Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ภาพประกอบจาก Dunechaser (CC BY-NC-SA 2.0)

ปัจจุบันอาหารที่เราบริโภคกันอยู่มักผ่านกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่ ใช้วิธีการเชื่อมโยงผลผลิตจากไร่นาและคอกฟาร์ม มาสู่โต๊ะอาหารของเราผ่านระบบเกษตรพันธสัญญาซึ่งครอบคลุมวัตถุดิบและอาหาร ปรุงสุกหลากหลายชนิด จนอาจกล่าวได้ว่าระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นระบบที่ควบคุมปากท้องของเราแทบจะ ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ว เว้นก็แต่เพียงเกษตรกรที่สามารถผลิตอาหารได้เอง หรือผู้บริโภคที่สามารถซื้อหาอาหารได้จากตลาดการเกษตรท้องถิ่นเท่านั้นที่ ปากท้องยังมิได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของบรรษัทซึ่งควบคุมระบบนี้

หากจะวิเคราะห์ระบบเกษตรพันธสัญญาว่าสามารถผูกขาดปากท้องของผู้บริโภค อย่างกว้างขวางและลึกซึ้งได้อย่างไรจำเป็นต้องเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของฝ่าย ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้ง 4 ฝ่าย ได้แก่ ผู้บริโภค บรรษัท รัฐ และเกษตรกร โดยกระบวนการของเกษตรพันธสัญญาได้ผลิตอาหารมาป้อนผู้บริโภคซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่ผู้บริโภคแทบไม่รู้ตัวว่ากำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของบรรษัทจนไม่อาจ ปลดแอกตนเองและมีทางเลือกอื่นเพื่อเสริมความมั่นคงด้านอาหารทั้งในแง่ราคา และคุณภาพอาหาร

กระบวนการของระบบนี้ประกอบไปด้วย 12 ขั้นตอน คือ 1.การกำหนดเป้าหมาย 2.ต้นทุนและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่มี 3.ข้อมูลข่าวสารประกอบการตัดสินใจ 4.การสร้างระบบความสัมพันธ์ 5.อำนาจต่อรองระหว่างฝ่ายต่างๆ 6.ระบบวิธีการผลิตอาหาร 7.การจัดการทรัพยากรในกระบวนการผลิต 8.ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างผลิต 9.การกำหนดมาตรฐานและราคาอาหาร 10.การกระจายสินค้า 11.การแลกเปลี่ยน 12.การสร้างภาพลักษณ์ โดยกระบวนการนี้จะหมุนเวียนเป็นวงจรที่เริ่มต้นและดำเนินไปจนจบวงจรแล้วเกิด ขึ้นซ้ำๆ ซากๆ จนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายชาชินไปกับการผูกขาดครอบงำของระบบ

ณ จุดเริ่มต้นของเรื่อง ผู้บริโภคล้วนต้องการอาหารที่มีคุณภาพและมีราคาถูก บรรษัทมีเป้าหมายอยู่ที่การแสวงหากำไรเข้าตัวให้มากที่สุด โดยที่รัฐก็ต้องการจัดเก็บภาษีจากบรรษัทและอยากให้เกิดผลผลิตจำนวนมาก เพื่อนำไปเป็นผลงานในฐานะผู้มีหน้าที่ส่งเสริมการประกอบการโดยมีการอุปถัมภ์ ค้ำชูกันทั้งในระดับนักการเมืองและข้าราชการประจำ ส่วนเกษตรกรก็กำลังแสวงหาวิธีการพาตัวเองออกจากความยากจนที่ต้องเผชิญอยู่

ในปัจจุบัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เองเพราะจะเสียโอกาสในการทำงานที่ ได้ผลตอบแทนดีกว่า และไม่มีที่ดิน ไร่นา บรรษัทเล็งเห็นว่าหากจะสร้างผลกำไรให้ได้มากที่สุดจะต้องมีการผูกขาดความ สามารถในการผลิตมาอยู่ที่ตัวเอง จึงได้พยายามอย่างมากในการครอบครองปัจจัยการผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรมพืชและสัตว์ ในรูปตัวอ่อนสัตว์และเมล็ดพันธุ์พืช หรือแม้กระทั่งการถือครองที่ดิน โดยที่ภาครัฐก็มิได้มีการสงวนอนุรักษ์ปัจจัยการผลิตเหล่านั้นให้เกษตรกร และเกษตรกรเองก็อยู่ในภาวะยากจน มีหนี้สิน ไม่มีปัจจัยการผลิตเป็นของตัวเอง ทั้งที่ดิน พันธุ์พืชและสัตว์ ปุ๋ย ยา ฯลฯ หากเกษตรกรต้องการจะผลิตก็ต้องเข้ามาหาทุนที่ถือครองปัจจัยการผลิตเหล่านี้

ไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริโภคทั้งหมดจะไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับอาหารที่ตัว เองกินว่ามีการเดินทางมาถึงปากได้อย่างไร เช่นเดียวกับเกษตรกรที่มีเหตุผลในการตัดสินใจเลือกเข้าสู่ระบบเกษตรพันธ สัญญา ก็เพราะปริมาณข้อมูลสนับสนุนด้านดีของเกษตรพันธสัญญาที่บรรษัทโหมประชา สัมพันธ์ และจัดจ้างให้มีการทำวิจัยสนับสนุนอย่างมากมายมหาศาล และรัฐเองก็มีเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำด้วยข้อมูลเหล่านั้น หรือบางกรณีรัฐเองก็เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบพันธสัญญา โดยที่เกษตรกรมีข้อมูลเท่าทันสถานการณ์น้อยมากเนื่องจากในสื่อต่างๆ รวมถึงข้อมูลจากรัฐ มีแต่ด้านดีไม่มีด้านลบ

สิ่งที่น่าวิตกมาก คือ ผู้บริโภคไม่อาจรับรู้ได้เลยว่าใครเป็นผู้ผลิตอาหารให้รับประทานจึงไม่มี ความสัมพันธ์ที่จะวางใจได้ว่าผู้ผลิตอาหารจะห่วงใยตนหรือไม่ ส่วนเกษตรกรก็เลือกเข้าสู่ระบบพันธสัญญาบนพื้นฐานของคนเข้าไปขอร่วมระบบโดย มองว่าบรรษัทที่หยิบยื่นปัจจัยการผลิตมาให้ในระบบสินเชื่อเป็นผู้มีพระคุณ กับตัวเอง หากบรรษัทจะกำหนดข้อสัญญาอย่างไรก็ให้เป็นตามที่บรรษัทเห็นควร หรือบางกรณีถึงขนาดไม่มีหนังสือสัญญาให้เกษตรกรถือไว้ โดยภาครัฐไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบข้อสัญญาที่เกิดขึ้นว่ามีความเป็น ธรรมหรือไม่ ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผู้บริโภคมิเคยล่วงรู้ว่าอาหารที่กินเป็นหยาด เหงื่อ และคราบน้ำตาของใครบ้าง เนื่องจากเกษตรกรเมื่อเข้ามาอยู่ในระบบแล้วก็จะเหลือตัวเองคนเดียวที่ผูกพัน อยู่กับบรรษัท ด้วยผลจากลักษณะของสัญญาออกที่แบบโดยบรรษัท และมีเงื่อนไขกีดกันมิให้เกษตรรวมกลุ่มกันเข้าทำสัญญากับบรรษัท เพื่อให้อำนาจในการต่อรองของเกษตรกรน้อยลง ไม่แข็งข้อ และรัฐก็มิได้เข้ามามีบทบาทเสริมอำนาจต่อรองให้เกษตรกร หรือแก้ไขข้อสัญญา หรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรมให้กับเกษตรกร

จะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ผู้บริโภคก็ได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนหลักในการผลิตที่ขูดรีดต่อเกษตรกร ด้วยเหตุที่การผลิตของเกษตรพันธสัญญาอยู่ในรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้อง พยายามผลิตเพียงอย่างเดียวให้ได้ปริมาณมากที่สุด เพื่อให้ได้เงินมากที่สุดพอที่จะมาหักหนี้แล้วเหลือกำไรบ้าง โดยบรรษัทเป็นผู้กำหนดปริมาณ รูปแบบ และมาตรฐานการผลิต ซึ่งภาระในการทำตามมาตรฐานตกอยู่กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงเรือน เล้า กระชัง การใส่ยา ใส่ปุ๋ย การให้อาหาร ฯลฯ โดยมาตรฐานทั้งหลายไม่ได้มีการตรวจสอบควบคุมโดยรัฐว่าเป็นการสร้างภาระให้ เกษตรกรมากเกินไปหรือไม่ กลับกันมีหลายกรณีที่รัฐกลายเป็นส่วนหนึ่งในการบีบบังคับเกษตรกรให้ทำตามที่ บรรษัทกำหนดทั้งที่มาตรฐานบางอย่างไม่จำเป็น เช่น  การปรับโรงเรือน การให้ยา อาหาร ที่มากเกิน แต่เป็นผลดีกับบรรษัทเพราะบรรษัทเป็นผู้ขายของให้

กระแสตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมได้กระตุ้นให้เราอุดหนุนสินค้าที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม แต่การบริโภคอาหารจากระบบนี้ เป็นการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวที่สร้างผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและฐาน ทรัพยากรเนื่องจากเกิดมลพิษและทำให้ความอุดมสมบูรณ์เสื่อมโทรมลงอย่างรวด เร็ว ในหลายกรณีพบว่ากลุ่มทุนอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนให้เกษตรกรรุกเข้าไปทำ เกษตรพันธสัญญาในพื้นที่สงวน หรือทรัพยากรสาธารณะ เช่น การรุกเขาปลูกข้าวโพดและอ้อย การยึดลำน้ำเพื่อเลี้ยงปลาในกระชัง การสร้างมลภาวะจากโรงเรือนเลี้ยงหมูหรือไก่ ทั้งนี้จะเห็นว่ารัฐจะดำเนินการแข็งขันกับกรณีคนชายขอบที่ผลิตเพื่อยังชีพ แต่กับกรณีการผลิตในเชิงพาณิชย์เหล่านี้รัฐกลับทำเหมือนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่ลงโทษหรือปรับผู้ก่อมลพิษ เพื่อให้มีการปรับการผลิตให้อยู่บนหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผู้บริโภคทั้งหลายกำลังแบกรับภาระความ เสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติร่วมกับเกษตรกรเสมอ เนื่องจากภาษีของเราได้ถูกนำไปชดเชยในกรณีการผลิตทางการเกษตรนั้นอยู่ในภาวะ ความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งบรรษัทผลักให้เกษตรกรต้องเผชิญภาระเอาเอง หาก เกิดความเสียหาย ขาดทุน เป็นเรื่องที่เกษตรกรรับไป บรรษัทไม่ร่วมแบกรับด้วย เมื่อเกิดปัญหาเช่น น้ำท่วม พืชเน่า สัตว์ตาย กลายเป็นรัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วย หรือประกันราคาความเสี่ยงทั้งหลาย ข้ออ้างที่ว่าระบบเกษตรพันธสัญญาได้ดึงบรรษัทเข้ามาร่วมแบกรับความเสี่ยงจึง ไม่จริง ทั้งนี้เกษตรกรและผู้บริโภคก็ยังต้องอยู่กับความเสี่ยงและร่วมกันแบกรับภาระ แทนบรรษัทต่อไป

สิ่งที่น่าวิตกของผู้บริโภคในปัจจุบัน คือ ไม่รู้ต้นทุนและคุณภาพของอาหารเลย เนื่องจากตั้งแต่ต้นทางจนปลายทางของอาหารนั้น บรรษัทมีอำนาจในการบังคับซื้อขายใน “ราคา” และ “มาตรฐาน” ที่บรรษัทตั้งเอาไว้เนื่องจากมีช่องทางตลาด และผูกขาดอำนาจ “ความรู้” ในมาตรฐานเชิงเทคนิคเอาไว้กับตัวเอง และบางกรณีหน่วยงานรัฐเองก็ไม่ชี้แจงข้อมูลความรู้เชิงเทคนิคให้เกษตรกรทราบ ทำให้ถูกกดราคาผลผลิตอย่างไม่เป็นธรรม เช่น อัตราเนื้อแดงในหมู อัตราความปนเปื้อนในข้าวโพด หรือค่าความหวานในน้ำตาลอ้อย ฯลฯ หลายครั้งเกษตรกรรมอินทรีย์ของเกษตรกรรายย่อยก็ถูกขัดขวางด้วยกลไกมาตรฐาน ที่ฉ้อฉล

อย่างไรก็ดี มีผู้บริโภคจำนวนมากที่มีข้อมูลมากพอที่จะเลือกทางอื่นให้กับปากท้องตน แต่กลับไม่มีทางเลือกอื่นในการซื้ออาหาร ด้วยเหตุที่เมื่อการผลิตสำเร็จเป็น พืช หรือสัตว์ ที่พร้อมจะขาย บรรษัทก็มีอำนาจในการบังคับซื้อและห้ามเกษตรกรขายให้แก่ผู้อื่น หรือเอาออกไปขายเอง หากเกษตรกรฝ่าฝืนจะมีการหยิบเอาข้อสัญญามาบีบบังคับฟ้องร้อง ทำให้ทางเลือกในด้านการตลาดของเกษตรน้อยมาก ต้องตกอยู่ในการบังคับของบรรษัท เช่น จะมาจับสัตว์เมื่อไหร่ (จับช้าเกษตรกรก็จะขาดทุนไปเรื่อยเพราะต้องให้อาหารแต่สัตว์หรือพืชไม่โต ขึ้น) หากสินค้าล้นตลาดบรรษัทก็ไม่มารับซื้อ ให้เกษตรกรไปดิ้นรนหาตลาดเอาเอง ทำให้เกษตรกรต้องยอมขายขาดทุนเพื่อไม่ให้เจ๊งมากไปกว่านี้ โดยรัฐมองอยู่ห่างๆ แต่ไม่เข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด

ความรุนแรงที่ผู้บริโภคทั้งหลายต้องจำนนอยู่กับระบบเกษตรพันธสัญญา ก็คือ การซื้ออาหารแพง แต่มีคุณภาพต่ำ เนื่องจากในท้ายที่สุด เกษตรกรจำต้องขายผลผลิตให้บรรษัทและยอมรับค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ หนี้ หรือบางกรณีก็ได้น้อยมาก จนมาคิดเป็นวันแล้วน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่มากมาย ผลประโยชน์เหล่านั้นกลายเป็นผลกำไรสะสมของบรรษัทและผู้ถือหุ้นทั้งหลาย โดยที่รัฐก็ยินดีที่บริษัทมีผลกำไรเพราะจะได้เก็บภาษีมาเป็นงบประมาณประจำปี เพื่อนำไปทำนโยบายประชานิยมเพื่อเรียกคะแนนเสียงเข้าพรรคต่อไป ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในวงเวียนแห่งหนี้สินซ้ำซากจำเจไม่มีทางออก เนื่องจากเกษตรกรขายอาหารโดยตรงให้กับผู้บริโภคไม่ได้ เพราะติดสัญญาผูกมัดกับบรรษัทซึ่งเป็นเจ้าหนี้

ความโหดร้ายที่สุดของบรรษัท ก็คือ การสร้างความชอบธรรมให้กับระบบเกษตรพันธสัญญามาครอบงำความคิดจิตใจของผู้ บริโภค เกษตรกร และรัฐ อย่างอยู่หมัด ก็ด้วยกลยุทธทางการตลาดที่เน้นการทุ่มงบประมาณโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้าง “ภาพลักษณ์” ที่ดีให้กับ สินค้า ยี่ห้อ และองค์กรตน ทำให้เกษตรกรต้องตกเป็นจำเลยสังคมเมื่อราคาอาหารแพง และรัฐก็ไม่กล้าเข้าไปดำเนินการกับบรรษัทเพราะติดภาพของการเข้าไปรบกวนการทำ ธุรกิจของบรรษัท ส่วนผู้บริโภคจำนวนมากก็กลับรู้สึกผูกพัน คุ้นเคย เมื่อได้ซื้อสินค้าและใช้บริการทั้งหลายจากบรรษัท จนมิได้ตระหนักรู้ถึงการผูกขาดที่ตนเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

จากผลการศึกษาดังกล่าวจะเห็นว่า ผู้บริโภคและเกษตรกรต้องแบกรับ “ความเสี่ยง” อยู่ฝ่ายเดียว และบรรษัทยังได้ “ขูดรีด” ผลประโยชน์ไป ด้วยการอาศัยระบบความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของความ “ไม่เป็นธรรม” เนื่องด้วยบรรษัทอยู่ในสถานะเหนือกว่าทั้ง ภาพลักษณ์ ทุน ความรู้ และความสัมพันธ์ที่มีร่วมกับรัฐ ทำให้ผู้บริโภคและเกษตรกรไม่สามารถต่อรองได้ เนื่องจากอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว และรัฐก็มิได้เข้ามาแทรกแซงเพื่อสร้างความเป็นธรรมใดๆ ทั้งสิ้น


หนทางหลุดพ้นจากบ่วงบาศผูกขาดปากท้อง

หากจะทำให้ผู้บริโภคและเกษตรกรหลุดพ้นจากบ่วงบาศดังกล่าวจำเป็นต้องมีการ ปรับทิศทางการพัฒนาระบบเกษตรกรรมเสียใหม่ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้ “ผู้บริโภคกับเกษตรกรพึ่งพากันเองได้” ขั้นแรกจะต้องมีการประกันการเข้าถึงปัจจัยการผลิตของเกษตรกรอย่างเพียงพอต่อ การผลิตเพื่อยังชีพและผลิตเพื่อขาย สร้างสมดุลของข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคและเกษตรกรรู้ทัน สถานการณ์และรู้ทางเลือกต่างๆ ในการผลิตและบริโภค

สร้างการรวมกลุ่มของผู้บริโภคและเกษตรกรเพื่อนำไปสู่การต่อรองกับบรรษัท หรืออาจจะเรียกร้องกดดันให้รัฐเข้ามาแทรกแซงวงจรผูกขาด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบความสัมพันธ์ ทำให้ผู้บริโภคสามารถอุดหนุนสินค้าของเกษตรกรที่มาจากทางเลือกในการ เกษตรกรรมอย่างหลากหลาย อันจะเป็นผลดีต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้กระบวนการผลิตที่มีความเสี่ยงนั้นจะต้องดึงบรรษัทเข้ามาแบกรับ ความเสี่ยงร่วมกับผู้บริโภคและเกษตรกรในทุกขั้นตอน หรืออาจเปลี่ยนมาใช้รูปแบบสัญญาหุ้นส่วนภายใต้สหกรณ์การผลิตและการบริโภค โดยรัฐจะต้องใช้อำนาจตามกฎหมายเข้ามาควบคุมเรื่องกระบวนการผลิต มาตรฐานของอาหาร และราคาสินค้า ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อตัวเกษตรกรและคุ้มครองผู้บริโภคไปด้วย

เมื่อถึงปลายฤดูกาลผลิตจะต้องมีการสร้างตลาดทางเลือก เช่น ตลาดเกษตรอินทรีย์ ตลาดอาหารปลอดภัย ที่เกษตรกรและผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง สิ่งสำคัญอีกประการคือรัฐต้องพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มช่องทางการขนส่ง การคงคลัง และการขายสินค้าให้เกษตรกรและผู้บริโภคสามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้การควบคุมตรวจสอบการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทั้งหลายของบรรษัทมิให้มี การบิดเบือนข้อมูลการกดขี่ขูดรีดเกษตรกร และหลอกลวงผู้บริโภค ก็เป็นสิ่งที่รัฐต้องดำเนินการอย่างเข้มแข็ง

แนวทางการแก้ไขปัญหาทั้ง 12 ประเด็น ด้วยมาตรการทางกฎหมายสามารถทำได้ดังต่อไปนี้

เป้าหมาย การคุ้มครองสิทธิเกษตรกรและสิทธิผู้บริโภคไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน (บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือ ร่าง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ที่กำลังยกร่างตามมติคณะรัฐมนตรี)

ต้นทุนและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเข้าถึงปัจจัยการผลิตเพียงพอ การคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงปัจจัยการผลิต (เช่น ข้อบัญญัติท้องถิ่น, พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์, พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม, พ.ร.บ.การจัดรูปที่ดินเพื่อการเกษตร, พ.ร.บ.ปุ๋ย, พ.ร.บ.กักพืช, พ.ร.บ.พันธุ์พืช, พ.ร.บ.อาหารสัตว์)

ข้อมูลข่าวสาร เปิดช่องทางให้เกษตรกรทันสถานการณ์ การควบคุมมิให้บริษัทให้ข้อมูลเท็จ และให้รัฐรับผิดชอบหากสนับสนุน (พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร, พ.ร.บ.เศรษฐกิจการเกษตร, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค)

ระบบความสัมพันธ์ สร้างกลไกถ่วงดุลและแทรกแซงการทำสัญญาต่างๆ ให้เกษตรกรได้รับความเป็นธรรม เพื่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ที่มีอำนาจเสมอภาคกันมากขึ้น ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายในการฟ้องเพิกถอนข้อสัญญาสำเร็จรูป และสัญญาบังคับเซ็น (ประมวลแพ่งฯ, พ.ร.บ.ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม)

อำนาจต่อรอง สร้างเสริมเกษตรกรให้เข้มแข็ง เป็นอิสระ มีอำนาจต่อรอง โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มและต่อรองได้ผ่านกลไกทั้งในระดับชุมชน ระดับกลุ่มผลผลิต และนโยบายรัฐ ผ่านกลไกต่อรองทุกรูปแบบ เช่น สหกรณ์ สภาเกษตรกร หรือคณะอนุกรรมการพิเศษ (พ.ร.บ.สหกรณ์ฯ, พ.ร.บ.สภาเกษตรกร)

ระบบวิธีการผลิต สร้างทางเลือกเกษตรกรสามารถทำการผลิตให้มีความปลอดภัย สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ มีความสะอาด โดยมีการควบคุมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เป็นไปตามกฎหมาย และไม่ปล่อยให้บรรษัทสร้างมาตรฐานพิเศษมาเพิ่มภาระให้เกษตรกรเกินจำเป็น (กฎหมายปศุสัตว์, กฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร, ข้อตกลงสุขอนามัยขององค์การการค้าโลก)

การจัดการทรัพยากร ควบคุมและสนับสนุนให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด และมีมาตรการทางเศรษฐศาสตร์สนับสนุนการผลิตที่ยั่งยืน (สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร, พ.ร.บ.คันและคูน้ำ, พ.ร.บ.ชลประทานราษฎร์, พ.ร.บ.ชลประทานหลวง)

ความเสี่ยง สร้างระบบหุ้นส่วนในการแบ่งปันภาระความเสี่ยงร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยการปรับปรุงระบบสัญญาและมีกลไกควบคุมตรวจตราให้บรรษัทร่วมแบกรับภาระความ เสี่ยงกับเกษตรกร และไม่ผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคแบกรับ หรืออาจสร้างระบบประกันความเสี่ยงร่วมที่บรรษัทต้องเข้าร่วมจ่ายเงินสมทบ เข้ากองทุนประกันความเสี่ยง (พ.ร.บ.ข้อสัญญาไม่เป็นธรรม, พ.ร.บ.ซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า)

การกำหนดมาตรฐานและราคา รัฐเข้ามาทำหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้ความเชื่อมั่นแก่เกษตรกรว่าจะคงมาตรฐานในการตรวจสอบคุณภาพอย่างเป็น ธรรม ไม่กลั่นแกล้งเกษตรกรรายย่อย เพื่อควบคุมให้อาหารมีคุณภาพ รัฐอาจขอดูต้นทุนจากบรรษัทเพื่อป้องกันการกด/ขึ้นราคาสินค้าตามอำเภอใจ และอาจมีมาตรการการส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกร/ผู้ประกอบการรายย่อยให้แข่ง ขันได้ (พ.ร.บ.อาหารฯ, พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร, พ.ร.บ.ปศุสัตว์, ข้อตกลงสุขอนามัย WTO, พ.ร.บ.ควบคุมราคาสินค้าฯ)

การกระจายสินค้า รัฐเข้าควบคุมป้องกันการมีอำนาจเหนือระบบการขนส่ง คงคลัง และกระจายสินค้า ด้วยการลดการผูกขาดช่องทางโลจิสติกส์ของบรรษัท เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การสร้างหลักประกันว่าประชาชนจะสามารถเข้าถึงด้านอาหารได้แม้ในยามวิกฤต (ร่างพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านอาหาร)

การแลกเปลี่ยน รัฐต้องป้องกันการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาดของบรรษัท เพื่อประกันเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนและแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างจริงจัง และมีมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการ กลุ่มสหกรณ์เกษตร และเกษตรกรรายย่อย รวมถึงการจัดตั้งตลาดทางเลือก เช่น ตลาดนัดอินทรีย์ (พ.ร.บ.การแข่งขันเป็นธรรมฯ, พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล, พ.ร.บ.การค้าข้าว)

ภาพลักษณ์ พยายามสร้างกระบวนการเปิดโปงข้อมูลข่าวสารที่บรรษัทปิดบัง บิดเบือนความจริง เพื่อให้เกษตรกรและผู้บริโภคทั้งหลายหลุดพ้นจากการครอบงำ โดยรัฐอาจใช้อำนาจในการบังคับเปิดเผยข้อมูลและพฤติกรรมบนพื้นฐานของธรรมาภิ บาล และอาจสนับสนุนสารคดีเปิดโปงความจริงที่ถูกอำพรางในรูปแบบสื่อต่างๆ (พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค, พ.ร.บ.การโฆษณา, เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น)

เนื่องจากเกษตรกรรมเป็นรากฐานของความมั่นคงด้านอาหารที่เป็นหลักประกัน คุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ เพราะทุกคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริโภค ที่ต้องมีความสัมพันธ์กับระบบเกษตรกรรมอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
 


///////////
หมายเหตุ:
ชื่อบทความเดิม: บ่วงบาศผูกขาดปากท้อง และหนทางหลุดพ้นจากบ่วง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net