Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“สังคมเพื่อคนทั้งมวล” (Inclusive Society) ดูจะเป็นประเด็นที่ได้รับการพูดถึงกันอย่างมากและหนาหูขึ้นในช่วงทศวรรษที่ ผ่านมา โดยที่ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๓ เมื่อปลายปีที่แล้ว และสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ ๑ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้มีการกล่าวถึงและอ้างถึง “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” ทั้งทางตรงและทางอ้อม ต่างกรรมและต่างวาระกัน

“สังคมเพื่อคนทั้งมวล” คืออะไร?

กล่าว อย่างไม่ซับซ้อน “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” คือ สังคมที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ชีวิตในพื้นที่ทางสังคมและทำกิจกรรมทางสังคม ได้อย่าง “เท่าเทียม” และมี “ศักดิ์ศรี” ปราศจากการเลือกปฏิบัติต่อกัน และได้รับโอกาสหรือสิทธิในการเข้าถึงบริการ สถานที่ และข้อมูลทางสังคมได้อย่างเสมอภาคกัน

ในแง่นี้ความหมายของ “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” จึงสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ถูกเบียดบังออกไปจาก “ความเท่าเทียม” “ศักดิ์ศรี” และ “สิทธิ” ในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ ดังที่คนส่วนใหญ่ได้รับ พูดอย่างง่ายๆ ก็คือ เป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้อาจมีตั้งแต่ กลุ่มคนยากจน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กลุ่มคนไร้สัญชาติ และกลุ่มคนพิการ

ในปัจจุบันจากการผลักดันของภาค ประชาสังคมและหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชนของไทยดูจะทำให้แนวนโยบายและกฎหมายต่างๆ เปิดพื้นที่และเอื้อต่อการทำให้กลุ่มคนที่ถูกเบียดบังต่างๆ สามารถเข้ามามีชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค อันผลักดันให้สังคมไทยเข้าใกล้ “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” ขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับ ประเด็นของ “กลุ่มคนพิการ” นั้น อาจกล่าวได้ว่าภาคประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันผลักดันแผน งาน นโยบาย และข้อกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการในสังคมไทยไปอย่างมาก ดังเช่น พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพ พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ได้มีเน้นถึงการสร้างสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียมสำหรับคนพิการและคน ทั้งมวล ในทางเดียวกับแผนงาน/นโยบายเกี่ยวกับการศึกษาและการออกแบบสถานที่สาธารณะ ต่างๆ ที่ได้รับการผลักดันให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการและคนทั้งมวลมากขึ้น

ความ คิดที่สะท้อนผ่านนโยบายและแผนงานเพื่อสร้าง “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” นี้ดูจะเชื่อมโยงกับแนวคิดและปฏิบัติการณ์ในระดับโลกที่เริ่มปรากฎขึ้น ตั้งแต่เมื่อราว 30 ปีก่อนที่พยายามสร้างสิทธิ ความเท่าเทียม และความเสมอภาคในการใช้ชีวิตทางสังคมให้แก่คนพิการและกลุ่มคนที่ถูกเบียดบัง อื่นๆ

อย่างไรก็ดี แม้แผนงาน นโยบาย และกฎหมายจะเป็นจุดที่สำคัญในการสร้างสังคมเพื่อคนทั้งมวลและกลุ่มคนพิการ หากแต่สิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือการสร้างหรือปรับเปลี่ยน “มุมมอง” “สำนึก” และ “ทัศนคติ” ของสังคมให้ปราศจากอคติหรือเอื้อต่อกลุ่มคนพิการและคนที่ถูกเบียดบัง อันจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่รองรับและนำไปสู่การสร้าง “สังคมเพื่อคนทั้งมวล”

สำหรับ ผู้เขียนแล้วคิดว่า การสร้าง “มุมมอง” “สำนึก” และ “ทัศนคติ” ที่มองกลุ่ม “คนอื่น” ที่มีความเท่าเทียมและเสมอภาคกันนี้จะเป็นพื้นฐานอันสำคัญที่เสริมสร้างหรือ รองรับให้แผนงาน นโยบาย และกฎหมาย ที่ได้รับการผลักดันออกมามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะอย่าลืมนะครับว่า บรรดานโยบายหรือกฎหมายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ต้องมีผู้ที่นำไปใช้ ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ตีความและผู้ที่เกี่ยวข้องมากมาย ซึ่งหากกลุ่มคนเหล่านี้ยังมีมุมมองและทัศนคติแบบเดิมๆ ที่มองกลุ่มคนพิการเป็น “คนอื่น” ของสังคมที่ไม่มีความเท่าเทียม เสมอภาคกับคนส่วนใหญ่ การดำเนินนโยบายและการใช้กฎหมายก็ย่อมเบี่ยงเบนหรือผิดพลาดไปจากแนวทางที่ ตั้งความหวังไว้แต่เดิม   

เราจะเปลี่ยนมุมมองและทัศนคติของสังคมอย่างไร?

เวลา พูดถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองของสังคมดูเหมือนว่าเรามักจะนึกถึงการ จัดอบรมสัมมนา จัด Work Shop หรือการให้ความรู้ความเข้าใจต่อสังคมผ่านแบบแผนทางการต่างๆ แต่อย่างไร กระบวนการดังกล่าวอาจเป็นสิ่งไม่เพียงพอที่จะทำให้สังคมเกิดการปรับเปลี่ยน ทัศนคติจากเดิม เพราะมนุษย์แต่ละคนนั้นล้วนต้องผ่านการกล่อมเกลาทางสังคมมาตั้งแต่ยังเป็น เด็กจนเติบใหญ่ ที่ทำให้มุมมองและความคิดจำนวนหนึ่งถูก “ฝังแน่น” จนกลายเป็นสำนึกอยู่ในหัว ในแง่นี้การจะ “เซาะ” เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของมนุษย์จึงมิอาจทำด้วยการอบรมและการให้ความรู้แค่ เพียงครั้งหรือสองครั้ง (หรือแม้แต่นับสิบครั้ง)

การปรับเปลี่ยน ทัศนคติและมุมมองทางสังคมโดยการมีส่วนร่วมที่เกิดจากความสนใจและความสมัครใจ หรือเป็นกระบวนการที่กระทำอย่างไม่รู้ตัว จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีความน่าสนใจ โดยถึงแม้แนวทางในลักษณะนี้อาจยากที่จะวัดผลสัมฤทธิ์หรือเกิดขึ้นในเวลาอัน รวดเร็วทันตาเห็น หากแต่เป็นกระบวนการที่จะทำให้สังคมมีทัศนคติและปรับเปลี่ยนมุมมองต่อกลุ่ม คนพิการและ “คนอื่น” ได้ดียิ่งขึ้น  กระบวนการดังกล่าวนี้สามารถกระทำได้หลากหลายแนวทาง เช่น การสอดแทรกมุมมองที่เปิดกว้างต่อคนทั้งมวลลงไปในสื่อประเภทต่างๆ ที่จะมีส่วนช่วยในการให้คนสังคมค่อยๆ เปลี่ยนมุมมองหรือการเปิดพื้นที่ให้กับคนพิการ เป็นต้น

จากที่กล่าว มา ศิลปะเพื่อความพิการ ดูจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ในหลายประเทศเพื่อให้สังคมคุ้นชินและ ปรับเปลี่ยนมุมมอง/ความเข้าใจต่อคนพิการในฐานะกลุ่มคนที่มีความเท่าเทียมและ สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเสมอภาคกัน
   
ศิลปะเพื่อความพิการและการสร้างสังคมเพื่อคนทั้งมวล

ใน ที่นี้เราอาจให้ความหมายของ “ศิลปะ” ด้วยนิยามที่กว้างที่สุดอันหมายถึงผลงานการออกแบบและสร้างสรรค์ของมนุษย์ อันมีขอบเขตตั้งแต่ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพยนตร์ ภาพเคลื่อนไหว สื่อโฆษณา ดนตรี จนถึงเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ

แต่เดิมนั้นการปรากฎของ “ความพิการ” ใน “ศิลปะ” โดยเฉพาะในโลกตะวันตกดูจะสะท้อนให้เห็นภาพของกลุ่มคนพิการหรือความพิการซึ่ง ถ้าไม่เป็น “ตัวตลก” ก็แสดงให้เห็นถึง “ความป่วยไข้” หรือ “ความตกต่ำ” อย่างหนึ่งของสังคม รวมถึงเป็นกลุ่มคนที่ “ประหลาด” และ “แยกขาด” จากสังคมส่วนใหญ่ โดยที่กลุ่มคนพิการแทบไม่สามารถต่อรองในการนำเสนอภาพตามที่ต้องการได้ เพราะภาพหรือความหมายเหล่านี้ได้ถูกฝังแน่นในสังคมจนทำให้เกิดการกีดกันคน พิการออกไปจากการถกเถียงในพื้นที่สาธารณะ ในทางเดียวกันแม้ “ศิลปะ” บางประเภทจะไม่กีดกันคนพิการจากสังคม หากแต่ดูเหมือนว่าก็มิได้เปิดพื้นที่หรือเอื้อให้แก่การใช้ชีวิตสำหรับคน พิการและความพิการ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องดนตรีหรือเครื่องเล่นที่ทั้งหมดล้วนสร้างสรรค์ขึ้นบนฐานคิดที่ตอบ สนองความต้องการของสังคมส่วนใหญ่

ภาพของความพิการที่ปรากฏใน “ศิลปะ” เหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นความเชื่อมโยงและปฏิสัมพันธ์ระหว่าง “ภาพเสนอ” ผ่าน “ศิลปะ” กับความคิดทางวัฒนธรรม และสังคมการเมืองที่มีต่อคนพิการ ซึ่งความคิดดังกล่าวนี้ดูจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นหลังจาก ทศวรรษ 1960 ที่มีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในหลายประเทศ (และระดับโลก) ที่เรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มคนอื่นที่ถูกเบียดบังและกีดกันไปจากสังคมส่วน ใหญ่

ในแง่นี้ส่งผลให้เริ่มมีการสร้างนิยามของคนพิการขึ้นมาใหม่ ผ่านเครื่องมือกลไกทางสังคมหลากหลายชนิด รวมถึง “ศิลปะ” ในหลากหลายแนวทางที่มีความมุ่งหมายในการเข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์และการมีส่วน ร่วมจากคนส่วนใหญ่สังคมให้คุ้นเคยกับ “ความพิการ” และกลุ่มคนพิการ อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติและจินตนาการต่อคนพิการใหม่ ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมที่สามารถใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคกับคน อื่นๆ ได้หากเงื่อนไขทางสังคมเอื้ออำนวยและเปิดกว้าง มิใช่กลุ่มคนที่มีความผิดปกติหรือเป็นภาระทางสังคมที่จะคอยรับแต่ความช่วย เหลือหรือต้องกีดกันออกไปอยู่ในพื้นที่เฉพาะใหม่ดั่งความเข้าใจในอดีต

และ นอกจากศิลปะเพื่อความพิการจะเป็นการสร้าง/ปรับเปลี่ยนนิยามและทัศนคติของ สังคมต่อการอยู่ร่วมของคนพิการแล้ว ในอีกมุมหนึ่งในกระบวนการทำงานทางศิลปะเพื่อความพิการในหลายโครงการที่ปรากฏ ในหลายประเทศยังได้แสดงให้เห็นถึงผลจากการทำงานที่ส่งต่อไปยังการเปิดมุมมอง ใหม่ รวมถึงความรู้ความเข้าใจของบรรดาศิลปินและผู้ทำงานศิลปะต่อคนพิการและความ พิการอีกด้วย

เมื่อภาพและการรับรู้เกี่ยวกับคนพิการและความพิการจาก งาน “ศิลปะเพื่อความพิการ” ได้รับความสนใจ การกล่าวถึง และการกล่าวซ้ำจากคนในสังคมก็ดูจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงทัศนคติและความเข้าใจของสังคมทั้งมวลต่อคนพิการเพิ่มมากขึ้นและ หยั่งรากลึกลงเรื่อยๆ อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมโยงและรองรับกับนโยบาย กฎระเบียบและกฎหมายสำหรับการอยู่ร่วมของคนพิการในสังคมให้เกิดประสิทธิผลตรง ตามที่ผู้เชี่ยวชาญและองค์กรขับเคลื่อนจำนวนหนึ่งได้มุ่งหวังเอาไว้

สำหรับ สังคมไทย แม้ “ศิลปะเพื่อความพิการ” จะเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมและเพิ่งได้รับการขับเคลื่อนอย่างจริง จังเมื่อไม่นานมานี้ หากแต่ก็ดูเหมือนจะฉายให้เห็นดวงไฟแห่งความหวังในการสร้างพื้นฐานของสังคม เพื่อรองรับกับข้อปฏิบัติเพื่อคนพิการต่าง ๆ ที่ได้รับการขับเคลื่อนจนประกาศใช้อย่างเป็นรูปธรรมในระยะเวลาหนึ่ง

“ศิลปะ เพื่อความพิการ” จึงเป็นเครื่องมือหรือกลไกอันสำคัญอันหนึ่งในการสร้างนิยาม ความคิด และทัศนคติของคนในสังคมให้รองรับการสร้าง “สังคมเพื่อคนทั้งมวล” และเป็นพื้นฐานทางวัฒนธรรม และสังคมการเมืองให้สอดคล้องและพร้อมกับการใช้งานแบบแผนทางนโยบายและข้อ กฎหมายในการสร้างสังคมเพื่อคนทั้งมวลต่างๆ

อันอาจเปรียบเปรยได้กับ “ฝนที่ตกลงมาบนภูเขา หากไม่มีต้นไม้ใบหญ้าเป็นพื้นฐานรองรับ น้ำจำนวนมากก็จะไหลลงจากภูเขาอย่างเปล่าประโยชน์ ซ้ำร้ายอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ นานาด้วย ต้นไม้ใบหญ้าที่แม้จะใช้เวลาในการเติบโตจึงมีความสำคัญไม่แพ้ฝนที่สร้างความ ชุ่มชื้นให้กับผืนดิน”


*ตีพิมพ์ครั้งแรกใน จุลสารน้อยก็หนึ่ง ฉบับที่ 17 โดยสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net