รายงาน :ฝันค้างของ กอ.รมน.ภาค 4 เมื่อผู้ต้องหาถอนตัวไม่ใช้มาตรา 21

ศาลจังหวัดนาทวี “ป้าเพย” รำเพย เทพี พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ “เขาวางระเบิดคุณนะ จะยอมให้เขาเข้าอบรมแทนถูกขังไหม” คำถามนี้ถูกนำมาถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายครั้งกว่าที่ “ป้าเพย” หรือนางรำเพย เทพี หญิงชราวัย 76 ปี ผู้ผ่านเหตุการณ์เฉียดตายมาแล้วถึง 2 ครั้ง จากเหตุระเบิดตลาดนัดนิคมเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา หน้าร้านค้าของตัวเอง เป็นคำถามเดียวกับที่นำมาใช้ถามเหยื่อของทั้ง 2 เหตุการณ์นี้อีก 17 ราย เพื่อเปิดทางให้ผู้ต้องหาในคดีนี้ เข้ากระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เหตุระเบิดครั้งแรก เกิดขึ้นช่วงเช้าวันที่ 14 มิถุนายน 2553 บริเวณปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญภายในตลาดนัดนิคมเทพา หมู่ที่ 3 ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ทหารพรานบาดเจ็บ 2 นาย ชาวบ้านอีก 3 คน ครั้งที่ 2 เป็นมอเตอร์ไซค์บอมบ์ เกิดขึ้นเช้าวันที่ 2 เมษายน 2554 บริเวณใต้ต้นไม้หน้าร้านขายของชำป้าเพย ห่างจากจุดแรกไม่เกิน 10 เมตร สะเก็ดระเบิดพุ่งเข้าใส่หน้าป้าเพย เศษซากสิ่งของกระจัดกระจาย แผงตั้งขนมขายพังไปเป็นแถบ อาคารบ้านเรือนเสียหายไปบางส่วน พวกทหารพรานที่ยืนอยู่ใกล้ๆ กับบาดเจ็บไป 6 นาย เช่นเดียวกับชาวบ้านอีก 4 คนที่มาจับจ่ายซื้อของ หลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาคดีความมั่นคงได้ 8 คน ในจำนวนนี้ 4 คนคือ นายมะซับรี กะบูติง นายซุบิร์ สุหลง นายสะแปอิง แวและ และนายอับริก สหมานกูด มีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอเทพาและอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา อันเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ร่วมกับอีก 2 อำเภอของสงขลา คือ อำเภอจะนะและอำเภอนาทวี มาตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2552 ผู้ต้องหา 4 คนนี้ จึงถูกนำเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เข้ารับการอบรมแทนการถูกดำเนินคดี มาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุว่า ผู้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือที่พนักงานสอบสวนแล้วปรากฏว่า ผู้นั้นกระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวน พร้อมทั้งความเห็นไปให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ถ้าผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ก็ให้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการนำเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน และปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาลกำหนดด้วยก็ได้ โดยให้ศาลสั่งได้ต่อเมื่อผู้ต้องหายินยอมเข้ารับการอบรม และปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว เมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นอันระงับไป ทว่า ในกรณีนี้การดำเนินกระบวนการตามมาตรา 21 ต้องสะดุดลง เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ซึ่งเป็นชุดแรกของภาคใต้ ที่ยินยอมเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ขอถอนตัวต่อศาลจังหวัดนาทวี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่ศาลนัดผู้ต้องหาทั้ง 4 คน มายืนยันว่าจะเข้าอบรมตามตรา 21 หรือไม่ การขอถอนตัวดังกล่าว สร้างความปั่นป่วนให้เจ้าหน้าที่จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รวมถึงนายกิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เนื่องจากคาดหวังกับการเข้าอบรมของผู้ต้องหาชุดแรกมาก แม้ศาลจังหวัดนาทวี ให้โอกาสกลับไปคิดใหม่ แต่ในวันที่ 23 มกราคม 2555 ทั้ง 4 คน ก็ยังยืนยันต่อศาลเช่นเดิมว่า จะถอนตัวและพร้อมสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเทพา เข้าควบคุมตัวทันที ท่ามกลางการคัดค้านของนายกิจจา อาลีอิสเฮาะ และนายสิทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ ทนายความ เนื่องจากทั้ง 4 คนได้รับการประกันตัวมาก่อนหน้านั้นแล้ว พนักงานสอบสวนนำผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ส่งตัวให้อัยการจังหวัดนาทวี ที่สำนักงานอัยการจังหวัดนาทวี พนักงานอัยการจังหวัดนาทวีนัดส่งผู้ต้องหาทั้ง 4 คนฟ้องศาลจังหวัดนาทวี ในวันที่ 6 มีนาคม 2555 ก่อนจะปล่อยตัวไป ทว่า อัยการจังหวัดนาทวีได้ขอเลื่อนส่งฟ้องศาลไปเป็นวันที่ 19 เมษายน 2555 โดยฝ่ายทหารยังคงพยายามขอร้องให้ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน เข้าสู่กระบวนการมาตรา 21 เปิดกระบวนการถามเหยื่อให้ยินยอม การเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน เริ่มตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2554 ศูนย์รับรายงานตัวตามมาตรา 21 ที่หน่วยเฉพาะกิจสงขลา ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา รับการรายงานตัวของทั้ง 4 คน จากนั้นกรณีของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ก็ถูกนำเข้าสู่พิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 21 รวม 4 ชุด ชุดแรกคือ คณะกรรมการรับรายงานตัว ที่จะพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้น ชุดที่ 2 คือคณะกรรมการสอบสวนพิเศษ เพื่อตรวจสอบว่า ผู้ต้องหามีหมายจับในท้องที่อื่นที่มิได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือไม่ กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือไม่ และเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือไม่ หากไม่เข้าเงื่อนไขเหล่านี้ แม้เพียงข้อเดียว ก็หมดสิทธิเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ทันที ผลการสอบสวนของคณะกรรมการชุดนี้ พบว่ามีผู้เสียหายจากการกระทำผิดของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน จำนวน 29 ราย จากทั้งหมด 9 คดี รวมถึงเหตุลอบวางเพลิงเผาโรงเรียนบ้านควนหรัน ตำบลเปียน อำเภอสะบ้าย้อย เมื่อปี 2550 ชุดที่ 3 ถือเป็นชุดสำคัญและต้องดำเนินการควบคู่กับคณะกรรมการสอบสวนพิเศษ นั่นคือคณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดีและชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งมีผู้นำชาวบ้านในพื้นที่เกิดเหตุและถิ่นที่อยู่ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย หน้าที่หลักๆ คือ การสอบถามผู้เสียหายว่า จะยอมให้ผู้ต้องหาเข้าอบรมแทนถูกขังหรือไม่ เพื่อประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคง เป็นการให้โอกาสกลับตัว เนื่องจากไม่ได้ทำผิดเพราะโกรธแค้นผู้เสียหาย แต่เป็นเพราะหลงผิด คณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดีและชดเชยค่าเสียหาย ยังให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายด้วยจำนวนหนึ่ง บวกกับหาทางช่วยเหลือในเรื่องอื่นๆ ที่จำเป็นเร่งด่วน นายพีระวัส ณ ตะกั่วทุ่ง ปลัดอำเภอเทพา ในฐานะรองประธานคณะกรรมการช่วยเหลือด้านคดีและชดเชยค่าเสียหาย ระบุว่าเป็นเรื่องยากมากกว่าจะเจรจาต่อรองให้ผู้เสียหายหรือญาติยินยอม เพราะยังมีความโกรธแค้นอยู่ แต่ทั้งหมดก็ยอมหลังจากคุยกันเพียง 2 ครั้ง ยกเว้นป้าเพยหรือนางรำเพย เทพี อายุ 76 ปี เจ้าของร้านเทพีการค้า ตลาดนิคมเทพา ตำบลท่าม่วง “คณะกรรมการต้องคุยกับป้าเพยหลายครั้ง กระทั่งลูกๆ ต้องมาช่วยพูดเกลี้ยกล่อมด้วย กว่าป้าเพยจะยินยอม” นายพีระวัส ระบุ ขณะที่ป้าเพยเอง ก็บอกว่าที่ยินยอมเพราะลูกหลานมาขอ เหตุที่ไม่ยอมในตอนแรก เพราะไม่มั่นใจว่าถ้าให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แล้วจะมีคนไม่พอใจลอบทำร้ายอีกหรือไม่ และใครจะคุ้มครองความปลอดภัยให้ เมื่อผู้เสียหายทั้งหมดยินยอมแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดที่ 4 คือคณะกรรมการกลั่นกรองผู้เข้ารับการอบรมตามมาตรา 21 ที่จะตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้ง จากนั้น คณะกรรมการชุดที่ 4 ส่งเรื่องให้พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) อนุมัติให้พนักงานอัยการจังหวัดนาทวี ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนาทวีขอให้ศาลสั่งให้เข้ารับการอบรมได้ เสียจากผู้ต้องหา“ทำไมต้องถอนตัว” ผู้ต้องหาหนึ่งใน 4 คน เล่าว่าถูกจับข้อหาวางระเบิดตลาดสดสะบ้าย้อย และถูกเจ้าหน้าที่ทุบตีหลายครั้งเพื่อให้รับสารภาพ แรกๆ ก็ทนได้ แต่พอโดนหลายครั้งเข้าก็ทนไม่ไหว จึงต้องยอม เจ้าหน้าที่บอกว่ามีหลักฐานมัดตัวชัดเจน หนีไม่พ้นแน่นอน จึงขอเข้ามาตรา 21 ส่วนผู้ต้องหาอีก 3 คน ระบุตรงกันว่า ทราบว่าหากเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 จะใช้เวลาอบรมเพียง 6 เดือน ความผิดจะถูกลบล้างไป แต่ไม่ทราบขั้นตอนเป็นอย่างไร และต้องทำอะไรบ้าง ทราบแต่เพียงว่าจะมีการอบรมศาสนาด้วย “รู้สึกไม่มั่นใจตั้งแต่เริ่มเข้ากระบวนการแล้ว ยิ่งเมื่อรู้ในภายหลังว่า ต้องเป็นพยานชี้ตัวคนอื่นด้วยก็ยิ่งไม่มั่นใจ จนกระทั่งได้ปรึกษากับทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ทนายแนะบอกว่า หลักฐานที่มีอยู่ไม่สามารถเอาผิดได้ เราจึงถอนตัวจากมาตรา 21 เพื่อมาสู้คดีและคิดว่าสู้ได้” ผู้ต้องหาคนหนึ่ง ระบุ ผู้ต้องหาคนเดิมอธิบายว่า ผู้ที่เข้าอบรมตามมาตรา 21 ต้องรับสารภาพ ถ้าไม่ได้ทำผิดแล้วรับสารภาพเพื่อเข้าอบรม คนอื่นก็จะเข้าใจว่า เป็นคนร้ายตลอดไป ถ้าหากสู้คดีแล้วศาลตัดสินว่าไม่ผิด คนอื่นก็ได้รู้ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้าศาลตัดสินว่าผิด ก็จะได้รู้ไปเลยว่าผิดจริง “ถึงตอนนี้ผมขอเลือกใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ” นั่นคือคำยืนยันจากผู้ต้องหาคนเดิม เปิดข้อหา 4 ผู้ต้องหาถอนตัวมาตรา 21 สำหรับข้อหาที่ผู้ต้องหาทั้ง 4 คนได้รับ ดังนี้ นายอับริก ที่เคยเป็นครูสอนศาสนาอิสลามในโรงเรียนบำรุงศาสน์วิทยา อำเภอสะบ้าย้อย ถูกตั้งข้อหาเป็นผู้ปลุกระดมคนให้เข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ และเป็นผู้นำซุมเปาะห์ (สาบานตน) ผู้เข้าร่วมขบวนการรายใหม่ นายสะแปอิง และนายมะซับรี มีส่วนร่วมในคดีลอบวางระเบิดตลาดสดสะบ้าย้อย โดยมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดที่เห็นทั้งสองคนซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือที่ใช้จุดชนวนระเบิด เหตุเกิดเมื่อต้นปี 2553 นายซอบิร์ ถูกตั้งข้อหาเป็นคนดูต้นทางในเหตุลอบวางระเบิดตลาดนัดนิคมเทพา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 เหยื่อเซ็งหาทนายฟ้องเรียกค่าเสียหาย ส่วนกลุ่มผู้เสียหายจากเหตุลอบวางระเบิดตลาดนัดนิคมเทพากว่า 20 คน นำโดยนางพรทิพย์ พันธุ์เล็ก ได้เดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร พบนายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ ที่สภาทนายความ ถนนราชดำเนิน เพื่อขอให้แต่งตั้งทนายความยื่นขอเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการจังหวัดนาทวี ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ต้องหาในคดีนี้ นางพรทิพย์ ระบุว่าการเข้าอบรมตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ของผู้ต้องหาทั้ง 4 คน เป็นความยินยอมร่วมกันระหว่างผู้ต้องหาและผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้ต้องหากลับตัวกลับใจ โดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายชดเชย “เมื่อผู้ต้องหาทั้ง 4 คน กลับคำให้การและปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบวางระเบิด พวกเราเกรงว่า ผู้ต้องหาจะหลุดคดี จึงต้องการให้สภาทนายความช่วยเหลือ” นายสัก รับเรื่องไว้พิจารณาและยืนยันจะแต่งตั้งทนายความอาสาเข้าไปดำเนินการ 2 รายใหม่ขอเข้ามาตรา 21 การถอนตัวจากมาตรา 21 ของผู้ต้องหาทั้ง 4 คนดังกล่าว ใช่ว่าจะทำให้การนิรโทษกรรมตามกฎหมายฉบับนี้ต้องแท้งไป เพราะยังผู้ต้องหารายใหม่ 2 คน ที่ยอมมอบตัวและสมัครใจเข้าอบรมตามมาตรา 21 คือ นายรอยาลี บือราเฮง อายุ 25 ปี ชาวตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และนายยาซะ เจะหมะ อายุ 25 ปี ชาวตำบลคูหา อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา นายรอยาลี ถูกตั้งขอหาว่ามีส่วนร่วมโจมตีฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองหมู่บ้านเกาะแลหนัง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เหตุเกิดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2554 เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนเสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บ1 นาย ส่วนนายยาซะ ถูกตั้งข้อหาใช้ปืนยิงนายสุชาติ อุดม อายุ 45 ปี บาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดริมถนนสายสะบ้าย้อย–คูหา หมู่ที่ 1 ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 พล.ต.ธฤทธิ์ สุนทร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา ระบุว่าใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ยังมีผู้ต้องหาที่เข้าข่ายสามารถดำเนินการตามมาตรา 21 อีก 25 คน เป็นผู้ที่ถูกออกหมายจับมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งเจ้าหน้าที่ขอให้ออกมารายงานตัวเข้ารรับกอบรมแทนการถูกดำเนินคดี แต่ยังไม่มีใครออกมา พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 เจ้าหน้าที่จับกุมผู้บังคับบัญชาของผู้ต้องหาทั้ง 4 คนได้ ที่อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ถ้าต้องการเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ได้ก็จะดี การบังคับใช้มาตรา 21 เป็นเครื่องมือหนึ่งในการดึงคนออกจากขบวนการก่อความไม่สงบ การที่ผู้ต้องหาทั้ง 4 คน เลือกที่จะสู้คดีเป็นสิทธิที่เลือกได้ กองทัพไม่ได้รู้สึกเสียหน้า อย่างน้อยสังคมก็เห็นแล้วว่า รัฐได้พยายามแล้ว “รัฐพยายามยื่นทางออกให้พวกเขาอยู่ นี่คือวิธีสร้างความประดองในสังคม หากกระบวนการตามมาตรา 21 ทำให้สังคมสงบได้ รัฐก็พร้อมให้ทุกคนเข้ากระบวนการ” เป็นถ้อยยืนยันจากปากของ “พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” มาตรา 21 เปิดทางนิรโทษกรรมขบวนการป่วนใต้ มาตรา 21 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ระบุว่า ภายในเขตพื้นที่ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ กอ.รมน. ดำเนินการตามมาตรา 15 หากปรากฏว่าผู้ใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด แต่กลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าผู้นั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึง การณ์และการเปิดโอกาสให้ผู้นั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร ในการนี้ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนของผู้ต้องหานั้น พร้อมทั้งความเห็นของพนักงานสอบสวนไปให้ผู้อำนวยการ ในกรณีที่ผู้อำนวยการเห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวนให้ส่งสำนวนพร้อม ความเห็นของผู้อำนวยการให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล หากเห็นสมควรศาลอาจสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ผู้อำนวยการเพื่อเข้ารับ การอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือนและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นที่ศาล กำหนดด้วยก็ได้ การดำเนินการตามวรรคสอง ให้ศาลสั่งได้ต่อเมื่อผู้ต้องหานั้นยินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว เมื่อผู้ต้องหาได้เข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดดังกล่าวแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหานั้นเป็นอันระงับไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท