Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นับแต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเด็นหนึ่งที่ถูก “พวกสลิ่มแพ้เลือกตั้ง” เยาะเย้ยเสียดสีต่อเนื่องมาคือ เป็นถึงนายกรัฐมนตรี แต่พูดอังกฤษไม่เก่ง เริ่มมาตั้งแต่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศทั้งก่อนและหลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การกล่าวคำปราศรัยเป็นภาษาไทย ณ ที่ประชุมเสวนาเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส จนถึงล่าสุด ในการเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ คนพวกนี้ทำราวกับว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยนั้น คุณสมบัติสำคัญที่สุดคือ ต้องพูดอังกฤษได้เก่ง พูดเหมือนเจ้าของภาษาได้ยิ่งดี! ยิ่งพูดไหลลื่น ผิดเป็นถูก ดำเป็นขาว ก็ยิ่งเก่ง! ปล้นชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาด้วยวิธีการสกปรกก็ไม่เป็นไร บริหารราชการแผ่นดินมีแต่ล้มเหลวก็ไม่ว่า!

ดูเหมือนว่า การมีนายกรัฐมนตรีที่พูดอังกฤษได้เก่ง จะได้รับความนิยมเป็นครั้งแรกเมื่อนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรีจากรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2534 ด้วยพื้นภูมิหลังที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษและเป็นอดีตนักการทูต สามารถโต้ตอบกับนักข่าวต่างประเทศได้อย่างคล่องแคล่วและชาญฉลาด หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแทบทุกคนจะถูกวิจารณ์ว่า “พูดอังกฤษไม่เก่ง” เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อครั้งเดินทางไปปราศรัยที่องค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2538 แม้แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังถูกค่อนแคะว่า พูดอังกฤษสำเนียงไม่ได้ดี (คือไม่เหมือนเจ้าของภาษา)

ความจริงแล้ว การพูดภาษาต่างประเทศได้เก่งหรือเหมือนเจ้าของภาษานั้น เป็นปมสำคัญประการหนึ่งมาแต่ไหนแต่ไรของชนชั้นปกครองไทย แต่กลับตกทอดมาเป็นปมด้อยของคนชั้นกลางที่มีการศึกษาในกรุงเทพปัจจุบันที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดอังกฤษให้ดีได้ ในขณะเดียวกัน ปมด้อยของคนพวกนี้ก็สะท้อนกลับเป็นเครื่องมือในการดูถูกดูแคลนคนชั้นอื่นที่ตนเชื่อว่า ต่ำกว่า คือ คนชั้นรากหญ้าทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด

ในยุคล่าเมืองขึ้น ชนชั้นปกครองสยามถูกคุกคามจากภัยจักรวรรดินิยมตะวันตก พวกเขาจึงได้เร่งสร้างกลไกอำนาจรัฐสมัยใหม่ขึ้น คือ ระบบราชการ ตุลาการ และกองทัพ ตลอดจนนำเอาเทคโนโลยี ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา โทรเลข และวัฒนธรรมตะวันตก ทั้งภาษา อาหาร และการแต่งตัว เข้ามาเผยแพร่ภายในกลุ่มของพวกตน เพื่อให้จักรวรรดินิยมตะวันตกยอมรับว่า พวกเขาในฐานะผู้ปกครองสยามก็ “เป็นศิวิไลซ์” เหมือนกัน ดังจะเห็นได้ว่า ข้อคิด ข้อเขียนจำนวนมากของผู้ปกครองสยามจนถึงก่อนปฏิวัติ 2475 จะกังวลอยู่กับเรื่อง “การยอมรับนับถือจากชาติตะวันตก” “การทำประเทศสยามให้ศิวิไลซ์” แม้แต่ภาษาตะวันตกก็ได้รับการถ่ายทอดผ่านครูต่างชาติและการส่งบุตรหลานของพวกตนไปศึกษาต่างประเทศโดยตรง จนสามารถผูกขาดความรู้ภาษาต่างประเทศไว้ได้ระยะหนึ่ง

แต่ผู้ปกครองสยามก็มิได้ส่งเสริมการศึกษาภาษาต่างประเทศในหมู่ราษฎรอย่างจริงจัง นี่เป็นความจงใจที่สำคัญ เพราะการปิดกั้นทางภาษาก็คือการปิดกั้นทางความคิดและวัฒนธรรม ทำให้ผู้ปกครองสามารถผูกขาดและเป็นผู้กำหนดว่า จะรับเอาเทคโนโลยีและความรู้วัฒนธรรมตะวันตกใดบ้างเข้ามาสู่สังคมไทย จำกัดให้ราษฎรได้รับแต่ความคิดและวัฒนธรรมที่ชนชั้นปกครองคัดกรองมาแล้วว่า “สอดคล้องกับสังคมไทย” ซึ่งก็คือ ไม่เป็นภัยต่อระบอบการปกครองและการครอบงำทางความคิดของพวกเขา

การผูกขาดความรู้ภาษาต่างประเทศ ก็คือการผูกขาดการเข้าถึงเทคโนโลยี ความรู้และวัฒนธรรมใหม่ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของชนชั้นปกครองสยามนั่นเอง

ปมทางวัฒนธรรมนี้ได้ตกทอดมาที่คนชั้นกลางที่มีการศึกษาในกรุงเทพปัจจุบัน แต่ด้วยความด้อยคุณภาพของระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ตกทอดมายาวนาน ความสามารถทางภาษาอังกฤษของคนพวกนี้ส่วนใหญ่จึงยังเป็นเพียงแค่ “เอบีซีดี” กลายเป็น “ปมด้อยทางภาษา” ของชนชั้นกลางไทยในกรุงเทพ แต่เพื่อชดเชยและปิดบังปมด้อยนี้ พวกเขาก็หันมาดูถูกดูแคลนคนชั้นรากหญ้าและนายกรัฐมนตรีคนแล้วคนเล่าที่เลือกตั้งโดยคนชั้นรากหญ้าว่า “พูดอังกฤษไม่ได้หรือพูดได้แต่ไม่ดี” ตั้งแต่นายบรรหาร ศิลปอาชา จนถึงพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้กลุ่มจารีตนิยม ภารกิจของพวกเขาในยุคแรกคือการทำลายล้างคณะราษฎร และในปัจจุบันก็คือ อาศัยฐานคนชั้นกลางในเมืองที่เป็นไพร่หางแถวจารีตนิยม มาทำลายรัฐบาลทุกรัฐบาลที่เลือกมาจากคะแนนเสียงข้างมากของ “ประชาชนคนรากหญ้า” ตั้งแต่รัฐบาลพรรคชาติไทย พรรคความหวังใหม่ พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนถึงปัจจุบันคือ รัฐบาลพรรคเพื่อไทย

จึงไม่น่าแปลกใจที่มีนายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งเพียงคนเดียวที่ไม่เคยถูกวิจารณ์ตรง ๆ ในเรื่องการพูดอังกฤษ ยิ่งกว่านั้น พรรคประชาธิปัตยก็ยังฉวยใช้ “ปมด้อยทางภาษา” ของคนชั้นกลางในกรุงเทพมาเป็นอาวุธ ดังที่ปรากฏครั้งแรกเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจนายบรรหาร ศิลปอาชาเมื่อปี 2539 ด้วยการให้ผู้อภิปรายบางคนเสียดสีเยาะเย้ยนายบรรหารเรื่องภาษาอังกฤษ ถ่ายทอดโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ

เมื่อแพ้เลือกตั้งยับเยินในปี 2554 พรรคประชาธิปัตย์และคนชั้นกลางในกรุงเทพจำนวนหนึ่งก็หันมาย้ำคิด ย้ำค่อนแคะเรื่องภาษาอังกฤษของนายกรัฐมนตรีอีก โดยมีนัยเปรียบเทียบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคที่เกิด เติบโตในประเทศอังกฤษ และสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด

การค่อนขอดนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ในเรื่องนี้ ก็เป็นเพียงการแสดงออกอีกครั้งของอาการกลบเกลื่อนปมด้อยทางภาษาที่คนพวกนี้ใช้ทิ่มแทงนายกรัฐมนตรีที่เลือกมาโดย “ประชาชนคนรากหญ้า” เท่านั้น ปมด้อยทางภาษาอังกฤษทำให้คนพวกนี้โหยหานายกรัฐมนตรีที่ “พูดอังกฤษเก่ง” เพื่อชดเชยปมด้อยของตัวเองว่า ถึงพวกตนจะ “พูดอังกฤษแย่กว่าเด็กอนุบาลในประเทศอังกฤษ” แต่ก็ “ฉลาดพอ” ที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีที่ “พูดอังกฤษเก่งเหมือนเจ้าของภาษา” แล้วก็ไปเที่ยวดูถูกคนอื่นว่า โง่ที่ไปเลือกนายกรัฐมนตรีที่ “พูดอังกฤษไม่ได้”

คนพวกนี้แหละที่มีความเป็นทาสทางวิญญาณอย่างแท้จริง แม้ปากจะพร่ำพูดแต่เรื่อง “ความเป็นไทย รักชาติไทย” สักเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่เคยภาคภูมิใจในความเป็นไทยและภาษาไทยอย่างแท้จริง เอาแต่กังวลหนักหนาว่า “ผู้นำประเทศพูดอังกฤษไม่เก่ง เป็นที่อับอายขายหน้าแก่ชาติที่เจริญกว่า”

สำหรับคนชาติที่ไม่มีปมด้อยทำนองนี้ เขาย่อมรู้ว่า เกียรติศักดิ์ศรีระหว่างประเทศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่า ผู้นำประเทศต้องพูดอังกฤษเก่งหรือพูดได้เหมือนเจ้าของภาษา แต่อยู่ที่ว่า ผู้นำประเทศต้องมาจากการเลือกตั้งอย่างชอบธรรม ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนส่วนข้างมาก บริหารราชการให้เป็นประโยชน์แก่ชนส่วนใหญ่ และสร้างความเจริญแก่บ้านเมืองโดยรวม และเมื่อผู้นำมีภารกิจต่างประเทศ หลักปฏิบัติที่เป็นสากลคือ ในการปราศรัยและเจรจาความเมืองที่เป็นทางการ ผู้นำแต่ละชาติจะใช้ภาษาราชการหลักของชาติตน โดยมีล่ามทำหน้าที่แปลหรือแจกเอกสารเป็นภาษาของคู่เจรจา เพราะถือว่า แต่ละชาติมีสถานะเอกราชเท่าเทียมกัน ผู้นำจึงย่อมมีสิทธิ์ใช้ภาษาราชการของตนได้อย่างภาคภูมิและสมเกียรติ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาของชาติอื่น ดังจะเห็นได้ว่า ผู้นำบางประเทศ แม้จะพูดอังกฤษได้ดี แต่เมื่อปราศรัยหรือเจรจาความเมืองที่เป็นทางการแล้ว เขาจะใช้ภาษาราชการประจำชาติตน ต่อเมื่อเป็นการพบปะสังครรค์หรือสนทนาส่วนตัว จึงอาจใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาสากลอื่น เพื่อความเป็นกันเอง ก็ย่อมกระทำได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net