Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ออกแถลงการณ์กรณี 'ฮาร์เวิร์ด-หมวย' สื่อเสนอข่าวให้เกิดความเข้าใจในสังคมว่า ผู้หญิงที่ทำแท้งมีความผิดตามกฎหมายทุกกรณี ส่งผลให้ผู้ประสบปัญหาวิกฤตท้องไม่พร้อมต้อง “ทำแท้งเถื่อน” 29 ก.พ.55 เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ออกแถลงการณ์กรณีการตกเป็นข่าวใหญ่ของคู่ดาราฮาร์เวิร์ด-หมวย ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจในสังคมว่าผู้หญิงที่ทำแท้งมีความผิดตามกฎหมายทุกกรณีและผู้ที่ช่วยเหลือให้ทำแท้งอาจมีความผิดไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ประสบปัญหาวิกฤตท้องไม่พร้อมต้องเลือก “การทำแท้งเถื่อน” เป็นทางออก ทั้งๆ ที่อาจได้รับบริการทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมายและปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิตได้ ติงตำรวจว่า การเสนอข่าวว่าจะ “บุกทลาย” โดยไม่แยกแยะก่อนว่าเป็นคลินิกที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นี้ กลับกลายเป็นแรงผลักให้ผู้ประสบปัญหาต้องหลบเข้าไปสู่บริการใต้ดิน ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาประชากร “เกิดน้อย แต่ด้อยคุณภาพ....การเกิดที่มีคุณภาพจะต้องเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ที่พร้อมและตั้งใจ ” ดังนั้น ทุกฝ่ายในสังคมไทยจึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วมกันเพื่อแก้ไขวิกฤตประชากรนี้ โดยมีรายละเอียดในแถลงการณ์ ดังนี้ 0 0 0 แถลงการณ์ของเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม [1] ต่อกรณีฮาร์เวิร์ด-หมวย สืบเนื่องจากกรณีการตกเป็นข่าวใหญ่ของคู่ดาราฮาร์เวิร์ด-หมวย ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจในสังคมว่าผู้หญิงที่ทำแท้งมีความผิดตามกฎหมายทุกกรณีและผู้ที่ช่วยเหลือให้ทำแท้งอาจมีความผิดไปด้วยนั้น เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมมีความเห็นว่า เป็นการสื่อสารที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม เนื่องจากการทำแท้งมิใช่การกระทาที่ผิดกฎหมายในทุกกรณี อีกทั้งความเข้าใจผิดนี้อาจส่งผลให้ผู้ประสบปัญหาวิกฤตท้องไม่พร้อมต้องเลือก “การทำแท้งเถื่อน” เป็นทางออก ทั้งๆ ที่อาจได้รับบริการทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมายและปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิตได้ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมจึงขอแถลงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้ 1. สื่อมวลชนควรเสนอข้อมูลที่ถูกต้องว่า ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 (1) (2) และมาตรา 276, 277, 282, 283 และ 284 และข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ ได้กำหนดให้แพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นผู้ยุติการตั้งครรภ์แก่ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้ในกรณีดังต่อไปนี้ 1) การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกายของผู้หญิง 2) การตั้งครรภ์นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพทางใจของผู้หญิง 3) ทารกในครรภ์มีความพิการรุนแรง 4) การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืนกระทำชำเรา 5) การตั้งครรภ์ในเด็กหญิงที่อายุไม่เกิน 15 ปี 6) การตั้งครรภ์มาจากเหตุล่อลวง บังคับ หรือข่มขู่ เพื่อทำอนาจาร สนองความใคร่ 2. สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรทบทวนประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมายอาญาว่าด้วยเรื่องทำแท้ง เนื่องจากมีการใช้มาตรการบุกเข้าตรวจค้น/ทลายคลินิกที่ต้องสงสัยมาโดยตลอด แต่ไม่พบหลักฐานเชิงประจักษ์ว่ามาตรการนี้สามารถส่งผลให้การทำแท้งลดลง ในทางตรงกันข้าม การเสนอข่าวว่าจะ “บุกทลาย” โดยไม่แยกแยะก่อนว่าเป็นคลินิกที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่นี้ กลับกลายเป็นแรงผลักให้ผู้ประสบปัญหาต้องหลบเข้าไปสู่บริการใต้ดินซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการสูญเสียสุขภาพและชีวิตมากยิ่งขึ้น 3. รัฐบาลพึงตระหนักและเร่งหาทางแก้ไขต่อกรณีที่โรงพยาบาลจานวนมากของรัฐ มีข้อจำกัด/ไม่มี บริการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้กฎหมาย แม้ว่าบริการนี้จะครอบคลุมภายใต้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพและประกันสังคมก็ตาม ดังจะเห็นได้จากผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจานวนมากต้องเสี่ยงกับการแสวงหาสถานที่ยุติการตั้งครรภ์เอง ทั้งๆ ที่ตนมีสิทธิควรได้รับบริการโดยชอบธรรมจากสถานบริการของรัฐ 4. รัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพในการสร้างมาตรการป้องกันการท้องที่ไม่พร้อมให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การเข้าถึงอุปกรณ์คุมกำเนิดและป้องกันโรค โดยเน้นให้ทั้งชายและหญิงมีบทบาทรับผิดชอบอย่างเสมอกัน มีบริการปรึกษาทางเลือกที่เป็นมิตรต่อผู้หญิงที่พบวิกฤตท้องไม่พร้อม เสริมสร้างการเข้าถึงบริการที่ปลอดภัย และช่วยเหลือผู้หญิงให้ได้รับการดูแลขณะท้องและหลังคลอดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เลี้ยงดูบุตรที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่พร้อมได้อย่างมีคุณภาพต่อไป นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2553-2557) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาประชากร “เกิดน้อย แต่ด้อยคุณภาพ....การเกิดที่มีคุณภาพจะต้องเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ที่พร้อมและตั้งใจ ” ดังนั้น ทุกฝ่ายในสังคมไทยจึงจำเป็นต้องมีส่วนร่วมกันเพื่อแก้ไขวิกฤตประชากรนี้ ด้วยการร่วมเดินไปข้างหน้าอย่างเข้าใจต่อปัญหาท้องไม่พร้อมและการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยอย่างถ่องแท้เสียตั้งแต่วันนี้.... [1] เครือข่ายขององค์กรภาครัฐและเอกชน มีภารกิจทางานครอบคลุมทุกมิติชีวิตของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ตั้งแต่เรื่องเพศศึกษา การคุมกาเนิด การปรึกษาทางเลือก การดูแลผู้หญิงที่ตัดสินใจท้องต่อตั้งแต่ก่อน-หลังคลอด และการดูแลแม่และเด็กในระยะยาว รวมทั้งการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย โดยมีเป้าหมายสูงสุดที่คุณภาพชีวิตของผู้หญิงที่ประสบปัญหาและเด็กเป็นหลัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net