Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

\คุณจะเลือกอยู่ข้างทหารเผด็จการมือเปื้อนเลือด อยู่ข้างสองมาตรฐานทางกฏหมาย อยู่ข้าง ASTV และ “ดาวสยาม” และอยู่ข้างนักการเมืองอย่างเฉลิม อยู่บำรุง และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ...คุณจะอยู่ข้าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปรีดี พนมยงค์ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 และคณะนิติราษฎร์\" วันที่ 9 มีนาคมเป็นวันคล้ายวันเกิด ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คุณพ่อของผม และในวันนี้ ทุกๆ ปี มักจะมีการจัดงาน“รำลึกถึงอ.ป๋วย” ตามสถานที่ต่างๆ เช่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นมหาวิทยาลัยที่พ่อผมเคยเป็นอธิการบดีก่อนเหตุการณ์นองเลือด ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และหลายคนที่ตั้งตัวเองขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงพ่อผม มักจะเป็นคนที่มีอุดมกาณ์ตรงข้ามกับ อ.ป๋วยโดยสิ้นเชิง ปีนี้ผมได้ข่าวว่าญาติผมชื่อ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์จะไปพูดใน งาน “40 ปี สันติประชาธรรม สู่ 1 ศตวรรษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ดร.ยงยุทธ เคยรับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ในรัฐบาลเผด็จการทหารหลัง ๑๙ กันยา ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อผมไม่มีวันทำ และหลังจากรัฐประหาร ๑๙ กันยาไม่นาน แม่ผมได้รับโทรศัพท์จากคนที่เขารู้จักในไทยซึ่งบอกแม่ผมว่า “ลุงป๋วยคงภูมิใจที่หลานได้เป็นรัฐมนตรี” แม่ผมตอบทันทีว่า “ไม่... คุณเข้าใจผิดแล้ว” ผมไม่เคยอ้างว่าตัวผมเองมีความคิดเหมือนพ่อ ผมเป็นมาร์คซิสต์สังคมนิยม เขาเป็นคนที่มีอุดมกาณ์สังคมนิยมประชาธิปไตย และจุดยืนของเราแตกต่างกันในอีกหลายๆ เรื่อง แต่ผมถูกพ่อแม่สอนมาให้คิดเองและมีอุดมการณ์ของตนเอง ผมจึงไม่มีสิทธิ์ไปพูดที่ไหนในฐานะ “ผู้แทนความคิดของ อ.ป๋วย” อย่างไรก็ตามผมอยากเน้นบางสิ่งบางอย่าง เพื่อสร้างความชัดเจนกับคนที่ชอบอ้างพ่อผมแล้วทำตรงข้าม อ.ป๋วย ต้องบินออกจากประเทศไทยในเย็นวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เพราะพวกขวาจัดที่อ้างว่าปกป้องสถาบัน เช่นลูกเสือชาวบ้าน ขู่จะฆ่าพ่อผมหลังจากที่พวกนี้ไปฆ่านักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ และลูกเสือชาวบ้าน “จงรักภักดี” เหล่านี้ ก็ตามพ่อไปที่สนามบินดอนเมืองเพื่อทำร้ายเขา อ.ป๋วยต้องออกจากประเทศไทยเพราะทหารเผด็จการทำรัฐประหารอีกครั้ง บนซากศพนักศึกษาในธรรมศาสตร์ และพวกทหารเหล่านี้เกลียดชังดร.ป๋วย และด่าอ.ป๋วยว่าเป็น “คอมมิวนิสต์ล้มเจ้า” ทหารระดับสูงสมัยนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากนั้น ไม่ต้องเชื่อผมหรอก กรุณาอ่านบทความเรื่อง ๖ ตุลา ที่พ่อผมเขียนเอง อ.ป๋วยเคารพรักอ.ปรีดี เหมือนเป็นพี่ และมองว่าการที่ อ.ปรีดีต้องออกจากประเทศไทยเป็นเรื่องแย่ พ่อผมเข้าใจดีว่าอ.ปรีดีเป็นแกนนำคณะราษฎร์ที่ปฏิวัติล้มระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพื่อเริ่มสร้างประชาธิปไตยในไทย ตอนที่เกิดการปฏิวัติ ๒๔๗๕ พ่อผมไม่ค่อยมีจิตสำนึกทางการเมืองเพราะอายุอ่อน อ.ป๋วยไม่เห็นด้วยกับการคุมขังพลเมืองอันเนื่องมาจากการแสดงความเห็นทางการเมือง โดยที่คนเหล่านั้นไม่เคยใช้ความรุนแรงกับใคร ดังนั้นใครอยากตั้งตัวขึ้นมาชม อ.ป๋วย กรุณาพูดถึงปัญหานักโทษการเมือง 112 ด้วย ที่บ้าน อ.ป๋วย ในวันหยุดประจำชาติ ไม่ว่าจะเป็นวันไหน จะไม่มีการประดับหน้าบ้านด้วยธงชาติหรือธงอื่นหรือไฟสี แต่พ่อผมมองว่าการพัฒนาสถานภาพชีวิตประชาชนธรรมดาเป็นเรื่องที่มีสาระมากกว่า เขายอมทนทำงานในระบบเผด็จการทหารของสฤษดิ์ ถนอม ประภาส ที่โกหกในยุคนั้นว่าเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะเขาเคยรับทุนรัฐบาล เพื่อไปเรียนที่อังกฤษ และเขามองว่าผู้ที่ออกเงินให้เขามีโอกาสไปเรียนนอกคือประชาชนไทยคนธรรมดาผ่านการเสียภาษี เขาจึงต้องตอบแทนประชาชน พ่อผมไม่เคยสนับสนุนรัฐประหาร ไม่เคยชมรัฐประหาร และไม่เคยรับตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลใด ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย เขาเพียงแต่ทำงานเป็นข้าราชการประจำเท่านั้น และเมื่อจอมพลสฤษดิ์มีอำนาจ เขากล้าเถียงกับสฤษดิ์เมื่อสฤษดิ์อยากจะโกงชาติ ต่อมาเขาผิดหวังเมื่อจอมพลถนอมใช้มาตรการเผด็จการ เขาก็กล้าวิจารณ์ จนต้องไปอยู่ต่างประเทศพักหนึ่งก่อนกลับมาหลัง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ขณะที่พ่อผมทำงานเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการในตอนนั้น พ่อผมยินดีร่วมมือกับองค์กร ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก เพราะ อ.ป๋วยเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจที่ดีที่สุดคือทุนนิยมที่ผสมกลไกตลาดกับการแทรกแซงโดยรัฐ ตอนนั้นกระแสหลักทั่วโลก รวมถึงไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ไม่ได้ชื่นชมกลไกตลาดเสรีอย่างในปัจจุบัน ในเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พ่อผมในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่อยากให้มีการชุมนุมและความรุนแรงเกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ เพราะสามเดือนก่อนพวกคลั่งเจ้า พวกกะทิงแดง เคยบุกเข้าไปเผามหาวิทยาลัยตอนที่ประภาสกลับมาไทย เขาอยากให้นักศึกษาหยุดกิจกรรมเพราะเป็นช่วงสอบไล่ แต่อย่ามาอ้างว่าพ่อผมทำเหมือนคณะบริหารมหาวิทยาลัยปัจจุบันเลย เพราะจะเป็นการโกหกแบบไม่อาย พ่อผมรักประชาธิปไตย เขาแต่งงานกับหญิงอังกฤษที่มีอุดมกาณ์ประชาธิปไตย ที่ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจหรือตำแหน่งผ่านสายเลือด และพ่อผมไม่เคยห้ามการจัดเสวนาเพื่อปฏิรูปประเทศไปสู่ประชาธิปไตยเลย ในเรื่อง ๖ ตุลา พ่อผมเขียนเกี่ยวกับละครแขวนคอที่ลานโพธิ์ ที่เป็นละครเพื่อเปิดโปงการฆ่านักกิจกรรมโดยตำรวจที่นครปฐมว่า... “จากปากคำของอาจารย์หลายคน ที่ได้ไปดูการชุมนุมกันในเที่ยงวันจันทร์ที่ ๔ ตุลาคม นั้น ผู้แสดงแสดงได้ดีมาก ไม่มีอาจารย์ผู้ใดที่ไปเห็นแล้วจะสะดุจใจว่าอภินันท์แต่งหน้า หรือมีใบหน้าเหมือนเจ้าฟ้าชาย” ... และโดยทั่วไป เขาอธิบายว่าความรุนแรงในวันที่ ๖ ตุลา และรัฐประหารที่ตามมา เกิดขึ้นจากการกระทำของ “ผู้ที่สูญเสียอำนาจทางการเมืองในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ ได้แก่ ทหาร และตำรวจบางกลุ่ม ผู้เกรงว่าในระบบประชาธิปไตยจะสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไป ได้แก่นายทุนเจ้าของที่ดินบางกลุ่ม และผู้ที่ไม่ประสงค์จะเห็นประชาธิปไตยในประเทศไทย.... วิธีการของบุคคลเหล่านี้คือ...การอ้างถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นเครื่องมือในการป้ายสี ถ้าใครเป็นปรปักษ์ก็แปลว่าไม่รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” นอกจากนี้ พ่อผมเคยเขียนบทความสั้นเพื่อสนับสนุนการสร้างรัฐสวัสดิการในประเทศไทย โดยในบางส่วนเขียนว่า... “ในฐานะที่ผมเป็นชาวไร่ชาวนา ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควรสำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้ยืมเงินมาขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีการทำกินแบบใหม่ ๆ มีตลาดดี และขายสินค้าได้ราคายุติธรรม ในฐานะที่ผมเป็นกรรมกร ผมก็ควรจะมีหุ้นมีส่วนในโรงงาน บริษัท ห้างร้านที่ผมทำอยู่ เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือ สโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน เรื่องที่ผมจะเรียกร้องข้างต้นนี้ ผมไม่เรียกร้องเปล่า ผมยินดีเสียภาษีอากรให้ส่วนรวมตามอัตภาพ ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ” อ. ป๋วยไม่ใช่คนแรกที่เสนอว่าไทยควรมีรัฐสวัสดิการ เพราะก่อนหน้านั้นมีการเสนอโดย อ.ปรีดี คนที่พ่อผมเคารพรัก อ. ป๋วยเคยพูดถึง “สันติประชาธรรม” แต่อย่าลืมด้วยว่าในวัยนักศึกษาที่อังกฤษ เขาอาสาสมัครเป็นทหารในกองทัพเสรีไทย เพื่อรบกับญี่ปุ่นและรัฐบาลเผด็จการของจอมพล ป. คนเราเปลี่ยนแปลงตามอายุ ตามสมัย ไม่มีอะไรหยุดนิ่งเสมอ การบิดเบือน และฉวยโอกาสอ้างชื่อ ดร.ป๋วย เพื่อผลประโยชน์ตนเองของบางคนในประเทศไทยในปัจจุบันหลังจากที่เขาตายและตอบไม่ได้ ทำให้ผมระลึกถึงประโยคหนึ่งของ เลนิน นักปฏิวัติรัสเซียที่ผมชื่นชม ตอนต้นๆ ของหนังสือ “รัฐกับการปฏิวัติ” เลนิน เขียนไว้เกี่ยวกับ คาร์ล มาร์คซ์ ว่า “ในยุคที่นักปฏิวัติหรือนักต่อสู้ยังมีชีวิต ฝ่ายชนชั้นปกครองจะคอยปราม ด่า ทำร้าย อย่างต่อเนื่อง แต่พอตายไปแล้วก็นำความคิดมาบิดเบือนให้เป็นเรื่องตรงข้าม เพื่อไม่ให้อันตรายต่อผู้มีอำนาจ” เมื่อพ่อผมโดนไล่ออกจากประเทศไทย มีคนสามกลุ่มในไทยเท่านั้นที่ชื่นชมปกป้องพ่อผมคือ กลุ่มอ.สุลักษณ์ นักศึกษากับอาจารย์ฝ่ายซ้ายในธรรมศาสตร์ และพรรคคอมมิวนิสต์ แต่พ่อผมไม่ยอมร่วมมือกับพรรค คนทีเหลือในสังคมไทยไม่เอ่ยปากปกป้องพ่อผมแต่อย่างใด หลายคนในขบวนการเสื้อเหลืองพันธมิตรฯ มักจะเคยขึ้นเวทีเผด็จการ แล้วอ้างว่าเขา “เคารพ อ.ป๋วย” ปัจจุบันคนที่จะทำให้กลุ่มนิติราษฎร์ไม่มีพื้นที่ยืนในสังคมบางคน ก็หน้าด้านอ้างพ่อผมอีก แต่เมื่อผมเล่าให้คุณแม่ฟังว่านักศึกษาที่รักประชาธิปไตยไปวางพวงหรีดที่หน้ารูปปั้นอ.ป๋วยที่ธรรมศาสตร์รังสิต แม่ผมตอบผมทันทีว่า “ดีแล้ว” ขอย้ำอีกครั้งว่าพ่อผมต้องออกจากประเทศไทยเพราะมีอุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเสมอภาค และเพื่อรัฐสวัสดิการ ปัจจุบันก็ยังมีพวกนายพลล้าหลังและพวกอนุรักษ์นิยมขวาจัด ที่ชอบไล่คนคล้ายๆ ดร.ป๋วยในยุคนี้ ให้ “ไปอยู่ที่อื่น” คำถามคือเราต้องทนรอนานแค่ไหนให้เมืองไทยพัฒนาจากยุคมืด วันนี้เรามีทางเลือก คุณจะเลือกอยู่ข้างทหารเผด็จการมือเปื้อนเลือด อยู่ข้างสองมาตรฐานทางกฏหมาย อยู่ข้าง ASTV และ “ดาวสยาม” และอยู่ข้างนักการเมืองอย่างเฉลิม อยู่บำรุง และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือ...คุณจะอยู่ข้าง ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปรีดี พนมยงค์ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 และคณะนิติราษฎร์"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net