อภิปราย "ปริศนาอุษาคเนย์: จุดกำเนิด ความเป็นการเมือง และพรมแดนวัฒนธรรม"

ไชยันต์ รัชชกูล ถามถึงการเป็นฮับของอาเซียน-รวมศูนย์แล้วจะเอายังไงกับการกระจายอำนาจ คนทั่วไปจะได้ประโยชน์ไหม ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ชำแหละแนวคิดอุษาคเนย์ศึกษา เรายังจะศึกษากันต่อไปไหม วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ เสนอศึกษาอุษาคเนย์ ไม่สนใจจีนไม่ได้

 

(28 มี.ค.55) ในการอภิปรายหัวข้อ "ปริศนาอุษาคเนย์: จุดกำเนิด ความเป็นการเมือง และพรมแดนวัฒนธรรม" ในการประชุมทางวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง" ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-30 มี.ค.ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน)

ไชยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า อาเซียนเหมือนพยายามสร้างอัตลักษณ์ใหม่ มีธงอาเซียน มีเพลงอาเซียน มีงานศึกษาเปรียบเทียบอาเซียนกับสหภาพยุโรป (อียู) จำนวนมาก มีการพูดถึงการเป็นเขตศุลกากรเดียวกัน (Custom union) ไปจนถึงการมีเงินตราสกุลเดียวทั้งภูมิภาค (Single currency) หรือการ regionalisation ซึ่งเขาตั้งคำถามว่า การทำเช่นนี้ จะขัดกันกับที่เคยโปรโมทแนวคิดท้องถิ่นภิวัตน์ (Localization) ในอดีตหรือไม่

ทั้งนี้ ไชยันต์ตั้งคำถามต่อว่า การเป็น Hub หรือศูนย์กลางต่างๆ เพื่อตอบสนองต่ออาเซียน เช่น ฮับของการรักษาพยาบาล การท่องเที่ยว การขนส่ง จะขัดกับแนวคิดการกระจายอำนาจของท้องถิ่นหรือไม่ และจะตอบสนองอะไรกับราษฎรตาดำๆ โดยยกตัวอย่างการเป็น Medical hub ว่า ขณะที่โรงพยาบาลบางแห่งเริ่มรับคนไข้จากประเทศอื่นเช่นตะวันออกกลาง รพ.ศิริราช มี รพ.รักษานอกเวลา ที่อุบลราชธานีก็มีรถรับคนไข้กระเป๋าหนักจากลาวมารักษา เช่นนี้แล้ว การเป็น hub จะมาแทนที่การแพทย์ชนบทหรือไม่ ประชาชนทั่วไปจะรับบริการได้หรือไม่ จะมีการกีดกันชาวพม่าบริเวณชายแดนแม่ฮ่องสอนไม่ให้มารักษาในโรงพยาบาลไทยหรือเปล่า

นอกจากนี้ ไชยันต์ยังพูดถึง ASEAN harmonisation หรือการปรับประสานกฎระเบียบให้สอดคล้องกัน โดยยกตัวอย่างเรื่องยาสีฟันว่าแต่ละประเทศมีมาตรฐานไม่เหมือนกันว่าต้องมีปริมาณฟลูออไรด์เท่าไหร่ ขณะที่บริษัทที่ผลิตยาสีฟันก็ต้องการผลิตให้ขายได้ทุกประเทศในการผลิตครั้งเดียว ตั้งคำถามว่ามาตรฐานแบบนี้จะสอดคล้องกับแต่ละจุดในแต่ละประเทศไหม เฉพาะในประเทศไทย ค่าฟลูออไรด์ 0.5 PPM อาจโอเคในภาคอื่นๆ ยกเว้นภาคเหนือที่มีฟลูออไรท์ในปริมาณมาก ดังนั้น จะเห็นว่าแม้แต่ในประเทศเดียวกัน มาตรฐานยังไม่เท่ากัน เช่นนี้จะมี harmonisation ของสินค้าในอาเซียนอย่างไร

"กลัวว่าในนามของอาเซียนจะทำให้เราละเลยความสำคัญของท้องถิ่นและราษฎรพื้นฐาน" ไชยันต์กล่าว
 

เรายังต้องมีอุษาคเนย์ศึกษาต่อไปไหม
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาว่าด้วยการประกอบสร้างความเป็นอุษาคเนย์เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอย่างมากในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่สหัสวรรษ ซึ่งน่าจะมีสาเหตุจาก หนึ่ง บริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอุษาคเนย์ปัจจุบันไม่เป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองดังยุคสงครามเย็นอีกต่อไป สอง โลกเกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนข้ามวัฒนธรรม ข้ามชาติ ข้ามพรมแดน ที่ทวีความเข้มข้นขึ้น ก่อให้เกิดการพลัดที่ พลัดถิ่น และลูกผสมทางวัฒนธรรมทั่วโลก เกิดการตั้งคำถามต่อวิธีคิดการผูกความหมายของอัตลักษณ์และวัฒนธรรมเข้ากับถิ่นที่ และคำถามว่าอุษาคเนย์คืออะไร สาม กระแสคิดรื้อถอน ที่ไม่เพียงแต่ไม่เชื่อในการสร้างความรู้แบบสารัตถนิยมของสิ่งที่เรียกว่าภูมิภาค แต่ยังตั้งคำถามต่อการเมืองเรื่องการสร้างความรู้เกี่ยวกับอุษาคเนย์ด้วย เพราะมองกันว่าไม่เพียงแต่อุษาคเนย์จะไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่จริง แต่ยังมีการเมืองเบื้องหลังการสร้างอุษาคเนย์ด้วย

ปิ่นแก้ว กล่าวต่อว่า เหล่านี้นำมาซึ่งการตั้งคำถามถึงความจำเป็นต่อแนวทางแบบอาณาบริเวณศึกษาในการเข้าใจหน่วยที่ถูกเรียกว่า "อุษาคเนย์" หรือก็คือคำถามว่า เรายังต้องมีอุษาคเนย์ศึกษาอยู่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งเป็นคำถามสำคัญ เพราะอาเซียนตั้งอยู่บนอุษาคเนย์ ถ้าไม่มีอุษาคเนย์แล้วอาเซียนจะตั้งอยู่บนอะไร

ปิ่นแก้ว ชี้ว่า ในวงการวิชาการตะวันตก ปลาย ศต.20 อุษาคเนย์ไม่ใช่สิ่งที่ดึงดูดใจสำหรับนักวิชาการตะวันตกอีกต่อไป แต่ความสนใจกลับย้ายมาอยู่ในมือของนักบริหารในอาเซียน ภายใต้การส่เสริมวัฒนธรรมอาเซียนอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อสร้างปึกแผ่นของสิ่งที่เรียกว่าความเป็นอุษาคเนย์

ปิ่นแก้ว เล่าถึงข้อถกเถียงของนักวิชาการตะวันตกที่มีบทบาทสถาปนาอุษาคเนย์ศึกษาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น 2 สำนัก คือ Realist's view ซึ่งมองว่าอุษาคเนย์มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากที่อื่น กับกลุ่ม Constructionist's view ซึ่งมองว่าอุษาคเนย์เป็นสิ่งประดิษฐ์ด้วยฝีมือมนุษย์ จากความสนใจเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เพื่อแทนที่อำนาจรัฐอาณานิคมของยุโรป ดังนั้น อัตลักษณ์จึงสร้างขึ้นจากภายนอกและเปลี่ยนไป ตามบริบททางการเมือง

ทั้งนี้ หากจะดูว่าวิวาทะเหล่านี้เปิดมุมมองอะไร ปิ่นแก้วระบุว่า กลุ่มที่มองว่า อุษาคเนย์เป็นสิ่งที่มีมาอยู่แล้ว เป็นการมองแบบหน่วยปิด ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ เพราะแม้จะเน้นความแตกต่างจากภูมิภาคอื่น แต่ต้องไม่ลืมว่า อุษาคเนย์ไม่เคยเป็นหน่วยปิดทางประวัติศาสตร์ โดยเป็นทั้งประเทศนำเข้าและส่งออก ไม่ว่าภาษา ผู้คน พืช หรือวัฒนธรรม ขณะที่ข้อเสนอของฝ่ายประกอบสร้างก็มีปัญหา เพราะการประกอบสร้างย่อมมีพลวัตของมันเอง วาระการสร้างความรู้ย่อมไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามการเมืองที่สร้างวิชาการนั้นแต่เริ่มแรก พร้อมเสนอว่า การจะเข้าใจอุษาคเนย์ไม่ควรเริ่มต้นที่หน่วยพื้นที่หรืออัตลักษณ์ที่เชื่อว่าเกาะติดกับดินแดน แต่ควรค้นหาโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการเมือง วัฒนธรรม และเศรษฐกิจระหว่างรัฐ ผู้คนและอำนาจภายนอก ที่เปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย

ปิ่นแก้ว ตั้งคำถามกับแนวคิดแบบอาเซียนที่ว่า "หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม" ว่าเป็นอาเซียนเพื่อใคร

"อัตลักษณ์ร่วมแบบอาเซียน หรือวัฒนธรรมร่วมแบบอาเซียนซึ่งถูกโปรโมทกัน ประชาสัมพันธ์กันในที่สาธารณะ มัน arbitrary คือมันเป็นวัฒนธรรมอำเภอใจ วัฒนธรรมที่ depoliticize ไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่กำลังถูกคุกคาม ไม่เกี่ยวกับชาวกะเหรี่ยงที่ถูกป่าไม้ไล่เตะ" ปิ่นแก้วกล่าวและว่า วัฒนธรรมที่อาเซียนหยิบขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมอะไรก็ได้ที่ต้องปลอดพ้นการเมือง ถอดความเป็นการเมืองออกไป ถอดความเป็นวัฒนธรรมในชีวิตจริงที่ไม่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ไม่ตอบสนองต่อปัญหาที่แท้จริงของวัฒนธรรมประชาชน ไม่ว่าสิทธิทางวัฒนธรรม ชนกลุ่มน้อย

ปิ่นแก้ว ย้ำว่า อุษาคเนย์ไม่ใช่อาเซียน และอาเซียนก็ไม่ใช่อุษาคเนย์ อาเซียนเป็นการรวมตัวของชนชั้นนำตั้งแต่ปลายยุคการต่อสู้กับรัฐอาณานิคม เพราะความจำเป็นทางการเมือง และอยู่ได้จนปัจจุบันเพราะผลประโยชน์เฉพาะหน้า อย่าทึกทักเอาว่าเป็นเพราะมีอัตลักษณ์ร่วมกัน

 

มุมมองจากจีนที่หายไปในการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้าน วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อัตลักษณ์ที่ทุกชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีร่วมกันคือความเป็นจีน เพราะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่ที่รองรับชาวจีนโพ้นทะเลมากที่สุดในโลก แต่กลับไม่ค่อยเห็นการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมุมมองจากจีน

วาสนา ชี้ว่า การที่เราละเลยมุมมองจากจีนหรือมุมมองเรื่องจีนโพ้นทะเล อาจทำให้เราละเลยอัตลักษณ์หรือความเป็นจริงที่สำคัญอย่างหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไป พร้อมยกตัวอย่างการศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องการทำป่าไม้ในไทยกับพม่าของนักวิชาการท่านหนึ่ง ซึ่งศึกษาจากเอกสารของอังกฤษ ที่ระบุว่าอังกฤษเข้ามาทำไม้ในสยาม ขณะที่ในเอกสารของจีนระบุว่าจีนควบคุมการทำไม้ในสยาม ซึ่งนั่นมาจากการที่คนจีนที่ทำโรงเลื่อยเป็นคนจีนในบังคับของอังกฤษ เราจะไม่เห็นภาพนี้ ถ้าไม่ดูเอกสารของจีน

วาสนา กล่าวต่อว่า แม้ในปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เราก็ยังต้องใส่ใจจีน เพราะอาเซียนขณะนี้ไม่ใช่เพียงแค่อาเซียน แต่ยัง +3 มีจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งประเทศที่จะมาพัฒนาสาธารณูปโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือจีน นอกจากนี้ จีนยังมาแรงถึงขนาดที่มีคำกล่าวว่า ศตวรรษที่ 21 จะเป็นศตวรรษของจีน และประชากรเชื้อสายจีนในประเทศต่างๆ ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

"เราคุยกันเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยที่เรา ignore จีน มันเป็นปัญหาใหญ่มาก เราเปรียบเทียบกับอียูตลอดเวลา เราเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาตลอดเวลา เราเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เราเรียกร้องความเท่าเทียมกัน เราเรียกร้องประชาธิปไตย ในขณะที่ยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลมาก และกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในภูมิภาคนี้ ไม่มีประชาธิปไตย ไม่สนใจสิทธิมนุษยชน แล้วก็ไม่มีการแบประวัติศาสตร์ของตัวเองแลกเปลี่ยนกันใดๆ ทั้งสิ้น...ไม่มี และนี่คือศตวรรษจีน ศตวรรณที่ 21 เราจะทำอย่างไร คือ เราไม่ควรจะคุยเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยที่เราละเลยในส่วนนี้ ทั้งแง่มุมประวัติศาสตร์และแง่มุมของโลกปัจจุบันนี้ด้วย" วาสนากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท