Skip to main content
sharethis

ที่ประชุม กสทช.ผ่าน 3 ร่างแผนแม่บท การบริหารคลื่นความถี่ - กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ - กิจการโทรคมนาคม คาดประกาศในราชกิจจานุเบกษาต้นเมษายน กรณีการเรียกคืนคลื่นจากหน่วยงานรัฐเดิม ผลมติลับ 6 ต่อ 4 ให้คงสูตร 5-10-15 

วันนี้ (21 มี.ค.55) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีวาระการพิจารณาร่างแผนแม่บทหลัก 3 แผน ประกอบด้วย แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. ....) ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) และร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม (พ.ศ.2555-2559) และได้เห็นชอบต่อ 3 ร่างแผนแม่บทหลักดังกล่าวแล้ว โดยมีบอร์ดลาประชุม 1 ท่าน คือ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ

นายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติโด (กสทช.) กล่าวว่า หลังมีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทดังกล่าวแล้ว คาดว่าภายในวันจันทร์นี้จะนำ 3 แผนแม่บทหลักประกาศขึ้นเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช.ภายใน 7 วัน หากระหว่างนี้ไม่มีผู้ใดคัดค้านจะนำส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ภายในสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน แต่ถ้ามีผู้คัดค้านจะนำกลับมาให้ที่ประชุม กสทช.พิจารณาอีกครั้ง
 
ส่วนกรณีสาระสำคัญของแผนบริหารคลื่นความถี่ฯ ที่มีข้อถกเถียงกันมากเรื่องระยะเวลาในการคืนคลื่นความถี่ สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.เผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุ บอร์ด กสทช.ได้ทำการลงมติลับร่างแผนบริหารคลื่นความถี่ฯ กรณีการเรียกคืนคลื่นความถี่จากหน่วยงานรัฐเดิม ผลบอร์ด 6 ต่อ 4 ลงคะแนนให้คงสูตรคืนคลื่นความถี่ตามเดิมคือ 5-10-15 ปี สำหรับกิจการสำหรับวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ตามลำดับ ส่วนเธออยู่ฝ่ายเสียงข้างน้อย 1 ใน 4 ที่โหวตให้ลดจำนวนปีลง และจะทำบันทึกคำสงวนความคิดเห็นไว้ในบันทึกรายงานการประชุม
 
นายฐากรกล่าว ถึงเหตุผลว่า กสทช.แต่ละท่านได้อภิปรายโดยนำเหตุผลของแต่ละคนมาสนับสนุน แต่ไม่ได้ข้อยุติ จึงต้องโหวตโดยเป็นการลงมติลับ เพื่อให้ประกาศแผนแม่บทได้ เพราะถ้าไม่ให้ความเห็นชอบในวันนี้ผลเสียหายจะมากกว่านี้ กระบวนการต่างๆ 3 จี และอื่นๆ จะเดินไม่ได้ ที่สำคัญแผนแม่บทเมื่อประกาศแล้วก็ยังสามารถแก้ไขได้ เนื่องจากตามที่กฎหมายระบุทุก 2 ปีจะต้องมีการปรับปรุงแผนแม่บทคลื่นความถี่ใหม่
 
นายฐากร กล่าวด้วยว่า ในส่วนกิจการโทรคมได้เพิ่มเงื่อนไขว่าระยะเวลาการใช้คลื่นที่ไม่มีใบอนุญาตจะต้องไม่เกินระยะเวลาตามใบอนุญาตโทรคมนาคมเดิมที่หน่วยงานนั้นเคยได้รับจาก กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) อาทิ กรณีของบมจ.ทีโอที และบมจ. กสทโทรคมนาคม จะต้องคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาคืนคลื่นภายใน 13 ปีตามระยะเวลาที่เหลืออยู่ของใบอนุญาตประกอบการกิจการ ที่ทั้ง 2 องค์กรได้รับจากกทช.
 
สำหรับคลื่นที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาหมดอายุไว้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของระยะเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่ คือ บริษัท วิทยุการบิน จำกัด บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอเซียส รีเยนแนล เซอร์วิส จำกัด โดยทีโอที กับ กสท เข้าข่ายคืนคลื่น 13 ปีตามระยะเวลาสัมปทานที่เหลือ ส่วนใบอนุญาตของวิทยุการบินเหลือระยะเวลา 10 ปี ขณะที่ซีเอส ล็อกซอินโฟ ยังไม่รู้ว่าเข้าข่ายใบอนุญาตประเภทไหน ส่วนเอเซียสยังไม่ได้รับใบอนุญาตจึงอยู่ระหว่างพิจารณา
 
ทั้งนี้ กระบวนการจัดทำ 3 แผนแม่บทหลัก ดังกล่าว สำนักงาน กสทช. ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. ....) และร่างตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ ร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555-2559) และร่างแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม (พ.ศ.2555-2559) พร้อมกันทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค โดยเริ่มขึ้นในวันศุกร์ที่ 10 ก.พ.2555 และปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 29 ก.พ.2555 โดยมีผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะจำนวนมาก
 
ต่อมาสำนักงาน กสทช.จัดทำสรุปผลนำเสนอ กสทช. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2555 แล้ว โดย กสทช. ได้พิจารณา ร่างแผนแม่บททั้ง 3 ฉบับในการประชุมครั้งที่ 5/2555 เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2555 มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทดังกล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net