Skip to main content
sharethis

"เฉลิม" ไม่ห้ามบุคคลที่จะเคลื่อนไหว ตำรวจไม่ทำรุนแรงเด็ดขาด

1 มี.ค. 55 - เว็บไซต์ข่าวสดรายว่าเมื่อเวลา 09.45 น.ที่รัฐสภา ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ ว่า เมื่อคืนตนอยู่กับตำรวจจนดึกและรู้ตัวคนทำร้ายว่าเป็นฝาแฝด 2 คน อยู่ที่จ.ปทุมธานี คาดว่าอีกไม่นานคงได้ตัว ส่วนสาเหตุยังไม่ทราบว่ามาจากอะไรเพราะยังไม่ได้ตัวคนร้าย 

เมื่อถามว่าเกี่ยวข้องกับการการเคลื่อนไหวกับข้อเสนอแก้ไข มาตรา 112 ของกลุ่มนิติราษฎร์หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่แน่ใจเพราะยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหา ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตนไม่ห้ามบุคคลที่จะเคลื่อนไหวเพราะนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ดูแลม็อบ เชิญได้ตามสบาย ใครจะประท้วงและแสดงความคิดเห็นใดๆ ขอให้คำนึงถึงกรอบกฎหมาย และรับรองได้ว่าจะไม่มีบาดเจ็บล้มล้มตาย เพราะในระบอบประชาธิปไตยการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิ และบอกตำรวจทุกคนว่าอย่าไปใช้ความรุนแรงโดยเด็ดขาด ใครมาชุมนุมต้องดูแลความปลอดภัยและระวังเรื่องมือที่สาม

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า บ้านเมืองเดินทางไกลแล้ว ปิดอะไรไม่มิดหรอก และในวันที่ 12 มี.ค.นี้ ศาลก็จะไต่สวนชันสูตรพลิกศพคดีผู้เสียชีวิตที่คาดว่าเกิดจากการกระทำของเจ้า หน้าที่รัฐ ในเหตุการณ์ชุมนุมเดือนเม.ย.พ.ค.53 ใน 4 สำนวนแรก 

เมื่อถามว่าแสดงว่ามั่นใจว่าสถานการณ์ยังสงบและควบคุมได้แม้จะมีการคาด การณ์จากหลายฝ่ายว่าการเมืองอาจรุนแรงในช่วงปลายปีร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่าตนไม่ ได้มองว่ารุนแรงเพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะใช้ความรุนแรงไม่ได้เด็ด ขาดและตนก็ไม่ยอม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรหรือเสื้อหลากสี ยืนยันว่าสถานการร์เรียบร้อย เป็นห่วงเรื่องเกษตรกรที่จากสินค้าไม่ได้ราคาอย่างเดียว ซึ่งนายกฯสั่งการให้ไปดูแลเรื่องนี้ ตนทำงานแต่ไม่พูดและเรื้องนี้เขาไม่พูดกัน  

(ข่าวสด, 1-3-2555)

 

ผู้ต้องหาคดีทำร้าย "วรเจตน์" ขอเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ 

1 มี.ค. 55 - ความคืบหน้าของคดีทำร้ายร่างกาย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ล่าสุด พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ผู้ต้องหาที่ตำรวจได้ภาพจากกล้องวงจรปิด ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประสานขอเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผู้ต้องหา 2 คน มาให้ปากคำที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ผู้ต้องหาซึ่งเป็นฝาแฝด ระบุชื่อ นายสุพจน์ และ นายสุพัฒน์ รับสารภาพว่า ทำเพราะโกรธแค้นส่วนตัว จากประเด็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มนิติราษฎร์ ในการเสนอความเห็นมาตรา 112 แต่ปฏิเสธไม่เคยเข้าร่วมกับกลุ่มคัดค้านที่เผาหุ่นก่อนหน้านี้

(สำนักข่าวไทย, 1-3-2555)

 

ปล่อยตัวชั่วคราวคู่แฝดมือชก"วรเจตน์"

1 มี.ค. 55 - พ.ต.ท.ณฐกร คุ้มทรัพย์ รอง ผกก.สส. สน.ชนะสงคราม เปิดเผยหลังนำตัว นายสุพจน์ ศิลารัตนายุ 30 ปี และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ อายุ 30 ปี ผู้ต้องหาฝาแฝด มาทำการสอบปากคำเพิ่มเติมที่ สน.ชนะสงคราม ว่าแจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โดยไตร่ตรองไว้ก่อน  รวมทั้งพิมพ์ลายนิ้วมือและทำการลงบันทึกประวัติไว้เป็นหลักฐาน  แต่เนื่องจากผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่ต้องถูกควบคุมตัวไว้ โดยหลังจากนี้ก็จะปล่อยตัวชั่วคราวให้ผู้ต้องหากลับไป  อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่สามารถส่งฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลได้เพราะจะต้องรอผล ตรวจรับรองอาการบาดเจ็บของผู้เสียหายจากแพทย์เสียก่อน จากนั้นก็จะนัดและนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 ส่งฟ้องต่อศาลแขวงดุสิตดำเนินคดีต่อไป

(มติชนออนไลน์, 1-3-2555)

 

อธิการบดีมธ. เชื่อต่อย'วรเจตน์' ไม่ลามถึงขั้นต้องห้ามใช้สถานที่

1 มี.ค. 55 -  ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ โดยยอมรับว่า ต้องมีการสั่งการให้เพิ่มมาตรการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ มหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น ทั้งขั้นตอนการตรวจแลกบัตรจะต้องซักถามบุคคลที่จะเข้ามาในมหาวิทยาลัยมาก ยิ่งขึ้นว่าจะเข้ามาทำอะไร รวมทั้งประสานงานกับตำรวจในพื้นที่ให้ดูแลความปลอดภัยในพื้นที่มหาวิทยาลัย เข้มงวดมากขึ้นด้วย หลังเกิดเหตุชายลึกลับ 2 คน ดักทำร้ายร่างกายด้วยการชกเข้าที่แก้มขวาของ นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. แกนนำกลุ่มคณาจารย์นิติราษฎร์ ที่บริเวณลานจอดรถภายในมหาวิทยาลัย แล้วขึ้นรถจักรยานยนต์หลบหนีไปอย่างลอยนวล เมื่อวานที่ผ่านมา  

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเปิด การดูแลอาจทำได้ยากกว่าปกติ ทั้งนี้ คงต้องรอฝ่ายที่รับผิดชอบเสนอมาตรการป้องกันขึ้นมาให้พิจารณาอีกครั้ง ขณะที่หลังเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นแล้ว ยืนยันว่า ทาง มธ. จะยังไม่มีการทบทวนมาตรการห้ามใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยจัดเสวนาทางวิชาการ แต่อย่างใด ยังคงเป็นไปตามเดิม แต่ยอมรับว่าคงต้องมีการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดมากขึ้นเท่า นั้น รวมทั้งคงต้องระมัดระวังในการจัดงานเสวนาให้มากขึ้น 

ขณะที่การรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยที่ผ่านมาเห็นว่า ก็มีมาตรการที่ใช้การได้ พิสูจน์จากกล้องวงจรปิดที่ถ่ายภาพคนร้ายเป็นหลักฐานไว้ได้ เพียงแต่ไม่สามารถจับภาพทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่คนร้ายใช้หลบหนีได้เท่านั้น ขณะเดียวกัน คงจะไม่มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย เพราะเชื่อว่าที่มีอยู่เดิมก็เพียงพออยู่แล้่ว และส่วนตัวก็เชื่อว่า นายวรเจตน์เป็นอาจารย์สอนหนังสือ ไม่มีศัตรูส่วนตัวที่ไหน เหตุที่ถูกลอบทำร้ายน่าจะมาจากเรื่องการเมือง คือการรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น

(ไทยรัฐออนไลน์, 1-3-2555)

 

กลุ่มนิติราษฏร์-เสื้อแดงแห่นำดอกไม้ให้กำลังใจ"วรเจตน์" หลังถูกทำร้ายร่างกาย

1 มี.ค. 55 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มนิติราษฏร์และกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางนำดอกไม้มาให้กำลังใจนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์  อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ หลังจากโดนทำร้ายร่างกาย โดยมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะนิติศาสตร์ ออกมารับแทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม

(มติชนออนไลน์, 1-3-2555)

 

'นิติฯมธ.'ประณามเหตุ'วรเจตน์'ถูกชก

1 มี.ค. 55 -  เมื่อเวลา 10.00 น. นายอุดม รัฐอมฤต รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร เรียกประชุมเลขานุการทุกคณะ และผู้เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัย โดยนายอุดมให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มการประชุม ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ กล้องวงจรปิดของมหาวิทยาลัย จับภาพรถคนร้ายที่วิ่งเข้าออกได้ ขณะที่กล้องวงจรปิดของคณะนิติศาสตร์สามารถจับภาพคนร้ายช่วงที่มานั่งรอได้ ทำให้พอจะประมวลได้ว่าคนร้ายเป็นใคร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสามารถหาตัวผู้ต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว

นายอุดม กล่าวต่อว่า กล้องวงจรปิดภายในมหาวิทยาลัย สามารถเก็บภาพหลักๆ ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะบริเวณประตูเข้าออก แต่พื้นที่ที่อยู่ไกลออกไปอาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง มหาวิทยาลัยจึงพยายามสำรวจเพิ่มเติมว่า มีพื้นที่ใดบ้างที่ล่อแหลม เนื่องจากขณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะอาจารย์คณะนิติศาสตร์เท่านั้น ที่ไปเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งทางความคิด แต่ยังมีอาจารย์คณะอื่นๆ ด้วย มาตรการขณะนี้มหาวิทยาลัยจะประสานกับคณะต่างๆ ให้ช่วยกันดูแล และจะติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จะเน้นย้ำให้มีการประสานงานกันมากขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุขึ้นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมัวแต่ไปสนใจว่าอาจารย์เป็น อะไรหรือไม่ แต่ไม่ได้แจ้งข่าวให้หน่วยอื่นๆ เลย ซึ่งถ้ามีการแจ้งข่าวกัน ก็อาจจะจับตัวคนร้ายได้ทันที ยอมรับว่าบุคคลกรส่วนหนึ่ง ไม่เคยเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ท่าจะเพิ่มเติมอะไรตอนนี้ คงเริ่มที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก่อน

“เชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากการที่นายวรเจตน์เคลื่อนไหวเรื่อง มาตรา 112 อย่างแน่นอน เพราะนายวรเจตย์ไม่มีเรื่องอื่น และการจัดกิจกรรมทุกครั้งอาจารย์ก็ทำโดยเปิดเผย ทำให้เรารู้สึกว่าอาจารย์เองก็คงไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องดูแลกันมากขึ้น ยังยืนยันว่ามหาวิทยาลัยพร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางวิชาการ แต่ต้องมีเงื่อนไขบางประการ เช่นต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ เพราะเราไม่ทราบเลยว่าจะมีฝ่ายต่อต้านมาประท้วงหรือไม่ ปัญหาของมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ที่นิติราษฎร์จะจัดหรือไม่จัดกิจกรรม แต่ต้องดูว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร” นายอุดม กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกประกาศประณามการก่อเหตุร้ายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยระบุว่า มหาวิทยาลัยเห็นว่า การก่อเหตุร้ายดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขาดความยั้งคิด มุ่งผลที่จะข่มขู่ และก่อให้เกิดความกังวลแก่บุคคลากรของมหาวิทยาลัยที่ใช้เสรีภาพทางวิชาการใน การแสดงความคิดเห็น มหาวิทยาลัยจึงขอประณามการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาในทุกกรณี และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่าย ใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง มหาวิทยาลัยจะติดตามเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และเพิ่มมาตรการในด้านการรักษาความปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น เพื่อป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้กับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ตลอดจนบุคคลทั่วไปที่เข้ามาใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย

นายอุดม แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า สิ่งที่ยังบกพร่องอยู่คือเรื่องการเข้าออกของบุคคลภายนอก โดยเฉพาะผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ จึงออกมาตรการให้เจ้าหน้าที่ตั้งแผงเหล็กกั้นประตูเข้าออกมหาวิทยาลัย และจักรยานยนต์ทุกคันต้องมีการแลกบัตร  อีกส่วนหนึ่งคือคัดกรองบุคคลภายนอกที่เดินผ่านเข้าออก ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะต้องมีงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันบุคคลภายนอกก็อาจจะไม่ได้รับความสะดวก นอกจากนี้ยังกำชับให้ทุกหน่วยงานมีการประสานงานที่ชัดเจน เพราะเรายังขาดระบบสื่อสารไปถึงผู้ที่หน้าที่รับผิดชอบ โดยจะให้ทุกหน่วยงานมีเครือข่ายวิทยุ และสร้างจุดประสานงาน จะได้ติดต่อกันได้เร็วขึ้น ส่วนกล้องวงจรปิดยังไม่สามารถติดตั้งได้ทันที จะขอให้ทุกหน่วยสำรวจพื้นที่ล่อแหลม และจัดคนไปช่วยเฝ้าระวังก่อน

นายอุดม กล่าวต่อว่า สำหรับการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยกับ สน.ชนะสงครามมีความสัมพันธ์อันดี ตำรวจเข้าใจปัญหาของมหาวิทยาลัยดี เมื่อเกิดเหตุก็มาอย่างรวดเร็ว และดูแลอย่างใกล้ขิด และหลังจากเกิดเหตุเมื่อวานนี้ พล.ต.ต.วิชัย สังประไพ รองผบช.น. ก็มาสอบถามชื่อ และที่อยู่ของอาจารย์ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีอยู่ 3-4 คน เพื่อจะไปช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้ ในส่วนของมหาวิทยาลัยเองที่ทำได้คือช่วยกันดูแลคนละไม้คนละมือ แต่คงไม่ไปปรามเรื่องการแสดงความคิดเห็นของอาจารย์แต่ละคน เพราะแต่ละคนคงสามารถประเมินสถานการณ์เองได้ บางคนมีเครือข่ายของตัวเอง กระบวนการเหล่านี้เป็นเกราะคุ้มครองเขาส่วนหนึ่งด้วย คนที่คิดจะมาทำร้ายคงต้องคิดแล้วคิดอีก

(คมชัดลึก, 1-3-2555)

 

ทนาย 'วันชัย' ชี้ชก 'วรเจตน์' ส่งสัญญาณแตกแยก ระบุต้องประณามผู้ลงมือ 

1 มี.ค. 55 - นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภาและอดีตเลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า จากกรณีคนร้ายบุกชกหน้า นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ เป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นให้ได้รับอันตรายแก่ กาย ตามมาตรา 295 นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดข้อคิด 2 ประเด็น 1. เป็นการกระทำที่อุกอาจ มีพฤติการณ์ร้ายแรงในขณะที่บ้านเมืองยังมีความแตกแยกทางความคิด ดังนั้น ไม่ว่าสังคมจะมีความเห็นแตกต่างอย่างไร ไม่น่าใช้ความรุนแรงเช่นนี้ จึงต้องประณามผู้กระทำและผู้อยู่เบื้องหลัง

และ 2. ชี้ให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดเห็นที่แตกแยกและจะ รุนแรงเพิ่มขึ้น เพราะกำลังจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ไม่ใช่ข้อเร่งรีบ แต่รัฐบาลกลับเร่งแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องที่ควรรีบจะแก้ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก อะไรที่รีบเกินไปมักจะนำมาสู่ความขัดแย้ง การทำร้ายร่างกายครั้งนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าจะมีความแตกแยกทางความคิดขึ้น อีก ดังนั้น รัฐบาลต้องใช้ความระมัดระวังหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ.

(ไทยรัฐออนไลน์, 1-3-2555)

 

"อภิสิทธิ์" ประณามคนชก"วรเจตน์" ชี้ควรคุยกันด้วยเหตุและผล

1 มี.ค. 55 - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประเทศญี่ปุ่น ผ่านรายการฟ้าวันใหม่ ออกอากาศทางบลูสกายแชนแนล ถึงเหตุคนร้าย 2 คน บุกทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ว่า รู้สึกตกใจและ ปชป.ไม่เห็นด้วย ขอประณามการละเมิดสิทธิทุกรูปแบบ และอยากให้ทุกฝ่ายระวัง เพราะบางฝ่ายต้องการให้มีความขัดแย้ง เราจึงต้องหยุดตรงนี้ให้ได้ ต้องคุยกันด้วยเหตุและผล

(มติชนออนไลน์, 1-3-2555)

 

"ยงยุทธ"ยันไม่มีการเคลื่อนไหวล้มสถาบันในภาคอีสาน

1 มี.ค. 55 - นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะแกนนำคณะนิติราษฎร์ ถูกทำร้ายร่างกายเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า 

โดยส่วนตัวเห็นว่า ความแตกต่างทางความคิดสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ควรมีการทำร้ายฝ่ายตรงข้าม

เมื่อถามว่า เกี่ยวข้องกับกรณีที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า ตนเชื่อว่าคนไทยทุกคนไม่มีใครคิดทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่มีความเคลื่อนไหวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จะล้มล้างสถาบันพระ มหากษัตริย์ ส่วนที่นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ออกมาระบุว่ามีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคอีสานนั้น เป็นเพียงสิ่งที่ได้ยินมา เราจึงต้องสดับรับฟัง แต่ไม่มีรายงานความเคลื่อนไหวในเรื่องดังกล่าว

นายยงยุทธกล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรใน จ.ภูเก็ต ว่า ตนเชื่อว่าคนใต้จะไม่สร้างความวุ่นวาย เพราะคนใต้มีวุฒิภาวะ ไม่สร้างปัญหาและให้ความร่วมมือกับรัฐบาล นอกจากนี้ ยังได้รับการประสานจาก ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ว่าจะมาร่วมต้อนรับนายกฯด้วย

(มติชนออนไลน์, 1-3-2555)

 

ม.เที่ยงคืน ประณามการใช้ความรุนแรงในความเห็นต่างทางการเมือง

1 มี.ค. 55 - มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนออกแถลงการณ์เรื่อง ประณามการใช้ความรุนแรงในความเห็นต่างทางการเมือง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

กรณีที่มีบุคคลได้ใช้กำลังทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการคุกคามและเป็นการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลที่มีความเห็นต่าง อย่างป่าเถื่อน อันเป็นเหตุการณ์ที่สังคมไทยต้องร่วมมือกันปกป้องอย่างเข้มแข็ง โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นดังต่อไปนี้

ประการแรก เป็นที่เหตุได้อย่างชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวนี้เป็นผลมาจากการแสดงความ เห็นและความเคลื่อนไหวของอาจารย์วรเจตน์ในการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์อาจมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและผู้ที่เห็นต่าง แต่ทั้งหมดก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติในแต่ละสังคมซึ่งจะมีบุคคลซึ่งมีความเห็น ไม่เหมือนกัน หนทางในการจัดการกับความเห็นต่างดังกล่าวที่ดีที่สุดก็ด้วยการใช้เหตุผลและ การแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้คนฝ่ายต่างๆ การใช้กำลังเพื่อทำร้ายบุคคลที่มีความเห็นต่างจึงต้องควรถูกประณามรวมถึง ต้องถูกดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ไม่เพียงการลงโทษกับตัวบุคคลผู้ลงมือเท่านั้น บรรดาฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ นักการเมือง องค์กรประชาชน ที่มีส่วนต่อการ “สาดน้ำมันเข้ากองไฟ” อย่างไร้เหตุผลก็ควรต้องถูกประณามด้วยเช่นกัน ในฐานะที่เป็นที่มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการสร้างบรรยากาศแห่งความเกลียดชัง ให้เพิ่มสูงขึ้น

ประการที่สอง การปกป้องเสรีภาพในความเห็นต่างทางการเมืองนั้นมิใช่มีจุดมุ่งหมายเพื่อปก ป้องบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากต้องการให้ทุกฝ่ายที่เห็นต่างในทางการเมืองสามารถแสดงความเห็นของตนได้ อย่างเสรีและเป็นความเห็นที่มิได้บิดเบือนหรือให้ร้ายกับผู้คนกลุ่มอื่น การร่วมกันปกป้องเสรีภาพในการแสดงความเห็นจึงรวมถึงคนทุกกลุ่มในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง กลุ่มนิติราษฎร์ กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ล้วนต้องสามารถแสดงความเห็นที่ยืนอยู่บนเหตุผลได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าบุคคลใดก็ไม่สมควรจากการถูกทำร้ายหรือถูกคุกคามในการแสดงความเห็นของ ตน   

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอประณามการใช้ความรุนแรงในการจัดการกับความเห็น ต่างในทางการเมือง และขอให้ทุกฝ่ายจงร่วมกันใช้ความอดทน เหตุผล และสติปัญญา ในการรับฟังความเห็นที่แตกต่างออกไป การใช้กำลังจะไม่ได้เป็นออกไปจากปัญหาแต่อย่างใด รวมทั้งจะนำไปสู่ความยุ่งยากที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมแห่งนี้

(ประชาไท, 1-3-2555)

 

กลุ่มสยามฯชี้ปม'วรเจตน์'โดนชก คนอึดอัดไม่ยอมดีเบต ม.112

1 มี.ค. 55 - นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์นิติศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และในฐานะอาจารย์ในกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ ถึงเรื่องการจัดเวทีอภิปรายร่วมกันกับกลุ่มสยามสามัคคีในวันพรุ่งนี้ (2 มี.ค.) ที่บริเวณสวนลุมพินี กรุงเทพฯ ว่า เรื่องที่จะพูดนั้นเป็นเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับบ้านเมือง และทางกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์เองก็ไม่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้ เป็นเพียงผู้ร่วมเท่านั้น จึงยังไม่สามารถบอกอะไรได้ โดยผู้อภิปรายที่เป็นตัวแทนของกลุ่มก็จะเป็นนายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ส่วนตนก็จะไปร่วมงานแต่อาจไม่ได้ขึ้นกล่าวเพราะมีนักวิชาการไปร่วมเป็นจำนวน มาก

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ โดนทำร้ายร่างกายที่บริเวณมหาวิทยาลัยนั้น เป็นเพราะเรื่องที่เกี่ยวข้องในการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ นายคมสัน กล่าวว่า น่าเห็นใจนายวรเจตน์ที่โดนทำร้ายร่างกาย ส่วนตัวเชื่อว่าคงมีประเด็นเดียวที่อาจเกี่ยวข้องคือเรื่อง ม.112 และตนไม่เห็นด้วยในเรื่องการทำร้ายร่างกายในครั้งนี้ 

"การเป็นนักวิชาการก็ต้องมีความระมัดระวังตัวด้วยเช่นกัน ยิ่งเป็นเรื่องที่นำเสนอทางวิชาการที่มีความเกี่ยวข้องกระทบจิตใจคน ก็อาจทำให้รู้สึกไม่พอใจหรือโกรธได้ เช่น เรื่องสถาบัน ซึ่งอาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสีก็เคยโดนปาขวดใส่ทำร้ายร่างกายเช่นกันมาแล้วตอนที่ เคยไปพูดที่ ม.ธรรมศาสตร์" นายคมสันกล่าว

เมื่อถามว่าอะไรน่าจะเป็นสาเหตุให้ผู้ก่อเหตุลงมือในครั้งนี้กับนาย วรเจตน์นั้น อาจารย์กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์  กล่าวว่า จุดอ่อนของคณะนิติราษฎร์นั้นคือไม่ยอมให้มีการดีเบต หรือการให้พื้นที่ของกลุ่มที่เห็นต่างมาแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ไม่ยอมพูดเรื่องในการหักล้างในสิ่งที่ประชาชนชาวบ้านคิด

"ในทางวิชาการแล้วการดีเบตเป็นเรื่องที่มีความสวยงามทางวิชาการ เมื่อประชาชนไม่มีคนที่พูดเพื่อแย้งในข้อความคิดได้ จึงไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยมาก่อเหตุดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามตนไม่เห็นด้วยกับผู้ก่อเหตุแน่นอน เพราะตนก็เคยโดนการกระทำมาแล้วในลักษณะนี้ ซึ่งหากไปดูในตามอินเทอร์เน็ต ก็จะรู้ได้เลยว่าประชาชนนั้นเขามีอารมณ์รุนแรงขนาดไหน" นายคมสันกล่าว

อย่างไรก็ตาม อาจารย์กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์  กล่าวว่า ตนคิดว่านักวิชาการทุกคนสามารถนำเสนอแนวทางวิชาการได้ แต่ขอให้ข้อเสนอดังกล่าวนั้นไม่กระทบจิตใจคนหรือประชาชนทั่วไปนัก และต้องมีความระมัดระวังตนเองอยู่เสมอ หากเรื่องที่นำเสนอไปอาจจะก่อให้เกิดผลร้ายกับตัวเองแม้ว่าจะเป็นการนำเสนอ ในทางวิชาการด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ตาม.

(ไทยรัฐออนไลน์, 1-3-2555)

 

"สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" แนะพักรณรงค์เรื่อง ม.112

1 มี.ค. 55 - สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุคของตน โดยเผยแพร่แบบสาธารณะ แสดงความคิดเห็นภายหลังเหตุการณ์ทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ที่เกิดขึ้นวานนี้

โดยสมศักดิ์ได้แนะว่า การทำงานรณรงค์เรื่องม. 112 ควรหยุดพักไว้ก่อน เนื่องจากไม่สามารถมีอะไรมารับประกันความปลอดภัยของวรเจตน์ และกลุ่มนิติราษฎร์ได้ แต่เสนอว่าควรหันไปเลือกรณรงค์เรื่องอื่นที่มีโอกาสปฏิบัติได้มากกว่า ในขณะเดียวกัน ก็ควรมุ่งการ "ทำงานทางความคิด" เรื่องดังกล่าวในระยะยาวแทน

(ประชาไท, 1-3-2555)

 

คอป.หวั่นชกวรเจตน์ขยายปมขัดแย้ง

2 มี.ค. 55 - นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะ กรรมการคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โพสต์ข้อความผ่านเว็ปไซต์ส่วนตัว http:// kittipong forjustice.com/ ถึงเหตุการณ์ทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์กลุ่มนิติราษฎรว่า แม้ผู้กระทำจะยอมเข้ามอบตัวกับตำรวจ และคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว แต่การที่ผู้กระทำบอกว่าทำร้ายนายวรเจตน์เพราะไม่เห็นด้วยที่ออกมาเคลื่อน ไหวให้แก้ไขมาตรา 112 นั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ คอป.จะต้องพิจารณา “ประเด็นที่เกิดกับนายวรเจตน์ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นการเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นในเวทีเปิด ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจึงควรใช้เวทีเปิดในการแสดงความเห็นต่าง ไม่ใช่ใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับมาเช่นนี้ โดยเฉพาะในห้วงที่สถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ มีการเผชิญหน้าหรือใกล้ที่จะเผชิญหน้ากัน ทุกฝ่ายต้องมีสติ และยึดแนวทางสันติวิธีในการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหา เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความคิดเห็นที่แตกต่างกัน

นายกิตติพงษ์ ระบุด้วยว่า ขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในบรรยากาศของความหวาดระแวง และมีความแตกแยกทางความคิดค่อนข้างสูง ซ้ำยังเคยผ่านความรุนแรงมาระดับหนึ่งแล้ว ประเด็นที่เปราะบางลักษณะนี้ต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำเติม เพราะจะนำไปสู่ความรุนแรงที่ขยายวงมากขึ้นได้ จากประสบการณ์การสร้างกระบวนการปรองดองทั่วโลก หลักสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องยึดถือคือ ต้องอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ใช้ความรุนแรงสำหรับบทบาทของ คอป.นับจากนี้ การป้องกันความรุนแรงซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งที่ทำอยู่แล้ว และจะต้องพิจารณาว่าจะทำเพิ่มเติมอย่างไร โดยนายโคฟี อันนัน (อดีตเลขาธิการยูเอ็น) และ นายมาร์ตติ อาห์ติซารี (อดีตประธานาธิบดีประเทศฟินแลนด์) ได้มีข้อเสนออย่างชัดเจนว่า ควรมีไดอะล็อก (การพูดคุยสนทนา) หรือเพิ่มพื้นที่ให้กลุ่มที่เห็นแตกต่างกันได้พูดคุยกัน เพราะคนเราเห็นต่างได้ แต่ไม่ควรใช้ความรุนแรง และวัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงกับผู้ที่เห็นต่างต้องหมดไป ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ความรุนแรงขยายวงมากขึ้น

นายกิตติพงษ์ ระบุอีกว่า คอป.เราได้ประเมินสถานการณ์พบว่า ความแตกต่างทางความคิดได้แตกประเด็นไปมากขึ้นหลังจากเหตุการณ์เมื่อเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.ปี 53 เป็นเพราะความไม่ไว้วางใจอีกฝ่าย ทำให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเตรียมเสนอกฎหมายปรองดอง และการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังนั้น คอป. จะพิจารณาเรื่องการเปิด เวทีกลาง ให้แต่ละฝ่ายที่เห็นต่างได้พูดคุยแสดงความคิดเห็นโดยไม่ใช้ความรุนแรง ขณะนี้กำลังประเมินกันอยู่ว่าจะเปิดเวทีในรูปแบบใด เมื่อไร และอย่างไร

“ผมขอแสดงความชื่นชมผู้นำทางการเมืองทุกฝ่ายที่เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่แสดงท่าทีสนับสนุนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง ทั้งยังพยายามเรียกร้องคนในสังคมให้มีสติ เราคิดว่าถ้าสามารถประคับประคองกันด้วยเหตุผลได้เช่นนี้ จะทำให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายลงไปกว่าที่เป็น”นายกิตติพงษ์ระบุ

(โพสต์ทูเดย์, 2-3-2555)

 

'จรัล' ชี้คุกคาม 'วรเจตน์' ยิ่งให้กระแสแก้ ม.112 สูงขึ้น‎

2 ม.ค. 55 - เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่านายจรัล ดิษฐาอภิชัย หนึ่งในแกนนำนปช. และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์  มิใช่มาจากความไม่พอใจของผู้ร้ายทั้งสอง น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนสร้างสถานการณ์ให้เลวร้าย เพื่อก่อประชามติว่า การรณรงค์แก้มาตรา 112 และแก้รัฐธรรมนูญ กำลังเกิดความขัดแย้งรอบใหม่แล้ว นำร่องให้กับการชุมนุมของกลุ่มสยามสามัคคีพรุ่งนี้

"ขอแสดงความเสียใจกับดร.วรเจตน์ การทำร้ายอาจารย์นั้น นอกจากเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายอาจารย์คนหนึ่งเท่านั้น หากยังข่มขู่คุกคามเสรีภาพของนักวิชาการ อีกด้วย แล้วก็ยิ่งทำให้กระแสแก้ม.112 สู้ขึ้น"อ.จรัล กล่าว

อ.จรัล ยังเห็นว่า ผมเห็นด้วยกับความคิดเห็นของเพื่อนหลายคนที่ว่า สิ่งเลวร้ายกว่า มิใช่มีคนสองคนทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ หากการโห่ร้องไชโยของผู้จงรักภักดี

 

12 มี.ค.เรียกสอบ 2 ฝาแฝดมือชก "วรเจตน์" เข้มความปลอดภัย

2 มี.ค. 55 - เวลา 10.00 น. ที่กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 (บก.น.1) พล.ต.ต.พชร บุญญสิทธิ์ ผบก.น.1 เปิดเผยถึงกรณีที่นายสุพจน์ ศิลารัตนายุ 30 ปี และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ อายุ 30 ปี สองพี่น้องฝาแฝด ชาว จ.ปทุมธานี ก่อเหตุรุมทำร้ายร่างกาย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนได้รับบาดเจ็บ สาเหตุจากการที่นายวรเจตน์เข้าไปเป็นแกนนำกลุ่มนิติราษฏร์และเคลื่อนไหวการ แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า สำหรับขั้นตอนจากนี้ทางคดีต้องรอผลการตรวจร่างกายจากแพทย์ จากนั้นจะรอตรวจสอบผลการพิมพ์มือของผู้ต้องหาทั้งสองคน ว่ามีประวัติต้องโทษที่ใดบ้าง เพราะจะเป็นประโยชน์กับการฟ้อง ต้องโทษคดี รวมถึงอาจมีผลในการเพิ่มโทษ โดยขณะนี้ได้ปล่อยตัวชั่วคราวและนัดหมายให้มาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 12 มี.ค.นี้ ซึ่งหากสำนวนเสร็จสิ้นแล้วก็จะส่งมอบให้พนักงานอัยการได้ทันที แต่หากยังไม่เสร็จก็จะนัดมาอีกครั้งอาจจะใช้เวลา 7 วัน 12 วัน 15 วัน หรือเท่าใดก็แล้วแต่ความเหมาะสม เพื่อดูว่าสำนวนเสร็จหรือไม่ ทั้งนี้ที่ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปเพราะไม่ได้ขอหมายจับก่อน แต่ผู้ต้องหาเข้ามามอบตัวก่อนเหมือนยอมรับที่ได้ก่อเหตุไป ทางตำรวจจึงได้แจ้งข้อหาและปล่อยตัว

ผู้สื่อข่าวถามว่าคดีในท้องที่อื่นๆมีที่ใดบ้าง พล.ต.ต.พชร กล่าวว่า ต้องรอผลการตรวจสอบจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร  เมื่อถามว่าพื้นฐานผู้ต้องหาเป็นคนที่ชอบทะเลาะวิวาทกับคนอื่นทั่วไปใช่ หรือไม่ พล.ต.ต.พชร กล่าวว่า จากการสอบถาม นายสุพจน์ อ้างว่าเคยถูกจับเรื่องอาวุธปืนผิดมือ ส่วนนายสุพัฒน์ คนน้อง มีคดีทำร้ายร่างกาย 4 คดี และทำให้เสียทรัพย์ 1 คดี เคยถูกจำคุก 2 ครั้ง ซึ่งเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ผู้ต้องหาให้ปากคำ แต่ต้องรอตรวจสอบให้ชัดเจนอีกครั้ง

เมื่อถามว่าดูแล้วคิดเองทำเองหรือมีคนจ้าง พล.ต.ต.พชรกล่าวว่า เบื้องต้นพบว่าทำเอง แต่จากการสอบสวนก็ต้องดูอีกครั้งว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังหรือไม่ โดยชั้นนี้ต้องเชื่อตามนั้น สาเหตุมาจากไม่พอใจที่ผู้บาดเจ็บไปสนับสนุนเรื่องมาตรา 112 โดยทางด้านคดีได้มุ่งเน้นในส่วนของคดีทำร้ายร่างกาย ส่วนการสืบสวนทางข้างนั้นก็ยังทำต่อเนื่อง เพราะผู้บังคับบัญชาสั่งการไว้แล้ว

ถามว่าเรื่องการดูแลความปลอดภัยของนายวรเจตน์หลังจากนี้เป็นอย่างไร พล.ต.ต.พชร กล่าวว่า มอบหมายให้ทาง สน.ชนะสงคราม  ดูแลเป็นพิเศษแล้ว.

(เดลินิวส์, 2-3-2555)

 

ทนาย "มือชกวรเจตน์" อ้างในเว็บบอก "คู่แฝด" บินพักผ่อนฮาวาย จะกลับไทย 11 มี.ค.

3 มี.ค. 55 - นายเกิดผล แก้วเกิด ซึ่งระบุว่าตนเองเป็นทนายความของนายสุพจน์ และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ ฝาแฝดซึ่งก่อคดีทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ได้ตั้งกระทู้ชื่อ "แจ้งเรื่องของสุพัฒน์ ฝากให้ผมดูแลและแจ้งข่าวพี่น้องเราทราบเกี่ยวกับการ โพสฯ"(http://www.gun.in.th /2010/index.php?topic=71349.msg2784674#msg2784674) ในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์www.gun.in.th โดยมีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า

"สุพัฒน์ฝากให้พี่น้องเราทราบว่า ระหว่างนี้ สุพจน์, สุพัฒน์ และครอบครัวจะไปพักผ่อนที่ฮาวาย และจะบินกลับมาวันที่ 11 มีนาคม นี้ ช่วงนี้ จึงจะไม่เข้ามาโพสในเว็บครับ"

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ สว.สส.สน.ชนะสงคราม ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่าจะนัดนายสุพจน์และนายสุพัฒน์มาพบเพื่อสอบปากคำ เพิ่มเติม ก่อนส่งฟ้องคดีต่ออัยการ ในวันที่ 6 มีนาคม

(มติชนออนไลน์, 3-3-2555)

 

ครก.112 ไม่สน "สมศักดิ์" เสนอหยุดล่ารายชื่อ

3 มี.ค. 55 - นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์คณะอักษรศาสาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 (ครก.112) กล่าวถึงข้อเสนอของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้ครก.112 ยุติการล่ารายชื่อภายหลังนักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ถูกทำร้ายว่า นายสมศักดิ์คงหวังดี และคำนึงถึงความปลอดภัยของสมาชิกครก.112 แต่เมื่อการล่ารายชื่อดำเนินไปแล้ว คงจะไปยุติกลางคันไม่ได้ ยืนยันจะเดินหน้าทำการรณรคงต่อไป โดยในวันที่ 3-4 มี.ค.นี้ ก็จะไปรณรรงค์ที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ระยอง ทั้งนี้ที่ผ่านมาแม้จะมีการต่อต้านจากประชาชนผู้ไม่เห็นด้วย รวมถึงมีส.ส.ในพื้นที่ขอร้องไม่ให้ทำกิจกรรมอยู่บ้าง แต่สถานการณ์โดยรวมยังไม่มีเหตุรุนแรง ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ ส่วนเรื่องการรักษาความปลอดภัยต่อจากนี้คงไม่จำเป็นต้องมีอะไรเพิ่มเติม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ เป็นเรื่องส่วนน้อยที่เกิดขึ้น เพราะส่วนใหญ่คนไทยยังพร้อมจะรับฟังด้วยเหตุและผลโดยไม่จำเป็นต้องใช้ความ รุนแรง "เราเดินมาถึงขนาดนี้แล้ว ก็ต้องทำต่อไป จะไปเลิกกลางคันคงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะบอกชาวบ้านที่ลงรายชื่อกับเราได้อย่างไร อ.สมศักดิ์ คงหวังดี แต่เราก็มีเหตุผลของเรา เราทำด้วยความสันติ ใครเห็นด้วยก็ลงรายชื่อ ไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องลง มันก็แค่นั้น" นายสุธาชัย กล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 3-3-2555)

 

“ร.ต.อ.เฉลิม” เรียกร้อง ปชป.เลิกกล่าวหารัฐบาล จะแก้ ม.112

5 มี.ค. 55 - ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเป็นห่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดความขัดแย้งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นมติพรรค จึงต้องปฏิบัติตาม ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยแสดงจุดยืนมาแล้วหลายครั้งว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับ หมวดสถาบันพระมหากษัตริย์และไม่มีผลหรือเกี่ยวข้องกับการแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงอยากให้พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจและเลิกกล่าวหาในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง แล้วนำมาปลุกระดมประชาชน 

ส่วนกรณีพรรคประชาธิปัตย์เสนอว่าให้วางกรอบให้ชัดว่า จะไม่แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ ขึ้นกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการมีศาลคู่ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญหรือ ศาลปกครองที่ไม่มีระบบตรวจสอบ ดังนั้น เห็นว่าจะต้องมีระบบตรวจสอบการทำงานของศาลด้วย 

ต่อกรณีพรรคประชาธิปัตย์ให้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับการลบล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว แม้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถลบล้างความผิดได้

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้รับผิดชอบงานด้านการข่าวและการชุมนุม ซึ่งพร้อมให้มีการชุมนุมอย่างเต็มที่ ไม่ขัดขวาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ทั้งนี้ ได้กำชับให้ตำรวจอยู่ห่างจากผู้ชุมนุมรัศมี 200 เมตรด้วย

(สำนักข่าวไทย, 5-3-2555)

 

‘สุรชัย’ร่วม 8 ผู้ต้องขัง112 เตรียมยื่นจม.นายกฯ ดันรัฐบาลขออภัยโทษ

5 มี.ค.55 - นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยานายสุรชัยกล่าวว่าได้เข้าเยี่ยมสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) ที่เรือนจำ และนายสุรชัยได้เสนอแนวทางช่วยเหลือผู้ต้องขังเสื้อแดงและผู้ต้องขังตาม มาตรา 112 สำหรับรัฐบาลว่า สำหรับผู้ที่คดีเด็ดขาดแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมสามารถถวายเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระมหา กษัตริย์ได้ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259,260,261 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีด้วยซ้ำที่จะต้องถวายความเห็นว่าผู้ต้องขัง ควรหรือไม่ควรได้รับพระราชทานอภัยโทษ

นายสุรชัยระบุด้วยว่า เขาอยู่ระหว่างการร่างหนังสือร้องทุกข์ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมดำเนินการขอพระราช ทานอภัยโทษให้กับนักโทษทางการเมืองที่คดีเด็ดขาดแล้ว โดยจะให้นักโทษคดีหมิ่นฯ ที่คดีสิ้นสุดแล้ว 8 คน ร่วมลงนามด้วย จากนั้นจะให้ญาติของผู้ต้องขังนำไปยื่นต่อนายกฯ เร็วๆ นี้  ทั้งนี้ ผู้ต้องขังคดีหมิ่นที่นายสุรชัยระบุชื่อ ได้แก่ สุรชัย, สมยศ, เลอพงษ์ หรือ โจ กอร์ดอน, เสถียร, วันชัย, ณัฐ, สุชาติ และดารณี หรือ ดา ตอร์ปิโด

สุรชัย ระบุด้วยว่า สำหรับผู้ที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดี นายกรัฐมนตรีในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร ควรหารือกับประมุขฝ่ายตุลาการคือประธานศาลฎีกา เพื่ออธิบายให้ฝ่ายตุลาการเข้าใจว่าคดีต่างๆ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับคนเสื้อแดง ขณะที่กลุ่มการเมืองอีกกลุ่มก็มีคดีตามกฎหมายแต่ไม่ถูกจับกุมคุมขังแต่อย่าง ใด นอกจากนี้แม้แต่บรรดาแกนนำของเสื้อแดงก็ล้วนได้ประกันตัวหมดแล้ว แต่มวลชนยังอยู่เต็มคุก ทำให้ระบบต่างๆ ถูกตั้งคำถามและสร้างความลำบากใจให้รัฐบาลที่ประชาชนคนเล็กคนน้อยไม่ได้รับ สิทธิประกันตัวในคดีการเมือง

อนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 ระบุว่า ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใด ๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้

มาตรา 260 ระบุว่า ผู้มีเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำ จะยื่นเรื่องราวต่อพัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อได้รับเรื่องราวนั้นแล้ว ให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

มาตรา 261 ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมี หน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราช ทานอภัยโทษหรือไม่

ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควร จะถวายคำแนะนำต่อ พระมหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้

มาตรา 261ทวิ  ระบุว่า ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นเป็น การสมควรจะถวาย คำแนะนำต่อพระมาหากษัตริย์ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้อง โทษก็ได้

การพระราชทานอภัยโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา 

(ประชาไท, 5-3-2555)

 

'มัลลิกา'ยื่น ป.ป.ช.สอบนายกฯ-รมว.ไอซีทีเมินปราบเว็บหมิ่น

5 มี.ค. 55 -  น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เข้ายื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ทำการตรวจสอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในการปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันและได้นำสำเนารายชื่อเว็บไซต์หมิ่นสถาบัน เป็นหลักฐานในการประกอบสำนวน

น.ส.มัลลิกาเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำร้องไปยังนายกฯ และ รมว.ไอซีที ให้ดำเนินการแล้วแต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ส่งผลให้ 2 เดือนที่ผ่านมามีเว็บไซต์หมิ่นสถาบันเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จาก 203 เว็บไซต์ เป็นกว่า 400 เว็บไซต์

ด้านนายวิทยา อาคมพิทักษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า ป.ป.ช.ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว และจะดำเนินการตรวจสอบคำร้องโดยเร็วว่า เข้าข่ายอำนาจการสอบสวนของ ป.ป.ช.หรือไม่

 

เผยมือทำร้าย "วรเจตน์" ใช้บัตร อส.ทหารพรานบุรีรัมย์ขอ "ใบปืน"

6 มี.ค. 55 - ความคืบหน้าคดีนายสุพจน์ และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ อายุ 30 ปี สองพี่น้องฝาแฝดชาวจ.ปทุมธานี ก่อเหตุทำร้ายร่างกายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มี.ค. พล.ต.ท.วินัย ทองสอง ผบช.น. กล่าวว่า ผลทางการแพทย์ออกมาแล้ว พบว่าบาดแผลของอาจารย์วรเจตน์ไม่สาหัส โดยพนักงานสอบสวนนัดส่งฟ้องวันที่ 12 มี.ค.นี้ จากนั้นอยู่ที่ทางศาลจะลงโทษอย่างไร นอกจากนี้จะตรวจสอบประวัติว่ายังอยู่ในระยะเวลาการรอลงอาญาหรือไม่ หากยังอยู่ในกำหนดก็เสนอให้พิจารณาเพิ่มโทษด้วย ส่วนการดูแลอาจารย์และกลุ่มผู้ออกมาเคลื่อนไหวก็จัดเจ้าหน้าที่ออกมาดูแล ทุกกลุ่มอยู่แล้ว

ด้านพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รองผบช.น.กล่าวว่า ตรวจสอบพบว่านายสุพจน์บอกเจ้าหน้าที่ของธัญบุรีในการขอใบ ป.4 (ใบครอบครองอาวุธปืน) ว่าเป็นสมาชิกทหารพราน เรื่องนี้จะตรวจสอบว่าเป็นจริงหรือไม่ หากพบว่าไม่จริงก็จะมีความผิดในเรื่องแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน โดยจะทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อตรวจสอบและขอยึดใบ ป.4 เนื่องจากมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงอาจเป็นภัยต่อสังคม นอกจากนี้ให้เจ้าหน้าที่ทำหนังสือเพื่อขออาวุธปืนมาตรวจสอบด้วยว่าเคยนำไป ใช้ก่อเหตุอื่นๆ หรือไม่

รายงานจากชุดสืบสวนระบุว่า จากการตรวจสอบโทร.มือถือของนายสุพจน์ วันก่อเหตุไม่พบสิ่งผิดปกติ ช่วงเช้าสัญญาณอยู่ที่ปทุมธานี ตอนช่วงบ่ายสามโทร.ออก 1 ครั้ง สัญญาณมือถืออยู่ที่ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อตรวจสอบย้อนกลับไป 3 วันก่อนหน้าก็ไม่มีเบอร์น่าสงสัย เป็นลักษณะการโทร.ทั่วๆ ไป ไม่เจาะจงเบอร์หนึ่งเบอร์ใดโดยเฉพาะ

ที่ว่าการอำเภอธัญบุรี จ.ปทุมธานี นายสมศักดิ์ พัวพันธุ์ นายอำเภอธัญบุรีเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบทะเบียนปืนนายสุพจน์ ซึ่งขอทะเบียนอาวุธปืนพกสั้นกึ่งอัตโนมัติ .45 หมายเลข เค 302994 คิมเบอร์ กท.5344892 เป็นอาวุธปืนในโครงการสวัสดิการข้าราชการของรัฐ เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2553 โดยใช้บัตรประจำตัวแนบมาด้วยชื่อ อส.ทพ.สุพจน์ ศิลารัตน์ สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 26 จ.บุรีรัมย์ ออกโดยพ.อ.ศิริชัย สร้อยแสน นายทหารพระธรรมนูญ ระบุวันออกบัตร 1 พ.ค. 2551 หมดอายุ 1 พ.ค.2553 ซึ่งขณะนั้นมีนายทะเบียนคือนายสุรพงษ์ แก้วปาน นายอำเภอธัญบุรี ปัจจุบันเป็นปลัดจังหวัดปทุมธานี

ส่วนนายสุพัฒน์นำเอกสารการรับรองเป็นอส.ทพ.สุพัฒน์ ศิลารัตน์ สังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 26 จ.บุรีรัมย์ ออกโดยพ.อ.ศิริชัยเช่นกัน ระบุวันออกบัตรอส.ทพ.วันที่ 1 พ.ค.2551 หมดอายุ 1 พ.ค.2553 นำมาขอมีอาวุธปืนพกสั้นออโตเมติก ขนาด 9 ม.ม.หมายเลข D 492732 บาเร็ตต้า นพ5/5856 รับโอนมาจากนายทวีศักดิ์ ปานจุ้ย ชาวจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 22 ก.ย.2552 ส่วนอีกกระบอกเป็นอาวุธปืนสั้นกึ่งอัตโนมัติ 9 ม.ม. เอ็นแซดยู 707 กล๊อก กท.5287224 เป็นปืนสวัสดิการข้าราชการกรมการปกครอง(สน.สก.) ขออนุญาตเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2553 มีนายทะเบียนคือ นายสุรพงษ์ แก้วปาน นายอำเภอธัญบุรี เช่นกัน

ทั้งนี้ ทางอำเภอได้ปรึกษาหารือผู้เกี่ยวข้องเพื่อหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเพิกถอนใบ อนุญาตมีอาวุธปืนของพี่น้องฝาแฝดแล้ว หากว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 65, 66, 13, หรือบุคคลใดมีความผิดกฎหมายอาญาสามารถเรียกคืนใบอนุญาตและมีอาวุธปืนได้ ซึ่งอยู่ที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณารวบรวมพยานหลักฐานว่าวันเกิดเหตุพี่ น้องฝาแฝดได้นำอาวุธปืนติดตัวไปด้วยหรือไม่ เพราะใบอนุญาตที่ทางอำเภอออกให้เป็นใบ (ป.4) อนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนเท่านั้น ไม่ใช่ใบพกพา 

(ข่าวสด, 6-3-2555)

 

"ปรีดา เตียสุวรรณ์" ให้สัมภาษณ์มติชนพูดเรื่องแก้ 112 

7 มี.ค. 55 - มติชนออนไลน์สัมภาษณ์นายปรีดา  เตียสุวรรณ์ กรรมการบริษัท และประธาน บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) โดยส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ตั้งคำถามถามปรีดาว่าคิดอย่่างไรกับมาตรา 112 ปรีดาเห็นว่าว่าที่สุดสังคมไทยก็ต้องมาพูดเรื่องนี้อย่างจริงจังว่า จะแก้ไขปรับปรุงอย่างไร เพราะมันได้กลายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองไปแล้ว  ผมเห็นด้วยกับอาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์(นิติราษฎร์) หลายประเด็น แต่ข้อเสนอบางเรื่องก็ซื่อไปหน่อย  ผมไม่เชื่อว่า คนพวกนี้รับเงินใครมาเคลื่อนไหว ผมไม่เชื่อ  ผมเชื่อว่า พวกเขาบริสุทธิ์ใจ แต่บางเรื่องไม่เหมาะ

(มติชนออนไลน์, 7-3-2555)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net