Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จัดการศึกษาเรื่อง ‘กองทุนธนาคารที่ดิน’ นำเสนอฐานคิด-แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายกระจายการถือครองที่ดิน จี้รัฐร่วมหนุนกองทุนทั้งระดับชาติ-ระดับท้องถิ่น

รายงานโดย: บัณฑิตา อย่างดี

 

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.55 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จัดการศึกษาเรื่องกองทุนธนาคารที่ดิน ที่ จ.ตรัง โดยมีการนำเสนอเรื่องฐานคิด และแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน ผ่านทางภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และการจัดการที่ดินแบบรวมหมู่ โดยใช้โฉนดชุมชน และกองทุนธนาคารที่ดิน ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดย นางกันยา ปันกิติ คณะทำงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

421114_372209952799417

อีกทั้งมีการนำเสนอเนื้อหา พ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน และแนวปฏิบัติของรัฐบาล โดย นายโสภณ ชมชาญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการวางแผนการใช้ที่ดิน นายดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน  ที่มาร่วมแลกเปลี่ยน แนวทางการบริหารจัดการกองทุนธนาคารที่ดิน และทิศทางการขับเคลื่อนผลักดันนโยบาย

ทั้งนี้ รัฐบาลชุดที่แล้วได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ฏ.จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2554 ส่งผลให้จะมีการจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินขึ้นเป็นองค์การ มหาชน แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้า ในส่วนรัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีการบรรจุนโยบายเกี่ยวกับธนาคารที่ดินเอาไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในพูดคุย มีการนำเสนอว่า กองทุนธนาคารที่ดิน คือ กองทุนที่รองรับการเปลี่ยนมือที่ดินในพื้นที่โฉนดชุมชน โดยกำหนดให้สมาชิกที่มีความประสงค์จะขายที่ดินในพื้นที่โฉนดชุมชน เนื่องจากไม่มีความสามารถ หรือไม่มีความต้องการทำเกษตรแล้ว ต้องขายที่ดินให้องค์กรชุมชนเท่านั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายในการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย ป่าชุมชน สายน้ำ และที่สาธารณะของชุมชน รวมทั้ง สกัดกั้นไม่ให้ที่ดินถูกนำไปเป็นสินค้าซื้อขายปั่นราคาเก็งกำไรในตลาดเสรี ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ราคาที่ดินแพงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงในฐานะปัจจัยการผลิต

“อาจเรียกได้ว่าการเปลี่ยนมือที่ดินภายใต้กองทุนธนาคารที่ดิน มิใช่การซื้อขาย แต่เป็นการสืบทอดปัจจัยการผลิตจากเกษตรรายย่อยไปสู่เกษตรกรรายย่อย ราคาที่ดินที่คณะกรรมการฯ กำหนดเป็นค่าตอบแทนจากการลงแรงพัฒนาที่ดินและการปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ” วงพูดคุยระบุ

นอกจากนี้ กองทุนธนาคารที่ดินยังมีเป้าหมายเพื่อกระจายการถือครองที่ดินจากนายทุน ซึ่งมีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำการผลิต ไปสู่เกษตรกรไร้ที่ดิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ปัญหาความยากจน และปัญหาทางสังคม

กองทุนธนาคารที่ดิน มีทั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่น บริหารในรูปแบบองค์การมหาชนอิสระ โดยการสนับสนุนทุนประเดิมและงบประมาณรายปีจากรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลต้องสนับสนุนธนาคารที่ดินของชุมชน ซึ่งองค์กรชุมชนที่มีความพร้อมได้ดำเนินการไปก่อนแล้ว เช่น กรณีองค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านตระ และองค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านทับเขือ-ปลักหมู องค์กรชุมชนปฏิรูปที่ดินบ้านน้ำปลิว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net