กลุ่มอนุรักษ์ฯ โวย กนอ.เปิดทางนิคมฯ บางสะพาน ปลดล็อคเอกชนใช้พื้นที่ป่า

กลุ่มอนุรักษ์ฯ บ้านกรูด-บางสะพาน แฉการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเห็นชอบหลักการเขตนิคมฯ เครือสหวิริยา เมินปัญหารุกที่สาธารณะ เผยปมขัดแย้งที่ดินเขตป่าสงวน ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้ว

 
พื้นที่ทับซ้อนป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึงกับบริษัทเครือสหวิริยา
แฟ้มภาพ:ประชาไท 
 
สืบเนื่องจากกรณีที่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีจดหมายชี้แจงส่งถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติรายงานความคืบหน้าที่บริษัทสหวิริยาอินดัสตรีจำกัดมหาชน ได้ขอใช้พื้นที่เขต อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ เพื่อขอจัดตั้งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม และอยู่ระหว่างการจัดทำและปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
 
เมื่อวันที่ 25 มี.ค.55 นางจินตนา แก้วขาว ประธานกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมบ้านกรูด อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้สัมภาษณ์ต่อกรณีดังกล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ฯ บ้านกรูดและเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ฯ บางสะพาน เพิ่งทราบข้อมูลว่าได้มีการขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมบางสะพานแล้ว และการนิคมอนุมัติในหลักการและขณะนี้อยู่ในระหว่างทำอีไอเอจากการชี้แจงของการนิคมอุสาหกรรม
 
การขอใช้พื้นที่ในเขต อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ เพื่อจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมนั้น ส่วนตัวมองว่าน่าจะเป็นการช่วยกันปลดล็อคให้กับบริษัทเอกชนที่ต้องการใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโรงถลุงเหล็กและอุสาหกรรมต่อเนื่องมากกว่า เพราะที่ผ่านมาเอกชนไม่สามารถใช้พื้นที่ตามที่ขอใช้ได้ เนื่องจากติดขัดที่ดินสาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน กรมที่ดินไม่สามารถอนุญาตให้ได้ ทั้งยังมีกรณีการถือครองที่ดินซ้ำซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองแม่รำพึง และเขตวนอุทยานแม่รำพึง ซึ่งล่าสุดกรมที่ดินได้เพิกถอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของศาลปกครอง
 
 
นางจินตนา แสดงความเห็นว่า การที่การนิคมฯ อ้างต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาตินั้นน่าจะเป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้องและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านมองว่าขณะนี้เอกชนไม่สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้จากปัญหาที่ดินป่าสงวนฯ การที่การนิคมใช้กระบวนการของการนิคมฯ เข้าแก้ปัญหาเท่ากับจงใจให้เอกชนใช้พื้นที่ป่าได้อย่างถูกต้องโดยการนิคมเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้
 
“เราไม่แปลกใจที่กระทรวงอุตสาหกรรมพยายามทำความเข้าใจกับประชาชน ว่ารัฐบาลจะสนับสนุนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์นั้น แท้ที่จริงก็แค่ช่วยให้อุตสาหกรรมสามารถใช้พื้นที่ที่อ่อนไหวต่อระบบนิเวศน์สร้างโรงถลุงเหล็ก อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และนิคมอุตสาหกรรมได้ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง เปรียบเหมือนวันนี้พวกเราพยายามล้อมรั้วบ้านเพื่อกันโจรปล้นอย่างแน่นหนาทำให้โจรเข้าปล้นบ้านเราไม่ได้แต่รัฐกลับมาเปิดประตูบ้านเราเพื่อโจรเข้าปล้นบ้านเรานั่นเอง” นางจินตนา กล่าว
 
นางจินตนา กล่าวถึงข้อเรียกร้องว่า อยากให้การนิคมฯ ทบทวนความเห็นที่อนุญาตให้เอกชนสามารถจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดฉบับต่อไปที่มุ่งเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยว และสนับสนุนภาคเกษตรกรรมเพื่อลดความขัดแย้งที่มีมานานให้เป็นสังคมแห่งมิตรไมตรี
 
ขณะที่ นายสมหวัง พิมสอ ชาวบ้าน หมู่ที่ 1 ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตัวแทนเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมบางสะพาน กล่าวแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า การที่การนิคมฯ ชี้แจงว่าเอกชนได้ใช้พื้นที่ของตัวเองขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม และมีความเห็นชอบขององค์กรท้องถิ่นในปี 2549 นั้น ปัจจุบันนี้เป็นที่แน่ชัดว่าได้มีการเพิกถอนสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวจากกรมที่ดินแล้ว และความเห็นขององค์กรท้องถิ่นนั้นก็เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
 
รวมทั้งผังเมืองของ อ.บางสะพานที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมก็ได้แก้ไขปรับปรุงพื้นที่ตามความเป็นจริงโดยลดขนาดพื้นที่สีม่วงเพื่ออุตสาหกรรมออก เนื่องจากเป็นพื้นที่ของชาวบ้านที่ยังเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ เพื่อคืนพื้นที่การเกษตรให้แก่ชุมชน
 
นายสมหวัง กล่าวว่า การสนับสนุนให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ.บางสะพาน อาจจะทำให้เพิ่มปัญหาความขัดแย้งเพราะประชาชนทราบดีว่าพื้นที่ของบริษัทเอกชนนั้นไม่พอต่อการจัดตั้งเป็นนิคมฯ อยู่แล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเป็นพื้นที่ของชาวบ้านที่ไม่ได้ขายให้กับเอกชน และส่วนหนึ่งก็เป็นพื้นที่ป่าสงวนฯ ที่กำลังมีปัญหาการเพิกถอนสิทธิ์รวมถึงการฟ้องร้องอยู่อีกด้วย จึงไม่เห็นด้วยที่การนิคมฯ จะยังคงใช้เหตุผลเดิมดังกล่าวมาประกอบการตัดสินใจ
 
ทั้งนี้ โครงการขยายโรงถลุงเหล็กของเครือสหวิริยาที่ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงกับชุมชนในพื้นที่ ทั้งเรื่องการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนฯ การขอใช้น้ำจากคลองบางสะพาน การขอเช่าพื้นที่ป่าช้าสาธารณะและทางสาธารณะ ปัญหาป่าพรุที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ต่อเนื่องจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 18 ม.ค.48 เห็นชอบนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตเหล็กขั้นต้น ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยเครือสหวิริยามีโครงการจะสร้างที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.ชุมพร
 
ต่อมา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เห็นชอบในหลักการที่เครือสหวิริยาขอนำพื้นที่โครงการอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร 6,404 ไร่เศษ ขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม โดยรอผลการเห็นชอบในรายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
 
จากนั้น เครือสหวิริยาจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อ 7 เม.ย.49 และคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านโครงการอุตสาหกรรมก็มีมติเห็นชอบไปในวันที่ 7 ก.พ.50 ทั้งที่มีการคัดค้านในหลายประเด็นของประชาชนต่อเนื่องมาหลายเดือนตั้งแต่กันยายน 2549 รวมทั้งการขอใช้พื้นที่ป่าสงวน การขอเช่าที่สาธารณะก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติตามขั้นตอน และการขอให้ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธินับสิบแปลงในพื้นที่ป่าพรุของชุมชน ยังไม่เสร็จสิ้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท