Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ซินมาร์อ่อง (ที่มา: Irrawaddy)

ซินมาร์อ่อง (Zin Mar Aung) อดีตนักโทษการเมืองวัย 36 ปี จากสหภาพพม่าได้รับการประกาศชื่อเป็น “ผู้หญิงกล้าหาญของโลก” ปี 2555 (2012 International Women of Courage Award Winners) เมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา เธอเดินทางไปสหรัฐเพื่อรับมอบรางวัลนี้จากนางฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ โดยมีนางมิเชล โอบามา สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐมาร่วมเป็นเกียรติในพิธีมอบรางวัลด้วย

นอกจากนี้นิตยสารนิวสวีค (Newsweek) ร่วมกับเว็บเดอะ เดลี่ บีสท์ (The Daily Beast) ยังได้จัดอันดับให้          ซินมาร์อ่องเป็น 1 ใน 150 “สตรีผู้ปราศจากความกลัว” (Fearless women) ของปี 2555 ด้วยเช่นกัน

ซินมาร์อ่อง ถูกจองจำอยู่ในคุกเมืองมัณฑเลย์นานถึง 11 ปี นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2541 เธอได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2552

ความผิด” ที่ทำให้เธอต้องโทษจำคุกอยู่ถึง 11 ปีนั้น คือการร่วมรณรงค์เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า

ซินมาร์อ่องเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาระหว่างปี 2539-2541 งานรณรงค์ของเธอในช่วงนั้นคือการผลิตและแจกจ่ายใบปลิวเรียกร้องให้รัฐบาลอนุญาตให้จัดตั้งสหพันธ์นักศึกษาได้ ซินมาร์อ่องเป็นสมาชิกกลุ่มยุวชนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรคเอ็นแอลดีของนางอองซาน ซูจี ด้วย และเมื่อพรรคเอ็นแอลดีเรียกร้องให้รัฐบาลทหารจัดการประชุมสมัชชาแห่งชาติภายใน 60 วัน ซินมาร์อ่องร่วมกับเพื่อนนักศึกษาเขียนจดหมายและบทกวีสนับสนุนพรรคเอ็นแอลดี และทำการเผยแพร่กับประชาชน นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เธอถูกจับกุมและพิพากษาลงโทษ

เมื่อถูกถามถึงช่วงชีวิตที่เป็นนักโทษการเมืองหญิงนั้น ซินมาร์อ่องบอกว่าเธอมีสภาพไม่ต่างไปจากนักโทษการเมืองคนอื่นๆไม่ว่าหญิงหรือชาย ความต่างอยู่เพียงแค่ใครจะถูกขังนานกว่ากัน

มีนักโทษการเมืองจำนวนมากในพม่า ที่พวกเราต้องถูกจองจำนั้นไม่ใช่เพราะเราทำความผิดอะไร แต่เป็นเพราะพวกเราทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประเทศของเรา ฉันไม่ได้เป็นเพียงคนเดียวที่ถูกจองจำด้วยเหตุนี้ ฉันทำในสิ่งที่ถูกต้องและครอบครัวของฉันก็สนับสนุนสิ่งที่ฉันกำลังทำ”

สิบเอ็ดปีในคุกเมืองมัณฑเลย์ ซินมาร์อ่องแทบไม่มีโอกาสได้สนทนาสื่อสารกับใครเลย เพราะถูกแยกขังเดี่ยว แต่เธอบอกว่าเธอไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เพราะรำลึกถึงกวีบทหนึ่งอยู่เสมอว่า เขาอาจจองจำร่างกายของเธอได้ แต่มิอาจกักขังหัวใจของเธอไว้”

ซินมาร์อ่องบอกว่าเวลา 11 ปีในคุกนั้นเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมสำหรับเธอเลย แต่ก็เป็นแรงผลักดันให้เธอทำงานทางการเมืองต่อไป ประชาชนในประเทศของเธอต้องทุกข์ทนมานานกับการที่เห็นคนดีๆถูกจับมาจองจำอิสรภาพ และหากสถานการณ์เช่นนี้ยังดำรงอยู่ต่อไป ประเทศจะไม่สามารถพัฒนาไปได้เลย ดังนั้น จึงมีงานอีกมากที่เธอต้องทำต่อไป

เมื่อได้รับอิสรภาพ ซินมาร์อ่องทุ่มเททำงานทางการเมืองต่อโดยทันที เธอได้ก่อตั้งสมาคมสำหรับอดีตนักโทษการเมืองหญิงเพื่อทำกิจกรรมทางการเมือง และเปิดโรงเรียนการเมืองในเมืองร่างกุ้งโดยมุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้นักกิจเคลื่อนไหวทางการเมืองและภาคประชาชนในการเผชิญกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่า นอกจากนี้ ซินมาร์อ่องยังร่วมก่อตั้งกลุ่มกิจกรรมสตรีชาติพันธุ์ในพื้นที่ความขัดแย้งอีกด้วย

เมื่อถูกถามถึงบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซินมาร์อ่องบอกว่าโลกนี้มีประชากรหญิงอยู่ครึ่งหนึ่ง ผู้หญิงที่มีคุณภาพจะทำให้ทุกภาคส่วนที่ผู้หญิงเข้าไปเกี่ยวข้องนั้นพัฒนาไปด้วย ซินมาร์อ่องประกาศว่ามีนักกิจกรรมหญิงอีกจำนวนมากในพม่าที่ทำงานส่งเสริมประชาธิปไตยเช่นเดียวกับเธอ และต่อจากนี้ไป เธอจะเปิดบทบาทผู้หญิงคนอื่นๆที่ทำงานการเมือง พร้อมๆไปกับการทำงานด้านการพัฒนาการศึกษา

ซินมาร์อ่องเล่าว่าเธอกำลังรณรงค์จัดกลุ่มศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับเครือข่ายผู้หญิงที่เธอทำงานด้วยในเรื่องวาทกรรมที่ว่าประชาธิปไตยเป็นแนวคิดของตะวันตกที่แปลกแยกกับ วิถีเอเชีย” โดยบ่อยครั้งที่ผู้ปกครองที่เป็นพวกอำนาจนิยมในเอเชียมักอ้างว่า “วิถีเอเชีย”นั้นสอดคล้องกับประชาชนในประเทศมากกว่าระบบประชาธิปไตย

เราพยายามทำงานเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าประชาธิปไตยไม่ใช่สำหรับตะวันตกเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของมนุษย์ ทำไมเราถึงไม่สามารถทำให้สังคมของเรามีประชาธิปไตยได้ล่ะ?”

รางวัล “ผู้หญิงกล้าหาญของโลก” ริเริ่มเมื่อปี 2550 โดย นางคอนโดลิสซ่า ไรซ์ (Condoleezza Rice) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ เพื่อมอบให้เป็นเกียรติกับผู้หญิงจากทั่วโลกที่ได้รับการคัดเลือกว่ามีความกล้าหาญและความเป็นผู้นำในการส่งเสริมสิทธิสตรีและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สตรี ทั้งๆที่บ่อยครั้งที่เธอเหล่านั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงและตกอยู่ในอันตรายที่อาจถึงแก่ชีวิต

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 มีผู้หญิง 46 คนจาก 34 ประเทศ ได้รับรางวัล “ผู้หญิงกล้าหาญของโลก”

นอกจากซินมาร์อ่อง จากสหภาพพม่าแล้ว ผู้ได้รับรางวัล ผู้หญิงกล้าหาญของโลก” ปี 2555 อีก 9 คน ได้แก่ Maryam Durani นักสิทธิสตรีจากอัฟกานิสถาน, Pricilla de Oliveira Azevedo ตำรวจหญิงจากบราซิล, Jineth Bedoya Lima นักข่าวโคลัมเบีย, Hana Elhebshi สถาปนิกชาวลิเบียที่เสี่ยงภัยบันทึกเหตุการณ์ในลิเบียออกเผยแพร่ต่อประชาคมโลก, Aneesa Ahmed นักสิทธิสตรีจากมัลดีฟท์, Shad Begum นักสิทธิสตรีจากปากีสถาน, Samar Badawi นักสิทธิสตรีจากซาอุดิอาระเบีย, Hawa Abdallah Mohammed Salih นักสิทธิสตรีจากซูดาน, และ Safak Pavey นักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานด้านสิทธิผู้ลี้ภัยและผู้พิการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net