Skip to main content
sharethis

14 มี.ค. 55 – สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศาลประเทศกัวเตมาลาได้ตัดสินจำคุกอดีตนายทหาร เปโดร พิเมนเทล ริออส (Pedro Pimentel Rios) วัย 55 ปี เป็นเวลา 6,060 ปี เหตุมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสังหารหมู่ประชาชน ดอส เออร์เรส (Dos Erres) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 1982 ทางตอนเหนือของกัวเตมาลา โดยเขาเป็นทหารคนที่ห้าแล้วที่ถูกดำเนินคดีและลงโทษฐานก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ

การตัดสินลงโทษนายทหารคนดังกล่าว เป็นการตัดสินเชิงสัญลักษณ์ เนื่องจากโทษจำคุกสูงสุดของประเทศกัวเตมาลาคือ 50 ปี แต่บทลงโทษดังกล่าว คำนวณฐานความผิดจากการรับผิดชอบต่อเสียชีวิตของเหยื่อ 201 คน คนละ 30 ปี และบวกกับอีก 30 ปี จากโทษฐานก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ โดยก่อนหน้านี้ ศาลกัวเตมาลาได้ลงโทษจำคุกนายทหารกัวเตมาลาแล้ว 4 คน เป็นเวลาคนละกว่า 6,000 ปีในข้อหาเดียวกัน

การสังหารโดยรัฐที่หมู่บ้าน ดอส เออร์เรส ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างปี 1982-2983 เป็นช่วงเวลาที่รุนแรงมากที่สุดช่วงหนึ่งของสงครามกลางเมืองในประเทศกัวเตมาลา ซึ่งดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลา 36 ปี ระหว่าง 1960-1996 ทำให้มียอดรวมผู้เสียชีวิตทั้งหมดกว่า 2 แสนคน โดยภายในเวลาสามวัน กองทัพหน่วยพิเศษของกัวเตมาลาที่ชื่อว่า Kaibiles ได้บุกเข้าหมู่บ้านและสังหารชาวพื้นถิ่นมายาหลายร้อยคน เนื่องจากต้องสงสัยว่าให้การช่วยเหลือกลุ่มกบฏฝ่ายซ้าย ด้วยการยิงและซ้อมทรมาน และโยนศพลงบ่อน้ำเมื่อภารกิจเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ พิเมนเทลถูกทางการสหรัฐส่งตัวกลับประเทศกัวเตมาลาเมื่อปีที่แล้ว หลังจากที่เขาลี้ภัยอยู่รัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐเป็นเวลาหลายปี และถูกศาลตัดสินว่ามีส่วนผิดจริงในเหตุการณ์สังหารดังกล่าว

รายงานยังระบุว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศาลกัวเตมาลายังได้ตัดสินให้อดีตผู้นำทหาร นายพลเอเฟรียน ริออส มอนต์ (Efrian Rios Montt) ว่า เขาสมควรถูกดำเนินคดีในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ในฐานะผู้ที่มีอำนาจสั่งการในระหว่างปี 1982-1983 อย่างไรก็ตาม นายพลริออส มอนต์ ก็ปฏิเสธว่า เขาไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบในการสั่งการใดๆ

โดยก่อนหน้านี้ กรณีการสังหารโหดที่หมู่บ้านดอส เออร์เรส ได้ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของกัวเตมาลาแล้วในปี 1994 อย่างไรก็ตาม ต้องประสบกับความชะงักงันเนื่องจากความล่าช้า ต่อมาเมื่อปี 2009 ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างอเมริกา (Inter-American Court of Human Rights) ชี้ว่ากฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมาในปี 1996 ไม่มีผลกับอาชญากรรมร้ายแรงที่กระทำในสมัยสงครามกลางเมือง จึงนำมาสู่การสืบสวนโดยรัฐบาลสหรัฐซึ่งทำให้สามารถนำ Gilberto Jordan อดีตนายทหารที่เคยมีบทบาทในกองทัพ Kaibiles มาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปีในฐานะที่มีส่วนรับผิดชอบกับเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะได้รับสัญชาติอเมริกันแล้วก็ตาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net