Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการสิทธิฯ ลงพื้นที่ประจวบฯ ขณะชาวทับสะแก-เครือข่ายอนุรักษ์ฯ จี้ กฟผ.-กระทรวงพลังงาน ระงับโครงการเซลแสงอาทิตย์ 5 เมกะวัตต์และศูนย์พลังงานจนกว่า กฟผ.จริงใจ ได้ข้อสรุปการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เหลือกับชาวบ้าน

 
 
วันที่ 20 มี.ค.55 นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เป็นประธานในเวทีประชุมร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างคณะอนุกรรมการฯ กับตัวแทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ และตัวแทนกลุ่มชาวบ้านผู้ร้องเรียนปัญหา จากการที่มีชาวบ้านประจวบคีรีขันธ์ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในหลายกรณี ณ โรงแรมหาดทอง อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์
 
วาระการนำเสนอปัญหา ประกอบด้วย การประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจากรณีอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยพลู  ต.ร่อนทอง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์  มีอธิบดีกรมชลประทาน นายอำเภอบางสะพาน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลร่อนทอง เข้าร่วม ต่อจากนั้นเป็นการประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจากรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์  มีผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าร่วม
 
ต่อมาเป็นการประชุมเรื่อง ยุทธศาสตร์จังหวัดกับการจัดทำผังเมืองในพื้นที่และการส่งเสริมนโยบายการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเหล็กในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  มีหน่วยงานและบุคคลเข้าร่วมการประชุม อาทิ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่เกี่ยวข้อง
 
 
ด้าน กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก พร้อมด้วยเครือข่าย ประกอบด้วย กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด และเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์บางสะพาน เข้าร่วมการประชุมและได้ยื่นจดหมายต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ประธานบอร์ด กฟผ. และผู้ว่า กฟผ.ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขอให้ระงับโครงการก่อสร้างเซลแสงอาทิตย์ขนาด 5 เมกะวัตต์ และศูนย์พลังงานเนื้อที่ 250ไร่ บนพื้นที่ 4,142 ไร่ ใน อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีข้อตกลงร่วมกับชุมชนใน การใช้ที่ดินหมดทั้งแปลงของ กฟผ.
 
จดหมายดังกล่าวระบุว่า กฟผ.และกระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนการก่อสร้างโครงการดังกล่าวโดยไม่มีความชัดเจนว่าพื้นที่ดินที่เหลืออีก 3,892 ไร่ซึ่งประมาณ 94%ของเนื้อที่โดยรวมจะทำโครงการใด รวมทั้งไม่มีข้อตกลงร่วมกับชุมชนในการใช้พื้นที่ ขณะที่ผู้ว่า กฟผ.ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยยอมรับว่า อ.ทับสะแกเป็นเป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 
ในระดับพื้นที่ มีความพยายามจาก กฟผ.ที่จะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมาโดยตลอดในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ให้ชาวประจวบฯ รู้สึกได้ถึงความไม่จริงใจ ของ กฟผ.ในการทำโครงการดังกล่าว ซึ่งถูกมองว่าเป็นเพียงฉากเริ่มเพื่อนำไปสู่การปิดล้อมพื้นที่เสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป
 
อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่กรณีดังกล่าวจะเป็นประเด็นความขัดแย้งที่บานปลายต่อไป ขณะที่ไฟฟ้าของประเทศยังล้นระบบ โครงการนี้จึงไม่มีผลต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชน
 
ทั้งนี้ จดหมายกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยื่นขอระงับโครงการโซล่าฟาร์มทับสะแก มีเนื้อหาดังนี้
 
 
กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก
68/12 ถ.เพชรเกษม อ.ทับสะแก
จ.ประจวบคีรีขันธ์ 77130
 
20 มีนาคม 2555
 
เรื่อง ขอให้ระงับโครงการก่อสร้างเซลแสงอาทิตย์ 250ไร่ บนเนื้อที่ 4,142 ไร่ชั่วคราว จนกว่าจะมีข้อตกลงร่วมกับชุมชนใน การใช้ที่ดินหมดทั้งแปลงของ กฟผ.
เรียน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ประธานบอร์ด กฟผ.และผู้ว่า กฟผ.ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
อ้างถึง แผนโครงการเซลล์แสงอาทิตย์ทับสะแก 5 เมกะวัตต์และศูนย์พลังงาน 250 ไร่ของกฟผ.
สิ่งที่ส่งมาด้วย ข่าวสัมภาษณ์ผู้ว่า กฟผ.ยอมรับทับสะแกคือเป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของกฟผ.
 
 
ตามที่ กฟผ.และกระทรวงพลังงานดัจัดทำแผนการก่อสร้างโครงการเซลล์แสงอาทิตย์และศูนย์พลังงาน ในเนื้อที่ 250 ไร่ ที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยไม่มีความชัดเจนว่าพื้นที่ดินที่เหลืออีก 3,892 ไร่ซึ่งประมาณ 94%ของเนื้อที่โดยรวม กฟผ.ไม่มีข้อตกลงร่วมกับชุมชนว่าจะทำโครงการใด
 
ในขณะที่ผู้ว่ากฟผ.ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยอมรับว่า... อำเภอทับสะแกเป็นเป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตามข่าวที่ได้ส่งมาด้วย
 
ในระดับพื้นที่ มีความพยายามจาก กฟผ.ที่จะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ่าถ่านหินมาโดยตลอดในระยะ4 ปีที่ผ่านมา เช่น การที่ กฟผ.ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนผังเมืองรวมชมชนทับสะแก เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน การเข้าเจรจากับแกนนำเรื่องกองทุนรอบโรงไฟฟ้า การทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การทำโครงการชดเชยผลกระทบทางทะเล การพยายามล่าลายชื่อชาวบ้านเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น
 
จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ให้ชาวประจวบฯ จะเท่าทันในเล่ห์เหลี่ยม รู้ชัดถึงความไม่จริงใจ ของ กฟผ.ในการทำโครงการที่อำเภอทับสะแก
 
การก่อสร้างโครงการเซลล์แสงอาทิตย์ จึงเป็นแค่ฉากเริ่มเพื่อนำไปสู่การปิดล้อมพื้นที่เสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินต่อไป
 
ด้วยเหตุนี้ บรรยากาศความหวาดระแวงพฤติกรรมของ กฟผ.จึงเป็นกระแสคุกรุ่นอยู่ในใจของชาวประจวบมาโดยตลอด และมีแนวโน้มจะเป็นประเด็นความขัดแย้งที่บานปลายได้ไม่ยากนักและไฟฟ้าของประเทศยังล้นระบบ โครงการนี้จึงไม่มีผลต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชน
 
จึงขอให้กระทรวงพลังงานและ กฟผ.ระงับโครงการเซลล์แสงอาทิตย์ไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีข้อสรุปร่วมกับชุมชนถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินของ กฟผทั้งแปลง 4,142 ไร่ เพื่อประโยชน์ในการลดความขัดแย้งระหว่าง กฟผ.และชาวประจวบฯ
 
ขอแสดงความนับถือ
 
 
กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก
กลุ่มรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก
กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด
เครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์บางสะพาน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net