Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา การเมืองอเมริกันวุ่นว่ายอยู่กับประเด็นเรื่องยาคุมกำเนิดและการทำแท้ง การถกเถียงไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มผู้หญิงเท่านั้น แต่ที่น่าสนใจคือองค์กรทางศาสนาและนักการเมืองกลับมีบทบาทและอำนาจอิทธิพลในการกดดันรัฐบาลมากกว่ากลุ่มผู้หญิงเสียอีก ความขัดแย้งเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพแก่ผู้หญิงเริ่มกลายเป็นประเด็นทางการเมือง เมื่อมูลนิธิซูซานโกเมน (Susan G. Komen Foundation) ตัดสินใจระงับเงินช่วยเหลือองค์กร Planned Parenthood ที่ให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่สตรีอเมริกันมาช้านาน ถ้าพูดถึงมูลนิธิโกเมนบ้างคนอาจนึกไม่ออก แต่ถ้าบอกว่า “ริบบิ้นสีชมพู” ที่เป็นสัญลักษณ์ของการรณรงณ์ต่อต้านมะเร็งในสตรี หลายคนคงพอนึกออก ประเด็นมันมีอยู่ว่า มูลนิธิโกเมนได้ตัดเงินช่วยเหลือแก่องค์กรที่มีชื่อว่า Planned Parenthood ที่มีสาขาอยู่ทั่วอเมริกา องค์กรนี้ให้บริการที่มีคุณภาพด้านสุขอนามัยแก่สตรีในราคาย่อมเยาว์ เช่นให้บริการปรึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์และการเจริญพันธุ์ บริการตรวจมะเร็งเต้านมและตรวจภายใน จำหน่าย (หรือแจกฟรี) ถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด ในราคาถูก รวมทั้งให้คำปรึกษาและบริการทำแท้งด้วย ส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการเป็นผู้มีรายได้น้อยหรือไม่มีเงินซื้อประกันสุขภาพ ทางมูลนิธิโกเมนให้เหตุผลในการตัดเงินช่วยเหลือว่า เพราะ Planned Parenthood กำลังถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการของสภาคองเกรส เกี่ยวกับเรื่องการใช้จ่ายเงินในส่วนของการให้บริการทำแท้งว่า มีการกระทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ในแต่ละปีรัฐบาลอเมริกันก็ให้เงินช่วยเหลือองค์กร Planned Parenthood ด้วยเช่นกัน จึงไม่แปลกที่สภาคองเกรสจะมีสิทธิเข้ามาตรวจสอบ ประเด็นที่ถกเถียงกันคือ การตัดเงินช่วยของมูลนิธิโกเมนจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการสุขอนามัยที่จำเป็นแก่สตรีที่มีรายได้น้อย ซึ่งการให้บริการทำแท้งคิดเป็นเพียง 3% ของค่าใช้จ่ายในการให้บริการทั้งหมดขององค์กร Planned Parenthood ในปีที่ผ่านมา การตรวจสอบของคณะกรรมการคองเกรสก็ยังไม่มีข้อสรุป รัฐบาลเองก็ยังไม่ประกาศตัดงบPlanned Parenthood แต่อย่างใด ฉะนั้น การตัดสินใจของมูลนิธิโกเมนจึงถูกมองว่าทำเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ขององค์กรตัวเองจนเกินไป และมองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสตรีจำนวนมากที่จะขาดโอกาสในการได้รับบริการสุขอนามัยที่จำเป็น ประเด็นนี้จึงทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกลุ่มสตรีที่สนับสนุน Planned Parenthood กับกลุ่มองค์กรศาสนาคริสต์และนักการเมืองแนวอนุรักษ์นิยมจากพรรครีพับลิกันที่ยกย่องการตัดสินใจของมูลนิธีโกเมน ไม่กี่วันต่อมา โอบามาออกมาตอกย้ำกระแสยาคุมกำเนิด โดยประกาศว่า ให้บริษัทประกันสุขภาพทุกบริษัท รวมทั้งองค์กรที่ให้บริการสาธารณสุขของศาสนา เช่น โรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกต้องจ่ายยาคุมกำเนิดให้สตรีฟรี โดยให้เวลา 1 ปีในการปรับตัว ข้อบังคับนี้เป็นผลมาจากกฎหมายบริการสาธารณสุขฉบับใหม่ที่ผ่านสภาเมื่อสองปีที่แล้ว ในปัจจุบันยาคุมกำเนิดในอเมริกามีราคาสูง ทำให้สตรีที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีประกันสุขภาพไม่สามารถเข้าถึงยาได้ หรือแม้จะมีประกันสุขภาพ บริษัทประกันส่วนใหญ่ก็จะไม่จ่ายค่ายาคุมกำเนิดให้เต็ม 100% แต่กฎหมายฉบับนี้ถือว่ายาคุมกำเนิดเป็นวิธีการป้องกัน (Preventive Care) ปัญหาสุขภาพอนามัยของสตรี เช่นก ารตั้งครรภ์ที่ไม่พึ่งปราถนา (ซึ่งจะช่วยลดการทำแท้งในอนาคต) และใช้ในการรักษาอาการต่างๆ เช่นซีสต์ในสตรีด้วย เหมือนกับการตรวจมะเร็งเต้านมหรือตรวจภายในของสตรี ที่ถือว่าเป็นวิธีการป้องกันที่สตรีควรได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐานจากการซื้อประกันสุขภาพ ตามประกาศของโอบามา บริษัทประกันสุขภาพยอมทำตามกฎหมายฉบับใหม่อย่างไม่มีปากเสียง เพราะบริษัทประกันเห็นว่า การจ่ายค่ายาคุมกำเนิดแก่สตรี มีต้นทุนน้อยกว่าที่จะเสียค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทต้องจ่าย ถ้าเกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ในทางกลับกันองค์กรทางศาสนาเปิดแถลงการณ์ต่อต้านแนวทางปฎิบัติของกฎหมายฉบับนี้อย่างดุเดือดทั้งในสื่อและในมิสซาวันอาทิตย์ ผู้เขียนจำได้ว่า ขณะกำลังนั่งฟังเทศน์ในโบสถ์อยู่ดีๆ ก็ต้องตกใจเมื่อบาทหลวงยกประกาศจากสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (The United States Conference of Catholic Bishops) ออกมาอ่านโดยมีแถลงการณ์ต่อต้านนโยบายยาคุมกำเนิดว่า ได้ทำลายอิสรภาพและความเชื่อทางศาสนา แถมเป็นการจำกัดสิทธิสตรีอีก ตามหลักความเชื่อของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแล้ว จะไม่ยอมรับการใช้ยาคุมกำเนิดและไม่อนุญาตให้ทำแท้ง ในขณะเดียวกันแม้ว่าองค์กรศาสนาคริสต์อย่างนิกายอีเวนเจลลิเคล (Evangelicalism) ในอเมริกาจะไม่ต่อต้านการใช้ยาคุมกำเนิด แต่ก็ออกมาผนึกกำลังกับสภาสังฆราชคาทอลิกในการต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ด้วยในประเด็นเรื่องอิสรภาพทางศาสนา ผู้เขียนเดินออกมาจากโบสถ์อย่างไม่สบอารมณ์ และถ้าจะมีบาปติดตัวก็คงเป็นบาปที่องค์กรศาสนาได้ป้ายไว้ให้ในวันนั้น เพราะผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของสภาสังฆราชฯ แม้แต่น้อย และอยากจะทราบเหมือนกันว่า สภาสังฆราชฯ ที่ตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของสตรีนั้นมีสตริเข้าร่วมตัดสินใจในที่ประชุมด้วยอย่างนั้นหรือ แล้วเหตุผลใดการมีโอกาสเข้าถึงยาคุมกำเนิดได้ง่ายถึงเป็นเรื่องลดทอนสิทธิสตรีไปได้ ในสหรัฐอเมริกาเองมีการสำรวจอย่างเป็นทางการว่า 98% ของสตรีคาทอลิกเคยใช้ยาคุมกำเนิดมาแล้วทั้งนั้น นั้นหมายความว่า สภาสังฆราชฯหลับหูหลับตาพร่ำสอน ไม่ดูความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความต้องการของศาสนิกชนที่เป็นสตรีอย่างแท้จริง แต่กลับพยายามผลักดันหลักการที่ล้าสมัย และยังเป็นการขัดขว้างการรับบริการสุขอนามัยของสตรีอีกด้วย โดยใช้ข้ออ้างที่ว่าการบังคับมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลคาทอลิกให้รับภาระเรื่องยาคุมกำเนิดเป็นการทำลายอิสรภาพทางศาสนา แต่ที่จริงแล้วน่าจะเป็นการทำลายอิสรภาพของสตรีที่มีสิทธิเลือกใช้หรือไม่ใช้ยาคุมกำเนิดเสียมากกว่า แม้ว่าโอบามาจะยอมประนีประนอมกับองค์กรทางศาสนา โดยให้บริษัทประกันสุขภาพเป็นผู้รับภาระการจ่ายค่ายาคุมกำเนิดแทนองค์กรเหล่านี้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ทำให้การต่อสู้ทางอุดมความคิดเบาบางลงได้ มหาวิทยาลัยคาทอลิก 2 แห่ง, องค์กรสื่อของคาทอลิก, และองค์กรทางการเมืองจาก 7 รัฐในอเมริกากำลังฟ้องเอาความผิดกับรัฐบาลโอบามาในข้อหาการทำลายอิสรภาพทางศาสนาว่า ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอเมริกันและกฎหมายที่มีชื่อว่า The Religious Freedom Restoration Act นอกจากนั้น ยังมีประเด็นข้อถกเถียงทางเทคนิคระหว่างองค์กรศาสนากับกลุ่มแพทย์ด้วยว่า ยาคุมกำเนิดนั้นถือว่าเป็นการทำแท้งหรือไม่ เพราะในกฎหมายฉบับนี้ ยาคุมกำเนิดหมายถึงยาเม็ดที่กินก่อนมีเพศสัมพันธ์, ชนิดห่วง และชนิดเม็ดที่กินหลังมีเพศสัมพันธ์ (Morning-after pill) ด้วย ในมุมมองขององค์กรศาสนา ถือว่ายาคุมกำเนิดโดยเฉพาะชนิดที่กินหลังมีเพศสัมพันธ์เป็นเสมือนการทำแท้งวิธีหนึ่ง (Abortifacient) ซึ่งแพทย์อาจมีความเห็นที่ขัดแย้งออกไป ส่วนในทางการเมือง ริค แซนโทรัม (Rick Santorum) หนึ่งในผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันก็ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดลอย รีบกระโดดเกาะกระแสยาคุมกำเนิดเพื่อหวังจะใช้สนับสนุนภาพลักษณ์ทางการเมืองของเขา ที่ถูกวาดไว้ว่าเป็นพวกหัวอนุรักษ์นิยมที่เคร่งศาสนาและมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางสังคม และเพื่อกระตุ้นคะแนนนิยมของตนเองที่ตอนนี้สูสีกับอดีตผู้ว่าการรัฐแมสซาจูเสตส์ มิตต์ รอมนีย์ (Mitt Romney) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันอีกคนหนึ่ง ซึ่งรอมนีย์เองไม่มีสิทธิยกประเด็นเรื่องศาสนามาหากินได้เหมือนแซนโทรัม เพราะรอมนีย์นับถือมอร์มอน ซึ่งกลุ่มรีพับลิกันที่เคร่งศาสนาและกลุ่ม Tea party ไม่ค่อยโปรดปรานสักเท่าไรนัก แซนโทรัมจึงใช้นโยบายยาคุมกำเนิดโจมตีความเชื่อทางศาสนาคริสต์ของโอบามาว่า เป็นความเชื่อจอมปลอม ซึ่งโอบามาเองก็ถูกตั้งข้อสงสัยจากกลุ่มศาสนาคริสต์นิกายอีเวนเจลลิเคล (Evangelicalism) มาโดยตลอดว่า เขานับถือศาสนาคริสต์จริงหรือไม่ แม้โอบามาจะบอกว่า ตนเองนับถือศาสนาคริสต์และเข้าโบสถ์เหมือนคริสต์ศาสชิกชนทั่วไป แต่หลายคนยังไม่คลายสงสัยว่า แท้จริงโอบามาอาจนับถือศาสนาอิสลาม บาทหลวงชื่อดังจากนิกายอีเวนเจลลิเคลเพิ่งออกมาย้ำความเชื่อของเขาอีกครั้งทางทีวีจากกระแสนโยบายยาคุมกำเนิดว่าโอบามาคือ Son of Islam ในขณะนี้ องค์กรศาสนากลายเป็นผู้ปลุกกระแสทางการเมือง และในทางกลับกันศาสนาก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือโจมตีและสร้างภาพลักษณ์ของนักการเมืองในอเมริกาได้อย่างน่าสนใจ แต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการประกาศใช้นโยบายกลับอยู่นอกวงหรือไม่มีอิทธิพลในกระบวนการตัดสินใจทางนโยบายสักเท่าไร อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกาที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนปลายปีนี้จะเป็นตัวตัดสิน กลุ่มสตรีที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก มีลักษณะการลงคะแนนเสียงที่เรียกได้ว่า swing vote หมายความว่าไม่ยึดติดกับการโหวตเพื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง หรือมีลักษณะการลงคะแนนเสียงที่คล้ายกับกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงอิสระไม่ฝักใฝ่พรรคใด (Independent voters) ฉะนั้น นอกจากประเด็นทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญแล้ว ประเด็นยาคุมกำเนิดหรือการให้บริการสุขอนามัยแก่สตรี น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มสตรีเหล่านี้ในการลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีในปีนี้ด้วย *ผู้เขียนเป็นนักวิจัยอิสระ อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net