ทำร้ายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ คือ “ความป่าเถื่อนต่อการใช้เหตุผล”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อเราจะร่วมกันสร้างสังคมให้น่าอยู่ หรือสร้างสังคมประชาธิปไตยแบบอารยะ เราจำเป็นต้องปกป้องแม้กระทั่ง“กลุ่มคนที่โดยธรรมชาติแล้วมีความสัมพันธ์ เชิงปฏิปักษ์กับอำนาจ


“ความอยุติธรรมไม่ว่าเกิดขึ้นที่ไหน ย่อมคุกคามความยุติธรรมไปทุกแห่ง”
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง

“คนโง่ที่ฉลาดคนไหนก็สามารถสร้างสิ่งใหญ่โต ซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นได้
แต่การกระทำในทางตรงกันข้ามต้องอาศัยอัจฉริยภาพและความกล้าหาญอย่างมากเท่านั้น”
อี.เอฟ. ชูมาเกอร์

“บางครั้งฉันคิดว่าโลกแบ่งเป็นกลุ่ม
คือกลุ่มคนที่มีสายสัมพันธ์อันอบอุ่นกับอำนาจ
กับกลุ่มคนที่โดยธรรมชาติแล้วมีความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์กับอำนาจ”
อรุณธตี รอย

 

ความรู้สึกสะเทือนใจ เศร้า หดหู่กับข่าวการทำร้ายร่างกายอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็มากพออยู่แล้ว แต่ยิ่งรู้สึก “สะเทือนใจ” ยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเห็นข่าวนักวิชาการรุ่นใหญ่ อดีตคนเดือนตุลาและเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำ ออกมาแสดงความเห็นว่า

 “...เรื่องดังกล่าวน่าจะเกิดจากความขัดแย้งของสังคม อัน เนื่องมาจากการแสดงความคิดเห็น ดังนั้น การที่นักวิชาการจะเสนอความเห็นต่างๆ จะต้องระมัดระวัง เพราะอาจจะกระทบกับอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมได้ และอาจนำมาซึ่งความขัดแย้ง”

แต่กลับไม่มีคำเตือนสื่อ นักวิชาการที่โจมตี ใส่ร้ายด้วยความเท็จต่างๆ นานาว่า อาจารย์วรเจตน์และกลุ่มนิติราษฎร์ “ล้มเจ้า” เพื่อปลุกกระแสความขัดแย้งในสังคม

ผมไม่อยากสรุปว่า คนที่ออกมาเตือนแบบนี้ต้องการให้ “เหตุผลเงียบ” แต่เท่าที่ติดตามการแสดงความเห็นของอาจารย์วรเจตน์ ผมประทับใจมากว่า อาจารย์เป็นคนที่หนักแน่นในหลักการเหตุผล มีสติในการใช้คำพูด ไม่หลุดไปจากหลักการเหตุผลเลย ไม่เคยเห็นอาจารย์ด่า ท้าทายใครๆ ในลักษณะ “ใช้อารมณ์เหนือเหตุผล”

แล้วจะต้องให้ “เสียงของเหตุผล” ระมัดระวังขนาดไหนอีกครับ? ถ้าเราจะยืนยันหลักการ เหตุผลที่ถูกต้องในแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็น ก็จำเป็นต้องใช้เหตุผลอภิปรายกันอย่างถึงที่สุด เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเป็นเรื่องๆ เป็นประเด็นๆ ให้ “ขาด” ไปเลย ไม่ใช่พูดอ้ำๆ อึ้งๆ ครึ่งๆ กลางๆ หรือตีสำนวนโวหารแบบศรีธนญชัยไปวันๆ

และแน่นอนว่า เรื่องราวหรือประเด็นที่มันผ่านการใช้เหตุผลอย่างถึงที่สุดแล้ว ก็ย่อม “แหลมคม” และมีธรรมชาติของการ “ท้าทาย” เหตุผลของอีกฝ่ายอยู่ในตัวของมันเอง!

ผมคิดว่า “ท่วงทำนอง” ของการใช้เหตุผลของอาจารย์วรเจตน์เป็นท่วงทำนองที่สุภาพ ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์และฝ่ายเห็นต่างอย่างถึงที่สุดแล้ว หมายความว่ามีความ “ระมัดระวังอย่างยิ่งแล้ว” แต่จะให้หยุดใช้เหตุผล เพราะกลัวสังคมจะขัดแย้ง กลัวการข่มขู่ กลัวการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ย่อมเป็นไปไม่ได้ ความจริงสังคมก็ขัดแย้งกันมากว่า 5 ปี แล้ว และยังขัดแย้งกันอยู่

บทบาทของนักวิชาการก็คือการนำ “ประเด็นปัญหาที่แท้จริง” ขึ้นมาสู่เวทีของการถกเถียงด้วยเหตุผล นี่คือความรับผิดชอบต่อการมีส่วนร่วมหาทางออกให้กับปัญหาขัดแย้งในสังคมให้ เข้าสู่วิถีทางของการใช้เหตุผล เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างสันติ

แต่ปัญหาอยู่ที่นักวิชาการ สื่อผู้จัดการ สื่อกระแสหลัก ฝ่ายผู้มีอำนาจในกองทัพเป็นต้นต่างหากแทนที่จะใช้เหตุผลมาโต้แย้งถกเถียง แลกเปลี่ยนกันอย่างตรงไปตรงมา กลับไปใช้วิธีการโจมตีกล่าวหา ใส่ร้ายว่า อีกฝ่ายไม่สมควรเป็นคนไทย ล้มเจ้า ฯลฯ เพื่อจุดกระแสความเกลียดชังและความขัดแย้งขึ้นในสังคม

ฝ่ายนี้ต่างหากที่ต้องถามตัวเองว่า ทำเช่นนั้นไปเพื่ออะไร? และนอกจากควรจะถูกเตือนให้ระมัดระวังในการแสดงความเห็นแล้ว ยังสมควรจะถูกเรียกร้องให้ออกมาแสดง “ความรับผิดชอบ” ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันเป็นผลของการกระทำของพวกเขาอีกด้วย

การทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ คือ “ความป่าเถื่อนต่อการใช้เหตุผล” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “วัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันด้วยเหตุผล” ของสังคมเรา “อ่อนแออย่างถึงที่สุด” แล้ว แต่รูปธรรมของความอ่อนแอนี้เป็นเพียงแค่ “หยดน้ำ” บนยอดภูเขาน้ำแข็งแห่ง “โครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรง” (คำของ ส.ศิวรักษ์)

โครงสร้างอันอยุติธรรมและรุนแรงนี้ โดยธรรมชาติแล้วย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อการใช้เหตุผลและเสรีภาพ แต่ธรรมชาติของมนุษย์คือ “ความเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลและเสรีภาพ” โครงสร้างที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเหตุผลและเสรีภาพ จึงเป็นโครงสร้างที่ทำลาย “ความเป็นมนุษย์” ของประชาชนโดยตรง

กล่าวคือ ในฐานะที่เป็น “มนุษย์” ประชาชนแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นคนมีชื่อเสียง คนธรรมดาสามัญ คนเล็กคนน้อยในสังคม ย่อมต้องมีสิทธิ เสรีภาพที่จะใช้เหตุผลอธิบายเพื่อยืนยันการกระทำ ความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ของตนเองว่า “ถูกต้อง” หรือ “ไม่ผิด” อย่างไร และ/หรือใช้เหตุผลอธิบายเพื่อยืนยันความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ทางสังคมการเมืองว่า ทำไมเขาจึงต้องการให้ระบบ โครงสร้าง กติกาในการอยู่ร่วมกันของสังคมควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

แต่ภายใต้โครงสร้างที่เป็นอยู่ กลับไม่ได้อนุญาตให้ประชาชนมี “ความเป็นมนุษย์” ในความหมายดังกล่าว เช่น ตัวอย่างคำพิพากษาในคดีคุณสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ตอนหนึ่งว่า

“...ประกอบกับที่จำเลยกล่าวถึงสถาบัน เบื้องสูงว่า อยู่เบื้องหลังของความขัดแย้งก็ไม่เป็นความจริง พระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาทต่างก็ดำเนินพระราชกรณีกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีความร้ายแรงไม่สมควรให้รอการลงโทษ”

ประเด็นคือ ในทางหลักวิชาการ หรือหลักตรรกะ หลักความมีเหตุผลแล้ว การตัดสินว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็น “ความจริง” หรือ “ไม่เป็นความจริง” ย่อมไม่ใช่การ “ใช้อำนาจตัดสิน” แต่ต้องใช้ “การพิสูจน์จนสิ้นสงสัย” ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้เหตุผลและเสรีภาพ

เมื่อระบบไม่ได้เปิดให้ประชาชนได้มีเสรีภาพในการใช้เหตุผลอภิปรายโต้แย้ง เพื่อพิสูจน์จนถึงที่สุดหรือจนสิ้นสงสัยว่า เรื่องนั้นเรื่องนี้จริงหรือไม่จริงอย่างไร เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง จึงเป็น “ระบบที่ทำลายความเป็นมนุษย์ของประชาชน” คือ เป็นระบบที่บังคับไม่ให้ประชาชนสามารถใช้ความเป็นมนุษย์ของตนเอง (เหตุผลและเสรีภาพ) ปกป้อง “ความบริสุทธิ์” และ “ศักดิ์ศรี”ของตนเองได้

การที่คนเราไม่สามารถใช้ เหตุผลและเสรีภาพในการปกป้อง “ความบริสุทธิ์” และ “ศักดิ์ศรี” ของตนเองได้ ยังถือว่า “ความเป็นคน” ยังมีอยู่อีกหรือ? นี่ไม่ใช่ “โศกนาฏกรรม” ที่น่าสะเทือนใจที่สุดหรอกหรือครับ?

หากพิจารณาข้อเสนอของนิติราษฎร์ในการแก้ไข ม.112 อย่างตรงไปตรงมา จะเห็นได้ว่าเป็นข้อเสนอที่ต้องการคืน “ความเป็นมนุษย์” แก่ประชาชน เช่นที่ระบุไว้ใน “เหตุยกเว้นความผิด” และ “เหตุยกเว้นโทษ” ที่ว่า

ประเด็นที่ ๕ เหตุยกเว้นความผิด
ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นความ ผิด ดังนี้ มาตรา ... “ผู้ใด ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีความผิดตามมาตรา ... และ

มาตรา...”

เหตุผล
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๔๕ รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อการดังกล่าว ไม่สมควรเป็นความผิดทางอาญา

ประเด็นที่ ๖ เหตุยกเว้นโทษ
ข้อเสนอ
เพิ่มเติมเหตุยกเว้นโทษ ดังนี้ มาตรา ... “ความผิดฐานต่างๆในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่า ข้อความนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ถ้าข้อที่กล่าวหาว่าเป็นความผิดนั้นเป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือ ความเป็นอยู่ส่วนตัวแล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ห้ามมิให้พิสูจน์”

เหตุผล
แม้การกระทำนั้นเป็นความผิด แต่หากการกระทำนั้นเป็นการแสดงข้อความที่เป็นจริง และเป็นประโยชน์แก่ประชาชน ก็สมควรได้รับการยกเว้นโทษ

นี่คือข้อเสนอเพื่อคืน “สิทธิ เสรีภาพในการใช้เหตุผลปกป้องความบริสุทธิ์และศักดิ์ศรีของตนเอง” แก่ประชาชน ซึ่งเท่ากับเป็นการคืน “ความเป็นมนุษย์” แก่ประชาชน (ซึ่งสิทธิ เสรีภาพดังกล่าวนี้รับรองโดยรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ถูก ม.112 ปัจจุบัน “ทำลาย” ไป เสมือนว่า ม.112 เป็น “กฎหมายเหนือรัฐธรรมนูญ”)

ฝ่ายเห็นต่างก็ควรใช้เหตุผลโต้แย้ง ไม่ใช่ไปกล่าวหาว่าล้มเจ้า หรือไปสร้างภาพนิติราษฎร์ให้กลายเป็น “ปีศาจ” ที่ต้องประณามสาปแช่งหรือขจัดทิ้งไป ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดง “ความป่าเถื่อนต่อการใช้เหตุผล” จนนำมาสู่การใช้กำลังทำร้ายร่างกายนักวิชาการผู้ยืนหยัดในหลักการ เหตุผล บนอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ชัดเจนมากที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยแห่งความสับสนทาง ความคิดเช่นปัจจุบัน

สังคมที่ถูกทำให้วุ่นวายไปตามการปั่นกระแสความขัดแย้งทางความคิด ให้ใหญ่โตจนกลายเป็นความขัดแย้งทางสังคม และนำไปสู่ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ เป็นสังคมที่ขาดลักษณะใจกว้าง หรือ “ขันติธรรม” (tolerance) ต่อความเห็นต่าง

จริงหรือไม่ว่า การขาดขันติธรรมเช่นนี้มีอยู่ในคนทุกกลุ่ม แม้แต่ในคนที่ปกป้องความหลากหลายของธรรมชาติความเป็นมนุษย์และสันติวิธี นี่จึงเป็นปัญหาที่เราควรทบทวนตัวเอง

โดยเฉพาะเมื่อเราจะร่วมกันสร้างสังคมให้น่าอยู่ หรือสร้างสังคมประชาธิปไตยแบบอารยะ เราจำเป็นต้องปกป้องแม้กระทั่ง “กลุ่มคนที่โดยธรรมชาติแล้วมีความสัมพันธ์เชิงปฏิปักษ์กับอำนาจ” ให้มี “ที่ยืน” ในสังคม ดังที่มารค ตามไท เสนอว่า

“แม้แต่คนที่ไม่ปกป้องสถาบัน ก็ต้องมีที่ยืนในสังคม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท