Skip to main content
sharethis

ช่วงบ่ายของวันที่ 29 ก.พ.55 เกิดเหตุการณ์ชายสองคนปรี่เข้าทำร้าย รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลางลานจอดรถของคณะ

เช้าวันเดียวกันนั้นเอง ประชาไทได้ไปสัมภาษณ์ บุญสุข กานโน และปรีชา แก้วดวงตา เจ้าหน้าคณะนิติศาสตร์ บุญสุข เป็นเจ้าหน้าที่อาคารสถานที่มานานถึง 34 ปี ส่วนปรีชา เป็นพนักงานขับรถของคณะมานานกว่า 22 ปี

ด้วยหน้าที่การงานที่ต้องสัมพันธ์กับฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งกันซึ่งเข้ามาใช้พื้นที่ของธรรมศาสตร์ พวกเขารับรู้ ได้ยินได้ฟัง และเห็นความเคลื่อนไหวและเหตุการณ์ทางการเมืองของไทยที่เคลื่อนผ่านธรรมศาสตร์มาโดยตลอด

พวกเขาเห็นว่าวันนี้ธรรมศาสตร์ยังคงมีเสรีภาพทางวิชาการ และเห็นว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมืองและถูกนำมากลั่นแกล้งผู้อื่น จึงเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ที่เสนอให้มีการแก้ไข และเห็นว่ากลุ่มที่มีความเห็นต่างกันทางการเมืองควรมาคุยกัน และเสนอว่าธรรมศาสตร์ควรเป็นพื้นที่เปิดเสรีในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่คนทั่วไป มากกว่าจะจะปิดกั้นไม่ให้ใช้พื้นที่

 

 

บรรยากาศเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของคนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ธรรมศาสตร์ มีเสรีภาพไหม และพอใจกับเสรีภาพนี้ไหม

ปรีชา : เสรีภาพในที่ทำงานดีมาก อาจารย์ท่านเป็นกันเอง บางทีท่านก็ให้ความสนิทสนมเหมือนญาติมิตร 
บุญสุข : ทั้งๆ ที่เราเรียนมาน้อย แต่ว่ามารู้จักกับผู้หลักผู้ใหญ่ในนี้ก็เป็นมิตรกับทุกๆ คน ก็ใช้ได้

บรรยากาศทางการเมืองไทยที่รุนแรงมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอะไรกับการแสดงออกบ้างไหม

ปรีชา : บางครั้งมันก็พูดไม่ได้ พูดไปก็เป็นภัยกับตัวเอง แสดงความคิดเห็นก็ยังไม่ได้ อย่างมาตราหนึ่งที่รัฐบาลที่แล้วใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมือง

บอกได้ไหมว่ามาตราที่เป็นปัญหาคือมาตราไหนยังไง ?

ปรีชา : แค่คิดยังไม่ได้เลย อย่างเขากำจัดศัตรูทางการเมือง เขาบอกว่าไอ้นี่ไม่จงรักภักดี เราก็ตายแล้ว ไม่จงรักภักดีเขาใช้เป็นเครื่องมือในรัฐบาลที่แล้ว ใช้มากแล้วคนติดคุกในมาตรานี้เยอะ ก็ยังไม่ทราบว่าจะแก้ไขได้ยังไง ในเมื่อว่ามันมีพรรคการเมืองหนึ่งใช้มาตรานี้มาเล่นงานคน แล้วยังใช้มาตรานี้เป็นเครื่องมือปลุกม็อบ ปลุกระดมคนที่ไม่ได้อ่านในมาตรานี้เลย

ที่ผ่านมา มีข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์เองที่เสนอให้แก้มาตรานี้ เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร

ปรีชา : เห็นด้วย เพราะป้องกันสถาบันที่นักการเมืองที่ไม่ดีเอาสถาบันมาเล่นการเมือง ใช้กำจัดคู่แข่งทางการเมือง
บุญสุข : นิติราษฎร์นี่ผมก็ว่าดีนะครับ เพราะว่าทำให้ประชาชนทั่วประเทศจะได้รู้กันเลยทุกวันนี้ว่าดียังไง แล้วเขาจะได้หูตาสว่างขึ้นเท่าทุกวันนี้ก็เพราะอาจารย์วรเจตน์ (วรเจตน์ ภาคีรัตน์-ประชาไท) ที่เป็นผู้นำของนิติราษฎร์ คนที่เขาไม่ได้ค่อยรู้กฎหมงกฎหมายอะไร ตอนนี้รู้สึกเขาจะรู้แจ้งเห็นชัดหมดแล้ว

กลัวไหม ถ้าจะร่วมทำกิจกรรมจริงจังทางการเมือง เช่น ลงชื่อกับ ครก.112

ปรีชา : เพราะเราบริสุทธิ์ใจ เราไม่ต้องการให้ใครใช้มาตรานี้มากำจัดศัตรูทางการเมือง หรือว่าใช้กลั่นแกล้งคนอื่น เพราะว่ามันกว้างมาก มีแค่ 3 บรรทัดเอง แต่อยู่ที่คนจะตีความกฎหมายยังไง แค่นั้นเอง จะเล่นงานยังไง แค่นั้นเอง ถ้าอ่านดีๆ ไม่มีอะไรเลย แต่ความหมายมันกว้าง

ในช่วงที่ผ่านมา การเมืองไทยแรงมากๆ ในฐานะคนที่อยู่ในธรรมศาสตร์มายาวนานมาก และเห็นบทบาทของธรรมศาสตร์ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลายๆ ครั้ง คิดว่าธรรมศาสตร์ควรจะทำหน้าที่ หรือควรจะมีบทบาทยังไง

ปรีชา : ก็จัดสัมมนาแต่ละกลุ่ม และให้ความรู้ถึงจะถูกต้อง ไม่ใช่ไปปิดกั้น คนทั่วไปจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากการสัมมนา จากการทุกกลุ่มมาสัมมนามาชี้แจง ไม่ใช่ไปปิดกั้น
บุญสุข : ก็อยากจะให้มาช่วยกันทุกกลุ่มเลยครับ อยากให้มานั่งคุยกัน ไม่อย่างนั้นมันก็อยู่อย่างนี้ ไม่มีใครยอมใคร

พี่สองคนสนับสนุนเสื้อแดง เวลาคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างมาพูด พร้อมจะฟังไหม

ปรีชา : ฟังฮะ พวกผมฟัง อยู่ที่นี่ทุกกลุ่มทุกสีมาก็ไม่มีปัญหา ต้องดูแลเขาเหมือนกัน

ทำงานในระดับล่างลงมา มีแรงกดดันหรือมีความรู้สึกไหมว่าอาจจะมีความเห็นทางการเมืองที่ต่างจากผู้บริหารในปัจจุบันนี้

ปรีชา : ส่วนมากการทำงานก็แยกจากความขัดแย้งทางการเมือง ความสัมพันธ์ในที่ทำงานก็แยกจากความขัดแย้งทางการเมือง ก็เลยไม่ค่อยมีความกดดันอะไร 
บุญสุข : เหมือนกันครับ

ไม่มีการมาปะทะกัน ?

ปรีชา : ไม่มี ก็เหมือนเวลาเราไปเที่ยวในกลุ่มเพื่อน เราก็เฮแบบเพื่อน อยู่กลุ่มใครกลุ่มมัน แต่เวลาอยู่ที่ทำงานก็สัมพันธ์กันแบบในที่ทำงานเป็นปรกติ

 

สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่คณะนิติศาสตร์ มธ. ธรรมศาสตร์ต้องเป็นสถานที่ให้ความรู้ ไม่ใช่ปิดกั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net