Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 291 ก็เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำเนินการกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยการระดมความคิดเห็นจากประชาชน เหมือนเช่น รัฐธรรมนูญ 40 และให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้ว
 
อย่างไรก็ตาม กระบวนการได้มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ คงได้ข้อสรุปกันแล้วว่า ต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก ซึ่งมีบางความคิดว่า ควรมาจาการเลือกตั้งทั้งหมด และบางความคิดว่าควรมาจากการเลือกสรรของ “กันเอง” หรือ “ภายใน” ของคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญ” ด้วย จำนวนถึง 22 คน
 
ผู้เขียนคิดว่า บทเรียนจากประวัติศาสตร์ในการผลิตรัฐธรรมนูญในสังคมไทยหลายฉบับที่ผ่านมา มักให้ความสำคัญกับ “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่เป็นนักนิติศาสตร์ นักกฎหมายมหาชน 
 
แต่รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่มาจากคณะรัฐประหาร ซึ่งลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนนั้น และได้ให้อำนาจกับอำนาจนอกระบบประชาธิปไตยครองความเป็นอำนาจนำครองความเป็นใหญ่เหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ก็ปฏิเสธมิได้ว่า “ผู้เชี่ยวชาญ” เป็นผู้มีส่วนร่างด้วย และ “ผู้เชี่ยวชาญ” จำนวนมากมักไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย
 
ขณะที่ถ้าเปิดทางให้ มีการเลือกสรรของ “กันเอง” หรือ “ภายใน” ของคณาจารย์ด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญ” นั้นไม่ว่าผ่านทางสภาอาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือกระบวนการเลือกสรรของสถาบันการศึกษา แล้วเสนอเชื่อมายังกลไกรัฐสภาเลือกอีกครั้ง อาจจะได้รับรายชื่อของ  “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ไม่นิยมระบอบประชาธิปไตยเสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องเพราะปฏิเสธมิได้ว่าการครองอำนาจนำของ สภาอาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัย หรือกระบวนการเลือกสรรของสถาบันการศึกษานั้น ล้วนมิใช่ “นักประชาธิปไตย” และคงได้ “ผู้เชี่ยวชาญ” หน้าเดิมๆ ที่ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้ว รวมทั้งฉบับรัฐประหาร 50 
 
ผู้เขียนจึงคิดว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มิควรปล่อยให้ “ผู้เชี่ยวชาญ” เป็น “อภิสิทธิ์ชน” เหมือนที่ผ่านมา เพราะ “คนเราเท่ากัน”
 
“ผู้เชี่ยวชาญ” อาจทำหน้าที่ให้ “บริกร” กับสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อาจตั้งเป็นผู้มีหน้าที่ หรือกรรมาธิการ ทำให้เป็น “รัฐธรรมนูญ” ตามความต้องการของประชาชน ภายหลังกระบวนระดมความคิดเห็นจากประชาชนของ สสร. แต่ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เหมือนสสร.  ถ้า “ผู้เชี่ยวชาญ” ต้องการทำหน้า เช่น สสร. จึงควรลงสมัครเลือกตั้งสสร.และให้ประชาชนเลือก
 
นอกจากนี้แล้ว ด้านการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร สสร. ซึ่งบางความคิดเสนอว่า ต้องจบระดับปริญญาตรี แต่บางความคิดว่าไม่จำเป็น 
 
ผู้เขียนคิดว่า สังคมไทยมักให้ค่ากับคนที่มีความรู้ภายในกรอบ “วุฒิบัตร” “ปริญญา” นับว่าเป็น “อภิสิทธิ์ชน” รูปแบบหนึ่ง ขณะที่คนจบระดับปริญญาเอก เป็นศาสตราจารย์ ไม่น้อยหาได้ชื่นชมระบอประชาธิปไตย แต่คนจบ ป.4 จำนวนมากสนใจเรียนรู้ความคิดของ ปรีดี พนมยงค์ ผู้อภิวัฒน์ระบอบประชาธิปไตย ก็มีให้เห็น
 
คนไม่จบปริญญาตรี หลายคนล้วนมีประสบการณ์ด้านสิทธิเสรีภาพ ด้านประชาธิปไตย ซึ่ง ดร.ทั้งหลายหาได้มีประสบการณ์ตรง เช่น การรวมกลุ่มกันของ ของผู้ใช้แรงงาน การรวมกลุ่มกันของเกษตรกร การรวมพลังกันของ นปช. ฯลฯ อันเป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม
 
คนขับแท็กซี่ “นวมทอง ไพรวัลย์” ไม่ได้จบปริญญาเอก แต่กล้าพลีชีพ เสียสละชีวิตเพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตย คัดค้านการรัฐประหาร คนจบ ดร.ไม่น้อยกลับสนับสนุนรัฐประหาร รับใช้อำนาจนอกระบบประชาธิปไตย 
 
ที่สำคัญ หลักการอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตย นั้นเชื่อว่า “คนเราเท่ากัน” ในการเลือกผู้ปกครองผู้บริหารประเทศ ไม่ว่ากำเนิดของใครจะเป็นไพร่หรืออำมาตย์ จะยากจนหรือเป็นเศรษฐี จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย จะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาส จะเป็นครูบาอาจารย์หรือลูกศิษย์ ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์หรือยาจก ฯลฯ ตลอดทั้งจะจบ ป.4 หรือจบ ดร. ก็ตาม
 
แต่ “ทุกคนเท่ากัน” และ “หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง” เลือกสสร. 
 
และ “คนเราเท่ากัน” จบป.4 ก็สมัคร สสร.ได้ มิใช่หรือ?
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net