Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมยื่นจดหมายเปิดผนึก ฉบับที่ 2 ขอให้รัฐบาลทบทวนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกในครั้งต่อไป โดยขอให้พิจารณาถึงข้อมูลและข้อคิดเห็นดังต่อไปนี้ 1. การบังคับใช้พรก.ฉุกเฉินฯ เป็นการลดบทบาทของกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่คุ้มกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยเฉพาะบทบาทของศาล ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ 2. ปี 2554 ศาลพิพากษายกฟ้องคดีความมั่นคง ถึงร้อยละ 78.50 เนื่องจากพยานหลักฐานที่ใช้ในการดำเนินคดีในชั้นพิจารณาที่ได้มาระหว่างการซักถามบุคคลตามพรก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งเป็นเพียงคำซัดทอดหรือคำรับสารภาพที่เป็นพยานบอกเล่าจึงทำให้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอในการตัดสินลงโทษบุคคล ทำให้สาธารณะชนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของรัฐ 3. ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะตัวแทนของประชาชน ควรเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบเหตุและความจำเป็นในการประกาศ ควรมีการอภิปรายกันอย่างเปิดเผยภายใต้ระบบรัฐสภา รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน และภาควิชาการต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบด้วย 4. รัฐบาลไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามข้อเสนอแนะตามกลไก UPR ของ UN อย่างจริงจัง โดยเฉพาะข้อเสนอแนะที่ ให้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงโดยทันที และข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ สิทธิเด็ก ที่ให้รัฐบาลไทยทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคง และห้ามบังคับใช้กฎหมายพิเศษต่อเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและและมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการกำหนดกรอบนโยบายการพิจารณาการประกาศการขยายระยะเวลาการบังคับใช้พรก.ฉุกเฉินฯ และขอให้รัฐบาลใช้ความพยายามในการสนับสนุนให้ทุกฝ่ายไม่ว่าภาครัฐหรือภาคประชาสังคมประสานงานร่วมกันเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแสดงข้อมูล ความคิดเห็นเพื่อหาทางออกแบบบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจังในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นจริง โดยยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยทันทีย่อมจะส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพพร้อมที่จะมีการพัฒนากรอบความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามความมั่นคงทั้งของรัฐและความมั่นคงของประชาชนในประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net