Skip to main content
sharethis

สปสช.เผยยอดผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบหลักประกันสุขภาพกว่า 19,000 รายครอบคลุมทั้งการล้างไตช่องท้อง การปลูกถ่ายไต และการฟอกเลือดซึ่งการฟอกเลือดผู้ป่วยต้องร่วมจ่ายครั้งละ 500 บาทตั้งเป้ารณรงค์ใช้วิธีการล้างไตช่องท้อง เพราะผู้ป่วยทำได้เอง เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 55 ที่ผ่านมานายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการเสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า การบริหารจัดการกองทุนโรคไต ในปีงบประมาณ 2555 ได้ครอบคลุมการให้บริการบำบัดทดแทนไตทุกประเภท ได้แก่ การล้างไตผ่านทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การผ่าตัดปลูกถ่ายไต และการให้ยากดภูมิคุ้มกันหลังการปลูกถ่ายไตรวมถึงการพัฒนาระบบทั้งในด้านการพัฒนาวิชาการและกำลังคนเพื่อรองรับการให้บริการ สำหรับในปีงบประมาณ 2555 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องจากปีที่ผ่าน โดยหน่วยบริการ/ สถานบริการที่เข้าร่วมให้บริการบำบัดทดแทนไต เบิกจ่ายชดเชยค่าบริการจากกองทุนโรคไตวายได้ นายแพทย์วินัยกล่าว่า นโยบายสำคัญสิทธิประโยชน์โรคไตวายเรื้อรังนั้น สปสช.เน้นวิธีการล้างไตทางช่องท้องนั้น เป็นวิธีการที่ปลอดภัยโดยเฉพาะกับผู้ป่วยเด็ก ผู้ป่วยสูงอายุ หรือผู้ป่วยโรคหัวใจ และยังเป็นวิธีที่ช่วยรักษาสภาพการทำงานของไตได้นานอีกด้วย และยังเป็นวิธีการที่สะดวกที่สุด ผู้ป่วยทำเองได้ภายใต้การติดตามอย่างใกล้ชิดของรพ. ไม่ต้องมารอคิวฟอกเลือดที่รพ. เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันของระบบสาธารณสุขไทยที่ผู้ให้บริการมีน้อยกว่าผู้รับบริการ จากผลการศึกษาทางวิชาการพบว่า อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมีอัตราใกล้เคียงกับต่างประเทศคือมีอัตราการรอดชีวิตที่ 1 และ 3 ปีเท่ากับ 80 และ 55 ตามลำดับ โดยการศึกษาในต่างประเทศพบว่าผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องมีอัตราการรอดชีวิตที่ 1 และ 3 ปีเท่ากับร้อยละ 70-95 และ 46-88 ตามลำดับ สำหรับอัตราการติดเชื้อทางช่องท้องพบว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อเท่ากับ 0.47 ครั้งต่อปี ซึ่งใกล้เคียงกับผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องจากต่างประเทศเช่น สกอตแลนด์ เท่ากับ 0.42 ครั้งต่อปี นิวซีแลนด์ เท่ากับ 0.60 ครั้งต่อปี ออสเตรเลีย 0.62 ครั้งต่อปี ญี่ปุ่น 0.22ครั้งต่อปี และ ประเทศสเปนเท่ากับ 0.38 ครั้ง ต่อปี สำหรับการศึกษาทางมิติทางสังคมพบว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้องมีคุณภาพที่ดีทางด้าน กำลังใจ, สุขภาพจิต, สุขภาพกาย, การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม และเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้ว พบว่าผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องชาวไทยมีคุณภาพชีวิตไม่ต่างจากต่างประเทศ สำหรับการรักษาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดคือการปลูกถ่ายไต ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ให้ความสำคัญและคุ้มครองค่าใช้จ่ายทั้งหมด อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องการบริจาคอวัยวะซึ่งมีไม่เพียงต่อผู้ป่วยที่รอรับบริจาคอวัยวะ โดยแนวทางการพัฒนาระบบบริการทดแทนไตในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น จะให้ดำเนินการบริการทดแทนไต ควบคู่กับการป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะไตวาย พัฒนาระบบบริการทดแทนไตให้มีมากเพียงพอ ได้มาตรฐาน เป็นธรรมในการเข้าถึง รวมถึงการรณรงค์และสร้างทัศนคติที่ดีต่อการบริจาคอวัยวะ โดย สปสช. ได้เป็นภาคีร่วมกับองค์กรต่างๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย สมาคมนักกำหนดอาหารแห่ง ประเทศไทย และ ชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย และจะส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ป่วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสังคมมีส่วนร่วมการดูแลดำเนินการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิต เลขาธิการสปสช.กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถได้รับบริการทดแทนไต ทุกประเภทโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมการล้างไตช่องท้อง (CAPD First policy ) ยกเว้นผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดรายเก่า ที่เป็นโรคไตวายก่อนที่ระบบหลักประกันสุขภาพจะให้ความคุ้มครอง และไม่สมัครใจทำล้างไตผ่านช่องท้อง จะต้องร่วมจ่าย 1 ใน 3 ของค่าบริการฟอกเลือด ซึ่งไม่เกิน 500 บาท ขณะที่ผู้ป่วยที่ทำการฟอกเลือดรายใหม่ แต่ไม่สมัครใจทำการล้างไตผ่านช่องท้องจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดเอง ปัจจุบันผู้ป่วยที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ได้รับบริการทดแทนไต มีประมาณ 19,000 คน แบ่งเป็น เป็นการล้างไตทางหน้าท้อง (CAPD) ประมาณ 9,600 คน เป็นการฟอกเลือด (HD) ประมาณ 9,300 คน และต้องให้ยากดภูมิหลังผ่าตัดปลูกถ่ายไตประมาณ 800 คน อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณที่ใช้ในปี 2551 ประมาณ 160 ล้านบาท, ในปี 2552 ประมาณ 1,488 ล้านบาท, ในปี 2553 ประมาณ 2,704 ล้านบาท และในปี 2554 ประมาณ 3,226 ล้านบาท และในปี 2555 สปสช. ตั้งงบไว้ 3,857 ล้านบาท เน้นการให้บริการปลูกถ่ายไต และการล้างไตทางช่องท้องในระหว่างรอรับบริจาค ควบคู่ไปกับการป้องกันโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ศ.นพ.ดุสิต ล้ำเลิศกุล นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยกล่าวว่า โรคไตวายเรื้อรัง เป็นโรคร้ายที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต และส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของไทย ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังในอดีตยังขาดการคุ้มครองดูแลในด้าน การรักษาพยาบาลจากภาครัฐอย่างครอบคลุม ทำให้ผู้ป่วยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงมากซึ่งสำหรับผู้ยากไร้มีรายได้น้อยแล้วมักจะเสียชีวิตเสียก่อนเวลาอันควร เพราะไม่มีเงินรักษา ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์นี้ลุกลามต่อไปจะเป็นการสูญเสียทั้งทรัพยากรคนและเงินอย่างมหาศาล จึงเป็นปัญหาสาธารณสุข ที่บุคลากรทางแพทย์และผู้เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตามปัจจุบันปัญหาประชากรป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะไทยเท่านั้น แต่ใน 46 ประเทศทั่วโลกที่พัฒนาแล้วทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่างให้ความสำคัญกับปัญหาของโรคนี้ที่คุกคามคุณภาพชีวิตของประชากร สำหรับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจกล่าวได้ว่า ไทยเป็นประเทศแรกที่มีบทบาท สำคัญในการปลุกกระแสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับ ได้เล็งเห็นความสำคัญของโรคไตเรื้อรังโรคร้ายที่คร่าชีวิต คนในแต่ละปีไปเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมปลูกถ่ายอวัยวะแห่งประเทศไทย ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และองค์กรภาครัฐ ผนึกกำลังจัดกงาน “วันไตโลกปี 2555” ในวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคมนี้ ณ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ชั้น 1 ลานโปรโมชั่น รามาฮอลล์ ผู้สนใจเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net