Skip to main content
sharethis

ญาติร้องกรรมการสิทธิ ถูกทหารซ้อมทรมาน อ้างเจ็บหนัก แพทย์รุดเข้าตรวจ ศาลนราฯ ยกคำร้องค้านขยายเวลาคุมหนุ่มรือเสาะ เหตุเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวไปก่อนแล้ว เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ห้องพิจารณาคดี 3 ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดนัดไต่สวนคำร้องของนางสาวซาเร๊าะ ซิกะ ชาวตำบลลาโละ อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ที่คัดค้านการขอควบคุมตัวนายซุลกิพลี ซิกะ น้องชาย ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยมีตำรวจจากศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์บัญชาการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตำรวจสถานีตำรวจภูธรรือเสาะ และทหารจากหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาศาล ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า นายซุลกิพลีได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องไต่สวนคำร้องอีกต่อไป จึงมีคำสั่งยกคำร้อง และสั่งให้นางสาวซาเร๊าะ รับตัวนายซุลกิฟลีไปในวันนี้ คำสั่งศาลยังระบุสรุปด้วยว่า ตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาและตามระเบียบของศาลนี้ระบุว่า ในการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว ต้องให้ญาติหรือผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้ใจมาศาลเพื่อรับตัว แต่ปรากฏว่าศูนย์พิทักษ์สันติ ซึ่งอยู่ภายใต้ศูนย์บัญชาการตำรวจจังหวัดชาแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา ไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว จึงให้มีการหนังสือแจ้งผู้บังคับบัญชาของศูนย์พิทักษ์สันติ เพื่อชี้แจ้งให้ทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว คำสั่งศาลระบุอีกว่า ส่วนฝ่ายผู้ควบคุมหรือหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 อำเภอรือเสาะ นำผู้ถูกควบคุมไปส่งที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี แล้วไม่นำตัวผู้ถูกควบคุมตัวมาศาล จึงให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยเฉพาะกิจที่ 30 รายงานต่อศาลเป็นหนังสือเช่นกัน และให้มีหนังสือถึงแม่ทัพภาคที่ 4 ทราบเรื่องดังกล่าวด้วย นายซุลกิพลี ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 30 ควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 จากบ้านเลขที่ 60/2 หมู่ที่ 9 บ้านพงยือติ ตำบลลาโละ แล้วนำตัวไปที่กรมทหารพรานที่ 46 ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 จากนั้นถูกควบคุมตัวต่อตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. 2548 ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เมื่อครบกำหนดเจ้าหน้าที่ได้ขอขยายเวลาควบคุมตัวต่อ แต่นางสาวซาเร๊าะ ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลนราธิวาส กระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวไปในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 ศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาสแจ้งว่า ในช่วงที่นายซุลกิพลี ถูกควบคุมตัวที่กรมทหารพรานที่ 46 ญาติไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมในวันแรก ต่อมาทราบว่านายซุลกิพลี ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายโดยทุบตีที่ศีรษะ ใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะเพื่อไม่ให้หายใจได้สะดวก และกระชากอวัยวะเพศจนเป็นเหตุให้นายซุลกิพลีหมดสติ ศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาส จึงร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกองอำนวยการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้แพทย์เข้ารักษาทันที คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ให้นายสงวน อินทร์รักษ์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจภาคใต้ ประจำจังหวัดนราธิวาส ติดตามเรื่อง และขออนุญาตจาก พล.ท.อดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ส่งแพทย์เข้าตรวจร่างกาย ศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาส แจ้งต่อไปว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 16.30 น.นายแพทย์อนันตชัย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งประจำอยู่ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 5 คน เข้าเยี่ยมนายซุลกีฟลี แต่ไม่มีการตรวจร่างกายอย่างละเอียด มีเพียงการถ่ายรูปร่องรอยตามร่างกาย ศูนย์ทนายความมุสลิมประจำจังหวัดนราธิวาส แจ้งด้วยว่า ส่วน พ.อ.ฐกร เนียมรินทร์ ผู้อำนวยการกองงานมวลชนและกิจการพิเศษ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งญาติว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจร่างกายนายซุลกีฟลีแล้วเช่นกัน ไม่พบบาดแผลใดๆ แต่ไม่ได้ส่งเอกสารบันทึกการตรวจร่างกายให้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net