Skip to main content
sharethis

 

13 มี.ค.55 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการบรรยายสาธารณะ เรื่อง "ประชาธิปไตยใต้ร่มพระบารมี: กรณีศึกษาจักรพรรดิญี่ปุ่น" โดยศาสตราจารย์โยชิฟูมิ ทามาดะ แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโต

ทามาดะ กล่าวว่า หากจะสรุปจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา จักรพรรดิของญี่ปุ่นอยู่มาอย่างยาวนานได้ก็เพราะไม่ปกครอง กระทั่งในบางยุคสมัย เช่น ในสมัยเอโดะนั้นจักรพรรดิไม่รวย และไม่มีอำนาจด้วย ยุคนั้นมีเจ้าเมืองถึง 300 กว่าคน และกว่าครึ่งมีรายได้มากกว่าจักรพรรดิ ในสมัยนั้นมีเกียวโต (Kyoto) เป็นเมืองหลวง (ปี 792-1868) พวกโชกุน (shogun) ต้องเลี้ยงจักรพรรดิด้วยซ้ำ เพราะไม่มีรายได้ แต่สภาพการณ์เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเข้าสู่สมัยเมจิ (Meiji) ซึ่งตรงกับสมัย ร.5 ซึ่งมีประกาศคณะปฏิวัติในปี 1868 มีมาตราที่สำคัญอยู่ 5 มาตรา ที่สำคัญคือ การประกาศว่าจะมีการเปิดรัฐสภา และปกครองประเทศด้วยมติมหาชน ซึ่งก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในทันที ในช่วงเปลี่ยนผ่านยังคงเป็นการปกครองแบบเผด็จการ จนสามารถตั้งรัฐสภาได้ในปี 1890

ทามาดะ กล่าวว่า การปฏิรูปการปกครองในสมัยเมจินั้น กลุ่มที่มีบทบาทคือ ซามูไรที่มาจากต่างจังหวัด ไม่ใช่ชนชั้นนำ พวกเขายึดอำนาจจากบรรดาโชกุน ที่เป็นผู้มีอำนาจตัวจริง แล้วใช้จักรพรรดิเป็นเครื่องมือเพื่อความชอบธรรมในการสร้างรัฐใหม่ ในสมัยนั้นจักรพรรดิร่ำรวยขึ้นมาก เพราะก่อนเปิดรัฐสภา ชนชั้นปกครองกลัวมากว่าจะคุมสภาไม่ได้ จึงรีบโอนทรัพย์สินยกให้จักรพรรดิ จนกลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุด 

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวต่อถึงโครงสร้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญสมัยเมจิ (1889) ว่า ในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าอำนาจเป็นของใคร แต่คนญี่ปุ่นก็เข้าใจและตีความกันว่าเป็นของจักรพรรดิ ขณะที่นักวิชาการบางคนก็ตีความว่าเป็นของรัฐ อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นจักรพรรดิมีอำนาจอย่างมากอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ โดยมีอำนาจทั้งนิติบัญญัติ เพราะคนร่างกฎหมายดูจะเป็นพระจักพรรดิมากกว่าสมาชิกรัฐสภา มีอำนาจยุบสภา มีอำนาจบริหาร โดยรัฐมนตรีให้คำแนะนำและเป็นผู้รับผิดชอบ รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งและปลดนายกรัฐมนตรี ตามคำแนะนำของที่ปรึกษาส่วนตัว โดยนายกฯ และคณะรัฐมนตรีก็ต้องรับผิดชอบต่อจักรพรรดิ ไม่ใช่ประชาชนหรือรัฐสภา ส่วนศาลก็ใช้อำนาจในนามของจักรพรรดิ นอกจากนี้ยังมีอำนาจพิเศษเป็นจอมทัพ ซึ่งหมายความว่ารัฐสภาจะยุ่งกับทหารไม่ได้

สำหรับเรื่องที่ปรึกษาของจักรพรรดินั้น ทามาดะขยายความว่า จักรพรรดิ มีที่ปรึกษา 3 คน ได้แก่ องคมนตรี แต่องคมนตรีก็มีบทบาทไม่มากเท่ากับราชเลขาธิการและรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสถาบันนอกรัฐธรรมนูญ แต่กลับมีอำนาจมากและมีบทบาทสูงมาก โดยเฉพาะรัฐบุรุษอาวุโสจะเป็นผู้ที่หารือร่วมกับจักรพรรดิเพื่อตัดสินใจ เรื่องสำคัญ เช่น การแต่งตั้งนายกฯ การกำหนดวันเลือกตั้ง ฯลฯ

elder statesman รัฐบุรุษอาวุโส 1-6 คน  สำคัญที่สุด

ผู้นำฝ่ายบริหาร (กลุ่ม hanbatsu) =ผู้นำ Restoration ชั้นผู้ใหญ่

ส่วนมากเป็น อดีตนายกฯ

 

ชื่อ

บ้าน

ปีเกิด-ตาย

ปีรับ

Ito Hirobumi

Choshu

1841-1909

1889-

Kuroda Kiyotaka

Satsuma

1840-1900

1889

Yamagata Aritomo

Choshu

1838-1922

1891

Matsukata Masayoshi

Satsuma

1835-1924

1898

Inoue Kaoru

Choshu

1836-1915

1904

Saigo Tsugumichi

Satsuma

1843-1902

 

Ooyama Iwao

Satsuma

1842-1916

1912

Katsura Taro

Choshu

1848-1913

1912

Saionji Kinmochi

ขุนนาง

1849-1940

1912

ทามาดะกล่าวว่า นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นพยายามอธิบายบทบาทของจักรพรรดิว่า ไม่ใช่เผด็จการแต่เป็นผู้ประสานมากกว่า เพราะฝ่ายบริหารมักทะเลาะกับฝ่ายนิติบัญญัติ  บทบาทสำคัญที่สุดในสมัยนั้นจึงคือการเป็นผู้ประสาน อำนาจของผู้ประสานนั้นก็มาจากการที่ทุกฝ่ายมองเห็นร่วมกันว่าคนนี้เป็นกลาง มีความยุติธรรม เชื่อถือและยอมรับได้ ดังนั้น จักรพรรดิจึงต้องระมัดระวังมาก พยายามดำรงความเป็นกลาง เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

สมัยเมจิยังมีแนวโน้มว่า ในช่วงแรกยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตย แต่ก็เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในภายหลัง เนื่องจากมีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง ถ้าถามว่าทำไมถึงมีการตั้งรัฐสภา ในขณะที่สมัยนั้นเมืองไทยยังไม่มีสภา ไม่มีรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ สาเหตุสำคัญที่สุดคือ เพื่อเก็บภาษีนำไปพัฒนาเศรษฐกิจ และสร้างกองทัพให้เข้มแข็ง เวลานั้นประชาชนยอมเสียภาษีเพื่อสู้กับจีนกับรัสเซีย แต่โครงสร้างภาษีนั้นแพงมาก รัฐบาลตั้งราคาที่ดิน แล้วเก็บภาษีร้อยละ 3 ทุกปี สมัยนั้น (ร.5) ชาวนาไม่ค่อยมีเงินสด จึงเกิดขบถและการต่อต้านอย่างหนัก จึงต้องหาทางประนีประนอม ยอมจัดตั้งรัฐสภา เพื่อให้พวกที่มีที่ดินมาก และยอมเสียภาษีสามารถพูดอะไรได้บ้างที่รัฐสภา

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวว่า สมัยเมจิ มีผู้นำที่มีบทบาทสำคัญสองคนคือ อิโตะ  (Ito) ซึ่งถูกฆ่าตายที่ประเทศจีน เขาเป็นรัฐบุรุษอาวุโส ตั้งพรรคการเมืองเป็นหัวหน้าพรรค ลงเลือกตั้งและได้เป็นนายกฯ ด้วย เพราะเขายึดถือหลักการที่ว่าวิถีประชาธิปไตยอันมีพระจักรพรรดิเป็นประมุข นั้นดีที่สุด ขณะที่ ยามากาตะ (Yamakata) ไม่ชอบระบบรัฐสภา แต่ชอบระบอบทหารกับราชการ จึงพยายามแทรกแซงโยกย้ายทหาร ข้าราชการ แต่สุดท้ายฝ่ายหลังก็ต้องยอมรับบทบาทหรืออำนาจของรัฐสภา

เมื่อจักรพรรดิเมจิถึงแก่กรรมในปี 1912 ลูกชายได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์ต่อมา คือ  ไทโช (Taisho) ช่วงนั้นญี่ปุ่นเป็นประชาธิปไตยมาก โดยในปี 1918 หัวหน้าพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดได้เป็นนายกฯ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของญี่ปุ่น ที่สำคัญยุคของจักรพรรดิไทโชนั้นไม่มีการเรียกฝ่ายบริหารเข้าเฝ้าเพื่อสั่ง การอะไร ไม่เหมือนในอดีต จึงเป็นยุคที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด หรืออีกนัยหนึ่งคือจักรพรรดิมีบทบาทน้อยที่สุด เมื่อถึงสมัยโชวะ หรือหลังสงคราม จักรพรรดิก็ยังพูดกับฝ่ายบริหารอยู่บ้าง แม้หลังสงคราม มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ให้จักรพรรดิมีบทบาท แต่จักรพรรดิยังเปลี่ยนนิสัยไม่ได้ มีการเรียกนายกฯ ให้เข้าเฝ้าอยู่เรื่อย

ทามาดะย้ำว่า พื้นที่นอกรัฐธรรมนูญของจักรพรรดิจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวจักรพรรดิเอง ด้วย ไม่ใช่เฉพาะโครงสร้างในรัฐธรรมนูญเท่านั้น

เขากล่าวมาถึงสมัยโชวะกับสงคราม จักรพรรดิโชวะเป็นผู้สำเร็จราชการอยู่ 5 ปี หลังจากนั้นเมื่อพ่อเสียชีวิตก็ขึ้นเป็นจักรพรรดิ ถ้าเทียบกับจักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิโชวะนั้นไม่มีที่ปรึกษาที่ดี ที่ปรึกษารุ่นสองรุ่นสาม ความรู้หรือแนวความคิดก็เปลี่ยนแล้ว และมองจักรพรรดิในแง่อุดมคติ โดยมองว่าจักรพรรดิเมจิเหมือนเทวดา เพราะเสียชีวิตไปแล้ว ไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริง มีแต่การสร้างภาพพจน์ที่ดีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับโชวะ พวกที่ปรึกษาก็อยากให้จักรพรรดิเป็นไปตามอุดมคติ มันจึงเป็นเรื่องลำบาก นักประวัติศาสตร์อธิบายว่า เมื่อขึ้นเป็นจักรพรรดิใหม่ๆ เขาผิดพลาด 3 ครั้งติดต่อกัน และเป็นสาเหตุใหญ่ที่จะมีสงคราม

ทามาดะกล่าวว่า อย่างแรกที่สำคัญที่สุด เขาเป็นจักรพรรดิในปี 1926 แต่เพียงปี 1929 เขาบังคับนายกฯ ให้ออกจากตำแหน่ง นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเพราะปกติจะมีการคุย การหารือกันกับผู้ใหญ่ก่อน หลังจากนั้นทหารกับฝ่ายขวาก็โจมตีเขาหนักว่าผิดประเพณี ผิดระเบียบ ไม่รักษาหน้าฝ่ายบริหาร และนายกฯ ที่ให้ออกก็ดันเป็นอดีตทหารด้วย หลังจากนั้นก็ดูเหมือนจักรพรรดิจะไม่กล้าทำอย่างนั้นแล้ว  เหตุการณ์ที่สอง เกิดเมื่อปี 1930 เมื่อมหาอำนาจคุยเรื่องลดจำนวนเรือรบ ญี่ปุ่นก็ยอม แต่ทหารเรือญี่ปุ่นไม่ยอม จักรพรรดิก็ไม่ประนีประนอมให้กับรัฐบาล ทำให้ทหารโกรธ  เหตุการณ์ที่สาม เกิดขึ้นปี 1931 ทหารญี่ปุ่นบุกจีนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจักรพรรดิ นับเป็นครั้งแรกและถือว่าผิดกฎหมายรุนแรงมาก แต่จักรพรรดิไม่ว่าอะไร แปลว่าจักรพรรดิควบคุมทหารไม่ได้แล้ว จากนั้นก็เกิดการกบฏของนายทหารชั้นล่างอีก 2 ครั้ง

ในปี 1935 นายกฯ คนหนึ่งของญี่ปุ่นประกาศว่า อำนาจอธิปไตยอยู่ที่จักรพรรดิ เพราะพวกฝ่ายขวาและทหารกดดันให้ประกาศ ปีถัดมา ทหารก่อการรัฐประหาร แต่ไม่สำเร็จ เหตุที่ทำรัฐประหารเพราะทหารต้องการจักรพรรดิที่เป็นเผด็จการ ไม่เอารัฐบาล ไม่เอารัฐสภา แต่จักรพรรดิไม่เล่นด้วยเลยไม่สำเร็จ  เอาเข้าจริงแล้วจักรพรรดิโชวะตัดสินใจอย่างเป็นทางการแค่ 2 ครั้ง เพราะที่เหลือใช้การคุยหลังฉากทั้งนั้น ครั้งแรกคือ การกบฏ 1936 จักรพรรดิโกรธมากบอกว่าจะปราบปรามด้วยตัวเอง เพราะทหารที่ก่อการกบฏคือทหารรักษาพระองค์ แต่ว่าหลังเหตุการณ์นั้น นายทหารหลายคนที่เกี่ยวข้องกับกบฏประสบความยากลำบาก ต้องหนีไปจีน  นายทหารที่มีความสามารถจึงเหลือน้อยลง ทหารชั้นผู้น้อยก็ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่แล้ว เพราะตอนทำรัฐประหาร ทหารผู้ใหญ่บอกจะทำด้วย แต่พอทำจริงก็ไม่มีผู้ใหญ่เข้ามา (ผู้ฟังหัวเราะ)  หลังจากนั้นก็ควบคุมอะไรกันไม่ได้ คนที่ขึ้นมามีตำแหน่งสูงๆ ก็เปลี่ยนจากนักรบเป็นนายพลที่คุยภาษาข้าราชการฝ่ายพลเรือนได้ สื่อสารได้ จักรพรรดิโปรดมาก แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากทหารผู้น้อย

ทามาดะกล่าวว่า ก่อนสงคราม ปัญหาโครงสร้างอำนาจรัฐธรรมนูญสมัยเมจิ ต้องอาศัยจักรพรรดิ ถ้าไม่มีเขาก็ทะเลาะกัน ถ้าไม่มีจักรพรรดิก็ต้องมีรัฐบุรุษอาวุโส แต่พอรุ่นแรกเสียชีวิตก็ไม่มีต่อมาอีก

ทามาดะกล่าวว่า การตัดสินใจของจักรพรรดิโชวะอีกครั้งคือ การยอมแพ้สงคราม ตอนนั้นทุกคนรู้แล้วแต่ไม่มีใครตัดสินใจได้ แต่ก็น่าตั้งคำถามว่าอย่างนั้นทำไมไม่ห้ามทหารทำสงครามตั้งแต่แรก หลังสงคราม ญี่ปุ่นกับสหรัฐทำสัญญากันในปี 1951 หลายคนคิดว่าจักรพรรดิโชวะต้องลาออกเพราะสงครามจบแล้วจริงๆ แต่จักรพรรดิไม่ยอมออก ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเพราะเหตุใด แต่ที่แน่ๆ คือนายกฯ ไม่อยากให้ออก เพราะกลัวความวุ่นวายจะเกิดขึ้น เขาจึงอยู่ในตำแหน่งจนวาระสุดท้าย

ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต กล่าวอีกว่า เรื่องหนึ่งที่คนไทยสนใจมาก คือ คดีหมิ่นฯ  สถิติที่ญี่ปุ่นนั้นมีไม่มากเท่าไรในแต่ละปี ส่วนโทษของญี่ปุ่นแม้จะเบากว่า แต่ก็ยังมีโทษหนักมากสำหรับผู้พยายามฆ่าจักรพรรดิ โทษถึงประหารอย่างเดียว และเคยมี 4 คดีเกิดขึ้นในช่วง 3 จักรพรรดิที่กล่าวมา โดย 2 คดีมีคนพยายามจะฆ่าจริง แต่อีก 2ครั้งรัฐบาลบอกว่ามีแผนดังกล่าวซึ่งจริงเท็จเช่นไรไม่รู้

 

Lese majesty

ลงโทษ  ติดคุก สามเดือน ถึง ห้าปี

year

เกิด

จับ

1924

17

19

1925

14

15

1926

15

16

1927

15

15

1928

128

131

1929

29

27

1930

32

27

1931

26

19

1932

39

38

1933

43

43

1934

30

27

1935

20

22

1936

39

37

1937

28

27

1938

61

60

1939

66

79

1940

42

45

1941

60

62

 

หลังสงครามมีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ช่วงหลังสงครามใหม่ๆ เคยมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เขียนป้ายผ้าภาษาญี่ปุ่นว่า เรารักษาระบบได้แล้ว เรากินอิ่ม และราษฎรตาย แล้วเขาถูกจับในคดีหมิ่นฯ เป็นคดีดังมาก แต่สุดท้ายก็ยกฟ้อง สรุปแล้วหลังสงคราม เลิกกฎหมายแล้ว พูดยังไงก็ได้ แต่ส่วนมากไม่ค่อยมีใครพูด

เขากล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน  (1946)  8 มาตราแรกพูดถึงจักรพรรดิ โดยมาตราแรกกำหนดว่า จักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ มาตราสี่ระบุว่าจักรพรรดิไม่มีอำนาจทางการเมือง มาตราแปดระบุว่า ห้ามรับบริจาค

สำหรับเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องงบประมาณนั้น จักรพรรดิไม่มีทรัพย์สิน อยู่ด้วยงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งมีงบ 3 อย่าง คือ เมื่อปีที่แล้วจะพบว่า งบเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว 324 ล้านเยน, กิจกรรมทางการ 5,683 ล้านเยน นอกนั้นเป็นเงินเพื่อรักษาศักดิ์ศรี 288 ล้านเยน

ส่วนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ห้ามบริจาคและรับทรัพย์สิน ระบุว่า จักรพรรดิจะให้ทรัพย์สินกับใครได้ปีหนึ่งไม่เกิน 18 ล้านเยนเท่านั้น รับได้ปีหนึ่งไม่เกิน 6 ล้านเยน พูดง่ายๆ ว่าถ้ามีคนบริจาครถคันเดียวก็เต็มโควตาแล้ว และที่กฎหมายกำหนดว่า ห้ามรับบริจาคนั้น ก็เพราะถ้าไม่ห้ามจักรพรรดิจะรวยขึ้นมากๆ  คงมีคนบริจาคมาก

ทามาดะกล่าวว่า โดยสรุปสถานการณ์หลังสงคราม ทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ต่างก็โจมตีจักรพรรดิ ฝ่ายซ้ายบอกว่าจักรพรรดิไม่จำเป็นต้องมีแล้ว แล้วก็ด่าเรื่องสงครามอย่างหนัก ส่วนฝ่ายขวาอยากจะใช้จักรพรรดิเป็นเครื่องมือ ก็จะบอกว่า จักรพรรดิต้องกล้ามากกว่านี้ และฝ่ายขวายังไม่ยอมให้ผู้หญิงเป็นจักรพรรดิ ทั้งที่คนญี่ปุ่นส่วนมากยอมแล้ว เพราะเห็นว่าองค์ปัจจุบันไม่มีลูกชาย

“จักรพรรดิญี่ปุ่นระวังเป็นพิเศษ ไม่ยุ่งการเมือง ไม่ยุ่งธุรกิจ ถูกโจมตีมากๆ ก็ไม่โต้ตอบ กับฝ่ายซ้าย แล้วก็ไม่ถูกฝ่ายขวาใช้ พยายามให้เป็นกลางๆ เขาพยายามอย่างมาก... เพราะอะไร ผมคิดว่าจักรพรรดิอยู่ได้ เมื่อมีประชาชน ถ้าไม่มีประชาชนแล้วก็อยู่ไม่ได้ แล้วประชาชนไม่สนับสนุนก็อยู่ลำบาก เพราะฉะนั้นพยายามไม่ให้ประชาชนคิดว่าไม่ยอมรับจักรพรรดิ ไม่ต้องคิดว่าอยากจะให้จักรพรรดิมีอำนาจมากๆ แต่อยากจะให้คิดว่าจักรพรรดิเหมือนอากาศ ขาดไม่ได้ แต่ไม่รู้สึกว่ามี เบามาก (ผู้ฟังหัวเราะ)”

 

 

สรุปคำถามจากนักศึกษา

 

Q: เมื่อมีภัยพิบัติธรรมชาติ รัฐบาลต้องนำเสนอแผน เหมือนของไทยหรือไม่

A: ทำไม่ได้ ผิดรัฐธรรมนูญ แต่จักรพรรดิไปเยี่ยมประชาชนได้ แต่ต้องไม่มีเป้าหมายทางการเมือง ถ้าเขาไปเยี่ยมประชาชนก็คงถ่ายรูป

เมื่อเหตุการณ์สึนามิ ปกติ จักรพรรดิจะใช้รถไฟและรถยนต์ แต่ช่วงนั้น จักรพรรดิใช้เฮลิคอปเตอร์ เพื่อไม่ให้รถติดมากขึ้นอีก

 

Q: คนญี่ปุ่นมองอย่างไร กับการที่จักรพรรดิเป็นกลาง ไม่ยุ่งอำนาจ และเสียภาษี

A: ผมไม่ทราบว่าจักรพรรดิมีสิทธิลงคะแนนเสียงไหม คิดว่าไม่มี แต่ต้องเสียภาษี มีเงินปีงบประมาณก็ดีแล้ว คนทั่วไปก็ไม่รู้สึกว่าสงสาร ถ้าสงสารก็เรื่องที่ไม่ค่อยมีเสรีภาพ ทำอะไรก็ถูกจำกัดหมด อยากจะกินอะไรไปร้านก็ไม่ได้

 

Q: กลุ่มอำนาจที่แวดล้อมจักรพรรดิที่มีบทบาทสูง อยากรู้ว่ากลุ่มเหล่านี้สลายไปได้อย่างไร หรือยังมีอยู่ไหม หลังสงครามโลกเมื่อฝ่ายขวามีบทบาทสูง พยายามดึงสถาบันมาเป็นเครื่องมือ ถึงปัจจุบันนี้กลุ่มพวกนี้ยังมีไหม และหายไปได้อย่างไร

A: ปัจจุบัน จักรพรรดิไม่มีอำนาจแล้ว รัฐบุรุษอาวุโสก็ไม่มี เพราะคนจะเป็นที่ปรึกษาจักรพรรดิได้ คุยกันได้อย่างเป็นเพื่อน ไม่มีแล้ว สมัยไทโช โชวะ ไม่มีแล้ว คนเหล่านี้มีประมาณ 10 คน เสียชีวิตไปก็ไม่มีคนมาแทน ที่เหลือคนสุดท้ายก็อายุมากแล้ว คุยกันไม่รู้เรื่องกับจักรพรรดิปัจจุบัน คนหนุ่มๆ ก็มองว่าจักรพรรดิเป็นเทวดา ก็คุยอะไรอย่างตรงๆ ไม่ได้ สุดท้ายจักรพรรดิต้องโดดเดี่ยว ไม่มีเพื่อนให้คำแนะนำ พอหลังสงคราม คนเหล่านี้ก็ไม่มีแล้ว พวกฝ่ายขวาก็ยังมีอยู่ แต่จักรพรรดิไม่เล่นด้วย เขารู้ว่ามันไม่ดียังไง สุดท้าย ฝ่ายขวาบางส่วนก็กลายเป็นยากูซ่า พวกหากินกับจักรพรรดิ แล้วก็ส่งเสียงดังๆ เพื่อหาตังค์

 

Q: อ้างอิงถึงงานสัมมนาธงชัยวินิจจะกูล สมัยโชวะ มีอุลตรารอยัลลิสต์หรือไม่

A: ก่อนสงคราม สมัยโชวะ มี มีมาก มีบางคนคิดจริงๆ ว่าจักรพรรดิเป็นเทวดา คนพวกนี้พูดไม่รู้เรื่อง ปัจจุบันนี้ก็ยังเหลืออยู่ แต่ไม่มาก ปัจจุบัน จักรพรรดิ คนก็รู้สึกว่า เบามาก ของโชวะนี่หนัก มีช่วงปกครองยาวนาน และทำสงครามด้วย บางคนไม่ชอบ บางคนชอบ คนปัจจุบันนี้เบามาก คนไม่ชอบมากๆ ก็มีน้อย คนชอบมากๆ ก็มีน้อย

สิ่งที่จักรพรรดิปัจจุบันทำอยู่ น่าจะดี เพราะน่าจะได้ความนิยมมากขึ้น เพราะเบามาก

 

Q: หากเปรียบเทียบกับสถาบันกษัตริย์ของไทย มีความคิดเห็นอย่างไร

ตอบ  สมัยญี่ปุ่นปัจจุบันไม่เหมือนเลย ถ้าเทียบก็เป็นจักรพรรดิก่อนสงคราม เช่น รวยที่สุด ที่ต่างกันคือ จักรพรรดิสามรุ่นของญี่ปุ่นที่กล่าวมา สายตาประชาชนที่มอง ต่างกันไม่มาก เปลี่ยนคนก็ยังนับถือเหมือนกัน เพราะถือว่าเป็นสถาบัน ใครขึ้นก็เป็นจักรพรรดิเท่าเดิม บางทีสูงกว่านิดหน่อย ต่ำกว่านิดหน่อย เมืองไทยก็อาจจะเป็นอย่างนั้น ต้องมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่านี้ 

 

Q: ดูจากยูทูป เหมือนจักรพรรดิโชวะพูดติดๆ ขัดๆ พูดไม่รู้เรื่อง ทำไมเขาถึงครองอำนาจได้ยาวนาน

A: เขานิสัยดี ซื่อสัตย์มากไป มีคนแนะนำเขาก็ทำจริงๆ ฉะนั้นจึงมีปัญหา คนก็มองว่าเป็นคนซื่อตรงมากไป  ถ้าเป็นที่สาธารณะเขาใช้ภาษาที่เป็นทางการ สิ่งที่เขาพูดก็เป็นสิ่งที่น่าเบื่อจริงๆ ไม่ค่อยมีสาระ

 

Q: หลังสงครามโลก ที่มีรัฐธรรมนูญกำหนดบทบาทกษัตริย์ให้น้อยลง ปฏิกิริยาของกลุ่มรอยัลลิสต์ตอนนั้นมีการปรับตัวอย่างไร หรือมีการตอบโต้อย่างไร

A: มีมาก แต่ว่ารัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ปัจจุบัน มาจากรัฐสภาก็ปฏิเสธไม่ได้ มีอะไรก็คุยกันได้ แก้ไขได้ แต่เรื่องบทบาทของจักรพรรดินั้นแก้ไม่ได้ ญี่ปุ่นปัจจุบันมีความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีใครจะแก้ไขมาตราเกี่ยวกับจักรพรรดิให้มีอำนาจมากขึ้น ไม่มี เขาสนใจแต่เรื่องทหาร คนทั่วไปไม่ค่อยสนใจฐานะอำนาจของจักรพรรดิ ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครคิดจะเลิก อยู่แบบนี้ก็ดีแล้ว ทั้งประชาชนและจักรพรรดิก็คิดว่าดีแล้ว

 

Q: ถ้ากรณีลูกสองคน ลูกคนเล็กสามารถเป็นจักรพรรดิได้ไหม กลไกทางรัฐสภาของญี่ปุ่นมีทางแก้ไขไหม

A:  ไม่มี ลูกชายคนโตมีสิทธิเด็ดขาด คนที่สองไม่มี

 

Q: การไม่มีบทบาท ก็ไม่ควรดำรงอยู่ ที่ผ่านมาจะเห็นว่าจักรพรรดิมีบทบาทเชิงการกุศล สังคมสงเคราะห์ อย่างนี้จะทำให้สถาบันนี้อยู่ต่อไปได้อีกนานไหม หรือจะมีโอกาสหายไปไหม

A: จักรพรรดิยุ่งมาก มีงานมาก ฉะนั้น ประชาชนทั่วไปไม่มองว่า จักรพรรดิไม่ทำอะไร ทำหลายอย่าง เพียงแต่ไม่เกี่ยวกับการเมืองเท่านั้น มันเกี่ยวกับประเทศ กับประชาชน

 

Q: จักรพรรดิญี่ปุ่นลดบทบาทหลังสงคราม ถ้าวันนั้นญี่ปุ่นไม่เข้าสู่สงคราม และไม่แพ้ จะเป็นอย่างนี้หรือไม่ สำหรับประเทศอื่นที่ไม่ใช้วิธีนี้จะใช้วิธีใดในการแก้ไขปัญหา

A:  ถ้าหากไม่แพ้สงคราม หรือถ้าชนะสงครามเป็นยังไง โอ่ น่ากัวจริงๆ ถ้าไม่แพ้จริงๆ ผมคิดว่า มีการปฏิวัติแน่  ถ้ารัสเซียเข้ามา ประชาชนจับมือด้วย  ไม่เอาระบบเผด็จการจักรพรรดิ

จักรพรรดิเขาตัดสินใจว่า ยอมแพ้ เขาคาดว่าอาจถูกประหารชีวิต แต่เขายอมแพ้เพราะอะไร เพราะในสงคราม ทหารญี่ปุ่นตายไปสองล้านกว่า คนทั่วไปล้านกว่า ถ้าไม่หยุดก็ต้องเสียอีก ต่อไปญี่ปุ่นจะอยู่ไม่ได้แล้ว เขาก็คิดถึงประเทศด้วย แต่พวกฝ่ายซ้ายเขาซุบซิบกันว่า ช่วงสงคราม จักรพรรดิญี่ปุ่นโอนเงินเข้าบัญชีสวิตเซอร์แลนด์ คาดว่าจะแพ้สงคราม จริงหรือเปล่าไม่รู้ เพราะก่อนสงครามจักรพรรดิมีทรัพย์สินมากกว่านี้มาก

 

Q: ญี่ปุ่นมีการยกย่องจักรพรรดิให้ประชาชนรับทราบบ้างไหม สังคมญี่ปุ่นถูกสอนให้มองสถาบันอย่างไร

A: ยกย่องนี่ไม่มี ยกย่องธงชาติมี แต่จักรพรรดิไม่ค่อยมี เพราะฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะครูโรงเรียนเขาคัดค้าน ไม่ยอม สมัยก่อน(ก่อนสงคราม) มีป้ายของจักรพรรดิ ที่บ้านมีรูป แต่หลังสงครามไม่มี ถ้าจะมีก็บ้านคนแก่ ลืมทิ้งไว้เท่านั้น ถ้าไปบ้านของพวกชาวนาญี่ปุ่น สหกรณ์เกษตรญี่ปุ่น เขาเคยทำปฏิทินรูปถ่ายจักรพรรดิทุกปี แต่สามสี่ปีที่ผ่านมาเขาเลิก ไม่รู้ทำไม

 

Q: ในญี่ปุ่นมี state ceremony อะไรบ้างที่จักรพรรดิต้องไป และเวลาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์ต้องสาบานตนกับรัฐสภาหรือไม่ว่าจะพิทักษ์รัฐ ธรรมนูญ

A: พระราชพิธี แล้วแต่กรณี ส่วนการสาบาน เขาสาบาน แต่สาบานกับผีปู่ย่าตา ไม่ได้สาบานกับสภาหรือประชาชน เขามีพิธีพิเศษสำหรับตระกูลเขา เพราะเป็นประเพณีเป็นพันปี เข้าใจว่าเขาสาบานกับผีปู่ย่าตา ผมก็ไม่เข้าใจ และไม่ทราบว่าเขาพูดอะไร 

 

Q: เพลงชาติ คิมิงะโยะ ยังร้องไหม ยังสื่อถึงความยิ่งใหญ่ของจักรพรรดิเหมือนก่อนสงครามโลกไหม

A: คำถามดีมากสำหรับผม เพราะผมไม่ชอบเพลงชาตินี้ แน่นอนว่า เนื้อหายกย่องจักรพรรดิ ที่โรงเรียน ครู หรือนักเรียนบางคนไม่ยอมร้องเพลงนี้ ปัจจุบันครูบางคนไม่ยอมร้องในพิธีรับประกาศนียบัตร ก็ถูกฟ้อง เมื่อก่อนไม่ว่าอะไร ปัจจุบันฝ่ายขวาเริ่มมีอำนาจมากขึ้น ไม่ยืนและไม่ร้องก็ถูกฟ้อง และถูกปรับ ลำบากมากขึ้น  ผมคิดว่าประชาชนทั่วไปเขาไม่รู้สึกอะไรกับเพลงนี้ว่ามีสาระอะไร เขาไม่รู้จัก ไม่ค่อยสนใจ

 

Q: ประเทศญี่ปุ่น ศาสนาหายไปไหน

A: ไม่หาย แต่มีหลายอย่างผสมกัน ตั้งแต่สมัยก่อน พุทธมาในสมัยเอโดะ แต่ละตระกูลต้องมีวัดประจำตระกูล ไม่ใช่นับถือ แต่ต้องสังกัดกับวัด และต้องบริจาคประจำปีด้วย นี่เป็นระบบญี่ปุ่น คนทั่วไปเขาทิ้งศาสนาไม่ได้ ถ้าทิ้งแล้วมันลำบาก เป็นพุทธ แต่คริสต์และอิสลามไม่ค่อยมี แต่ผสมกันมาก นับถือผีด้วย ไม่รู้สึกอะไร

 

Q: หนังสือชื่อ A Monkey Monarch ยังเป็นหนังสือต้องห้ามไหม พวกหนังสือต้องห้ามเห็นว่ามีเยอะ ยังห้ามไหม

A: ปัจจุบันไม่มีหนังสือต้องห้าม ที่ห้ามคือหนังสืออธิบายผลิตลูกระเบิด นอกนั้นไม่มี

 

Q: ข่าวพระราชกรณียกิจมีไหม

A: ที่เป็นประจำไม่มี แต่บางช่อง ก็ให้อาทิตย์ละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ให้เวลากับข่าวจักรพรรดิ เป็นทีวีช่องเอกชนที่เขาอยากผลิตเอง ผมไม่ทราบ แต่คิดว่าคนที่ดูรายการนี้ไม่มาก เพราะว่าน่าเบื่อ ไม่สนุก

 

Q: คุณค่าของการดำรงอยู่ของจักรพรรดิคืออะไร ทำไมเป็นอากาศที่ขาดไม่ได้

A: เป็นสัญลักษณ์ของชาติ มีจักรพรรดิคนทั่วโลกก็รู้ว่า นี่คือญี่ปุ่น มีบทบาทไม่ใช่ด้านการเมือง แต่เป็นตัวแทนประชาชน ประเทศ ก็ดีแล้ว ไม่อันตรายด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net