'งบฯแผ่นดินเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์' จุดเริ่มต้นแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หลังจากอ่านงบประมาณแผ่นดินเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่คุณพุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล กรุณาคัดลอกจากราชกิจจานุเบกษาอย่างน้อย 2 ปีติดกัน เกิดความคิดในใจสองประการ

ประการแรก คิดว่างบประมาณแผ่นดินเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ดูจะมากเกินไปหรือเปล่า

หากไม่นับงบเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ 3,503.5 ล้าน และงบของกรมโยธาฯ 1,010.1 ล้าน งบประมาณรายปีเกี่ยวกับสถาบันฯ เช่น สำนักพระราชวัง 2,795 ล้าน, สำนักเลขาฯนายกฯ 1,558.1, กรมราชองครักษ์ 615.4 ล้าน เป็นต้น อยู่ที่ประมาณ 6,600 ล้าน ซึ่งในความเห็นผม ค่อนข้างมากทีเดียว

เหตุที่ผมแยกงบเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ และงบกรมโยธาฯ ออก เพราะคิดว่างบก้อนนี้ ในที่สุดน่าจะมีผลในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วไปโดยตรง อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อถกเถียงได้ว่า สถาบันฯควรหรือไม่ควรที่จะมีส่วนในการริเริ่มใช้งบจำนวนมาก เพราะ”เงิน” ไม่ว่าอยู่ที่ไหนย่อมมีค่าเสียโอกาส นั่นหมายความว่า ย่อมมีผู้ที่ได้ประโยชน์ต่างกันไป หากใครที่คิดว่าไม่ได้ประโยชน์ จะตำหนิโครงการก็ไม่ได้ เพราะเป็นโครงการพระราชดำริของในหลวง

ประการที่สอง รู้สึกชื่นชมคุณพุฒิพงศ์ที่คัดลอกข้อมูลจากราชกิจจาฯมาเผยแพร่ ราชกิจจาฯผมเข้าใจว่า คือการประกาศใช้กฎหมายอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เปิดเผย แต่คนทั่วไปไม่ทราบหรือทราบก็ไม่ใส่ใจ (อย่างผมถือเป็นทั้ง 2 กรณีทีเดียว) แต่ที่แปลกใจคือ จำนวนคนที่แสดงความเห็นเชิงสร้างสรรค์ต่อข้อมูลมีไม่มากนัก นับแต่ปีที่แล้วที่คุณพุฒิพงศ์ทำอย่างเดียวกัน

ผมไม่เห็นด้วยที่จะกล่าวร้าย ตำหนิ ใครอย่างเสียๆหายๆ โดยส่วนตัวอย่างขาดหลักฐาน ไม่ว่าต่อเพื่อน ญาติ หรือใครๆ รวมทั้งต่อสถาบันฯ

ผมชักชวนให้มีการถกเถียงกันบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เช่นที่คุณพุฒิพงศ์นำเสนอ

เพื่อจะตอบคำถามของตัวเองว่า งบประมาณเกี่ยวกับสถาบันสูงเกินไปหรือไม่อย่างไร ผมจึงพยายามหาข้อเปรียบเทียบ

ข้างล่างนี้จึงเป็นข้อมูลจาก republic.org.uk ซึ่งเป็นที่รวมของผู้มีอุดมการณ์ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ ทั้งในอังกฤษและออสเตรเลีย กลุ่มต่อต้านเพื่อไม่ให้ประเทศมีกษัตริย์ทำได้อย่างถูกกฎหมาย เพียงแต่ยังไม่ชนะ และไม่มีวี่แววจะชนะ โดยเฉพาะในอังกฤษ

 

ค่าใช้จ่ายรวม (เฉพาะจากเงินภาษี ไม่ได้รวมรายได้จากทรัพย์สินส่วนตัว- ผู้เขียน) ของสถาบันฯ ประจำปี 2552-2553

TOTAL COST OF THE MONARCHY 2009-2010

Queen’s Civil List (ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินงานของสถาบันเช่น เช่นเงินเดือนราชบริภาร, รับแขกเมือง) 14.2 ล้านปอนด์

Duke of Edinburg h     400,000 ปอนด์

Property Grant (น่าจะค่าดูแลพระราชวัง) 15.4 ล้านปอนด์

Communications, media and public relations (โฆษณาประชาสัมพันธ์)  400,000 ปอนด์

Travel (เดินทาง)  3.9 ล้านปอนด์

Government Department and Crown Estate  3.9 ล้านปอนด์

Prince Charles and Camilla (additional costs) 500,000 ปอนด์

Lost revenue from Duchy of Lancaster (ไม่มีความรู้ ไม่กล้าแปล...แต่เดาว่าน่าจะเป็นรายได้ที่รัฐควรได้แต่ไม่ได้ เพราะกฎหมายยังคงให้สิทธิราชวงศ์รับประโยชน์อยู่...คงมีคนมาให้ความรู้เพิ่ม เติม) 13.2 ล้านปอนด์

Lost revenue from Duchy of Cornwall  24.5 ล้านปอนด์

Security (รักษาความปลอดภัย) 100 ล้านปอนด์

Cost to local councils for visits by Queen (ค่าใช้จ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นในการต้อนรับการเยือนของราชินี) 26 ล้านปอนด์

รวม 202.4 ล้านปอนด์ หรือราว 9,700 ล้านบาท

ตัวเลขจากกลุ่มต่อต้านกษัตริย์นี้ แน่นอนว่าจะประมาณการให้สูงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และย่อมสูงกว่าตัวเลขเป็นทางการของรัฐบาลมาก และยังรวมตัวเลขค่าเสียโอกาส Lost of Revenue ไว้ด้วย


 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
งบประมาณแผ่นดินสำหรับรักษาพระเกียรติสถาบันกษัตริย์ประจำปี 2555 พร้อมข้อสังเกตท้ายเชิงอรรถ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท