Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
พรรคเพื่อไทยที่ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ควรที่จะผ่อนปรนตามฝ่ายอำมาตย์ เพราะจะถอยหลังเข้าคลอง ชีวิตของประชาชนที่สูญเสียไปเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ก็จะสูญเปล่า
 
แม้ว่า ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญคาม มาตรา ๒๙๑ ที่เสนอโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะได้รับชัยชนะในรัฐสภาในวาระรับหลักการเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ด้วยคะแนนขาดลอย ๓๙๙ ต่อ ๑๙๙ เสียง งดออกเสียง ๑๔ เสียง เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)ครั้งใหม่ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เป้าหมายที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ ดูเหมือนว่าจะยังต้องเดินอีกยาวไกล เพราะกลุ่มปฏิกิริยาสมุนอำมาตย์ ตั้งแต่พวกขบวนการเสื้อเหลือง พรรคแมลงสาบ พวกสลิ่มสารพัดสี สื่อมวลชนฝ่ายขวา กลุ่มวุฒิสมาชิกลากตั้ง จนถึงตุลาการกระแสหลัก และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้สร้างแนวร่วมอันแข็งแกร่งขึ้นแล้ว เพื่อต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
 
ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ในขณะที่รัฐสภากำลังพิจารณาญัตติเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ .น.พ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ก็นำประชาชนจำนวนหนึ่งที่อ้างว่ารวบรวมกันมากว่า ๒๕,๐๐๐ รายชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า การเสนอแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อรับใช้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว และต่อมา เมื่อรัฐสภาผ่านญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว กลุ่มเสื้อหลากสีก็ไม่ยอมรับ ยังหาช่องทางที่จะยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเอาผิด ๓๙๙ ส.ส.-ส.ว.ที่ลงมติรับหลักการแก้ไขมาตรา ๒๙๑ โดย น.พ.ตุลย์ อธิบายว่า การแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้อำนาจแก่คนนอกมาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เป็นการผิดรัฐธรรมนูญ ผู้ลงมติช่นนั้น จึงมีความผิด
 
เช่นเดียวกับ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม วุฒิสมาชิกลากตั้ง ซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มสยามสามัคคี ได้อธิบายว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับการทำรัฐประหาร เพียงแต่อาศัยคราบของความเป็นประชาธิปไตย และดำเนินการผ่านระบบเผด็จการรัฐสภา และว่า รัฐบาลรีบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ประชาชนยังเดือดร้อนจากวิกฤตอุทกภัยและปัญหาปากท้อง ความจริงแล้ว คนที่เดือดร้อนจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเพียง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงคนเดียว จึงเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อคนคนเดียว
 
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ก็มุ่งโจมตีการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า รัฐบาลมีเจตนาอย่างน้อย ๓ ประการ คือ มุ่งช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำลายสถาบันเบื้องสูง และล้มล้างอำนาจองค์กรอิสระ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องระบุว่า จะไม่มีการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ หมวดองค์กรอิสระ และไม่แก้เพื่อคนคนเดียว ต่อมา นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งประเด็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่กังวลกับปัญหาประจำวันมากกว่าเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ และมองว่าการแก้เป็นเรื่องของนักการเมืองที่นักการเมืองทำเพื่อตนเองและพวกพ้องมากกว่าเพื่อประชาชน และยิ่งถ้าการแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้ขัดแย้งมากขึ้น ประชาชนเดือดร้อนมากขึ้น ประการต่อมา รัฐบาลก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าประชาชนจะได้อะไรจากการแก้ โดยสาเหตุเดียวที่หยิบยกขึ้นมาคือที่มาของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวที่ได้รับการรับรองโดยเสียงข้างมากก่อนมีผลบังคับใช้ และโจมตีว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยพูดถึงข้อเท็จจริงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ให้ประชาชนมีสิทธิมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่นในการยื่นเสนอกฎหมาย ในการยื่นฟ้องกรณีการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบ และการถอดถอนนักการเมือง 
 
ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็ได้ตั้งมีนักวิชาการด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ๑๐ คน มาเป็นกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยมี นายนรนิติ เศรษฐบุตร อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ เป็นประธาน ทั้งที่ในกรรมการชุดนี้หลายคนเคยร่วมมือกับคณะเผด็จการทหาร บ้างก็เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเผด็จการ บ้างก็เคยเข้าร่วมร่างรัฐธรรมนูญรับใช้เผด็จการทหารมาแล้ว แต่คณะผู้ตรวจการแผ่นดินได้ให้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการชุดนี้ในการให้ข้อเสนอแนะติดตามประเมินผลว่า รัฐธรรมนูญที่ใช้มาแล้วมีปัญหาตรงไหนอย่างไร และมีมาตราไหนผิดพลาดคลาดเคลื่อน และมีอำนาจในการเสนอข้อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามความจำเป็น
 
สำหรับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เรียกชุมนุมประชาชนในวันที่ ๑๐ มีนาคมที่ผ่านมา และได้ออกแถลงการณ์ว่า พันธมิตรจะเรียกชุมนุมใหญ่ ถ้า ๑. มีการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นใด ที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์หรือลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ๒. มีการดำเนินการไม่ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายอื่นใด ที่มีความชัดเจนว่าจะนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้กับทักษิณ ชินวัตร และพวก และ ๓. เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่สถานการณ์ความเหมาะสมที่ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยครั้งใหญ่
 
สรุปแล้ว ประเด็นสำคัญที่มักอ้างกันในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็คือ การแก้เพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทั้งที่ยังไม่เห็นเลยว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะได้ผลประโยชน์อะไร ในกรณีนี้ ฝ่ายพรรคเพื่อไทยปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้อย่างชัดเจน โดยอธิบายว่า เนื้อหาของการแก้รัฐธรรมนูญ จะยังไม่ใช่เป็นเรื่องพิจารณาในขั้นตอนนี้ แต่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง จะดำเนินการโดยอิสระปราศจากการแทรกแซงชี้นำโดยฝ่ายการเมือง จึงพูดไม่ได้เลยว่าจะเป็นการแก้เพื่อใคร
 
ความจริงแล้วก็เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ เป็นกฎหมายโจร เป็นรัฐธรรมนูญฉบับอำมาตย์ จึงมีข้อบกพร่องมากมาย ตั้งแต่ที่มาจากการรัฐประหาร ที่ใช้อำนาจรถถังมาล้มรัฐธรรมนูญฉบับที่ถูกต้อง แล้วตั้งพวกเนติบริกรรับใช้เผด็จการมาร่างฉบับใหม่ จากนั้น ก็แสร้งวางขั้นตอนให้ชอบธรรม โดยให้ประชาชนมาลงประชามติ แต่ก็เป็นประชามติใต้กฎอัยการศึก ความชอบธรรมจึงไม่เกิดขึ้น ตัวอย่างของความชั่วร้ายของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในประเด็นอื่น ก็เช่น การให้อำนาจตุลาการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองโดยไม่มีการตรวจสอบ และยังมีลักษณะผลประโยชน์ต่างตอบแทน โดยให้ฝ่ายตุลาการและประธานองค์กรอิสระมาแต่งตั้งวุฒิสภาครึ่งสภา แล้วให้วุฒิสภามารับรององค์กรอิสระ นอกจากนี้ ที่ชั่วช้าอย่างมากคือ การมีบทเฉพาะกาลยืดอายุองค์กรอิสระ รองรับความชอบธรรมของคณะรัฐประหารทั้งอดีตและอนาคต และยังลักลอบต่ออายุผู้พิพากษาให้เกษียณที่ ๗๐ ปี เป็นต้น มาตราเหล่านี้ ล้วนต้องแก้ไข ถ้าหากต้องการให้สังคมไทยเป็นประชาธิปไตยอันแท้จริง
 
ในเรื่องของหมวดรัฐสภาที่ต้องแก้ไข ก็คือ การให้อำนาจตุลาการในการตัดสินยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิทางการเมืองผู้บริสุทธิ์ นี่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง แต่กระนั้น เรื่องใจกลางที่จะต้องแก้ไข คือ ต้องให้มีอำนาจตรวจสอบควบคุมอำนาจตุลาการ ลดอำนาจไม่ให้ตุลาการมายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ให้ศาลและองค์กรอิสระยึดโยงกับอำนาจของประชาชน และยุบเลิกผู้ตรวจราชการแผ่นดิน และยกเลิกวุฒิสมาชิกลากตั้ง หรือไม่ก็ยกเลิกวุฒิสภาไปเสียเลย ถ้าหากไม่มีการปฏิรูปในส่วนนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้คงจะไม่มีประโยชน์
 
ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มฝ่ายขวาจะเสนอไม่ให้แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ ดูราวกับว่าคนเหล่านี้ต้องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ความจริงไม่ใช่เลย เนื้อหาที่อำพรางไว้ คือการปกป้ององคมนตรีต่างหาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ในสถานการณ์เช่นปัจจุบัน คงไม่มีใครไปแก้มาตราที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์โดยตรง เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญได้กำหนดให้องคมนตรี กลายเป็นองค์กรวิเศษเหนือมนุษย์ องคมนตรีเหล่านี้เมื่อได้รับแต่งตั้งแล้ว ก็อยู่ในตำแหน่งจนตาย ไม่มีเกษียณอายุ กินเงินเดือนสูงมาก และมีอภิสิทธิ์ในสังคม คนเหล่านี้ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ต้องรายงานทรัพย์สินให้ใครทราบ และยังเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองอย่างไม่เป็นประชาธิปไตย การแก้หมวดพระมหากษัตริย์เพื่อให้ยกเลิกองคมนตรี จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง
 
ดังนั้น พรรคเพื่อไทยที่ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่ควรที่จะผ่อนปรนตาม การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ มีความหมายอย่างยิ่งต่ออนาคตของประชาธิปไตยไทย ถ้าหากยอมผ่อนปรนต่อฝ่ายอำมาตย์ สถานการณ์ก็จะถอยหลังเข้าคลอง ชีวิตของประชาชนที่สูญเสียไปเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ก็จะสูญเปล่า
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net