้องประมุขของรัฐบน “อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย” ด้วยเช่นกัน ต้องมีคำตอบให้กับสังคม!"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท