Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างแพร่หลายในสังคมปัจจุบันถึงความมีมาตรฐานและมีนิติธรรมในกระบวนการพิจารณาและการใช้ดุลพินิจของตุลาการของไทยว่าสอดคล้องกับหลักสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหาหรือจำเลยตามหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิในกระบวนการยุติธรรมสากลเพียงใด

วันพุธที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีเวทีเสวนาเรื่อง “สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว” จัดโดย คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) มีผู้นำการอภิปรายเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิ ศ.ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ประธาน คอ.นธ. ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ กรรมการและเลขานุการ คอ.นธ. และนายมานิตย์ สุขอนันต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ จากเวทีเสวนามีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง และทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกั้นว่า สิทธิในการได้รับการประกันตัว หลักคือ “ศาลจะต้องอนุญาตให้ประกันตัว การไม่ให้ประกันตัวถือเป็นข้อยกเว้น” ทั้งนี้ตามสิทธิที่ปรากฏในกฏหมายสูงสุดของประเทศคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 39 และมาตรา 40 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 108 และมาตรา 108/1

ตามหลักนิติธรรมสากลในกระบวนวิธีพิจารณาความอาญามีหลักสำคัญที่ศาลทั่วโลกยึดถือเป็นบรรทัดฐานและได้ปรากฏในบทบัญญัติกฎหมายของไทย ได้แก่

“บุคคลย่อมเสมอภาคภายใต้กฎหมาย” (Equality before the law) (รธน. มาตรา 30)

“บุคคลไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดและกำหนดโทษไว้” (No crime, no punishment without a previous penal law) (รธน. มาตรา 39 และ ป.อ. มาตรา 2)

“ให้สัญนิษฐานว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่ามีความผิด” (Presumption of innocence until proven guilty beyond a reasonable doubt) กล่าวคือผู้กล่าวหาจะต้องพิสูจน์ไห้ได้ว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นความผิด (Actus reus) และผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาในการกระทำความผิดนั้น (Mens rea) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดอาญาอันนำมาซึ่งหลักภาระการพิสูจน์ (Burden of proof) “ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นนำสืบ” (ป.วิ.อ. มาตรา 174) และ “ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” (ป.วิ.อ. มาตรา 227)

หลักการเหล่านี้เป็นหลักนิติธรรมสำคัญ เป็นหลักทั่วไปในกระบวนการยุติธรรมที่ทั่วโลกให้การยอมรับและปฏิบัติมาอย่างแพร่หลายและยาวนาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกันสิทธิของประชาชนที่จะไม่ถูกกลั่นแกล้งโดยอำนาจรัฐ

เมื่อกล่าวถึงสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แม้ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2548 ข้อ 2 ระบุว่า “เมื่อศาลได้รับคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้วให้รีบพิจารณาและมีคำสั่งโดยเร็วโดยให้ถือเป็นหลักว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นต้องควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นไว้”

แต่ในทางปฏิบัติศาลจะใข้ดุลพินิจไม่ให้ประกันตัวโดยอ้าง “เหตุจำเป็น” ผู้พิพากษามานิตย์ สุขอนันต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า “เหตุจำเป็น เช่น กรณีเหตุบ้านการเมือง จับผู้ต้องหาได้ในที่เกิดเหตุ หากปล่อยไปแล้วจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายระส่ำระสาย” ดุลพินิจยังเป็นที่เคลือบแคลงต่อผู้เกี่ยวข้องว่า นาย ก. ชาวบ้านจากอำเภอ ข. จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายระส่ำระสาย สิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันคือ คนที่มีเงิน มีชื่อเสียง มีอำนาจหรือมีอิทธิพลกลับเป็นคนที่ได้รับโอกาสในการประกันตัวมากที่สุด เช่น กรณีคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่ศาลเพิ่งจะให้ประกันตัวเมื่อไม่นานมานี้ กรณีคุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ หรือคุณจตุพร พรหมพันธ์ ทั้งที่ยังมีคนเสื้อแดงที่เป็นชาวบ้านที่ยังคงอยู่ในห้องขังอีกหลายคน

ในหลายกรณีศาลมักให้เหตุผลว่า เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ทั้งที่ปรากฏว่าผู้มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลมีแนวโน้มว่าจะหลบหนีมากกว่า บางกรณียังอยู่ระหว่างการหลบหนี เช่น กรณีนายสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเปาะ และกรณีนายวัฒนา อัศวเหม เป็นต้น

อย่างกรณีคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ศาลพิจารณาจำคุกในคดีล่าสุด 20 ปี (ลดลงจากคำตัดสินของศาลให้ลงโทษจำคุก 42 ปี 6 เดือนเนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ลงโทษได้ไม่เกิน 20 ปี) และมีคดีอื่นก่อนหน้านี้อีกที่ศาลได้ตัดสินลงโทษแล้ว เช่นนี้อัตราโทษยังไม่สูงพอที่ศาลจะพึงพิจารณาว่าจำเลยจะหลบหนีหรืออย่างไร หากแต่การที่ศาลจะใช้ดุลพินิจให้ประกันตัวคุณสนธิย่อมกระทำได้ตราบเท่าที่คดียังไม่ถึงที่สุด กล่าวคือจำเลยย่อมได้รับการปฏิบัติเยี่ยงผู้บริสุทธ์ิและได้รับสิทธิ์ประกันตัวจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยมีความผิดจริง

ในปัจจุบันมีความพยายามที่จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอประกันตัว แต่ยังเป็นสิ่งที่ยากเกินเอื้อมสำหรับกรณีนายอำพลหรืออากง นายสุรชัย แซ่ด่าน และดา ตอร์ปิโด ที่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาวินิจฉัยไม่ให้ประกันตัว กรณีอาจเป็นได้ว่าการไม่ได้รับสิทธิประกันตัว คงเป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เป็นคดีร้ายแรงเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของชาติ จึงไม่อาจจะให้ประกันตัวได้ ประเด็นนี้คงไม่ก่อให้เกิดข้อสงสัยถึงมาตรฐานของศาลมากนัก หากไม่ปรากฏว่าคุณสนธิเองก็โดนข้อกล่าวหาโทษฐานเดียวกันนี้และได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกไปด้วยเงินห้าแสนบาท ในขณะที่กรณีนายอำพลหรืออากงจำเลยในความผิดฐานเดียวกันได้ใช้เงินสด 1 ล้านบาทพร้อมตำแหน่งของนักวิชาการอีก 7 ท่านเพื่อขอประกันตัว แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตจากศาล โดยศาลอ้างว่า "เป็นคดีที่กระทบกระเทือนกับความรู้สึกต่อปวงชนชาวไทยผู้จงรักภักดี และอัตราโทษสูงปล่อยไปเกรงจะหลบหนี"

นี่ยังมีตัวอย่างอีกหลายต่อหลายคดีที่ศาลไม่ให้สิทธิประกันตัวและคดีจบลงด้วยการยกฟ้องจำเลย มีหลายกรณีที่จำเลยต้องติดคุกฟรีต้องเสียประวัติ เสียสุขภาพ และเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างประเมินค่ามิได้ นี่ยังไม่นับรวมอีกหลายพันคดีที่ศาลอ้างเป็นคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันที่ยังเป็นที่กล่าวขานถึงมาตรฐานการใช้ดุลพินิจของศาลว่า มีการนำหลักความเสมอภาคของบุคคลภายใต้กฎหมายและการสัญนิษฐานว่าบุคคลบริสุทธิ์มาใช้หรือไม่ทั้งที่เป็นหลักการสำคัญของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ในเวทีเสวนาท่านผู้พิพากษามานิตย์ได้เน้นย้ำว่า ศาลไทยก้าวหน้ากว่านานาประเทศ คงจะจริง เพราะในขณะที่ประเทศต่างๆ ยังยึดหลักเก่าแก่ คือ “ให้สันนิษฐานว่าบุคคลบริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์โดยปราศจากข้อสงสัยว่ามีความผิด” “ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นนำสืบ” และ “ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย” ซึ่งนักกฎหมายทั่วโลกต่างรู้ดี แต่พอเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง เกี่ยวกับมาตรา 112 ศาลไทยกลับใช้หลัก “สันนิษฐานว่า บุคคลผู้นั้นกระทำความผิดร้ายแรงจนกว่าบุคคลดังกล่าวจะได้พิสูจน์ตนต่อศาลให้ปราศจากข้อสงสัยว่าตนบริสุทธิ์ และหากมีความเคลือบแคลงสงสัยประการใด ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยไว้ก่อนและไม่ให้ประกันตัว” นี่คงเป็นความก้าวหน้าที่น่าประหลาดใจยิ่ง

เสรีภาพของประชาชนกำลังถูกคุกคามโดยกระบวนการยุติธรรมของเราเองหรือไม่ คดีนายอำพลหรืออากงเป็นที่ประจักษ์ถึงพัฒนาการแบบก้าวกระโดดของศาลไทย แต่หากผู้พิพากษาจะยังคงจดจำหลักการเก่าแก่ในการอำนวยความยุติธรรมที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมตามหลักที่ว่า “ยอมปล่อยคนผิดไปร้อยคนดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงหนึ่งคน” เชื่อว่าเหตุการณ์เช่นนี้คงจะไม่เกิดขึ้น

หากจะว่าประเทศไทยมีสองมาตรฐานคงไม่ใช่ ประเทศไทยมีหลายมาตรฐานจนไม่สามารถจะใช้อะไรเป็นบรรทัดฐานได้เลย เช่นนี้ประชาชนจะมีความเชื่อมั่นกับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของประเทศได้อย่างไร กระบวนการยุติธรรมยังเคารพหลักนิติธรรมเมตตาธรรมอยู่หรือไม่ หรือเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อใช้กำจัดคนที่เห็นต่างและยากแก่การควบคุมให้สิ้นไปเท่านั้น

เช่นนี้จึงไม่แปลกที่หลายคนเลือกที่จะรับสารภาพแทนการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด เพราะไม่รู้ว่าจะต้องอยู่ในคุกต่อไปอีกนานเท่าใด และยังมีอีกหลายต่อหลายกรณีที่ผู้ที่ถูกกล่าวหาเลือกที่จะหนีไปอยู่ต่างประเทศแทนการเข้ามาต่อสู้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนในกระบวนการยุติธรรมไทย ตามที่มีนักวิชาการนักกิจกรรมออกมาเคลื่อนไหวออกมาวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งอย่างมากมายไม่ใช่เพราะเขาเหล่านั้นเชื่อว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด แต่เพราะพวกเขาเห็นความไม่เป็นธรรมในกระบวนการพิสูจน์ความผิดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเหล่านั้นต้องเผชิญอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง หากวันนี้บ้านเมืองจะต้องระส่ำระสายเพราะการเรียกร้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ท่านจะกล้าบอกไหมว่าใครเป็นต้นเหตุ

เนื่องจากสถาบันศาลเป็นสถาบันอันทรงเกียรติของชาติ ประชาชนจึงไว้วางใจให้มีอำนาจใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวางในหลายกรณี คำถามวันนี้คือ ดุลพินิจของตุลาการเป็นอุปสรรคต่อการอำนวยความยุติธรรมหรือไม่ ประเทศไทยยังกล้าที่จะอ้างหรือว่ากฎหมายตอบสนองประโยชน์สูขของประชาชนและประเทศชาติ เพื่อความน่าเชื่อถือ หรือเพื่อป้องกันการเกิดสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

สิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ วันนี้หากศาลยังคงเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของบุคลากรและกลไกในกระบวนการยุติธรรมที่ตนมีบทบาทอยู่ คงจะไม่สายเกินไปหากศาลจะพิจารณาให้บุคคลได้รับสิทธิในการประกันตัวเพื่อการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมด้วยพยานหลักฐานภายใต้ระบบกฎหมายอย่างเสมอภาค ทั้งนี้เพื่อให้เกิดเป็นบรรทัดฐานที่มีความน่าเชื่อถือและเชิดชูความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมของไทยต่อไป

เว้นแต่จะเป็นอีกกรณีที่ศาลไทยจะอ้างว่า ประเทศไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะไม่สามารถเปรียบเทียบกับประเทศอื่นได้ ดังนั้น “นิติธรรมตุลาการไทย” จึงไม่จำเป็นต้องเหมือนประเทศใดในโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net