Skip to main content
sharethis

แฟ้มภาพประชาไท 11 มี.ค.55 ในงานประชุมวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ระดับปริญญาตรี จุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ – เกษตร ครั้งที่ 1 รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ จากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปาฐกถาปิดงานเรื่อง “กระบวนทัศน์ใหม่ในมนุษย์ศาสตร์” โดยเริ่มต้นกล่าวถึงการจัดนำเสนอทางวิชาการร่วมกันของนักศึกษาในครั้งนี้ว่าเป็นสิ่งน่าทำมากกว่าพิธีรับปริญญาบัตร ซึ่งจัดกันใหญ่โตเหมือนเด็กฝรั่งที่จบไฮสคูล และการจัดงานครั้งนี้เป็นความหมายของ “บัณฑิต” ที่แท้จริง ที่ผ่านมาเคยคุยกับอาจารย์นพพร ประชากุล ถึงความล้มเหลวของการศึกษาไทย ซึ่งล้มเหลวหนักในช่วงการปฏิรูปการศึกษาว่า สมมติฐานหนึ่งที่อาจเหมือนทฤษฎีสมคบคิดคือ เป็นความจงใจของผู้ปกครองหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ต้องการให้นักศึกษาคิดไม่เป็น ปัญญาอ่อน เพราะรู้แล้วว่าเมื่อนักศึกษาคิดเป็น และกล้าคิด มันทำให้เกิดการล้มครืนของระบอบเผด็จการทหาร จึงทำให้เกิดกระบวนการการทำให้เป็นทารก เป็นเด็กอยู่ร่ำไป อาจเรียกได้ว่า ทารกภิวัตน์ (ทา-ระ-กา-พิ-วัด) ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของสังคมโดยรวมทั้งหมด ชูศักดิ์ กล่าวว่า แม้การจัดงานครั้งนี้จะเป็นก้าวสั้นๆ ของนักศึกษาเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต แต่ก็เป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญ หัวข้อที่น่าสนใจสำหรับการก้าวกระโดดทางปัญญาของนักศึกษาเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่อง กระบวนทัศน์ใหม่ในมนุษยศาสตร์ ซึ่งมันอาจจะเก่าไปแล้วสำหรับหลายคน แต่เป็นกระบวนทัศน์เก่าที่ยังใหม่อยู่ เขากล่าวว่า การศึกษามนุษยศาสตร์เสาหลักอันหนึ่ง แต่มีเป้าหมายที่ต่างไปเล็กน้อยจากสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เมื่อแรกเริ่มในตะวันตกการศึกษามนุษยศาสตร์ได้รับอิทธิพลโดยตรงจากแนวคิดมนุษยนิยม ซึ่งให้ความสำคัญกับมนุษย์คู่ขนานไปกับพระเจ้า ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นเรื่องท้าทายพอสมควร จุดเปลี่ยนสำคัญที่มีการตั้งคำถามกับมนุษย์ศาสตร์เริ่มขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะในขณะที่มนุษย์ศาสตร์กำลังซาบซึ้งดื่มด่ำในความเป็นมนุษย์ แต่มันกลับไม่สามารถยับยั้งการฆ่าล้างอย่างเป็นระบบได้ ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ มันถูกใช้เป็นเครื่องมือประหัตประหารนั้นเสียเอง ทั้งในเชิงอุดมการณ์และตัวบุคคล มีนักปราชญ์นักคิดหลายคนที่เข้าร่วมอย่างเอาการเอางานกับลัทธินาซีในเยอรมัน ทำให้นักคิด ปัญญาชนหันกลับมาทบทวน ตั้งคำถาม ตรวจสอบองค์ความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ครั้งใหญ่ในหลายแนวหลายสาย โดยเฉพาะแนวคิดโครงสร้างนิยม ซึ่งเป็นการตกผลึกของการหากระบวนทัศน์ใหม่ เป็นปฏิวัติระบบคิด วิธีการวิเคราะห์ใหม่หมด เป็นพื้นฐานของแนวคิดใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น แนวคิดรื้อสร้าง หลังสมัยใหม่ ฯ แนวคิดนี้ไม่ได้เป็นแค่วิธีวิทยาใหม่ แต่ประกาศตนเองว่าเป็นชุดความคิดใหม่ที่อธิบายความสัมพันธ์ของมนุษย์ใหม่ต่างจากที่เคยเชื่อกันมา มันอาจเป็นเรื่องเก่าไปแล้ว แต่มันเป็นเรื่องเก่าที่ใหม่ เพราะโครงสร้างนิยมเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะเข้าใจแนวคิดใหม่ๆ ชูศักดิ์กล่าวถึงพื้นฐานหลักของแนวคิดโครงสร้างนิยมว่า เป็นการเริ่มมองแบบองค์รวม โดยเห็นว่าการจะเข้าใจ อธิบายปรากฏการณ์หนึ่งๆ ไม่อาจมองปรากฏการณ์ต่างๆ ในลักษณะแยกส่วน เพราะระบบความหมายทั้งหมดเกิดจากโครงสร้างความสัมพันธ์ในตัวระบบนั้นที่กำหนดตำแหน่งแห่งที่ และความหมายต่างๆ โครงสร้างที่กำหนดความหมายและความสัมพันธ์ของหน่วยต่างๆ ในระบบไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยการวิเคราะห์ มุ่งมองเชื่อมโยงให้เห็นว่ามันถูกำกับด้วยระบบความสัมพันธ์ชนิดใด วิธีมองแบบนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในการศึกษามนุษยศาสตร์ เขากล่าวว่า นัยยะที่สำคัญมากของโครงสร้างนิยมหรือหลังโครงสร้างนิยม คือ มันเกิดกระบวนการที่หันมาวิพากษ์ตัวมันเอง ไม่ใช่ลักษณะการตั้งคำถามกับวิธีการศึกษา แต่วิพากษ์สถานะ หรือศาสตร์ของมันเอง ซึ่งเกิดขึ้นในหลายๆ วงการ พูดแบบบ้านๆ นักวิชาการช่วงโครงสร้างนิยมได้ดำเนินการ “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” สงสัยแม้แต่ศาสตร์ของตัวเอง กล้าวิพากษ์ตัวเองซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ชูศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า มนุษยศาสตร์มีสปิริตของการวิพากษ์ และเอื้อให้เราสังสรรค์กับความเป็นอื่น เพราะวิธีการศึกษามนุษยศาสตร์ต่างจากศาสตร์อื่น เราไม่ได้เอาความจริงเชิงประจักษ์เป็นคำตอบสุดท้ายให้กับการศึกษา มนุษยศาสตร์ไม่สามารถชี้ผิดถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือให้คำตอบรูปธรรมได้ มันไม่ได้ให้ความสนใจกับคำตอบตายตัว แต่ให้ความสนใจกับกระบวนการเข้าถึงคำตอบ หรือทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเสียมากกว่า การศึกษามนุษยศาสตร์เอื้อต่อสำนึกที่เราอาจเรียกว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือ “ขันติธรรม” การที่เราสามารถไปนั่งในหัวใจคนอื่น คิดและรู้สึกแทนคนอื่นได้ ต้องเผชิญหน้าความเป็นอื่นและเข้าใจความเป็นอื่นได้ วิชามนุษยศาสตร์เป็นประตูที่เปิดให้เราปะทะสังสรรค์กับความเป็นอื่น จะด้วยวิธีการศึกษาใดเล่าที่จะทำให้เราบรรลุขันติธรรมนี้ เพราะแม้มันมีศักยภาพแต่มันก็ล้มเหลวมาแล้วในสงครามโลกทั้งสองครั้ง” “ผมเตรียมเรื่องนี้มานาน ท้ายที่สุด ผมเจอการ์ตูนอันนี้(เรณู ปัญญาดี) ในมติชนสุดสัปดาห์ ... ผมคิดว่ากระบวนทัศน์ใหม่ที่เสนอให้พวกคุณพิจารณา จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวได้อย่างไร จะมีประโยชน์ยังไงกับการมาตั้งคำถามกับความเป็นทรราชย์ของมนุษยนิยมและเหตุผลนิยมอย่างที่พวกโครงสร้างนิยมและโพสต์โมเดิร์นกำลังถกเถียงกันอย่างขะมักเขม้นในโลกตะวันตก ในขณะที่สังคมของเราตกอยู่ภายใต้อุ้งมือของเทวนิยม อวิชชานิยม และบาทานิยม ได้แต่หวังว่าพวกคุณจะร่วมกันคิดต่อไปว่าเราจะก้าวข้าม “บาทานิยม” ที่กำลังครอบคลุมสังคมไทยในขณะนี้ได้อย่างไร “ ชูศักดิ์กล่าวสรุป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net