Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองยกคำขอคุ้มครองทุเลาชั่วคราว 23 บริษัท ค้านขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท

กรณีบริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด  พร้อมพวกรวม 42 ราย ฟ้องคดีคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 18 กระทรวงแรงงาน กรณีมีประกาศคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เฉพาะ 7 จัวหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ส่วนจังหวัดอื่นปรับจากเดิมประมาณร้อยละ 20 ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2555 โดยระบุว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อดัชนีค่าครองชีพ และภาระเงินเฟ้อเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้ประกอบการได้รับความเสียหาย โดยขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ก่อนที่จะมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว
 

ล่าสุด เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ นายเทอดพงศ์ คงจันทร์ ตุลาการศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวนได้คำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับคดีของบริษัทมูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กับพวกรวม 23 บริษัท ในฐานะผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องคณะกรรมการค่าจ้าง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนที่จะมีคำพิพากษา โดยให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 2 พ.ย. 2554 ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในชั้นไต่สวนของศาลรับฟังได้ว่าในการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดี ครั้งที่ 12/2554 เมื่อวันที่ 17 ต.ค.55 ได้มีการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 โดยได้ศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นโดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นการพิจารณาทั้งข้อมูลที่ได้จากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้าง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอและจากคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรอง รวมทั้งข้อมูลและข้อคิดเห็นจากคณะทำงานศึกษานโยบายการขึ้นราคาค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ซึ่งมีรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธานคณะทำงาน และมีคณะทำงานประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนนายจ้าง และลูกจ้าง

จึงเห็นได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งพิพาท โดยเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 87 วรรคหนึ่ง อีกทั้งในการประชุมองค์ประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีมีทั้งหมด 14 คน ได้แก่ผู้แทนรัฐบาล 5 คน นายจ้าง 5 คน และลูกจ้าง 4 คน ได้มีมติเอกฉันท์ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามบัญชีที่เสนอและได้มีการออกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 2 พ.ย.2554 และเสนอต่อครม.เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2554 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2554

ดังนั้นในชั้นของการพิจารณาคำขอทุเลาการบังคับตามประกาศฉบับพิพาท จึงไม่ปรากฏว่าประกาศฉบับพิพาทน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นกรณีที่ไม่ครบองค์ประกอบทั้งสามประการที่ศาลจะมีอำนาจออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศพิพาทได้ตามมาตรา 66 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีการพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ประกอบกับข้อ 72 วรรคสาม แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. 2543 จึงมีคำสั่งยกคำขอคุ้มครองทุเลาการบังคับตามกฎของผู้ฟ้องคดีทั้ง 23 คน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net