Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มีประเด็นที่ถกเถียงกันในเฟซบุ๊กของผมเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่ผมอยากนำมาแลกเปลี่ยนเพื่อช่วยกันคิดต่อ คือประเด็นที่อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอ(ที่จริงอาจพูดมานานพอสมควรแล้ว) ว่า “ถ้าไม่ apply หลักการสากลกับ xxx การวิจารณ์นักการเมืองก็ไร้ความหมาย” ต่อไปนี้คือสิ่งที่ผมจะอธิบายหลักการนี้ตามความเข้าใจของผม (ซึ่งอาจผิดหรือต่างจากที่อาจารย์สมศักดิ์มุ่งเสนอได้) A. หลักการสากลคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ต้อง apply กับทุกคน เพราะการ apply หลักการดังกล่าวกับทุกคนคือ “ความเป็นประชาธิปไตย” B. การไม่ apply หลักการสากลกับ xxx คือความไม่เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้น การวิจารณ์นักการเมืองโดยไม่ apply หลักการสากลกับ xxx จึงเป็นการวิจารณ์ที่ไร้ความหมาย “ไร้ความหมาย” ในที่นี้ หมายถึง ไม่มีความหมายว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ใช่การกระทำบนหลักการประชาธิปไตยที่ต้องยืนยันการ apply หลักการสากลกับทุกคนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ข้อโต้แย้ง 1 จะไร้ความหมายได้ย่างไร เพราะการวิจารณ์นักการเมืองย่อมก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีบางอย่างตามมาเสมอ เช่น ทำให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบในการทำตามนโยบาย ลดการคอร์รัปชัน หรือทำให้สังคมตระหนักถึงปัญหาของการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดเช่น ฆ่าตัดตอนยาเสพติด กรือเซะ ตากใบ ฯลฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ใครมาเป็นรัฐบาลจะไม่ทำผิดพลาดเช่นนั้นอีก เป็นต้น ตอบข้อโต้แย้ง 1 ต่อให้การวิจารณ์นักการเมืองทำให้ปัญหาตามตัวอย่างดังกล่าวไม่เกิดขึ้นอีกได้จริง แม้กระทั่งจับนักการเมืองโกงมาเข้าคุกได้ แต่ตราบใดที่ไม่ apply การวิจารณ์นั้นกับ xxx คือไม่ทำให้หลักการวิจารณ์นี้เป็นหลักการสากลที่ใช้กับทุกคน ผลลัพธ์ที่ดีนั้นๆ ก็ไม่ได้ทำให้การวิจารณ์นั้นเป็นสิ่งที่ “ถูกต้อง” ได้ เพราะมันยังคงเป็นการ “ทำผิด” หลักการประชาธิปไตยอยู่ดี ข้อโต้แย้ง 2 เราจะอ้างแต่ “หลักการบริสุทธิ์” โดยมองข้ามความจริง ตัดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แก่สังคมจริงๆ ทิ้งไปได้อย่างไร เราจะสรุปว่า ที่สังคมเรายังไม่ apply หลักการสากลกับ xxx ได้ การวิจารณ์นักการเมืองที่ผ่านมาและที่เป็นอยู่ทั้งหมดเป็นเรื่องไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิงกระนั้นหรือ ตอบข้อโต้แย้ง 2 ไร้ความหมายต่อความเป็นประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ต่อให้วิจารณ์นักการเมืองแล้วทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น คนจนน้อยลง คนรวยมากขึ้น ฯลฯ แต่ตราบที่ไม่ apply หลักการสากลกับ xxx ก็เท่ากับ “ไม่ apply หลักการสากลกับทุกคน” เท่ากับทำผิดหลักการประชาธิปไตย หรือเท่ากับทำให้ “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” ดำรงอยู่ต่อไป ข้อโต้แย้ง 3 ตกลงต้องวิจารณ์ xxx ให้ได้ก่อนเท่านั้นหรือ จึงจะเป็นประชาธิปไตย และจึงควรจะวิจารณ์นักการเมือง ตอบข้อโต้แย้ง 3 แน่นอน เพราะข้อเรียกร้องให้ apply หลักการในการวิจารณ์นักการเมืองกับ xxx ได้ ย่อมหมายถึงการเรียกร้องให้ apply หลักเสรีภาพอย่างสากลกับทุกคน ซึ่งนี่คือความเป็นประชาธิปไตย เวลาเราวิจารณ์นักการเมือง เราวิจารณ์บนฐานของความเป็นประชาธิปไตย หรือบนฐานของ “หลักการสากล” ไม่ใช่หรือ ฉะนั้น จะชอบธรรมได้อย่างไรที่เราจะยืนยันการใช้หลักการสากลนี้เฉพาะกับนักการเมืองเป็นต้น แต่ไม่ใช้กับ xxx ข้อโต้แย้ง 4 ต้องวิจารณ์ xxx ได้ก่อนเท่านั้นหรือ จึงจะทำให้เรามี “ความชอบธรรม” ที่จะวิจารณ์นักการเมือง สมมติว่ากฎหมายเปิดให้วิจารณ์ xxx ได้ คนที่ไม่วิจารณ์ xxx (ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ หรือไม่อยากวิจารณ์เป็นต้น) ก็ต้องสรุปว่าเขาไม่มีความชอบธรรมที่จะวิจารณ์นักการเมืองใช่ไหม ตอบข้อโต้แย้ง 4 ประเด็นมันไม่ใช่การเรียกร้องให้ “กระทำการวิจารณ์ xxx ที่เป็นตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้วจึงจะมีความชอบธรรมในการวิจารณ์นักการเมือง” แต่การเรียกร้องให้ apply หลักการสากลกับ xxx หมายความว่าให้ “apply หลักการสากลกับทุกคน” เมื่อการ apply หลักการสากลกับทุกคนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และสมมติว่ากฎหมายเปิดให้ทำเช่นนี้ได้ ถ้าในปัญหาเดียวกันที่ทั้งนักการเมืองและ xxx ต่างมีส่วนเกี่ยวข้อง การที่ใครก็ตามเลือกวิจารณ์เฉพาะนักการเมือง ก็แสดงว่าเขาไม่ยุติธรรม ใช้สองมาตรฐาน แต่เรายอมรับหรือไม่ว่า ภายใต้ระบบที่กฎหมายไม่เปิดให้วิจารณ์ xxx การวิจารณ์นักการเมืองแต่ไม่วิจารณ์ xxx ในกรณีเดียวกัน เรากำลังกระทำสิ่งที่ไม่ยุติธรรม หรือกำลังใช้สองมาตรฐานโดยปริยาย ข้อโต้แย้ง 5 ในเมื่อกฎหมาย “ไม่เปิด” ให้วิจารณ์ xxx ได้ หรือการวิจารณ์ xxx ก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว (โดยเฉพาะภายใต้ระบบกฎหมายที่ไม่มี “มาตรฐานที่ชัดเจน” ระหว่าง “วิจารณ์” กับ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย”) การเรียกร้องให้วิจารณ์ xxx ย่อมเท่ากับเรียกร้องให้ทำในสิ่งที่ทำไม่ได้ และการที่วิจารณ์ xxx ไม่ได้นั้น ต้องเป็นเหตุผลให้เราไม่ควรวิจารณ์นักการเมือง จะปล่อยให้นักการเมืองทำผิดในเรื่องต่างๆ ได้ตามอำเภอใจเช่นนั้นหรือ ตอบข้อโต้แย้ง 5 แล้วไง การที่เราแคร์มากเลยกับการทำอะไรๆ ตามอำเภอใจของนักการเมือง ตั้งคำถามทุกเรื่อง วิจารณ์ทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องในมุ้ง บุคลิกภาพ จริยธรรม และ ฯลฯ แต่เรา (ทำเหมือน) ไม่แคร์ที่จะตั้งคำถามกับอีกฝ่ายเลย การยืนยันการวิจารณ์นักการเมืองภายใต้ระบบเช่นนี้ว่า เป็นการกระทำที่ถูกต้อง ก็เท่ากับการยืนยันว่า “การไม่ apply หลักการสากลกับทุกคนเป็นหลักการที่ถูกต้อง” ซึ่งเท่ากับเราได้สร้าง “หลักการที่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตย” ขึ้นมา และยึดถือปฏิบัติเสมือนว่ามันเป็นหลักการประชาธิปไตยไปแล้ว คำถามคือ ทำไมเราไม่ยอมรับความจริงว่า การกระทำของเราเท่ากับเป็นการยืนยันหลักการที่ขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยโดยปริยาย และโดยการยืนยันเช่นนี้ ย่อมทำให้ปัญหา “ความไม่เป็นประชาธิปไตย” ไม่ถูกแก้ไขตลอดไป เป็นไปได้ไหมที่ถ้าเราต่าง “ตระหนักอย่างชัดแจ้ง”ว่า “เรากำลังทำผิดหลักการประชาธิปไตยอยู่จริงๆ” แล้วเราจะไม่ร่วมกันต่อสู้เพื่อที่จะไม่ต้องทำผิดอีกต่อไป หรือไม่ร่วมกันต่อสู้เพื่อให้การ apply หลักการสากลกับทุกคนเป็นไปได้จริง ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อ “ความเป็นประชาธิปไตย” จริงๆ แน่นอนว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่มนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลและเสรีภาพที่ตระหนักว่าตนกำลังทำผิดอย่างชัดแจ้งแล้ว จะยอมทำผิดหรือยอมถูกระบบบังคับให้ต้องทำผิดตลอดไป นอกจากเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะยอม เขาย่อมต้องถือเป็น “หน้าที่ที่ต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง” นั่นคือ หน้าที่ที่ต้องต่อสู้เพื่อสร้างระบบสังคมการเมืองที่ apply หลักการสากลกับทุกคน สรุป ถ้า “การ apply หลักการสากลกับทุกคน” คือ “ความถูกต้อง” ตามระบอบประชาธิปไตย หรือคือ “ความเป็นประชาธิปไตย” การตั้งคำถามต่อ “การไม่ apply หลักการสากลกับ xxx” ต่อใครก็ตามที่ยืนยัน และ/หรือกำลังกระทำการใดๆ ในนามของประชาธิปไตย จึงเป็นการตั้งคำถามที่ “เหตุผล” หรือตรรกะบังคับให้ต้องตั้งคำถามโดยจำเป็น เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในการยืนยันว่าเรากำลังทำตามหลักการประชาธิปไตย และ/หรือกำลังต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ยืนยัน “การ apply หลักการสากลกับทุกคน”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net