Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อสามปีที่แล้วมีการสำรวจพบว่าคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมากเป็นอันดับที่ 8 จากจำนวนทั้งหมด 10 ประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตกอกตกใจและอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ในปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชนต้องออกมาประโคมข่าวเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การเตรียมการที่ผ่านมาและที่พยายามทำกันอยู่ มักจะเป็นการเตรียมความพร้อมทาง “เทคนิค” คือพยายามเพิ่มเทคนิค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับแรงงานภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มภาษาที่สามให้กับนักเรียนนักศึกษา การปรับตารางการเปิด-ปิดภาคเรียนให้สอดคล้องกับสากล แรงงานของเราจะได้ไปแข่งขันกับแรงงานเพื่อนบ้านได้สะดวกขึ้น หรือการเปิดสาชาวิชาใหม่ๆ ที่คาดว่าจะขยายตัวและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอาเซียน เป็นต้น

แน่นอนว่าการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นและสมควรทำ (โดยผ่านการถกเถียงถึงข้อดี-ข้อเสีย) แต่ผู้เขียนคิดว่ามีเรื่องสำคัญมากเรื่องหนึ่งที่สังคมไทยยังไม่ได้คิดและไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมันเท่าไหร่นัก นั่นคือการเปลี่ยนแปลง “จินตนาการ” หรือทัศนคติของเราที่มีต่อตนเองและต่อประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน

ลักษณะเฉพาะของ “คนไทย” ที่เด่นชัดมากอย่างหนึ่งคือ ความหลงตัวเอง การยกยอปอปั้นตัวเอง หลงคิดว่าเราเป็น “เบอร์หนึ่ง” เราเป็น “ผู้นำ” และดีกว่าใครในอาเซียน เราเป็นเผ่าพันธุ์พิเศษ เรามีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนชาติใดในโลก เราไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร เรามีศิลปวัฒนธรรมอันเลอเลิศ เราชอบนึกว่าเรา “ไหว้” เป็นอยู่ชาติเดียวทั้งๆ ที่คนอื่นเขาก็ไหว้กันทั่วไปเกือบทั้งเอเชียอาคเนย์ ฯลฯ มายาคติเหล่านี้ถูกปลูกฝังในหัวของเราอย่างเหนียวแน่น โดยไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม                

มายาคติดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่การเผชิญหน้ากับการเข้ามาของเจ้าอาณานิคมตะวันตกได้บีบบังคับให้ชนชั้นนำสยามในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทำการปฏิรูปประเทศขนานใหญ่ เกิดการปรับตัวในหลายมิติ ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวได้นำไปสู่การสร้าง “รัฐชาติสมัยใหม่” และเมื่อมีรัฐชาติแบบใหม่แล้ว ชนชั้นนำสยามก็จำเป็นที่จะต้องสร้าง “ตัวตน” และ “อัตลักษณ์” ของชาติไทยขึ้นมาใหม่ด้วย                

คำถามสำคัญที่ชนชั้นนำสยามในสมัยนั้นต้องเผชิญและจำเป็นต้องตอบกับตนเองและเจ้าอาณานิคมตะวันตกก็คือ เราเป็นใคร เรามีอะไร อะไรบ้างที่เราควรจะเก็บรักษาไว้ อะไรบ้างที่ควรปรับเปลี่ยนให้ศิวิไลซ์มากขึ้น และอะไรบ้างที่ควรจะละทิ้งไปเสีย                

ต่อคำถามดังกล่าว ได้ทำให้เกิดการออกเดินทางสำรวจพื้นที่ต่างๆ ในดินแดนที่ห่างไกลโดยชนชั้นนำสยาม ในช่วงนี้จึงเกิดบันทึกการเดินทาง รายงานการสำรวจและการจดบันทึกลักษณะทางภูมิประเทศ ลักษณะรูปร่างหน้าตา วัฒนธรรม และสภาพวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่ห่างไกลในสยามประเทศขึ้นมามากมาย                

ในกรณีเจ้าอาณานิคมตะวันตก การศึกษาหาความรู้ทางสังคมวัฒนธรรมของดินแดนอาณานิคม เป็นไปเพื่อที่จะทำให้การปกครองสะดวกขึ้น และการศึกษาจะอยู่ในลักษณะที่มองชาวตะวันออกเป็น “คนอื่น” ที่มีความเจริญ มีความศิวิไลซ์น้อยกว่าตนเอง ดังนั้น ชาวตะวันตกจึงมีภารกิจในการเผยแพร่อารยะ สร้างความศิวิไลซ์ให้แก่ชาวตะวันออกที่ล้าหลังและป่าเถื่อนให้มีความเจริญมากขึ้น                

แต่ในกรณีของชนชั้นนำสยามนั้น “คนอื่น” ที่ล้าหลังกว่ามิใช่ผู้คนในดินแดนอาณานิคมอันห่างไกล แต่กลับเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในขอบขัณฑสีมาและอาณาจักรโดยรอบที่ทยอยตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก                

ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินในขอบขัณฑสีมาถูกแบ่งเป็นชาวกรุง ชาวบ้านนอก และชาวป่าที่มีระดับความศิวิไลซ์แตกต่างกัน โดยที่ชนชั้นนำสยามได้ถือเอาวัฒนธรรมของตนเองและชาวกรุงเป็นตัวตัวแทนของความเป็นไทย เป็นผู้อยู่เหนือกว่า ดีกว่า เจริญกว่า จึงต้องเป็นผู้เผยแพร่ความศิวิไลซ์ คอยคุ้มครองดูแลให้ชาวบ้านและชาวป่าอยู่เย็นเป็นสุข ทัศนคติเช่นนี้ยังคงฝังลึกอยู่ในความคิดของ “ชาวเมือง” ในปัจจุบัน เพราะเรายังชอบมองว่าชาวบ้านโง่ ไม่มีความรู้ ขาดการศึกษา จึงโดนนักการเมืองหลอก และพึ่งตนเองไม่ได้                

สำหรับกรณีประเทศเพื่อนบ้าน การที่สยามไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตกถูกใช้เป็นเหตุผลสำคัญในการยกยอปอปั้น หลอกตัวเอง และดูถูกเหยียดหยามประเทศอื่นๆ รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นญวน เขมร ลาว หรือพม่า ดินแดนเหล่านี้ถูกสร้างเป็น “คนอื่น” ที่มีความเจริญรุ่งเรืองน้อยกว่าสยาม จึงต้องตกเป็นเมืองขึ้นของตะวันตก ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะขับเน้นความรักและความภาคภูมิใจให้กับผู้คนภายในชาติของตนเอง เพราะหากไม่มี “คนอื่น” ที่แย่กว่า ก็ไม่มีทางตระหนักได้เลยว่าเมืองไทยของ “เรา” นี้ดีและยิ่งใหญ่เพียงใด                

ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เมื่อนึกถึงประเทศเพื่อนบ้านเราก็จะนึกถึงภาพค่อนข้างติดลบหรือภาพที่ไม่ค่อยดีมาโดยตลอด พม่าถูกทำให้กลายเป็นศัตรูถาวรประจำชาติ ในขณะที่ลาวกลายเป็นบ้านพี่เมืองน้อง (แต่เราต้องเป็นพี่) ที่ยังด้อยพัฒนาและล้าหลัง ยังคงวัฒนธรรมที่เรียบง่าย น่ารัก ลาวจึงเป็นภาพตัวแทนของ “ชนบท” ที่เกิดมาจากอารมณ์โหยหาอดีตของชนชั้นกลางในเมืองไทย (ขบวนการทางการเมืองของมวลชนคนเสื้อแดง อาจกำลังท้าทายและทำลายภาพฝันที่ “ชาวเมือง” มีต่อ “ชนบท” อยู่ก็เป็นได้) ส่วนเขมรและเวียดนามนั้นกลายเป็นประเทศที่เลี้ยงไม่เชื่อง ชอบแข็งข้อและลอบกัดเราอยู่เนื่องๆ                

ต่อมาในยุคสงครามเย็น เรามองประเทศเพื่อนบ้านอย่างหวาดระแวงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของคอมมิวนิสต์ เราถูกสอนให้มองผู้คนต่างชาติที่ลี้ภัยทางการเมืองเข้ามาอยู่อาศัยตามตะเข็บชายแดนอย่างระแวดระวัง เรามองคนเหล่านี้ด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจ มองว่ามาแย่งงานของคนไทยบ้างล่ะ มองว่าคนเหล่านี้ป่าเถื่อนดุร้ายบ้างล่ะ มองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหายาเสพติดบ้างล่ะ มองว่ามาก่อความไม่สงบบ้างล่ะ จนมองไปถึงขั้นที่ว่าผู้คนเหล่านี้บางกลุ่มแฝงตัวเข้ามาเพื่อก่อความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศของเรา (มีคำอธิบายเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าพวกนักศึกษาที่ถูกล้อมฆ่าไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนญวนซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์แฝงตัวเข้ามา)                

จินตนาการต่อประเทศเพื่อนบ้านเช่นนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการถักทอความสัมพันธ์อันดีระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพราะเราจะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพม่าได้เลย หากเรายังมองว่าเขาเป็นศัตรูประจำชาติ หรือเราจะสัมพันธ์กับลาวได้อย่างไร หากเรายังมองว่าลาวเป็นลูกน้องที่ต้องด้อยกว่าเราอยู่เสมอ เราจะสัมพันธ์กับเขมรและเวียดนามได้อย่างไร หากเรายังมองเขาอย่างหวาดระแวงและมองว่าไม่น่าไว้วางใจ ฯลฯ

หากเรายังจมอยู่กับจินตนาการแบบนี้ ตลาดแรงงานเสรีอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นก็จะไม่มีประโยชน์ใดเลย เพราะพวกเราคงยินดีที่จะไปเป็นแรงงานไร้ฝีมือราคาถูกในดินแดนที่เราคิดว่ามีอารยะ มากกว่าที่จะไปเป็นแรงงานมีฝีมือในดินแดนที่เรามองว่าด้อยพัฒนาและล้าหลัง (เยาวชนไทยจำนวนมากคงสนใจที่จะไปเป็นเด็กยกกระเป๋า เด็กเสิร์ฟ เด็กล้างจานในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ ผ่านโครงการ work & travel มากกว่าการไปเป็นครูฝึกสอน หรือเป็นพยาบาลฝึกงานในพม่า ลาว หรือเขมร เป็นต้น)

จินตนาการของเราต่อประเทศเพื่อนบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเรายังไม่ยอมปรับเปลี่ยนทัศนคติที่หลงคิดว่าเราดีกว่าใครในอาเซียน ความสัมพันธ์แนวระนาบระหว่างประเทศอาเซียนก็ยากที่จะเกิดขึ้น เพราะเมื่อเราหลงตัวเอง ดูถูกเพื่อนบ้าน มันก็ยากที่เราจะจินตนาการว่าลาว มอญ พม่า เวียดนาม เขมร เป็น “ชาวอาเซียน” เหมือนอย่างเรา เพราะเราเป็นเหมือนคนอื่นไม่ได้ เราต้องพิเศษกว่า เราต้องดีกว่าทุกชาติในอาเซียน ดังนั้น ปัญหาที่รอรับการแก้ไขจึงไม่ใช่เพียงแค่เรื่องทาง “เทคนิค” เท่านั้น แต่เราต้องรีบปรับเปลี่ยน “จินตนาการ” ของเรา เพราะถ้าเรายังจมปลักอยู่กับจินตนาการแบบชาตินิยมอันคับแคบ “ความเป็นอาเซียน” ก็คงไม่เกิด หรือถึงเกิดเราก็จะตักตวงผลประโยชน์จากประชาคมนี้ได้ไม่เต็มที่ ประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม จินตนาการต่อตนเองและเพื่อนบ้านแบบเดิมๆ จึงต้องถูกท้าทาย ต้องถูกตั้งถาม มิเช่นนั้นแล้วต่อให้เราเพิ่มวิชาสังคมศึกษาเกี่ยวกับประเทศอาเซียนอีกกี่สิบกี่ร้อยวิชาก็ป่วยการและรังแต่จะสร้างปัญหาให้มันมากยิ่งๆ ขึ้นไป 

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net