“ออง ซาน ซูจี” จะขอชนะเลือกตั้งซ่อมให้ได้มากที่สุด-แม้ไม่ใช่เกมที่ยุติธรรม

ผู้นำพรรคฝ่ายค้านพม่าระบุการเลือกตั้งซ่อม 1 เม.ย. ไม่ได้เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม เผยมีการข่มขู่ ทำลายป้ายหาเสียง และลอบทำร้ายผู้สมัคร ส.ส. หลายครั้ง แต่มีความหวังว่าพรรคเอ็นแอลดีจะได้รับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นจำนวนมากเพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ขณะที่จะไม่มีการเลือกตั้งในรัฐคะฉิ่น พื้นที่ซึ่งรัฐบาลรบกับกองทัพคะฉิ่นมาแรมปี

บรรยากาศการแถลงข่าวของนางออง ซาน ซูจี ที่บ้านพัก เมื่อ 30 มี.ค. 55 (ที่มา: youtube.com/burmaelections)

ออง ซาน ซูจีแถลงพร้อมเดินหน้าเลือกตั้ง แม้จะเกิดเหตุ “ผิดปกติ”

วันนี้ (30 มี.ค.) ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย นางออง ซาน ซูจี แถลงข่าวที่บ้านพักริมทะเลสาบอินยา ถนนมหาวิทยาลัยว่า การเลือกตั้งซ่อมที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์นี้จะไม่เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม เนื่องมาจากมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นหลายประการ อย่างไรก็ตามเธอยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อไปและผลักดันให้เกิดการปฏิรูป

ออง ซาน ซูจีกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “มีการข่มขู่เกิดขึ้นหลายครั้ง” นับตั้งแต่การเดินสายหาเสียงเริ่มขึ้น รวมทั้งเหตุเกิดที่เมืองตองอูในสัปดาห์นี้ที่ผู้สมัคร ส.ส. คนหนึ่งตกเป็นเป้าหมายการโจมตีด้วยการปาหิน แต่เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

นอกจากนี้ มีผู้สมัคร ส.ส. หญิงรายหนึ่งถูกขู่ว่าจะถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครเนื่องจากพ่อของเธอไม่ได้ถือสัญชาติพม่า

“พวกเรารู้สึกเสียใจกับข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับสหภาพไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ถึงระดับที่พวกเขาควรจะทำได้” นางออง ซาน ซูจีกล่าว

ออง ซาน ซูจี แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่าสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้น “เกินกว่าที่จะยอมรับได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย”

ฉันไม่คิดว่าเราสามารถพิจารณาได้ว่า นี่คือการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง หากเราพิจารณาในสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้” นางออง ซาน ซูจีกล่าว “เราต้องเผชิญกับเหตุผิดปกติมากมาย”

เมื่อถามว่าจะลองสืบหาสิ่งที่เกิดขึ้นนี้หรือไม่ นางออง ซาน ซูจีบอกว่าจะเฝ้ารอดูสิ่งที่จะเกิดขึ้น “เราจะเฝ้าดูว่าการเลือกตั้งจะดำเนินไปอย่างไร เสียงของประชาชนจะได้รับการรับรองหรือไม่” “เราจะดูว่าสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อคะแนนเสียงเลือกตั้งหรือไม่”

ออง ซาน ซูจีกล่าวด้วยว่า มีความพยายามที่จะทำร้ายผู้สมัคร ส.ส. พรรค NLD 2 กรณีด้วยการปาก้อนหินหรือสิ่งของอื่นๆ ซึ่งทำให้การ์ดประจำตัวผู้สมัครได้รับบาดเจ็บ

ออง ซาน ซูจีกล่าวว่า “มีการข่มขู่เกิดขึ้นหลายครั้ง” มีการทำลายโปสเตอร์หาเสียงของพรรค โดยนางออง ซาน ซูจี ประณามว่าบางเหตุการณ์เกิดขึ้นจาก “คนที่มีตำแหน่งอยู่ในราชการ”

 

หวังให้ทุกชนชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และไม่หวังตำแหน่งทางการ

ระหว่างการแถลงข่าว มีผู้ถามออง ซาน ซูจีว่า ต้องการช่วยเหลือประเทศอย่างไร เธอตอบว่า “จะช่วยให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ได้อาศัยอยู่อย่างสันติสุข และมีความสุขร่วมกัน”

ฉันไม่มีความจำเป็นที่จะมีตำแหน่งทางการ แต่จะเป็นอะไรไปล่ะ หากต้องการทำให้งานของฉันมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรามีความคาดหมายที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลหลายเรื่อง พวกเราต้องการที่จะชนะให้มากเขตเลือกตั้งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ออง ซาน ซูจียังกล่าวว่าจะทำให้เกิดการปรองดองในพม่า โดยความจำเป็นอันดับแรกก็คือเธอควรจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้

 

หวังชนะทั้ง 44 เขตที่ส่ง ส.ส. เพื่อให้มีปากเสียงในสภา

ในรัฐบาลมีความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้หลากหลายมาก แต่พวกเราเผชิญกับความท้าทายหลายประการมาหลายปี และจะยิ่งเผชิญความท้าทายมากกว่านี้ ฉันคิดว่าเราสามารถที่จะมีปากเสียงอยู่ในสภาได้ ถ้าเราชนะทั้ง 44 เขตเลือกตั้ง”

ออง ซาน ซูจีกล่าวด้วยว่า ได้รับเสียงสนับสนุนอย่างแข็งขันในช่วงที่เธอเดินสายพบปะเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง “มีคนจำนวนมากเข้ามาหาฉันในช่วงหาเสียง มีเด็กกระโดดขึ้นกระโดดลงตะโกนเชียร์พรรค NLD ด้วย”

ออง ซาน ซูจีกล่าวตอนหนึ่งว่า มีไม่เพียงกี่ประเทศที่มีประวัติศาสตร์สลับกันไปมาระหว่างความขัดแย้งและการกดขี่เหมือนพม่า “เรามีความมั่นใจว่าเราเองก็สามารถก่อให้เกิดการปรองดองได้ แม้ว่าจะประวัติศาสตร์จะถูกบันทึกไปด้วยเรื่องความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชน”

 

หวังฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่การตอบแทนอย่างสาสม

เมื่อถามนางออง ซาน ซูจีว่า เชื่อหรือไม่ว่าพม่าจะสามารถเรียนรู้บทเรียนการปฏิรูปได้จากแอฟริกาใต้ เธอตอบด้วยความรู้สึกเป็นบวกว่า “แน่นอน พวกเราควรเรียนรู้ให้มากประเทศเท่าที่จะเป็นไปได้” “เราควรเรียนรู้บทเรียนการปรองดองหลายๆ กรณี และเฝ้าดูว่าอะไรบ้างที่เราจะสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศเหล่านี้” โดยออง ซาน ซูจีกล่าวด้วยว่า “เราเองก็ยังไม่ได้เริ่มกระบวนการปรองดองอย่างเป็นทางการเลย พวกเราจึงมีความสนใจมากๆ ในเรื่องนี้ และในเรื่องการเจรจาของแต่ละประเทศ

เมื่อมีผู้สื่อข่าวถามว่าต้องการนำตัวผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการไต่สวนหรือไม่ นางออง ซาน ซูจีได้อ้างคำพูดของอาร์ค บิชอป เดสมอน ตูตู เจ้าของรางวัลโนเบลว่า “สิ่งที่เราเชื่อ ไม่ใช่การใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อตอบแทนอย่างสาสม แต่เป็นการฟื้นฟูกระบวนการยุติธรรม”

ออง ซาน ซูจี ปฏิเสธข่าวที่ว่าเธอได้หารือกับรัฐบาลจีนเรื่องประชาธิปไตยด้วย แต่ได้กล่าวว่าการเลือกตั้งซ่อมจะส่งผลดีต่อภูมิภาคนี้ทั้งหมด

“นี่เป็นการก้าวไปสู่ประชาธิปไตยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน” ออง ซาน ซูจีกล่าว “สำหรับประชาคมอาเซียน นี่เป็นโอกาสดีที่จะประเมินว่าการปฏิรูปที่แท้จริงจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรืออาจจะเกิดการปฏิรูปในอนาคตอันใกล้”

ประชาธิปไตยในประเทศนี้จะกลายเป็นชัยชนะของประชาชนทุกคน เมื่อเราได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภา เราจะสามารถสร้างให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยได้”

 

เป็นการปรากฏตัวครั้งแรก หลังป่วยนับสัปดาห์

การแถลงข่าวของนางออง ซาน ซูจีในวันนี้ นับเป็นการปรากฏตัวในที่สาธารณะครั้งแรก นับตั้งแต่นางออง ซาน ซูจีป่วยเมื่อสัปดาห์ก่อนหลังมีอาการอาเจียนและร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากอ่อนเพลีย โดยแพทย์ประจำตัวแนะนำให้นางออง ซาน ซูจีพักผ่อน โดยผู้นำพรรคเอ็นแอลดีกล่าวว่าจะไม่เดินสายหาเสียงเพิ่มแล้ว นอกจากหาเสียงในช่วงเย็นวันเสาร์ที่อำเภอกอมู (Kawhmu) ซึ่งเป็นเขตที่เธอลงสมัครรับเลือกตั้ง

สำหรับนางออง ซาน ซูจี วัย 66 ปี เป็นบุตรสาวของ นายพลออง ซาน ผู้ก่อตั้งประเทศพม่า ซึ่งในรอบ 23 ปีมานี้ออง ซาน ซูจีถูกรัฐบาลทหารสั่งกักบริเวณในบ้านพักหลายหน เป็นระยะเวลารวมกันกว่า 15 ปี โดยล่าสุดเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเมื่อ 14 พ.ย. 2553

โดยการเลือกตั้งซ่อมที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 เม.ย. นี้จะเป็นการชิงชัยของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ที่ว่างเว้นอยู่ทั้งหมด 48 ที่นั่ง จากที่นั่งเดิมรวม 664 ที่นั่ง เนื่องจากมี ส.ส. และ ส.ว. เดิม 48 คน ลาไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี โดยพรรคเอ็นแอลดีส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั้งสิ้น 44 ที่นั่ง หนี่งในนั้นคือนางออง ซาน ซูจี

เป็นที่คาดหมายว่า แม้ออง ซาน ซูจีและพรรค NLD จะชนะการเลือกตั้งซ่อม แต่ก็น่าจะทำได้เพียงการถ่วงดุลเพียงเล็กน้อยในสภา แต่ก็น่าจะทำให้เธอมีเสียงในรัฐบาลได้เป็นครั้งแรก

 

มีการเลือกตั้งในพม่า แต่ไม่มีการเลือกตั้งในรัฐคะฉิ่น

อย่างไรก็ตามในวันเลือกตั้งซ่อมดังกล่าว มีการเลื่อนการลงคะแนนเสียงใน 3 เขตเลือกตั้งในรัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของพม่า โดยทางการพม่าระบุสาเหตุว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่มีความปลอดภัยเพียงพอที่จะจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมได้

โดยทหารพม่าเข้าไปปะทะกองทัพแห่งอิสรภาพคะฉิ่น (KIA) ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เนื่องจากกองกำลัง KIA ไม่ยอมเปลี่ยนสถานะจากกลุ่มหยุดยิงมาเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนภายใต้กองทัพพม่า ทำให้ขณะนี้มีผู้อพยพจากภัยสงครามหลายหมื่นคนภายในรัฐคะฉิ่น

ทั้งนี้การเลือกตั้งดังกล่าวถูกพิจารณาว่าจะเป็นบททดสอบที่สำคัญสำหรับพม่าในการปฏิรูปประชาธิปไตย และหลังการเลือกตั้งมีการคาดการณ์ว่าจะมีการยุติมาตรการคว่ำบาตรพม่าทางเศรษฐกิจโดยชาติตะวันตก

หมายเหตุ: คลิกที่นี่เพื่อชมภาพออง ซาน ซูจีแถลงข่าว (ที่มา: เฟซบุคเพจ Eleven Media Group)

 

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

‘Elections Neither Free Nor Fair,’ Says Suu Kyi, Irrawaddy, 30 March 2012 http://www.irrawaddy.org/?slide=elections-neither-free-nor-fair-says-suu-kyi

By-elections ‘will not be free and fair’: Suu Kyi, FRANCIS WADE, DVB, 30 March 2012 http://www.dvb.no/news/by-elections-will-not-be-free-and-fair-suu-kyi/21153

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท