ศาสวัต บุญศรี: สื่อภายใต้ “ความดี” และ “คุณธรรม”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สัปดาห์ที่แล้วผู้เขียนได้ชมรายการที่นี่ตอบโจทย์ทางไทยพีบีเอส คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ดำเนินรายการได้ถามคำถามต่อสื่อฟากดาวเทียมสี่ค่าย ได้แก่ วอยซ์ทีวี ทีนิวส์ เอเอสทีวีและน้องใหม่ล่าสุด บลูสกายทีวี คำถามแต่ละคำถามล้วนเผ็ดร้อนและลีลาการตอบคำถามของตัวแทนสื่อแต่ละค่ายนั้นก็แพรวพราวควรค่าแก่การถกเถียงยิ่งนัก

คำถามหนึ่งซึ่งน่าสนใจมากของคุณภิญโญคือ ในภาวะความขัดแย้งเช่นนี้ บทบาทของสื่อควรเป็นเช่นไร แล้วสื่อควรเลือกฟากหรือไม่อย่างไร คำตอบที่ผมฟังแล้วสะดุดใจอย่างยิ่งมาจากปากของ โสภณ องค์การณ์ หนึ่งในผู้จัดรายการทางเอเอสทีวี

คุณโสภณกล่าวว่าสื่อจะต้องเลือกที่ยืนอยู่ข้างความดีและคุณธรรม ไม่ต้องคิดกันมาก ใช้วิจารณญาณคิดกันได้ว่าอะไรคือความดีและความยุติธรรม

สมัยผู้เขียนเรียนหนังสือด้านสื่อสารมวลชนระดับปริญญาตรีนั้น ยามถึงบทเรียนเรื่องหน้าที่และบทบาทของสื่อมวลชนครั้งใด คำตอบที่ได้รับการปลูกฝังพร้อมความคิดเชิงอุดมการณ์เพื่อมวลชนคือ สื่อมวลชนจะเป็นกลางไม่ได้ สื่อจะต้องยืนอยู่ข้างประชาชน ต้องทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้านของขุดคุ้ยและรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนที่ไร้โอกาสทั้งด้านการเงิน อำนาจและการเข้าถึงสื่อ

แต่มา ณ ปัจจุบัน สื่อหลายสำนักต่างเสนอทฤษฎีในการตัดสินการทำงานของสื่อผ่าน “ความดี” และ “คุณธรรม” แทน โดยพวกเขาเชื่อว่าการที่ประชาชนแบ่งเป็นสองฝ่ายเช่นนี้ หากใช้วิจารณญาณคิดพิเคราะห์ให้ดีแล้วย่อมรู้ดีว่าควรเลือกอยู่ฝ่ายไหน บทสรุปสั้น ๆ ประเด็นความดีและคุณธรรมนั้นในทัศนะของพวกเขานั้นคือ ขจัดระบอบทักษิณ ทักษิณคือศูนย์รวมของเรื่องเลวร้ายทุกอย่างทีเกิดขึ้นมาในประเทศ

การที่สื่ออื่นเลือกที่จะปกป้อง เป็นกระบอกเสียงให้ทักษิณและฝ่ายเสื้อแดงล้วนแล้วแต่เป็นพวกชั่วและไร้คุณธรรมทั้งสิ้น

คำถามที่น่าสนใจต่อแนวคิดด้านสื่อเรื่องนี้คือแล้วเราจะวัดความดีและคุณธรรมนี้ได้อย่างไร

ความดีและคุณธรรมล้วนเป็นเรื่องนามธรรมที่ไม่สามารถวัดในเชิงปริมาณได้ ไม่มีเครื่องมือชนิดใดบนโลกใบนี้ที่สามารถวัดการกระทำหนึ่งดีกว่าอีกการกระทำหนึ่งได้ เราไม่สามารถสร้างดัชนีชี้วัดได้ว่า การให้เงินขอทานห้าบาทกับถวายเงินสร้างโบสท์หนึ่งล้านบาทอันไหนเป็นความดีมากกว่ากัน เราไม่สามารถวัดได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เคยโกงกินสองคน จากพฤติกรรมโดยรวมแล้วคนไหนมีคุณธรรมมากกว่ากัน

หากใครคิดเครื่องมือวัดความดีและคุณธรรมขึ้นมาบนโลกได้ ผมเชื่อว่ารางวัลโนเบลไม่พลาดไปอยู่ที่ห้องเก็บของของท่านเป็นแน่

แล้วนับประสาอะไรกับเรื่องบทบาทของสื่อ ปรากฎการณ์การเมืองไทยทุกวันนี้ขัดแย้งกันด้วยการมองเหตุการณ์ผ่านกรอบความคิดอย่างน้อยสองชุดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ฝ่ายหนึ่งมองว่าการกำจัดนักการเมืองคอรัปชั่นด้วยวิธีใดก็ได้เป็นเรื่องชอบธรรม ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งกลับไม่เห็นด้วยและต่อต้านวิธีการรัฐประหารที่กำจัดนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าคอรัปชั่น ทั้งสองกระบวนทัศน์นี้ยังมีการถกเถียงหาจุดลงรอยไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างตัดสินกันด้วยกรอบคิดที่ตนพิจารณาแล้วว่าถูกต้อง

เรื่องแบบนี้ผมเองนึกไม่ออกว่าจะสามารถตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี มีคุณธรรมหรือไม่มีคุณธรรมได้อย่างไร ดังนั้นการที่สื่อหลายแขนงเลือกที่จะความคิดเอียงเข้าข้างตัวเองว่าตนเป็นคนดีมีคุณธรรมและมีวิจารณญาณตัดสินได้ แล้วเลือกที่จะนำเสนอข่าวผสมปนเปกับอคติ ก็ดูเป็นเรื่องที่น่าหัวร่อไม่น้อย

เอาเป็นว่าหากสื่อไหนที่เลือกฝั่งเลือกฝ่ายโดยใช้คุณสมบัติความดีและคุณธรรม ก็อยากรบกวนจ้างนักวิจัยช่วยผลิตเครื่องมือเหมือนมิเตอร์วัดกระแสไฟออกมาเลยเถิด จากนั้นวัดกันเลยว่าเจ้าความดีและคุณธรรมที่ท่านถืออยู่นี่มันมีมากขนาดไหนหนอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท