Skip to main content
sharethis

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวเรื่องการตัดสินใจถอนตอนหนึ่งของรายการ ”This American Life” ในชื่อตอน The Agony and the Ecstasy of Steve Jobs ทางสถานีวิทยุชิคาโก้ หลังจากที่ไมค์ เดซี (Mike Daisey) ผู้ผลิตรายการตอนดังกล่าว ถูกจับได้ว่าเขาเสริมแต่งเรื่องของคนงานจีนให้ดู “ดราม่า” เกินจริง ได้ทำให้ประเด็นเรื่องสินค้า “แอปเปิ้ล” และสิทธิแรงงานในจีน มาอยู่ในความสนใจในหน้าหนังสือพิมพ์สหรัฐอีกครั้ง

ไมค์ เดซี่ ถูกวิจารณ์ว่า ถึงแม้เขาจะเป็นผู้หวังดีในการรณรงค์เรื่องสภาพการทำงานของคนงาน แต่การที่เขาใส่สีใส่ไข่เช่นนี้ ต่อไปนี้จะทำให้การรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงานและสินค้า “แอปเปิ้ล” เป็นเรื่องที่ยากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ไม่ควรให้เรื่องนี้ มากลบเกลื่อนประเด็นที่แท้จริง นั่นก็คือ สิทธิคนงานจีนที่ยังถูกละเมิดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโรงงานที่ผลิตให้แอปเปิ้ลอย่างฟอกซ์คอนน์ ซึ่งสภาพการทำงานที่ยากลำบาก นำไปสู่การฆ่าตัวตายประท้วงของคนงานหลายสิบคนในสามปีที่ผ่านมา

แอปเปิ้ล – ฟอกซ์คอนน์ กับความสัมพันธ์ทั้งรักทั้งชัง

ในระยะสี่ห้าปีที่ผ่านมา “ฟอกซ์คอนน์” ซึ่งมีบริษัทหอน ไห่ สัญชาติไต้หวันเป็นเจ้าของ ได้กลายเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เมื่อปี 2010 ได้เกิดเหตุการณ์ฆ่าตัวตายประท้วงของคนงานกว่า 10 คน เพื่อประท้วงสภาพการทำงานที่โหดร้ายภายในโรงงาน ในปีเดียวกัน โรงงานฟอกซ์คอนน์ในเมืองเฉิงตูที่ผลิตไอแพด ก็เกิดเหตุระเบิดซึ่งทำให้คนงานเสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บกว่าอีก 70 คน และเมื่อต้นปีนี้ คนงานในโรงงานฟอกซ์คอนน์ที่เมืองหวู่ฮั่นราว 150 คน ก็ได้ขู่ฆ่าตัวตายเพื่อเรียกร้องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกด้วย

ย้อนรอยดราม่า “แอปเปิ้ล”: สำรวจสิทธิแรงงานเบื้องหลังเทคโนโลยีสื่อสาร
โรงงานฟอกซ์คอนน์ เทคโนโลยี ผู้ผลิต "ไอแพด" และ "ไอโฟน" รายหลักให้บริษัทแอปเปิ้ล

ที่มา: By Nadkachna [CC-BY-3.0], via Wikimedia Commons

หลังจากที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ทางบริษัทแอปเปิ้ล รวมถึงเอชพีและเดลล์ ซึ่งว่าจ้างโรงงานฟอกซ์คอนน์ผลิตสินค้า ได้ทำการสอบสวนกรณีดังกล่าวโดยทันที ในขณะที่โรงงานฟอกซ์คอนน์ได้จัดมาตรการป้องกัน โดยการว่าจ้างนักจิตวิทยาราว 40 คนเพื่อมาให้คำปรึกษาแก่คนงาน และติดตั้งตาข่ายบริเวณรอบตึกสูงในโรงงานเพื่อป้องกันคนงานกระโดดฆ่าตัวตาย พร้อมทั้งบังคับให้คนงานเซ็นสัญญาว่า ห้ามฆ่าตัวตาย และหากเกิดความเสียหายจากการฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตนเอง ทางญาติหรือครอบครัวผู้เสียหาย จะไม่มีสิทธิมาฟ้องร้องฟอกซ์คอนน์ได้

เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ทำให้แอปเปิ้ลซึ่งมีสตีฟ จ๊อบส์เป็นอดีตผู้บริหาร ตกเป็นเป้าความสนใจของสำนักข่าว องค์กรสิทธิแรงงาน และนักวิชาการ ซึ่งได้เข้าไปวิจัยสภาพการทำงานของคนงานในจีนในช่วงปีที่ผ่านมา และพบปัญหามากมายอาทิ เช่น การทำงานเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด การใช้แรงงานเด็ก และการทิ้งของเสียที่มีสารเคมีปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม

ทางแอปเปิ้ลระบุว่า ทางบริษัทมีนโยบายต่อการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างจริงจัง โดยในรายงาน Supplier Responsibility Progress Report ระบุว่า หากบริษัทผู้ผลิตยังล้มเหลวที่จะปรับปรุงมาตรฐาน แอปเปิ้ลก็จะยุติสัญญากับบริษัทนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ยังไม่มีรายงานว่าแอปเปิ้ลได้ประกาศลดความสัมพันธ์กับฟอกซ์คอนน์แต่อย่างใด

ที่จริงแล้ว ไม่ใช่แค่แอปเปิ้ลเท่านั้นที่มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะฟอกซ์คอนน์เอง ก็เป็นผู้ผลิตให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำอื่นๆ เช่น เอชพี เดลล์ โซนี่ และโนเกีย หากแต่งานวิจัยจาก Fubon Research เปิดเผยว่า รายได้หลักของโรงงานฟอกซ์คอนน์ราวร้อยละ 40 ล้วนมาจากผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลทั้งสิ้น โดยเฉพาะไอแพด และไอโฟน นับเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของผลิตภัณฑ์แมค ในขณะที่รองลงมา เป็นเอชพี ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 25

ย้อนรอยดราม่า “แอปเปิ้ล”: สำรวจสิทธิแรงงานเบื้องหลังเทคโนโลยีสื่อสาร
ภายในโรงงานฟอกซ์คอนน์  จังหวัดเซินเจิ้น ประเทศจีน

ที่มา: Steve Jurvetson from Menlo Park, USA [CC-BY-2.0], via Wikimedia Commons

เมื่อกำไรและผลผลิตต้องมาก่อน

นิวยอร์กไทมส์ อ้างคำพูดของอดีตผู้บริหารของแอปเปิ้ลคนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยชื่อว่าการหาผู้ผลิตใหม่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและเงินจำนวนมาก นอกจากนี้ เฮทเธอร์ ไวท์ นักวิจัยด้านแรงงานจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มองว่า การที่ฟอกซ์คอนน์เป็นผู้ผลิตไม่กี่รายในโลกที่มีพลังการผลิตขนาดใหญ่เพียงพอเพื่อผลิตไอโฟนและไอแพดตามความต้องการของบริษัท ก็ยิ่งทำให้แอปเปิ้ลไม่ทิ้งฟอกซ์คอนน์ และคงไม่ออกจากประเทศจีนแน่ๆ

ด้านที่ปรึกษาองค์กรธุรกิจเพื่อความรับผิดชอบทางสังคม (Business for Social Responsibility) รายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ด้วยเงื่อนไขขอไม่เปิดเผยชื่อว่า ทางองค์กรได้ใช้เวลาหลายปีบอกกล่าวบริษัทแอปเปิ้ลว่าฟอกซ์คอนน์มีปัญหาด้านแรงงานพร้อมให้เสนอแนะ แต่แอปเปิ้ลก็ไม่ได้กระตือรือร้นนักในการแก้ไข และเพียงจะต้องการหลีกเลี่ยงการตกเป็นข่าวที่ขายหน้าเท่านั้น

“เราสามารถจะช่วยชีวิตคนไว้ได้ และเราก็ได้ขอร้องให้แอปเปิ้ลกดดันไปที่ฟอกซ์คอนน์แล้ว แต่เขาไม่ยอมทำ” ที่ปรึกษาองค์กร BSR กล่าว “บริษัทอย่างเช่น เอชพี อินเทล และไนกี้ พวกเขากดดันบริษัทผู้ผลิต แต่แอปเปิ้ลต้องการที่จะรักษาระยะห่าง และฟอกซ์คอนน์เอง ก็เป็นผู้ผลิตที่สำคัญที่สุดของพวกเขา แอปเปิ้ลจึงปฏิเสธที่จะกดดันใดๆ”

ประเด็นดังกล่าว ยังขยายการรับรู้ออกไปในสังคมมากขึ้น หลังจากที่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ได้ทำสกู๊ปสอบสวน “iEconomy” ว่าด้วยสินค้าแอปเปิ้ลและชีวิตของแรงงานที่ประเทศจีน ทำให้ทางบริษัทแอปเปิ้ล ออกมาชี้แจงว่าแอปเปิ้ลใส่ใจกับปัญหานี้ตลอดมา และพยายามจะปรับปรุงแก้ไขเท่าที่ทำได้

จากการเข้าไปสอบสวนจากองค์กรสื่อและสิทธิแรงงาน ได้ทำให้บริษัทแอปเปิ้ล อนุญาตให้องค์กรรณรงค์ด้านสิทธิแรงงาน คือ Fair Labor Association เข้าไปตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตของแอปเปิ้ล พร้อมเผยแพร่รายงานต่อสาธารณะทุกๆ ปี ทั้งนี้ รายงานของแอปเปิ้ลเปิดเผยว่า ในปีที่แล้ว ทางบริษัทเข้าไปตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตทั้งหมด 229 โรง โดยตั้งแต่ปี 2007 จนถึง 2010 แอปเปิ้ลได้ตรวจสอบโรงงานทั้งหมด 39, 83, 102 และ 127 แห่งตามลำดับ

โดยปัญหาที่พบมากคือ การทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนด การใช้แรงงานเด็ก และสารเคมีในโรงงานที่ส่งผลต่อสุขภาพคนงาน

อย่างไรก็ตาม องค์กรรณรงค์ด้านแรงงานบางส่วน เช่น Good Electronics Network ก็ชี้ว่า การทำงานของ FLA ก็เปรียบเหมือนเป็นเพียงงานประชาสัมพันธ์เท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะแก้ไขอย่างจริงใจ เพราะการเข้าไปตรวจสอบของ FLA ที่ประกาศล่วงหน้า ทำให้ฟอกซ์คอนน์มีเวลาซ่อนสิ่งที่ไม่ตรงตามมาตรฐานจากการตรวจสอบ

อดีตผู้บริหารรายหนึ่งที่ช่วยทำการตลาดให้ผลิตภัณฑ์ไอแพด ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ในรายงานดังกล่าวว่า บริษัทผู้ผลิตที่ต้องการจะทำสัญญากับแอปเปิ้ล จำเป็นต้องแข่งกันเสนอราคาให้ต้นทุนถูกที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อรักษาแรงจูงใจในการว่าจ้าง ซึ่งเขามองว่า ส่งผลกระทบต่อสภาพการทำงานของคนงานในเมืองจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“คุณสามารถจะตั้งกฎอะไรก็ได้ที่คุณอยากตั้ง แต่มันก็จะไม่มีความหมายอะไร ถ้าคุณไม่แบ่งกำไรที่เพียงพอให้บริษัทผู้ผลิต เพื่อที่เขาจะได้จัดการมาตรฐานแรงงานที่เหมาะสม” อดีตผู้บริหารแอปเปิ้ลคนหนึ่งกล่าว “เมื่อคุณหวังจะตัดค่าใช้จ่ายต่างๆ คุณก็กำลังบังคับพวกผู้ผลิตลดมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงานลงไปอีก”

การประโคมของสื่อ

กรณีครหาของแอปเปิ้ล ได้กลายมาอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์อีกครั้ง เมือสัปดาห์ที่ผ่านมา ไมค์ เดซี่ ผู้จัดรายการวิทยุ This American Life ถูกนักข่าวอเมริกันคนหนึ่งที่ตามประเด็นแรงงานในจีนอย่างใกล้ชิดจับได้ว่า เรื่องที่เดซีอ้างว่าได้ไปลงพื้นที่ยังโรงงานที่จีน และกลับมารายงานในวิทยุถึงสภาพที่ย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานเด็ก สภาพโรงงานที่มีการ์ดถือปืนคุมโหด คนงานที่พิการ และฉากชวนเรียกน้ำตา ล้วนเป็นสิ่งที่เขาแต่งขึ้นทั้งสิ้น ทำให้ทางสถานีวิทยุชิคาโก้ตัดสินใจถอนรายการนี้ออก โดยตอนดังกล่าวเป็นตอนที่มีผู้ฟังโหลดมากที่สุดถึง 880,000 ครั้ง

ย้อนรอยดราม่า “แอปเปิ้ล”: สำรวจสิทธิแรงงานเบื้องหลังเทคโนโลยีสื่อสาร
รายการวิทยุตอนของไมค์ เดซี่ ใน "This American Life" ที่ถูกถอน

ที่มา: kateoplis.tumblr.com

ด้านเดซียังคงยืนยันในสิ่งที่เขาทำลงไป โดยอ้างว่า การจัดรายงานข่าวเชิงละครของเขานั้น ก็เพื่ออยากเรียกร้องให้ประชาชนหันมาสนใจกับปัญหาที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์แอปเปิ้ลมากขึ้น และชี้ว่า งานของเขาไม่ใช่เป็นงานเชิงข่าว (journalistic) แต่เป็นงานเชิงให้ความรู้กึ่งละคร จึงจำเป็นต้องผสมและสร้างสถานการณ์เข้าไปในการเล่าเรื่อง

การกระทำครั้งนี้ ถูกวิจารณ์จากสื่อมวลชนว่า เป็นการทำให้ประเด็นสิทธิแรงงานกับสินค้าแอปเปิ้ล ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลงไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากต่อไปนี้ หากมีการรณรงค์หรือรายงานในเรื่องพวกนี้อีก ก็ทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีมูลมากน้อยแค่ไหน และชี้ว่า การใช้วิธีนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับแคมเปญ KONY 2012 ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าลดทอนความซับซ้อนของปัญหา และทำให้สาธารณะเข้าใจผิด ในนามของการรณรงค์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางส่วนก็ย้ำว่า ถึงแม้เดซีจะทำผิดพลาดไป แต่สิ่งสาธารณะไม่ควรลืมคือว่า การกดขี่แรงงานในประเทศจีนยังคงดำเนินอยู่ และในฐานะผู้บริโภค เป็นเรื่องสำคัญที่จะตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะถึงแม้โรงงานดังกล่าวจะอยู่ไกลกับเราคนละทวีป แต่แอปเปิ้ล –ก็เหมือนกับบริษัทอื่นๆ ในวงเวียนของตลาดเสรี – ย่อมห่วงใยภาพลักษณ์ของบริษัทตนเองต่อสาธารณะ และถ้าหากผู้บริโภคยิ่งได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ ก็อาจช่วยกดดันให้แอปเปิ้ลเข้มงวดด้านกับมาตรฐานแรงงานในต่างประเทศได้มากขึ้น

ทำไมต้องเจาะจงเฉพาะแอปเปิ้ล?

นักวิจารณ์บางส่วนมองว่า กระแสที่เกิดขึ้นยังอยู่ในความสนใจของสังคม เพราะ “แอปเปิ้ล” เป็นประเด็นที่ขายเป็นข่าวง่าย สื่อจึงชอบเล่นเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างอื่น รวมถึงสินค้าจากอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬายี่ห้อดังต่างๆ ส่วนใหญ่ก็มาจากโรงงานในประเทศที่สาม เช่น บังกลาเทศ อินเดีย ศรีลังกาทั้งสิ้น ซึ่งแรงงานได้รับค่าจ้างราว 1,800 – 3,500 บาทต่อเดือน และมีสภาพการทำงานไม่ต่างจากที่ฟอกซ์คอนน์ในจีนเท่าใดนัก

ถึงกระนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่แอปเปิ้ลได้ถึบตัวเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในตลาดโลกเมื่อปีที่ผ่านมา รวมทั้งการเกิดขึ้นของ “ลัทธิแมค” และสาวก ก็ได้ทำให้ประเด็นนี้ กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในสังคมสหรัฐ โดยเฉพาะในวงการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มากเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าความความสนใจจากสื่อและสาธารณชนต่อชะตากรรมคนงานฟอกซ์คอนน์ จะไม่มีความหมาย เพราะดังที่ Yang Su นักวิชาการด้านสังคมวิทยาแรงงานที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ไอร์วิน ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในซีเอ็นเอ็นว่า หากแรงกดดันจากภายนอกนำมาสู่การปรับปรุงสภาพการทำงานของคนงาน เช่น โรงงานที่ผลิตให้แอปเปิ้ลอย่างฟอกซ์คอนน์ ก็จะช่วยยกระดับคุณภาพตลาดแรงงานในประเทศจีนโดยรวม และช่วยเหลือพลังการต่อรองกับโรงงานในประเทศได้อีกด้วย

เขากล่าวว่า แรงงานในประเทศจีน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติในจีนที่มีอยู่ราว 153 ล้านคน ไม่มีอำนาจที่จะต่อรองสภาพการทำงานมากนัก เนื่องจากรัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน อีกทั้งการกฎหมายแรงงานในประเทศก็เป็นเพียงเสือกระดาษที่ไม่สามารถบังคับธุรกิจให้ปฏิบัติตามได้มากนัก ทำให้การต่อสู้เรื่องสิทธิแรงงานในจีนเป็นเรื่องดั่งเข็นครกขึ้นภูเขา

“เราหวังว่า ความสนใจที่ต่อเนื่องจากสังคมนานาชาติต่อชะตากรรมของคนงานจีน จะทำให้รัฐบาลจีนดำเนินการปฏิรูปที่สำคัญ ซึ่งจะนำมาสู่การประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานได้มากขึ้น” ยาง ซู ระบุในบทความ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net