Skip to main content
sharethis

จำคุกฝาแฝดชก"วรเจตน์" 3 เดือน คนพี่เจอข้อหาผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน เพิ่มอีก 7 เดือน

8 มี.ค. 55 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.35 น. วันที่ 8 มีนาคม พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม คุมตัว นายสุพจน์และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ พี่น้องฝาแฝด ที่ก่อเหตุชกนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในแกนนำคณะนิติราษฎร์ เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไปส่งฟ้องต่ออัยการศาลแขวดุสิต ในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยทั้ง 2 คนให้การรับสารภาพ

ศาลแขวงดุสิตอ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดี เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุพจน์และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ พี่น้องฝาแฝด ข้อหาร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ โดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้องจริง พิพากษาให้จำคุกคนละ 6 เดือน แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 3 เดือน แต่เนื่องจากนายสุพจน์ผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน เมื่อปี 2553 ต้องโทษจำคุก 7 เดือน ศาลจึงพิจารณาเพิ่มโทษนายสุพจน์ จำคุกเป็นเวลา 10 เดือน ไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่าทั้ง 2 คนมีพฤติกรรมไม่เคารพกฎหมาย ทั้งนี้ หลังฟังคำพิพากษา ทั้งสองเตรียมให้ญาตินำหลักทรัพย์ เป็นเงินสดประมาณ 1 แสนบาท เพื่อเตรียมประกันตัวต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์ต่อไป

(มติชนออนไลน์, 8-3-2555)

 

ตำรวจเล็งเอาผิด "สุพจน์- สุพัฒน์" แฝดพี่-น้อง ข้อหาแจ้งความเท็จ กรณีอ้างเป็นอาสาสมัครทหารพราน ไปยื่นขออนุญาตขอใบพกพาอาวุธปืน

9 มี.ค. 55 - จากกรณีนายสุพจน์ และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ อายุ 30 ปี พี่น้องฝาแฝด ก่อเหตุทำร้ายร่างกาย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ที่เรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้รับบาดเจ็บ ที่บริเวณลานจอดรถคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่29 ก.พ.และ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มี.ค.55 นายสุพจน์ และนายสุพัฒน์ ได้เดินทางเข้ามอบตัว ที่ สน.ชนะสงคราม หลังจากรวบรวมหลักฐาน พนักงานสอบสวน สน. ชนะสงคราม ก็ได้นำตัวส่งฟ้องศาล โดยนาย สุพจน์ แฝดผู้พี่นั้นเคยมีคดีพกพาอาวุธปืน ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 ที่ สน.ดอนเมือง เมื่อประมาณต้นปี2553 ทำให้บวกโทษคดีกระทำผิด พ.ร.บ.อาวุธปืน คดีแดง 1336/53 ของศาลอาญาที่รอการลงโทษเพิ่มอีก 7 เดือน รวมเป็น 10 เดือน ส่วนนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ แฝดน้อง จำคุก 3 เดือน เพราะรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จากนั้นญาติของทั้ง 2 คน ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดขอปล่อยชั่วคราว และศาลพิจารณาคำร้องยื่นประกันตัวแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งสองชั่วคราว ระหว่างอุทธรณ์สู้คดี

ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า สำหรับกรณีฝาแฝด 2 พี่น้อง แอบอ้างเป็นอาสาสมัครทหารพราน เพื่อไปยื่นขอใบอนุญาตครอบครองอาวุธปืนเบื้องต้นอยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อแจ้งข้อหาเพิ่มเติมตามความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และจะต้องนำสำนวนไปประกอบกันเพื่อยื่นต่อศาลและนายทะเบียนให้พิจารณาถอดถอนใบ ป.4 อนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน นอกจากนี้ปืน ทุกกระบอกที่ทั้ง 2 คนครอบครองอยู่อาจถูกสั่งให้ยึดเป็นของกลางได้ หากศาลมีคำสั่งหลังจากนี้ ตามที่เสนอเป็นข่าวไปแล้วนั้น

เมื่อเวลา13.00 น.วันที่ 9 มี.ค.55 พ.ต.ท.ณัฐกร คุ้มทรัพย์ รอง ผกก.(สส.)สน. ชนะสงคราม เปิดเผยความคืบหน้าว่าขณะนี้ทำหนังสือถึงกองทัพบกไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างการรอผลตรวจสอบจากกองทัพบก อีกทีว่า นายสุพจน์ และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ พี่น้องฝาแฝดนั้นเป็นอาสาทหารพรานจริงหรือไม่ โดยคาดว่าน่าจะรู้ผลภายในสัปดาห์หน้า ถ้าผลการตรวจสอบออกมาแล้วพบว่าฝาแฝดทั้งสองรายนี้ไม่ได้เป็นทหารจริง จะทำเรื่องประสานไปยังนายทะเบียนของ อ.ธัญบุรี เพื่อขอให้ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ และเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับฝาแฝดทั้งคู่ กรณีครอบครองอาวุธปืนต่อไป

ขณะเดียวกัน พ.อ.ศิริชัย สร้อยแสน นายทหารพระธรรมนูญ กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีลายเซ็นอยู่บนบัตรประจำตัวทหารพราน สังกัดหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 26 ที่เคยออกให้ 2 ผู้ต้องหาว่า เพิ่งรู้เรื่องจากหนังสือพิมพ์ ซึ่งหลังจากรับทราบข่าว ตนก็แจ้งทางผู้บังคับบัญชาทราบ พร้อมทั้งให้ทนายความตรวจสอบข้อมูลที่มาที่ไปของเรื่องดังกล่าวโดยที่ยังไม่เห็นเอกสารที่อ้างว่าเป็นบัตรประจำตัวทหารพราน และลงชื่อผู้ออกบัตรโดยตนเอง

"ผมขอยืนยันว่าไม่รู้จักบุคคลทั้ง 2 เลย ไม่รู้ว่าเอาชื่อผมไปแอบอ้างได้อย่างไรซึ่งผมเคยรับราชการอยู่กรมทหารพรานที่ 26 เมื่อปี28-29 ก็ยังงงกับข่าวที่เกิดขึ้น แต่เท่าที่สอบหาข้อมูลในเบื้องต้น ผมไม่รู้ว่ารู้จักกับลูกน้องคนไหนหรือไม่ กำลังสอบถามอยู่ ซึ่งบัตรที่นำไปอ้างอาจเป็นในลักษณะเป็นชมรม หรือเป็นกลุ่มทหารพรานมากกว่า แต่ผมก็ไม่เคยไปเซ็นออกบัตรอะไรให้ใครเลย" พ.อ.ศิริชัย กล่าว

พ.อ.ศิริชัย กล่าวต่อท้ายว่า ตนอยู่ของตนดีๆ ก็มีเรื่องเข้ามาซึ่งทางผู้ใหญ่ก็บอกว่าให้รีบตรวจสอบข้อมูล และรายงานชี้แจงมาว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ตนกำลังให้ทนายเข้าไปตรวจสอบอยู่ หากพบว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสาร ก็จะนำเรียนผู้ใหญ่ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร หากต้องฟ้องร้องก็จะมอบหมายให้ทนายเข้าไปดำเนินการทันที

(บ้านเมือง, 10-3-2555)

 

"วรเจตน์" ผนึก "ครก.112-ม.เที่ยงคืน" เดินหน้าแก้ "ม.112" ชูธงร่างรธน.ใหม่ลงโทษพวกทำรัฐประหาร

10 มี.ค. 55 - ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายวรเจตน์  ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการคณะนิติราษฎร์  นายสมชาย  ปรีชาศิลปกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน นางพวงทอง  ภวัครพันธุ์  อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และครก.112 ร่วมเสวนาเรื่อง "กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย" มีนักศึกษา ประชาชน เสื้อแดงเข้าร่วมกว่า 500 คน พร้อมเปิดลงชื่อเพื่อเสนอแก้กฏหมายอาญามาตรา 112 มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 100 คน

นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าวว่าประชาธิปไตยเป็นการต่อสู้แนวคิด การรับรู้ และปฏิบัติการทางสังคม การเป็นรัฐธรรมนูญ ต้องมีจุดเชื่อมโยงประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นฉบับกึ่งรัฐสภากึ่งอำมาตยาธิปไตยแบบเข้มที่ให้องค์กรอิสระ และระบบราชการ เข้ามากำกับการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งการทำรัฐประหารไม่ใช่คำตอบแก้ความขัดแย้งการเมืองไทย เพราะการต่อสู้ เป็นการสร้างระเบียบการเมือง และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง

"ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ ที่ให้แก้กฏหมาย ม.112 กระทบจารีตประเพณีรัฐประหาร จึงถูกตอบโต้จากทหารและกลุ่มคนชั้นนำ ที่ต้องการรักษาอำนาจไว้ ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวเดินต่อไม่ได้เนื่องจากผู้คนคุ้นเคยรูปแบบปกครองแบบเดิม ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงแนวคิดการรับรู้และปฏิบัติการทางสังคม ผลักดันให้มีการสร้างประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ไม่ซ้อนรูปเผด็จการ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา และไม่มีสงครามครั้งสุดท้าย ต้องสร้างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีอำนาจ" นายสมชายกล่าว

นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ กล่าวว่า ขอมองมิติกฎหมายกับความยุติธรรม จะเห็นได้ชัดว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่ไม่ได้ถูกใช้เท่าเทียมกัน ขัดกับหลักประชาธิปไตยที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียม การออกมาคัดค้านหรือตอบโต้ทำให้ประชาชนตาสว่าง เรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตย และตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว ดังนั้นคณะนิติราษฎร์ จึงล่ารายชื่อประชาชน 10,000 คน เพื่อเสนอแก้กฏหมายดังกล่าว และสังเกตเห็นได้ว่าประชาชนตื่นตัวและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และสนับสนุนแนวทางคณะนิติราษฏร์ แม้รัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทย จะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องก็ตาม แต่มีประชาชนภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ตอนบนร่วมลงชื่อจำนวนมาก

"การที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธแก้ ม.112 ทำให้เสื้อแดงเป็นอิสระ เคลื่อนไหวการเมืองได้มากขึ้น เป็นปรากฏการณ์น่าตื่นเต้น ที่เสื้อแดงเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่สังกัดการเมืองใด ที่สำคัญรู้ถึงความต้องการของตนเอง และกำลังก้าวข้ามความกลัว ไม่ปล่อยให้กฎหมาย ม.112 เป็นเครื่องมือการเมือง แต่แปลกใจที่ไม่มีการตอบสนองจากชนชั้นสูง เพราะไม่อยากรับฟัง แต่ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง โดยใช้สำนึกสร้างความยุติธรรม เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์" นางพวงทอง กล่าว

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดประเทศ แต่ถามว่าใครเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่กุมอำนาจสูงสุด ซึ่งมันควรเป็นของปวงชนชาวไทย ซึ่งทุกคนมีโอกาสสัมผัสและเข้าถึงความเสมอภาค เทียมเท่ากัน ดังนั้นข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ จึงถูกต่อต้าน เพราะรากฐานความคิดแตกต่างกัน แต่ไม่ใช่เรื่องประหลาด เพราะผู้คนคุ้นเคยกับระบบเดิมมายาวนาน ต้องผลักดันประชาธิปไตยเพื่อขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าวให้สังคมได้ขบคิด ถ้าความคุ้นชินถูกทำลายประชาธิปไตยก็จะเดินหน้าไปได้เร็ว

"คณะนิติราษฏร์เสนอให้มีการลบล้างผลพวงรัฐประหารทั้งหมด ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักดันทางการเมือง และให้ประชาชนลงประชามติ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็จบไป ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ควรมีหมวดว่าด้วยการทำรัฐประหาร เพื่อชิงอำนาจมาจากประชาชน โดยให้ดำเนินคดีและมีบทลงโทษผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงจารีตประเพณีรัฐประหาร ความคุ้นเคยแบบเดิม และการผูกขาดอำนาจ ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ เช่นทุกวันนี้" นายวรเจตน์กล่าว

(มติชนออนไลน์, 10-3-2555)

 

“บุญยอด” วอน นักวิชาการยุติสร้างความขัดแย้ง กรณี ม. 112 ชี้ควรเลิกใช้สถานที่ราชการจัดกิจกรรม

11 มี.ค. 55 - นายบุญยอด สุขถิ่นไทย สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ตามที่นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ กลุ่มครก.112 และกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้จัดเสวนา และเตรียมล่ารายชื่อประชาชนให้มีการแก้กฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นอยากขอให้นักวิชาการกลุ่มนี้ ควรยุติการเคลื่อนไหว ที่จะสร้างความคิดเห็นที่แตกแยกในสังคมได้แล้วเพราะมีหลายคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่สบายใจ

"ผมเห็นว่า คนพวกนี้ไม่สมควรที่จะใช้สถานที่ราชการ ในการเคลื่อนไหวในทำนองนี้ เหมือนกับ ใช้บ้านของพ่อ ที่ทำงานของพ่อ มาด่าพ่อตัวเอง เรื่องอย่างนี้ คนไทย รับไม่ได้โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้หลีกเลี่ยงกรณีสร้งความแตกแยกในสังคม คนกลุ่มนี้ก็หันไปที่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ต้องถามว่า ม.เชียงใหม่ คิดอย่างไร ทำไมจึงอนุญาตให้ใช้สถานที่ แสดงกันอย่างไม่มีขอบเขต ไม่ห่วงเรื่องนี้หรืออย่างไร"นายบุญยอด กล่าว

นายบุญยอด กล่าวว่า อยากฝากถามไปยัง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าควรทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน  เนื่องจากในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ทำไมไม่จัดการห้ามปรามนักวิชาการเหล่านี้

(โพสต์ทูเดย์, 11-3-2555)

 

"สมชาย" แนะ "บุญยอด" อ่านเนื้อหาจากงานเสวนาก่อนด่วนสรุป

11 มี.ค. 55 - รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประชาไททางโทรศัพท์ว่า หัวข้อการเสวนา ซึ่งจัดที่คณะสังคมศาสตร์ม.เชียงใหม่ วานนี้คือ "กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย" เนื้อหาส่วนใหญ่พูดถึงเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญในประเทศไทยกัน มีวิทยากรบางท่านการพูดเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บ้าง แต่ไม่ใช่เนื้อหาหลัก จึงแนะนำให้นายบุญยอด ฟังเนื้อหาทั้งหมด และใส่ใจเนื้อหาก่อน ไม่ใช่ด่วนสรุป

ส่วนที่มีผู้ถือแบบฟอร์มเสนอแก้กฏหมายอาญามาตรา 112 เข้ามายื่นในบริเวณงานนั้น รศ.สมชาย กล่าวว่าเป็นเรื่องธรรมดา นอกจากนี้ รศ.สมชาย กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เปิดพื้นที่ทางวิชาการให้กับทุกกลุ่มทุกฝ่าย และการปกครองแบบประชาธิปไตยต้องให้ความเห็นต่างในสังคมได้แสดงออก

(ประชาไท, 11-3-2555)

 

เสวนา "ประสบการณ์ผู้ได้รับผลกระทบจากม.112 กับสิทธิในการประกันตัว" ที่ลำปาง

11 มี.ค. 55 -ในช่วงเวลา 13.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ "นักโทษ112 กับสิทธิในการประกันตัว" โดยมี นายอานนท์ นำภาทนายความสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ นส.จิตรา คชเดช นักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากม. 112 นายไชยวัฒน์ ตระการรัตน์สันติ สมัชชาสังคมก้าวหน้า ผู้อดข้าวประท้วงเพื่อผู้ต้องหาคดี 112  ร่วมเสวนา และดำเนินการโดยเทวฤทธิ์ มณีฉาย นักกิจกรรมอิสระ

นายอานนท์ กล่าวว่า หลังปี 2552 คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกือบทุกคดีเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และเป็นคดีที่ไม่ได้รับการประกันตัว เพราะศาลให้เหตุผลว่า "เป็นคดีที่กระทบกระเทือนกับความรู้สึกต่อปวงชนชาวไทย ผู้จงรักภักดี และอัตราโทษสูงปล่อยไปเกรงจะหลบหนี" อย่างกรณีอากงใช้เงินสด 1 ล้านบาทพร้อมนักวิชาการ 7 ท่าน ก็ยังไม่รับการประกันตัว

ที่ผ่านมาการทำคดีหมิ่นฯ ทีมทนายความพยายามต่อสู้ทุกตัวบทกฎหมาย เราอ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 39 ที่บอกว่า ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าเขาผิด จึงปฏิบัติกับเขาเหมือนคนผิด แต่ในประเทศไทยไม่ใช่ พอจับได้ตำรวจฝากขัง จำเลยก็จะถูกขังทันที ขังแบบลงโทษ ขังในเรือนจำจริง อย่างกรณีของหนุ่มเรดนนท์ ซึ่งถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็ถูกผู้คุมที่เป็นเสื้อเหลืองซ้อม ผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ส่วนใหญ่ที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำมักจะถูกแกล้งให้ไปเก็บเศษข้าวและของปฏิกูล ถูกแขวนป้ายว่าเป็นพวกปากสว่าง ฯลฯ

แนวคิดของกลุ่มคนในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา สะท้อนออกมาในคำสั่งที่ไม่ให้ประกันตัว ผู้ต้องหาคดีหมิ่นมักจะถูกคนที่เห็นต่างมองว่าผิดไว้ก่อนเสมอ

โทษคดีหมิ่นถือเป็นโทษระดับกลางคือจำคุก 3-15 ปี แต่กระบวนการยุติธรรมมักจะมองว่าเป็นโทษสูงเ แล้วมักจะกลายเป็นเหตุผลที่ศาลไม่ให้ประกันตัว

การไม่ให้ประกันตัวนำไปสู่การเลือกที่จะรับสารภาพ เพราะถ้าเลือกสู้กระบวนการในศาลชั้นต้นกินเวลาประมาณปีกว่า ชั้นอุทธรณ์ 2-3 ปี ชั้นฎีกาอีก รวมทั้งหมดกินเวลาเป็น 10 ปี จำเลยจึงเลือกรับสารภาพเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งอาจจะติดคุกน้อยกว่าการสู้คดี

นส.จิตรา กล่าวว่า ตนได้รับผลกระทบจากม.112 เนื่องจากใส่เสื้อที่นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง (ผู้ที่ถูกคดีหมิ่นเนื่องจากไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงหนัง)สกรีนออกมาว่า "ไม่ยืน ไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ไปออกรายการ "กรองสถานการณ์" หัวข้อ "ทำท้อง ทำแท้ง" จนถูกกล่าวหาจากเว็บไซต์ผู้จัดการว่า "ล้มล้างสถาบันฯ" ซึ่งนายคำนูญ สิทธิสมานได้นำไปตั้งกระทู้สดในสภาว่า ปล่อยให้คนใส่เสื้อไม่เอาสถาบันฯ ไปออกในรายการได้อย่างไร จนเป็นเหตุให้บริษัทที่ตนทำงานอยู่ไปขออำนาจศาลเลิกจ้าง เนื่องจากตนเป็นประธานสหภาพแรงงานอยู่ในขณะนั้น ศาลเห็นด้วยให้เลิกจ้าง เพราะทำให้นายจ้างเสื่อมเสียชื่อเสียง และมองว่าตนไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติไทย

ตอนนี้นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง เลือกที่จะไปอยู่ต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า คนเราเมื่อมีความเห็นต่าง ไม่สามารถแสดงจุดยืนในสังคมนี้ได้

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากม.112 คนต่อมา ที่ต้องพูดถึง คือ อาจารย์ใจ อึ้งภากรณ์ นักวิชาการที่สอนอยู่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนหนังสือชื่อ A coup for the rich หรือรัฐประหารเพื่อคนรวย แล้วนำไปวางขายที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ จนมีคนเอาหนังสือเล่มนี้ไปแจ้งจับ โดยให้เหตุผลว่ามีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถึงที่สุดแล้วอาจารย์ใจก็ไม่ได้เลือกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ตัดสินใจออกนอกประเทศ เพราะเขาไม่เชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมจะทำให้รอดพ้น

กรณีต่อมาเมื่อมีคนอ่านสองบทความที่ใช้นามปากกาว่า จิตร พลจันทร์ ในหนังสือวอยซ์ออฟทักษิณแล้ว เห็นว่ามีข้อความเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งเป็นบก.หนังสือเล่มนี้จึงถูกแจ้งจับ ทั้งที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าบก.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้เขียนบทความ คุณสมยศยื่นขอประกันตัวตั้งแต่วันแรกที่ถูกจับโดยใช้หลักทรัพย์ 1.6 ล้านบาท แต่ก็ไม่ได้รับการประกันตัวเพราะเกรงว่าจะหลบหนี

ปกติเมื่อขึ้นศาล จะมีการสืบพยานในที่ที่เราถูกควบคุมตัว แต่ปรากฏว่า กรณีคุณสมยศ เขาต้องไปขึ้นศาลตามที่อยู่พยาน คนแรกขึ้นศาลที่อรัญประเทศตามที่อยู่ของตม. คนที่สองไปขึ้นศาลที่เพชรบูรณ์ ตามที่อยู่ของพยาน ซึ่งพยานคนนั้นทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ  คนที่สามคุณสมยศไปขึ้นศาลที่นครสวรรค์ พยานคนนี้มีภูมิลำเนาอยู่นครสวรรค์แต่ว่าไปทำงานที่กรุงเทพฯอีกเช่นกัน คนที่สี่สมยศต้องไปขึ้นศาลที่สงขลา เพราะพยานคนนี้มีภูมิลำเนาอยู่ที่สงขลา แต่พยานไม่ไปศาลในวันที่เขาถูกควบคุมตัวไปสงขลา เนื่องจากพยานอ้างว่าไม่สะดวกที่จะไปขึ้นศาลที่สงขลา เพราะกำลังศึกษาอยู่ที่กรุงเทพฯ

อยากให้ลองคิดดูว่าสิ่งที่กล่าวมาเป็นการกลั่นแกล้ง หรือว่ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถจัดการ ประสานงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรณีอากง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าส่ง SMS ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้เลขานายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ฯ  โดนลงโทษ 4 กรรม กรรมละ 5 ปี รวมแล้ว 20 ปี คดีนี้มีความพยายามยื่นประกันตัวหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้ โดยศาลให้เหตุผลว่าเกรงจะหลบหนี คดีกระทบกระเทือนจิตใจต่อประชาชนทั่วไป และคดีมีโทษสูง ลองคิดดูว่า อากงส่งข้อความว่าอะไรก็ยังไม่รู้ จะกระทบกระเทือนจิตใจได้อย่างไร ฉะนั้นคดีเหล่านี้ทำให้เราไม่สามารถทราบข้อเท็จจริงได้ว่า เขาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างไร

กรณีดา ตอร์ปิโด ถูกศาลตัดสินครั้งแรก 18 ปี โดยกระบวนการไต่สวนที่ปิดลับ ตอนเธอปราศรัยที่สนามหลวงมีคนฟังเพียง 20 คนเท่านั้นแทบไม่มีใครรู้ ไม่มีใครสามารถเข้าไปฟังได้ว่าเธอพูดว่าอย่างไร แต่ทุกคนในที่นี้สามารถรู้ได้ว่าเธอหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างไร เพราะคุณสนธิ ลิ้มทองกุล นำมาเผยแพร่ในเวทีพันธมิตร ซึ่งคุณสนธิโดนคดีหมิ่นด้วยแต่ได้รับประกันตัวไปในวงเงิน ห้าแสนบาท

นอกจากนี้ยังมีกรณีอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถูกกองทัพบกยื่นฟ้องต่อตำรวจในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

กรณีของน้องก้านธูป  ซึ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากรได้ แต่ศิลปากรไม่รับเข้าเรียน โดยให้เหตุผลว่า ก้านธูปมีทัศนคติที่ไม่ดี จนทำให้ถูกกลุ่มล่าแม่มดประจานในสังคมออนไลน์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีคนกลุ่มหนึ่งรอที่จะทำร้าย ทำให้ก้านธูปไม่ได้ไปรายงานตัวจนไม่สามารถเข้าเรียนได้ หนึ่งปีต่อมาก้านธูปเข้าเรียนธรรมศาสตร์ได้ แต่ก็มีคนไปแจ้งความข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่สน.บางเขน

กรณีหนุ่มนปช.ผู้ว่าจ้างสร้างเวบไซต์ นปช.ยูเอสเอ ศาลชั้นต้นลงโทษ 13 ปี แล้วก็ไม่ให้สิทธิประกันตัว

กรณีอาจารย์สุรชัย แซ่ด่าน ศาลก็ไม่ให้ประกันตัว อาจารย์สุรชัยจึงเลือกที่จะรับสารภาพ  ศาลจึงตัดสินจำคุก 7 ปี 6 เดือน

กรณีของ โจ กอร์ดอน ซึ่งเป็นคนไทยที่ไปอยู่อเมริกา 30 ปี ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้แปลหนังสือ The  king never smile เมื่อถูกจับเขาบอกว่า ถ้าเขาได้รับการประกันตัว เขาจะสู้คดีให้ถึงที่สุด เมื่อเขาไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ทางเลือกของเขาเหลือแค่ยอมรับสารภาพ แต่ศาลแทนที่จะตัดสินทันที แต่กลับบอกว่าต้องตรวจสอบบางอย่าง ถึงที่สุดแล้วศาลตัดสินลงโทษ 2 ปี 6 เดือน ตอนนี้เขากำลังยื่นเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ

คนสุดท้ายที่อยากพูดถึง คือ สุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ถูกกล่าวหาโดยผู้ที่ใช้ชื่อ I PAD ว่า ใช้ชื่อนักปรัชญาชายขอบ โพสต์แสดงความเห็นเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพท้ายบทความอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลในเวบไซต์ประชาไท ตอนนี้อยู่ระหว่างเขียนข้อเท็จจริงส่งตำรวจ

ผู้ที่ใช้ชื่อ I PAD แจ้งจับคนในข้อหานี้มาแล้วเป็นสิบราย ซึ่งจะเห็นว่า I PAD สามารถที่จะแจ้งจับใครก็ได้ เมื่อเห็นว่ามีความคิดเห็นที่ต่างกัน กลายเป็นภาระคนที่ถูกแจ้งจับ ต้องไปแสดงว่าตัวเองไม่ได้พูดไม่ได้กระทำ ในขณะที่ I PAD ไม่ต้องไปแสดงว่าคนนี้พูดหรือทำอะไร

ในช่วงหลังรัฐประหาร4-5 ปี จำนวนคดีหมิ่นฯเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว จนถึงปี 2553 เท่าที่รวบรวมได้มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 478 คดี ยังมีบางคนที่ไม่กล้าเปิดเผยว่าตนเองโดนม.112 อยู่อีกจำนวนหนึ่ง

การโดนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การไม่รับสิทธิประกันตัวเท่านั้น อย่างตนโดนคดีหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาหนึ่งคดี ใช้วงเงินประกันตัว 1 แสนบาท ตนเป็นคนงานในโรงงานย่อมไม่มีทางหาเงิน 1 แสนบาทมาประกันตัวได้ แต่โชคดีที่รู้จักอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขาจึงมาประกันตัวให้โดยใช้ตำแหน่ง คดีต่อมาโดนข้อหามั่วสุมเกิน 10 คน ใช้วงเงินประกันตัว 2 แสน ตนก็ได้อาจารย์สุดา มาประกันตัวให้ จะเห็นว่าถ้าไม่มีอาจารย์ทั้งสองท่านมาประกันตัวให้คงอยู่ในคุก ผ่านมา 3 ปีแล้วคดียังไม่สิ้นสุด ตอนนี้มีสถานะ ผู้ต้องหาที่ได้สิทธิปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล

ในช่วงที่อยู่ระหว่างรอการประกันตัว ต้องถูกขังไว้ในคุกใต้ถุนศาล เห็นคนที่โดนข้อหาเพียงเล็กน้อยแต่ไม่มีหลักทรัพย์มาประกันตัว จำนวนมาก

เรื่องสิทธิประกันตัวมันจึงมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกศาลให้สิทธิประกันตัวแน่นอน แต่เราต้องมีหลักทรัพย์ ยิ่งมีเงินมากเท่าไหร่ก็มีโอกาสได้รับการประกันตัวมากเท่านั้น อย่างที่สอง คือ ศาลไม่ให้ประกันตัวแม้จะใช้หลักทรัพย์เท่าใดก็ตาม

ชีวิตในคุกลำบาก ต้องเรียกผู้คุมว่าแม่ ต้องไหว้ผู้คุม ต้องเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ  ต้องทานอาหารในเรือนจำซ้ำกัน นอกเสียจากจะมีเงินสั่งซื้ออาหารพิเศษ ต้องป่วยหนักปางตายถึงจะได้พบหมอ แม้ไม่ได้เป็นอาชญากร แต่ถ้าเข้าไปติดคุกก็ต้องพบเจอชะตากรรมแบบนี้

นส.จิตรา เสนอว่านักโทษที่ถูกกล่าวหาจากคดีที่แค่เห็นต่าง ไม่ควรนำไปขังคุก ควรจะให้การประกันตัว หรือถ้าเกรงหลบหนีก็ควรใช้วิธีกักบริเวณ โดยใช้เทคโนโลยีจีพีอาร์เอสบอกตำแหน่ง

อย่างไรก็ตามเห็นว่านักโทษทุกคดีควรได้รับสิทธิการประกันตัว ตนเห็นด้วยที่เขาให้สิทธิประกันตัวนายสนธิ ลิ้มทองกุล และฝาแฝดที่ทำร้ายอาจารย์วรเจตน์ แต่คนอื่นก็ควรได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันด้วย ไม่ใช้เลือกปฏิบัติว่าคนไหนควรได้รับการประกันตัว

นส.จิตรา กล่าวอีกว่า ข้อเสนอนิติราษฎร์ เสนอเพื่อป้องกันไม่ให้ใครแจ้งความกล่าวโทษกันได้ โดยเปลี่ยนให้สำนักราชเลขาธิการเป็นผู้กล่าวโทษ แล้วแยกข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายออกจากกัน ไม่ให้อยู่ในอันเดียวกัน เพราะแต่ละอันต่างกรรม ต่างวาระ ซึ่งเมื่อไม่ได้แยกออกจากกันมันทำให้เกิดการลงโทษแบบเหมารวม รวมถึงยกเลิกโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดอัตราโทษขั้นสูง มีการเพิ่มเหตุยกเว้นความผิด และโทษ

ปัญหาใหญ่คดีม.112 คือใครก็สามารรถฟ้องได้ มีกรณีที่คนซื้อหนังสือในร้านโครงการพระราชดำริ แล้วนำมาเขียนในเวบไซต์ว่าหนังสือเล่มนี้เขียนไม่ดี คนที่มาอ่านจึงนำไปแจ้งความ พอแจ้งความมันกลายเป็นคดีที่ทำให้ต้องเสียเวลา ซึ่งตอนนี้คนที่โดนคดีต้องไปอยู่ต่างประเทศ

กรณีต่อมา คือ คนสองคนเป็นแฟนกัน ชอบกัน วันหนึ่งผู้หญิงบอกว่าไม่ชอบผู้ชายคนนี้แล้ว ไม่อยากคบด้วย ผู้ชายจึงขู่ว่าถ้าเลิกกับเขา เขาจะแจ้งจับด้วยข้อหาม.112  ผู้หญิงจึงบอกให้หาหลักฐาน แต่ผู้ชายบอกว่าให้ไปพิสูจน์เอาเองว่าไม่ผิด

จะเห็นว่า ปัญหาในตัวกฎหมายมันทำให้มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น แม้ว่าตำรวจอาจจะไม่รับแจ้งความ แต่มันสร้างให้เกิดความหวาดกลัว

ด้านนายไชยวัฒน์ กล่าวว่า สิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับ เพราะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การที่ผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวโดยอ้างว่าจะหลบ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเขาตัดสินล่วงหน้าแล้วหรือว่า จำเลยหรือผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริง ถ้าเป็นอย่างนี้ แสดงว่ากระบวนการยุติธรรมมีปัญหาด้านหลักการพื้นฐานในการดำเนินคดี

เนื่องจากว่าประเทศไทยมีความผูกพันกับหลักสากล อย่างการยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ฉะนั้นประเทศไทยควรทำตามหลักสากลเพื่อไม่ให้ถูกต่างชาติกล่าวหา เพราะสิทธิการประกันตัวและการเคารพสิทธิของผู้ต้องหาเป็นหลักสิทธิมนุษยชน

ดาร์ ตอปิโด เคยเล่าให้ชีวิตในเรือนจำฟังว่า  กว่าจะออกมาพบผู้เยี่ยมแต่ละครั้งได้ต้องทายให้ถูกภายในสามครั้ง เวลานอนก็จะเบียดกันนอน ไม่สามารถลุกเข้าห้องน้ำได้เพราะที่นอนจะหายไป และอาบน้ำได้คนละ 3 ขัน

พื้นที่นักโทษเรือนจำกลางหญิงสามารถรองรับนักโทษหญิงได้ 1,500 คน แต่ขณะนี้มีผู้ต้องขังที่อยู่ในนั้นประมาณ 5,000 คน ฉะนั้นนักโทษที่ส่งเขาโดยหวังว่าจะทำให้เปลี่ยนพฤติกรรม คงไม่ได้ผล เพราะสภาพแวดล้อมไม่ดีทำให้เลวร้ายลงไปอีก

สภาพของนักโทษทั่วไป สามารถสรุปได้ว่า หนึ่ง คนทั่วไปจะมองนักโทษเป็นเดนคน ไม่ต้องไปดูแลเอาใจใส่มาก มีการตัดงบนักโทษให้กับโครงการไทยเข้มแข็งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์

สองในกรณีนักโทษ 112 เป็นกรณีหนึ่งที่สะท้อนปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหามีความผิด ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม และเมื่อดูอีกหลายๆคดีเช่น ที่ดินลำพูน  ซึ่งมีปัญหาการออกโฉนดซ้อนทับผู้อาศัยดั้งเดิมทำให้ชาวบ้านถูกฟ้องข้อหาบุกรุก ศาลมีคำสั่งว่า ถึงแม้ว่าจะเข้าใจว่าเอกสารสิทธิ์จะออกมาโดยมิชอบแต่ก็ให้จำคุกจำเลยไว้ก่อน แทนที่จะยกประโยชน์ให้จำเลย แล้วไปพิสูจน์เอกสารสิทธิ์ว่าถูกต้องหรือไม่ เป็นต้น 

ข้อสังเกตเรื่องม.112 จากประสบการณ์ ก่อน 6 ตุลาฯคดีหมิ่นฯ ไม่ใช่คดีที่น่ากลัว มีผู้ถูกดำเนินคดีไม่มากแต่คดีที่น่ากลัวคือคดีคอมมิวนิสต์ และกบฏต่อราชอาณาจักร ซึ่งทำให้ถูกจำคุกหลายปี แต่ปัจจุบันมีคดีหมิ่นฯเพิ่มมากขึ้น ตนจึงสงสัยว่า เป็นเพราะข้อหาคอมมิวนิสต์ใช้ไม่ได้แล้วหรือไม่ หรือเป็นเพราะม.112เป็นวิธีเดียว ที่จะสกัดคนที่เห็นต่างทางการเมือง.

(ประชาธรรม, 14-3-2555)

 

ทพ.26 ยัน แฝดชกวรเจตน์ ไม่ใช่ทหารพราน

12 มี.ค. 55 - พ.อ.ศิริชัย สร้อยแสน นายทหารพระธรรมนูญ กองบัญชาการกองทัพไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้ากรณีที่มีลายเซ็นต์ตนเอง อยู่บนบัตรประจำตัวทหารพรานสังกัดหน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 26 ที่เคยออกให้ฝาแฝดผู้ต้องหาคดีทำร้ายร่างกาย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ ว่า วันนี้ตนได้รับเอกสารที่เป็นส่วนของบัตรที่เป็นปัญหาว่าเป็นชื่อของตนเป็นผู้ออกบัตรให้ แต่ตนดูแล้วไม่พบว่า มีรายชื่อของตนแต่อย่างใด มีเพียงลายเซ็นเท่านั้น ซึ่งลายเซ็นในบัตรไม่ใช่ของตนแน่นอน ทั้งนี้ ตนจะนำเอกสารที่ได้นำเขียนรายงานถึงผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นต่อไป นอกจากนี้ ตนได้โทรศัพท์สอบถามพนักงานสอบสวนในคดีนี้แล้ว เพื่อติดต่อให้ทนายเข้าไปขอเอกสารต่างๆ ที่ทางผู้ต้องหานำไปขออนุญาติครอบครองอาวุธปืน (ป.4) ซึ่งทางพนักงานสอบสวนแจ้งมาว่า ได้นำเอกสารทั้งหมดยื่นต่อศาลเพื่อขอให้ศาลยกเลิกเพิกถอน ใบ ป.4 อยู่ หากเสร็จสิ้นแล้วก็จะแจ้งให้ทราบ ตนขอยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักทั้งสองคนมาก่อน แต่เขาจะรู้จักกับลูกน้องตนคนไหนหรือไม่ ตนไม่รู้ แต่ตนไม่อยากไปเป็นคนกลางให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือดึงตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ตนกำลังให้ทนายดูอยู่ว่า เกี่ยวข้องกับตนตรงไหน และเข้าข่ายอย่างไร เพราะเท่าที่ดูไม่พบว่า มีชื่อตนปรากฏอยู่ในบัตรประจำตัว เป็นเพียงผู้ต้องหาพูดออกมาเท่านั้น

ด้าน พ.อ.ณัฎฐ์ ศรีอินทร์ ผบ.หน่วยเฉพาะกิจทหารพรานที่ 26 กล่าวว่า จากผลการตรวจสอบพบว่า ทั้งสองคนไม่เคยเป็นอาสาสมัครทหารพรานในหน่วยแต่อย่างใด ซึ่งถือว่า การสอบสวนในส่วนของหน่วยทหารพรานที่ 26 จบแล้ว โดยตนได้ทำหนังสือผลการตรวจสอบถึงผู้บัญชาการทหารบก 2 ข้อ คือ 1.ตรวจสอบแล้วพบว่าบุคคลทั้ง 2 คนไม่ใช่ทหารพราน และ 2.ขณะนี้ พ.อ.ศิริชัย ไม่ใช่กำลังพลของกรมทหารพรานที่ 26 แต่เคยรับราชการที่หน่วยทหารพรานที่ 26 ตั้งแต่ปี 2529-2532 จากนั้นได้ไปรับราชการที่กองบัญชาการกองทัพไทย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันว่า บัตรประจำตัวทหารพรานที่ออกให้เป็นปี 2551 แต่ขณะนั้น พ.อ.ศิริชัย ได้ย้ายมาอยู่ที่กองบัญชาการกองทัพไทย ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพแต่อย่างใด ซึ่งจากการพูดคุยกับ พ.อ.ศิริชัย เขายืนยันว่า ไม่รู้จักทั้งสองคน แต่เป็นการแอบอ้าง ซึ่งทาง พ.อ.ศิริชัย จะรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินการต่อไป

(แนวหน้า, 12-3-2555)

 

“เหลิม” ถกข้อเสนอผลงาน คอ.นธ.รอบ 3 เดือน-ลุยปรามแก๊งหมิ่นเบื้องสูง

12 มี.ค. 55 - เมื่อเวลา 10.30 น.ที่กระทรวงยุติธรรม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในรอบ 3 เดือน เกี่ยวกับข้อเสนอแนะคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ที่มี นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ.นธ.จำนวน 5 ข้อ คือ 1.ปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายจราจรกรณีเจ้าพนักงานจราจรเรียกรับเงินจากผู้ขับขี่รถจักยานยนต์ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แก้กฎระเบียบภายในเรียกปรับไม่เกิน 100 บาท 2.ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิผู้ต้องหา หรือจำเลยที่จะต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่มีการตั้งข้อกล่าวหาโทษรุนแรงจึงทำให้เงินประกันตัวมีอัตราสูง

3.ปัญหาการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ข้อ 4.ให้แก้ไขการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการของกองทัพไทย ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 มาตรา 25 และ 5.ให้ทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร

โดยการประชุมวันนี้มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมร่วมประชุมหารือด้วย

สำหรับประเด็นปัญหาดังกล่าวทั้ง 5 ข้อ นายอุกฤษ ได้เสนอให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับทราบไปแล้ว เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา

พล.ต.อ.ประชา กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ว่า สำหรับข้อเสนอข้อที่ 4 การแก้ไขการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และส่วนราชการของกองทัพไทย ถือเป็นเรื่องของกระทรวงกลาโหม จึงไม่ได้นำมาหารือในการประชุมครั้งนี้ ส่วนข้อเสนอที่ 5.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ถือว่ายุติแล้วเพราะที่ประชุมสภาฯ เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ส่วนข้อเสนอที่เหลืออีก 3 ข้อ ยังไม่ได้ข้อยุติ เพียงแต่ได้ข้อสรุปในระดับหนึ่งเท่านั้น โดยเรื่องปัญหาการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 นั้น ได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับไปดำเนินการตามกฎเกณฑ์เดิมที่มีอยู่ แต่ให้มีมาตรการเข้มข้นขึ้น นอกจากนี้ ในการหารือกันครั้งหน้าจะเชิญเลขาฯคณะกรรมการกฤษฎีกา มาร่วมหารือด้วย เพื่อให้ได้ข้อยุติ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 12-3-2555)

 

กรมคุ้มครองสิทธิหอบเงินสดเป็นหลักทรัพย์ ‘สมยศ’ ไม่ได้ประกันรอบ 8

12 มี.ค.55 - ที่ศาลอาญารัชดา กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้นำเงินมาประกันตัวผู้ต้องขัง 3 ราย ได้แก่  นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานาภพ, นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ,  และนายอเนก สิงขุนทด ผู้ต้องขังคดีวางระเบิดพรรคภูมิใจไทยซึ่งตาบอดทั้งสองข้าง

นางสุกัญญา พฤกษาเกษมสุข ภรรยานายสมยศ กล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิฯ ได้ใช้เงินสด 1.44 ล้านบาทในการประกันตัว ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 8 แต่ท้ายที่สุดศาลก็ได้ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยระบุว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งยกคำร้องมาแล้ว และยังไม่เหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่น

นายกิตติชัย ชาญเชิงศิลปกุล พี่ชายนางสาวดารณี ซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิใช้เงินสด 1.44 ล้านบาทเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว แต่ศาลชั้นต้นได้ส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา เพราะขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างขอขยายเวลาอุทธรณ์ ตนจะเดินทางจากภูเก็ตมารับทราบผลอีกทีในวันพฤหัสที่ 15 มี.ค.นี้  ส่วนกรณีของนายอเนกนั้นศาลชั้นต้นก็ได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเช่นเดียวกัน

(ประชาไท, 13-3-2555)

 

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ไม่อนุมัติให้จัดงานเสวนา “แขวนเสรีภาพ”

13 มี.ค. 55 -  หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้เขียนชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเพจ https://www.facebook.com/baccpage/posts/289929384414144  ดังนี้

กรณี เรื่องการขอใช้สถานที่จัดงานเสวนา “แขวนเสรีภาพ” โดยคณะนักเขียนแสงสำนึก ในวันที่ 18 มีนาคม 2555 และทางหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้ให้การปฎิเสธการใช้สถานที่ไปนั้น ซึ่งได้มีผู้สนใจสอบถามถึงเหตุผลของการตอบปฎิเสธนั้น จึงขอเรียนแจ้งให้ทราบตามนี้

คณะผู้บริหารหอศิลปฯ ได้พิจารณาแล้วว่า ประเด็นในการเสวนาหลักและกิจกรรมในวันนั้นค่อนข้างเป็นประเด็นทางการเมืองเป็นเรื่องนำ และเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของกลุ่มหลากหลายฝ่ายที่มีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่หอศิลปฯ ในสถานการณ์บ้านเมือง ณ ขณะนี้ และอาจมีผู้ไม่หวังดีใช้ประโยชน์จากการจัดงานดังกล่าว เป็นตัวจุดปะทุและอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง และเป็นข้ออ้างให้ฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งเห็นตรงข้ามนำเป็นประเด็นการเปิดพื้นที่ลักษณะนี้ ในการใช้พื้นที่หอศิลปฯ โดยละเลยวาระสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศิลปะในภาพรวมไป ซึ่งหอศิลปฯ เคารพในจุดยืนของคณะนักเขียนแสงสำนึก และมิได้มีเจตนาจะปิดกั้นเสรีภาพแต่เพียงอย่างใด และได้ชี้แจงและขออภัยในความล่าช้าของการพิจารณาซึ่งอาจนำไปสู่การสื่อสารที่คลาดเคลื่อนเรื่องการจัดงานไป คณะผู้บริหารฯ ใคร่ขอสงวนพื้นที่แห่งนี้สำหรับการแสดงงานศิลปวัฒนธรรมจากคนทุกกลุ่ม โดยปราศจากวาระที่อาจจะเอื้อให้เกิดการเติมความขัดแย้งทางการเมือง-สังคม ซึ่งมีความล่อแหลมและซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน

(ประชาไท, 14-3-2555)

 

เล็งย้ายจัดงาน "แขวนเสรีภาพ" ไปจุฬาฯ  หอศิลป์ยันไม่ได้เลือกปฏิบัติ

14 มี.ค. 55 - จากกรณีคณะนักเขียนแสงสำนึกติดต่อขอเช่าสถานที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดงาน "แขวนเสรีภาพ" http://www.thaipoetsociety.com/index.php?topic=4157.0 ในวันที่ 18 มี.ค.ที่จะถึงนี้ โดยวานนี้ หอศิลป์ฯ ได้แจ้งไม่อนุมัติให้มีการจัดงานดังกล่าว ล่าสุด ได้สถานที่ใหม่แล้วคือ ห้อง 105 ตึกเทวาลัย (อาคารมหาจุฬาลงกรณ์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ วาด รวี หนึ่งในคณะนักเขียนแสงสำนึก เขียนอีเมลเล่าถึงกรณีดังกล่าวโดยระบุว่า ทางคณะนักเขียนแสงสำนึกได้ติดต่อขอเช่าสถานที่ และจองห้องตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม หลังจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้ส่งรายละเอียดของกิจกรรมให้ และทางเจ้าหน้าที่หอศิลป์ก็ได้แจ้งให้เราทราบว่าได้ห้องเอนกประสงค์ อีกทั้งขอชื่องานเพื่อจะไปช่วยทำประชาสัมพันธ์   จนกระทั่งวันอังคารที่ 13 มีนาคม เวลาเที่ยง ทางหอศิลป์ได้ติดต่อมาแจ้งว่า คณะกรรมการมีความวิตกกังวล และขอปรึกษากันก่อนว่าจะอนุมัติหรือไม่  จากนั้นเย็นวันเดียวกัน เวลาประมาณสี่โมงเย็น ทางผู้อำนวยการหอศิลป์ก็แจ้งกลับมาว่า ไม่อนุมัติให้จัดงาน โดยให้เหตุผลว่า “อยากให้หอศิลป์ กทม. เป็นพื้นที่ที่ปลอดจากเรื่องของความขัดแย้งในทุกกรณี ซึ่งในบางช่วงอาจมีบางประเด็นที่อ่อนไหว อันนำไปสู่ความรุนแรงได้ จึงขอสงวนไว้สำหรับกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมเพื่อคนหลากหลายกลุ่ม”

"ตามความเห็นของผม เมื่อพิจารณาจากช่วงเวลาที่เราติดต่อขอเช่าสถานที่กับหอศิลป์ครั้งแรกในปลายเดือนมกราคม  โดยระบุวันเวลาจัดงานที่แน่นอน คือวันที่ 18 มีนาคม และเหตุที่เป็นวันที่ 18 มีนาคม ก็เพราะห้องว่างในวันนั้นพอดี ส่วนสัปดาห์อื่นห้องเต็ม หอศิลป์มีเวลาพิจารณาว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติเป็นเวลาเดือนกว่า อย่างน้อย แจ้งมาต้นเดือนมีนาคม เราก็ยังมีเวลาอีกสองอาทิตย์เพื่อจะหาสถานที่ใหม่ เนื่องจากวันที่จัดงานนั้นได้ล็อกไปแล้ว เพราะต้องเชิญวิทยากรล่วงหน้า การมาแจ้ง “ไม่อนุมัติ” ไม่ถึง 6 วันก่อนวันงาน จริง ๆ แล้ว เหมือนเป็นการบอกยกเลิกมากกว่า ทั้งนี้ เชื่อว่าไม่ได้เป็นเจตนาของเจ้าหน้าที่ หรือผู้อำนวยการ แต่คงจะเกิดจากความวิตกกังวลของกรรมการผู้บริหารหลังจากได้มีการประชาสัมพันธ์งานออกไป" วาด รวี ระบุ

ทั้งนี้ นวลละออ พึ่งพรหม หัวหน้าฝ่ายกิจกรรมเครือข่ายของหอศิลป์กรุงเทพฯ ให้สัมภาษณ์ว่า การตัดสินใจดังกล่าวไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด และยังคงเปิดกว้างต่อกลุ่มที่หลากหลายในการทำกิจกรรม โดยกล่าวถึงกิจกรรม Creative Writing Workshop ที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายน ซึ่งจัดโดยปราบดา หยุ่น ก็ได้รับอนุญาตให้จัดได้

"จะเห็นว่าเราไม่ได้จำกัดกลุ่มกิจกรรม แต่เราดูจากเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องมากกว่า" นวลละออกกล่าว พร้อมทั้งชี้ว่า หอศิลป์กรุงเทพฯ อาจไม่เหมาะสมนัก หากนำไปใช้เป็นพื้นที่ทางการเมือง แต่เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการจัดงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมมากกว่า

(ประชาไท, 14-3-2555)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net